Skip to main content
sharethis

วานนี้ (10 ต.ค. 52) กลุ่ม we change สถาบันต้นกล้า ร่วมกับสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติ มูลนิธิโลกสีเขียว มูลนิธิสืบนาคะเสถียร อาศรมวงศ์สนิท มูลนิธิเสฐียรโกเศศ – นาคะประทีป กลุ่มแรงงานสมานฉันท์ และสสส. จัดเทศกาล “เสื้อยืดเปลี่ยนโลก” ระหว่างวันที่ 10-11 ตุลาคม 2552 ณ.สวนสันติชัยปราการ เพื่อแสดงพลังของเสื้อยืดที่ไม่ใช่แค่ใส่สวยดูดี แต่ยังสะท้อนความคิด ความเชื่อ ของคนทำ-คนใส่ และความหมายบางอย่างในการขับเคลื่อนทางสังคม

กิจกรรม เริ่มตั้งแต่เวลา 15.00 น. โดยมีการออกร้านจัดแสดงเสื้อยืดจากองค์กรต่างๆ อาทิ สถาบันต้นกล้า สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติ มูลนิธิโลกสีเขียว มูลนิธิสืบนาคะเสถียร สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ และองค์กรที่จัดทำเสื้อยืดรณรงค์อื่นๆ และมีการสาทิตการทำเสื้อยืดตั้งแต่ที่เป็นผืนผ้าจนเป็นเสื้อยืดที่มีการพิมพ์ลวดลายสวยๆ โดยกลุ่มแรงงานสมานฉันท์ อีกทั้งมีเวทีแสดงดนตรีและจัดเสวนากลางสวน

ในส่วนทางเดินเข้างานมีการจัดนิทรรศการเสื้อยืดรณรงค์ในยุคสมัยต่างๆ โดยมีการแสดงเสื้อยืดรณรงค์เก่าๆ ที่เรียกว่าเป็นเสื้อยืดประวัติศาสตร์ ทั้งเสื้อยืดรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ยุคการต่อสู่เรื่องเขื่อนนำโจน ในช่วงปี 2523 การต่อสู่ทางการเมืองในสมัยพฤษภา ปี 2535 และเสื้อยืดรณรงค์ที่มีพบเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งยังมีเสื้อยืดใน “โครงการประกวดเสื้อยืดเปลี่ยนโลก” โดยฝีมือของนักเรียนนิสิต นักศึกษาที่ส่งเข้าประกวดจัดแสดงให้ชมด้วย

กิตติชัย งามชัยพิสิฐ สมาชิกกลุ่ม we change สถาบันต้นกล้า กล่าวถึงแนวคิดการจัดเทศกาล “เสื้อยืดเปลี่ยนโลก” ว่า การใช้คำว่าเปลี่ยนโลกเป็นคำที่ดูอหังกา ดูโอเวอร์ ในขณะที่ปัจจุบันคนที่อยากเปลี่ยนแปลง อยากเห็นโลกดีขึ้นจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยมีพลัง โดยมองข้อจำกัดว่าต้องมีอำนาจ มีคนเยอะๆ หรือมีความรู้เยอะๆ แล้วสุดท้ายก็ไม่ทำอะไรเลยหรือรอให้อะไรดีๆ ผ่านเข้ามาเอง แต่เมื่อบอกว่าเปลี่ยนโลกมันคือเรื่องใหญ่ที่แทบจะตรงข้ามกับการบอกว่าทำอะไรไม่ได้เลย ตรงนี้ถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย จึงตกลงใช้คำว่า “เสื้อยืดเปลี่ยนโลก”

“ถ้าเราไม่เริ่มตั้งแต่การเชื่อว่าเราเปลี่ยนโลกได้ มันก็ไม่คิด มันก็รอ เราเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ถ้าเราเชื่อ พลังของแต่ละคนที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้มันจะทำให้เราคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ เยอะแยะมากมายที่จะทำอะไรเพื่อการเปลี่ยนแปลง คนละนิดคนละหน่อย” กิตติชัยแสดงความเห็น

