Skip to main content
sharethis

(11 พ.ย.52) นางสาววิมล คิดชอบ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีทางการไทยส่งหนังสือขอให้ทางการกัมพูชาส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับประเทศ ตามสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนไทย-กัมพูชาว่า ขณะนี้ทางฝ่ายไทยได้รับจดหมายตอบกลับจากกัมพูชาแล้ว โดยมีเนื้อหาสั้นๆ กระชับว่า กัมพูชาไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะตอบสนองคำขอของไทยเพราะมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง ตรงนี้เป็นข้อสรุปที่ออกมา ส่วนคำถามว่าเมื่อไทยได้รับแล้วจะทำอย่างไรต่อไป สิ่งที่พูดได้ขณะนี้คือ หน่วยงานทางด้านกฎหมายกำลังพิจารณาอยู่ ซึ่งขอยืนยันว่าทางการไทยไม่ได้นั่งอยู่เฉยๆ ทุกคนทำงานและพิจารณาเรื่องนี้

“ต้องบอกตรงๆ ว่า ไม่ว่าเราจะทำอะไร เราต้องการทำอย่างมีหลักการเหตุผล ด้วยความรอบคอบและคำนึงถึงผลกระทบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่ท่านนายกฯ พูดย้ำว่า ท่านไม่ต้องการให้มาตรการของรัฐบาล มีผลกระทบต่อประชาชน เพราะถึงขณะนี้ มาตรการที่มีอยู่เป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล การใช้เรื่องสนธิสัญญา ก็เป็นเรื่องระหว่างรัฐบาล ไม่ได้มีผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญมากเป็นหัวใจเป็นโจทย์ที่รัฐบาลไทยมีอยู่ ส่วนมาตรการต่อไปต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายกฎหมาย” น.ส.วิมลกล่าวและว่าการดำเนินการต้องทำภายใต้กรอบกติกาที่ถูกต้องชี้แจงได้ ไม่ใช่การตั้งโจทย์เป็นตัวตั้งว่าต้องมุ่งหวังว่าต้องจับตัวให้ได้ แต่ต้องคำนึงถึงกติกาที่สามารถทำได้ และขณะนี้สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ก็ทำอย่างเต็มที่

น.ส.วิมล กล่าวด้วยว่า ข้อมูลที่ส่งให้กัมพูชาเพื่อขอให้ส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณนั้น ก็มีรายละเอียดเกี่ยวข้องกับคดีอยู่ ส่วนจะส่งอะไรไปเพิ่มเติมหรือไม่นั้น ต้องรอการพิจารณาจากฝ่ายกฎหมาย ถ้าเห็นว่าจำเป็นต้องส่งเพิ่มก็ต้องส่ง

เกี่ยวกับกรณีการปรับข้อเท็จจริงกับตัวบทกฎหมายที่แตกต่างกันระหว่างไทยและกัมพูชา โดยฝ่ายไทยยืนยันว่าการต้องโทษของ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ใช่คดีการเมือง แต่ฝ่ายกัมพูชาปฏิเสธที่จะส่งตัวอดีตนายกฯ กลับประเทศ โดยระบุถึงมาตรา 3 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับข้อที่ไม่ต้องส่งตัวกลับหากเป็นคดีการเมือง อธิบดีกรมสารนิเทศ กล่าวว่า หากมีปัญหาจากการใช้สนธิสัญญาดังกล่าว ก็ต้องใช้วิธีการปรึกษาหารือหรือเจรจาตาม ข้อที่ 21 ของสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไทย-กัมพูชา

“ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากการใช้ หรือการตีความสนธิสัญญานี้ ให้ระงับโดยการปรึกษาหรือเจรจา เป็นข้อที่บัญญัติในสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชา เพราะฉะนั้น ก็คือต้องปรึกษาหารือและเจรจา โดยไม่ต้องนำเรื่องเข้าองค์กรไหน เพราะต้องคุยกัน” น.ส.วิมลกล่าว

ส่วนบรรยากาศการหารือที่ยังไม่เกิดขึ้น น.ส.วิมล กล่าวว่า เชื่อว่าทางฝ่ายกฎหมายคงอยู่ระหว่างการพิจารณาว่า ทำอย่างไรที่จะใช้ช่องทางตาม ข้อ 21 ในกรณีที่มีความเห็นทางกฎหมายต่างกัน เช่นนี้

