Skip to main content
sharethis

 

องค์กรภาคประชาสังคมพม่าและเอเชียส่งจดหมายเปิดผนึกให้แก่ นายเคิร์ต แคมป์เบลล์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก พร้อมด้วยนายสก็อต มาร์เซียล รองผู้ช่วยฯ ซึ่งได้เดินทางถึงพม่าในวันที่ผ่านมา (2 พ.ย.52) เพื่อพบหารือกับรัฐบาลทหารพม่า และนางออง ซาน ซู จี จดหมายเปิดผนึกย้ำข้อเป็นห่วงถึงการมาเยือนและความพยายามในการนำประเทศพม่าไปสู่สันติภาพและประชาธิปไตยซึ่งการมาเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของสหรัฐครั้งนี้ถือเป็นการมาเยือนครั้งสำคัญนับแต่นางเมเดลีน ออลไบรท์ เดินทางเยือนพม่าในฐานะเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติเมื่อปี 2538 ในสมัยรัฐบาลของประธานาธิบดีบิล คลินตัน

ในจดหมายกล่าวย้ำให้ นาย แคมป์เบล์ ให้ความสำคัญกับการพบ นางออง ซาน ซูจี ผู้นำด้านประชาธิปไตย และผู้นำทางชาติพันธุ์คนอื่นๆ ที่มีความจริงใจในการเจรจาและเป็นห่วงประชาชนชาวพม่าอย่างแท้จริง สหรัฐและประเทศต่างๆ ต้องไม่อ่อนข้อให้รัฐบาลทหารพม่าก่อนการเลือกตั้งในปี 2553 หากยังไม่มีการปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี และนักโทษทางการเมืองทุกคน รวมถึงการหยุดการโจมตีกลุ่มชาติพันธุ์ การสร้างเวทีเจรจาที่มีส่วนร่วมจากหลายฝ่าย และแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2551

นโยบายของสหรัฐผ่านรัฐบาลชุดใหม่ที่เน้นการประนีประนอมและการมีส่วนร่วมทางการเมือง ในขณะเดียวกันยังคงใช้การแซงค์ชั่น เป็นนโยบายที่กลุ่มผู้นำพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD รวมทั้งผู้นำทางประชาธิปไตยคนอื่นๆ ต่างเห็นสอดคล้องกัน ปฏิญญาชเวดากองของพรรค NLD และ ข้อเสนอของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิของกลุ่มชนชาติพันธุ์ในการหาข้อประนีประนอมกับรัฐ ต่างก็เสนอให้มีการพัวพันทางการเมืองอย่างเข้มข้นและสร้างเวทีพูดคุยมากกว่าการโดดเดี่ยวพม่า ถึงแม้จะตระหนักดีว่าการเข้าไปพัวพันนั้นจะเต็มไปด้วยภยันตรายก็ตาม

ภาคประชาสังคมเห็นว่าการเข้าพบ พลเอกอาวุโสตาน ฉ่วย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า ของ ส.ว.จิม เวบบ์ ประธานคณะอนุกรรมการวิเทศสัมพันธ์กิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของวุฒิสภา สหรัฐอเมริกาในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเป็นความพยายามทางการทูตที่ซื่อเกินไป โดยมีการเรียกให้ยอมรับการเลือกตั้งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยที่จะเกิดขึ้นในปี 2553 รวมถึงการแซงค์ชั่นทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจส่งผลให้รัฐบาลทหารพม่ามีท่าทีที่แข็งกร้าวโดยไม่นำพาประเทศไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง นอกจากนั้นยังมีการตีความนโยบายสหรัฐผิดๆ โดยตัวแสดงที่สำคัญในอาเซียนโดยมองว่านโยบายสหรัฐรูปแบบใหม่คือการตามรูปแบบของนโยบายอาเซียนต่อพม่าซึ่งคือ นโยบายการพัวพันอย่างสร้างสรรค์ (constructive engagement) ดังนั้นในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ก่อนการเลือกตั้งในปีหน้าภาคประชาสังคมจึงขอให้รัฐบาลสหรัฐเลือกทางเดินในการเข้าเข้าไปพัวพันทางการเมืองอย่างเข้มข้น และกดดันรัฐบาลทหารพม่าในขณะเดียวกัน