อย่างไรก็ตามเขาได้อธิบายความหมายของ “โลก” ว่า มี 2 ความหมายคือโลกทางกายภาพที่มีพื้นที่เป็นล้านล้านตารางกิโลเมตร และโลกใบที่เราอาศัยอยู่จริงซึ่งเป็นโลกใบที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทันที ก็คือโลกรอบตัว

“ถ้าใส่เราเสื้อ เรากระทำใช้ชีวิตของเราในการที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งรอบข้าง มันก็คือการเปลี่ยนโลกใบเล็กๆ ของเราแล้ว” สมาชิกกลุ่ม we change กล่าว พร้อมย้ำว่านี่คือการอธิบายแบบง่ายๆ แต่หากใครคิดออกอยากให้คิดแบบเปลี่ยนแปลงโลกจริงๆ ซึ่งโดยส่วนตัวมีความฝันที่จะเปลี่ยนแปลงโลกใบใหญ่จริงๆ เปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจ การบริโภค สถาบันต่างๆ ในสังคม และคิดว่าทุกคนน่าจะกล้าฝันที่จะเปลี่ยนให้ได้ขนาดนั้น ใช้ชีวิตมุ่งไปไม่สยบยอม

ส่วนการจัดงานในวันนี้ กิตติชัยอธิบายว่าเป็นการรวบรวมคนทำเสื้อยืดเพื่อการณรงค์ที่มีประเด็นของตัวเอง ไม่ว่าเรื่องสิทธิแรงงาน เรื่องสัตว์ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ หรือเรื่องการเมือง ชวนกันมาสำหรับคนที่อยากเสนอประเด็นดีๆ ออกสู่สังคมให้ได้มาเจอกันและร่วมแลกเปลี่ยนกันในการนำเสนอเสื้อ นำเสนอแนวคิด ในส่วนของเสื้อยืดถือเป็นสื่อที่อยู่ตรงกลางระหว่างคนที่อยู่ในเหตุการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนที่รับรู้ข้อมูลข่าวสารแล้วจะไปทำอะไรต่อ โดยเป็นสื่อชนิดหนึ่งในไม่กี่ชนิดที่คนทั่วไปสามารถควบคุมได้ต่างจากโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือ หรือสื่อใหญ่ที่มีเจ้าของจับจอง ใช้ต้นทุนในการทำต่ำ อยู่ได้นาน และเป็นสื่อที่สามารถเคลื่อนที่ได้

ในด้านประวัตศาสตร์ เสื้อยืดยังมีฐานะเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ของสามัญชนทั่วไป ต่างจากประวัติศาสตร์ที่เห็นในหนังสือทั่วไปซึ่งเป็นประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชนชั้นนำ หรือขบวนการต่อสู้ขนาดใหญ่ ไม่ใช่ประวัติศาตร์การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมของสามัญชน

อย่างไรก็ตาม เสื้อยืดรณรงค์เป็นเพียงสื่ออย่างหนึ่ง การที่จะทำให้เสื้อยืดมีพลังได้ ต้องอาศัยองค์ประกอบคือ 1.คนทำเชื่อมโยงตัวเองกับเสื้อตัวนั้นๆ มากแค่ไหน ซึ่งจะส่งผลกับการอธิบายอย่างมีพลัง 2.ความเชื่อมโยงกับสถานการณ์สังคมในปัจจุบัน ยกตัวอย่างหากใส่เสื้อต้านเขื่อนน้ำโจนในปัจจุบันก็จะมีพลังในฐานะเสื้อประวัติศาสตร์ ไม่เข้ากับสถานการณ์ ทั้งที่ในอดีตการส่วมเสื้อตัวนี้มีพลังที่ทำให้ยุติการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจนได้ 3.สารที่เสื้อสื่อออกมามีความชัดเจนเพียงพอหรือไม่ ประเด็นในเสื้อหากต้องการให้มีพลังควรใช้คำที่มีพลัง ตรงนี้บอกผ่านไปถึงคนทำเสื้อ รวมไปถึงคนใส่ที่ต้องการใช้เสื้อเพื่อการรณรงค์ให้มีพลัง