“จะทำอย่างไรให้มีการปรึกษาหารือ อันนี้ก็คงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพยายามทำให้เกิดการปรึกษาหารือเพื่อที่จะหาข้อสรุปให้ได้ ซึ่งเป็นการกำหนดเอาไว้ในกรอบสนธิสัญญาอยู่แล้วนี่คือวิธีการที่กำหนดไว้ชัดเจน”

เมื่อถามว่าทางการไทยจะขอร้องไม่ให้กัมพูชา ปฏิบัติในลักษณะต้อนรับหรือรับรองอดีต นายกฯ ของไทยได้หรือไม่ นางวิมล กล่าวว่า ทางฝ่ายกัมพูชา คงทราบดีว่าเราคิดอย่างไร และเรามีเหตุผลอย่างไร คือเป็นเรื่องทราบๆ กันดี และนี่เป็นเรื่องของแต่ละประเทศที่มีข้อพิจารณาออกมา ซึ่งเราพยายามสร้างความเข้าใจ ให้ข้อมูล อธิบายให้เหตุผลต่างๆ เท่าที่เราพยายามจะทำได้ เราก็พยายามทำมาโดยตลอด แต่เราก็ไปบังคับไม่ได้

อธิบดีกรมสารนิเทศ กล่าวถึงการลดระดับความสัมพันธ์กับกัมพูชาโดยการปิดด่านว่า จะไม่มีการปิดด่านเพราะไม่ต้องการให้กระทบกับประชาชนที่อยู่ชายแดน ทั้งนี้ ในช่วงแรกๆ มีการเชื่อกันว่า การเรียกเอกอัครราชทูตไทย กลับมาเป็นการตัดความสัมพันธ์ ซึ่งได้ชี้แจงไปแล้วว่าไม่ใช่การตัดความสัมพันธ์ แต่เป็นมาตรการทางการทูตที่ส่งสัญญาณความไม่พอใจต่อสิ่งต่างๆ ที่ทางรัฐบาลกัมพูชากำลังทำอยู่ อย่างไรก็ตาม มีผู้คาดหวังว่าจะต้องลดความสัมพันธ์หรือตัดความสัมพันธ์ ซึ่งไม่ควรคิดแบบนั้น เพราะเป็นเรื่องขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมและเหตุผลมากมาย เป็นสิ่งที่เห็นว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะฉะนั้น การถามว่าจะลดระดับความสัมพันธ์อีกหรือไม่นั้นยังตอบไม่ได้

“การทบทวนความสัมพันธ์นั้น เราต้องดูเหตุผลแวดล้อม ทั้งหลายประกอบกัน ดูทั้งของเราเอง ดูทั้งภาพรวม ดูทั้งท่าทีของกัมพูชา และก็ต้องดูด้วยมันมีองค์ประกอบ ผลกระทบอะไรทั้งหลาย จะมาบอกว่าต้องทำอย่างงี้ อย่างงั้น ยังบอกไม่ได้ เพราะต้องผ่านการกลั่นกรองกันให้เหมาะสมจึงจะบอกได้ว่าต้องทำอย่างไรต่อไป แต่อย่างน้อย ตอนนี้มีธงที่ท่านนายกฯ ท่านพูดว่าจะหลีกเลี่ยงไม่ให้มีผลกระทบต่อประชาชนอย่างที่สุด จะไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ฉะนั้น เรื่องปิดด่าน ที่บางคนพูดกันจนสร้างความตื่นตระหนก สร้างความห่วงกังวลทั้งหลาย ต้องบอกว่าเราควรช่วยกัน เพราะคนที่จะได้รับผลกระทบคือประชาชน คนตามแนวชายแดน ณ วันนี้ จึงยังไม่มีการปิดด่าน”

ต่อคำถามถึงความจำเป็นต้องเชิญทูตจากประเทศต่างๆ มาฟังบรรยายสรุปสถานการณ์หรือไม่ น.ส.วิมล กล่าวว่า คงยังไม่ถึงขั้นนั้น เพราะเป็นเรื่องระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งการที่ยังส่งหนังสือกันไป-มา ถือว่ายังเป็นตามกระบวนการขั้นตอนปกติ
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net