ในจดหมายเปิดผนึกระบุอีกว่า ผู้สังเกตการณ์ต่างประเทศบางคนโดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้านของพม่าเห็นการเลือกตั้งในปีหน้าของพม่าว่าเป็นโอกาสสำหรับการเปลี่ยนแปลง แต่หารู้ไม่ว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยทหารในปี 2551 โดยใช้มาตรการเด็ดขาดในการทำให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐไม่มีสิทธิ์มีเสียง ฉะนั้นการเลือกตั้งในปีหน้าจึงไม่มีควมชอบธรรมใดๆ เลย

ภาคประชาสังคมยืนยันอีกครั้งกับข้อความที่แคมป์เบลล์ระบุในรัฐสภาอเมริกันไม่นานมานี้ซึ่งกล่าวถึง ความสำคัญของการปล่อยตัวนาง ออง ซาน ซูจี และนักโทษทางการเมืองทุกคนอย่างไม่มีข้อแม้ ยุติความขัดแย้งกับกลุ่มชาติพันธุ์ ตรวจสอบผู้ที่ต้องรับผิดชอบในการละเมิดสิทธิมนุษยชน การเริ่มเปิดเวทีเจรจาระหว่างรัฐบาลและฝ่ายตรงข้ามรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ต่างในพม่าเพื่อหาหนทางร่วมกันในอนาคต รวมถึงเรียกร้องให้สหรัฐย้ำถึงประเด็นสำคัญดังกล่าวและกำหนดให้เป็นเส้นตายต่อรัฐบาลทหารพม่าและรัฐบาลในภูมิภาคก่อนการเลือกตั้ง ปี 2010

คำแถลงของนาย แคมป์เบล์เมื่อไม่นานมานี้ระบุว่า อาจเริ่มการเจรจาในแง่บวกกับรัฐบาลทหารพม่าในเรื่องที่สามารถมีผลประโยชน์ร่วมกันได้ เช่นการปราบปรามยาเสพติด การคุ้มครองด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ในขณะที่อดีตที่ผ่านมามีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่ารัฐบาลทหารพม่ามีความพยายามในการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเช่นกันแต่มักจะลงเอยด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนและปฏิเสธสิทธิของชุมชนชาวชาติพันธุ์ต่างๆในการบริหารจัดการทรัพยากรของตนเอง ดังนั้นกลุ่มภาคประชาสังคมจึงขอกระตุ้นให้ระลึกไว้เสมอว่าประเด็นของผลประโยชน์ร่วมกันจะต้องคำนึงถึงประชาชนในประเทศพม่าด้วย

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลพม่ามีความพยายามในการทวงสิทธิ์ควบคุมพื้นที่ชายแดนก่อนการเลือกตั้งโดยใช้เทคนิคสร้างความแตกแยกและปกครอง (divide-and-rule) และเผาทำลายพื้นที่ ส่งผลให้ชาวบ้านต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นในประเทศตนเอง ส่งผลกระทบถึงความมั่นคงในภูมิภาค การกระทำดังกล่าวเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานซึ่งส่งผลให้กว่า 3300 หมู่บ้านในรัฐชนกลุ่มน้อยถูกทำลายลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

กลุ่มภาคประชาสังคมสนับสนุนความพยายามในการพบ นาง ออง ซาน ซูจี พรรค NLD และผู้นำชนกลุ่มน้อย แต่อยากให้นายแคมป์เบลล์พบปะในที่ทำงานของพวกเขา แทนที่จะไปที่พักของรัฐบาล มีนักกิจกรรมที่ทำงานในการพัฒนาเรื่อง ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และ สิ่งแวดล้อมในพม่าและบริเวณชายแดนที่สามารถให้ข้อมูลสำคัญๆได้ โดยย้ำให้มีการพบปะกับตัวแทนกลุ่มต่างๆ ในหลายพื้นที่ นอกจากนั้นยังแสดงความเป็นห่วงในความปลอดภัยของชาวอเมริกันที่ชื่อ จอ ซอ ลวิน หรือ นี นี ออง ที่ยังถูกขังคุกอินเส่ง เนื่องจากมีรายงานการถูกทรมานส่งมา รวมถึงเรียกร้องให้ทำทุกวิถีทางให้เกิดการปล่อยตัว พร้อมทั้งลงท้ายในจดหมายในการหาโอกาสในการทำร่วมกันเพื่อนำพม่าไปสู่สันติภาพ และประชาธิปไตยที่แท้จริง

จดหมายเปิดผนึกดังกล่าวลงนามโดยองค์กรระดับภูมิภาคและองค์กรระดับท้องถิ่นภาคประชาสังคมพม่า ไทย และในเอเชียจำนวน 50 องค์กร
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net