กนกนุช จันทร์ขำ ผู้จัดการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวถึงเสื้อยืดรณรงค์ของมูลนิธิสืบฯ ว่า มูลนิธิสืบทำงานเกี่ยวกับเรื่องการอนุรักษณ์ทรัพยากรณ์ธรรมชาติและสัตว์ป่า สื้อยืดที่ทำมาก็จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่จะใช้รณรงค์ เช่นในการต่อต้านการสร้างเขื่อน ทางมูลนิธิก็จะทำเสื้อที่พิมพ์สโลแกนคำว่าไม่มีป่าไม่มีน้ำ เปรียบเทียบว่าป่าไม้เป็นที่เก็บน้ำชั่วชีวิตแต่เขื่อนเป็นที่เก็บน้ำชั่วคราว แต่หลักๆ แล้วเสื้อยืดที่มูลนิธิสืบฯ ใช้รณรงค์จะเป็นเสื้อยืดลายสัตว์ป่า ด้วยความที่เมื่อพูดถึงป่าจะเห็นภาพว่าในป่ามีสัตว์ป่า มีสิ่งมีชีวิตต่างๆ อยู่นร่วมกัน เราจึงหยิบตรงนี้มาใช้เพื่อสื่อสารกับคนภายนอกได้รับรู้ในเรื่องการรักษาป่า ถ้าพื้นที่ป่าซึ่งเป็นบ้านของสัตว์ป่าถูกทำลายไป สัตว์ป่าเหล่านี้ก็จะสูญพันธ์ไปด้วย

“เราหวังว่าเมื่อเค้าใส่เสื้อของเราไปเดินที่ไหน เค้าจะเป็นคนให้ข้อมูลกับคนภายนอกแทนเรา” ผู้จัดการมูลนิธิสืบฯ กล่าว พร้อมเสริมว่าบนเสื้อยืดของมูลนิธิสืบนอกจากจะมีภาพสัตว์ป่าแล้วยังมีคำอธิบายสั้นๆ เกี่ยวกับสัตว์ป่านั้นๆ ด้วย

จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่ง ประเทศไทย ซึ่งขณะนี้คนงานสมาชิกสหภาพฯ ได้รวมตัวกันชุมนุมหน้าบริษัทบอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมมากว่า 100 วันแล้ว ได้นำเสื้อยืดของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ มาร่วมกิจกรรมด้วย กล่าวแสดงความเห็นว่า เสื้อยืดเป็นการรณรงค์อย่างหนึ่งที่จะบอกปัญหาและข้อเรียกร้องของคนงาน อีกทั้งสามารถสื่อได้ถึงความเป็นพรรคพวก เป็นทีมเดียวกันโดยใช้สีและลวดลาย

“เสื้อยืดรณรงค์ส่วนหนึ่งก็สร้างความเข้มเข็ง ความเป็นพรรคเป็นพวก เป็นกลุ่ม และอีกส่วนก็รณรงค์ให้รู้ว่าเราต้องการอะไร เราต้องการสื่ออะไร เรากำลังอยู่ในภาวะไหน” จิตรากล่าว

เธอเล่าด้วยว่าในอดีตเมื่อมีการทำเสื้อยืดก็จะมีการขายให้กับสมาชิกซึ่งต้องคิดกันหนักมากถึงข้อความบนเสื้อที่นอกจากสมาชิกจะต้องซื้อแล้ว สำคัญคือจะสื่อสารปัญหาของแรงงานกับคนอื่นๆ ที่เห็นเสื้อได้อย่างไร การทำก็จะไม่มีรูปภาพมีแต่ข้อความที่ช่วยกันคิดและเอาไปจ้างทำ ซึ่งเป้าหมายหลักก็คือจะทำอย่างไรให้เสื้อเป็นสัญญลักษณ์แทนกลุ่ม แทนองค์กร ต่อมาจึงมีการขายให้คนทั่วไปแล้วนำรายได้เข้าสหภาพแรงงานฯ นอกจากนั้นยังพยายามปรับปรุงรูปแบบให้น่าสนใจมากขึ้นด้วย ซึ่งที่ผ่านมาสหภาพฯ ทำเสื้อมาเยอะมาก โดยจะใช้เสื้อสีแดงและสีดำเป็นหลัก บางครั้งก็มีการทำเสื้อที่สกรีนข้อความที่เกี่ยวข้องทางการเมืองด้วย ยกตัวอย่าง เสื้อไม่เอา พ.ร.บ.ความมั่นคง เสื้อไม่เอาเผด็จการ และเสื้อที่บอกถึงผลของการเลิกจ้าง การทำลายสหภาพฯ

อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ แสดงความเห็นต่อการใช้เสื้อยืดเป็นสื่อรณรงค์ว่าเป็นสิ่งที่ได้ผล โดยยกตัวอย่างกรณีทีเธอสวมเสื้อรณรงค์ “ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากรฯ” ออกรายการโทรทัศน์จนเป็นผลให้ถูกบริษัทเลิกจ้าง และทราบเหตุการณ์ดังกล่าวยัวเป็นจุดเริ่มต้นของการคัดกรองการสวมใส่เสื้อยืดรณรงค์โดยมีการสอบถามถึงความหมายก่อนให้มีการออกอากาศ เธอแสดงความเห็นว่า ตรงนี้มองเห็นได้ว่าเสื้อรณรงค์มีความสำคัญ ทำให้คนได้มองเห็น และข้อความที่โดนใจนำไปสู่จิตใจของผู้คนได้จริงๆ

อย่างไรก็ตามในฐานะคนที่ใส่เสื้อ แม้จะเข้าใจได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการช่วงชิงทางการเมือง แต่เมื่อได้ตัดสินใจแล้วที่จะใสเสื้อตัวหนึ่ง มันเป็นการสะท้อนจุดยืน หรือในเรื่องการปกป้องสิทธิก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ได้ตัดสินในแล้ว ซึ่งก็เป็นธรรมดาเพราะเสื้อบางตัวที่สหภาพทำขึ้นมานายจ้างก็ไม่ให้ใส่ในโรงงาน เช่นล่าสุดเสื้อที่มีข้อความ “การเลิกจ้าง=ทำลายสหภาพ=ฆาตกร” ซึ่งสามารถตีความได้ว่าใครคือฆาตกร นายจ้างจึงไม่พอใจ

“บางทีเราพูดไม่ได้ เราก็ใช้เสื้อเป็นเครื่องมือหนึ่งที่คิดว่าจะให้มันเปลี่ยนแปลงอะไรได้” จิตรากล่าว

ด้านพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ กล่าวในการเสวนา “เสื้อยืดเปลี่ยนโลก” ว่า การสื่อสารผ่านเสื้อผ้าที่สวมใส่เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ในขณะที่โลกสมัยใหม่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารมากมายแต่กลับถูกครอบงำหมดจนทำให้มนุษย์ต้องมาสื่อสารข้อความผ่านเรือนร่างของตัวเอง ทำให้ต้องคำถามไปถึงสื่อว่ากำลังทำอะไรอยู่ การที่มนุษย์ต้องเริ่มต้นตะโกนบอกโลกด้วยตนเอง แม้ทางหนึ่งจะเป็นเรื่องน่ายินดีแต่อีกทางหนึ่งก็เป็นเรื่องน่าเศร้า ที่แสดงให้เห็นว่าสื่อที่เหลือเต็มไปด้วยเรื่องกำไรขาดทุนหมดแล้วใช่ไหม

ในส่วนการรณรงค์ที่นอกเหนือไปจากเสื้อยืด พิชญ์กล่าวว่า คนจำนวนมากรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิดแต่ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังเป็นปัญหาหรือเปล่า เช่น จัดสัมมนาเรื่องสิ่งแวดล้อมแต่เปิดแอร์ ใส่เสื้อรณรงค์แต่ไม่ถามว่าเสื้อรณรงค์ที่มีราคาถูกนั้นมันถูกเพราะกดค่าแรงใครมาบ้าง ตรงนี้มีความขัดแย้งที่นำมาสู่การตั้งคำถามที่ว่า เมื่อในขั้นแรกทุกคนต่างเป็นด้วยกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้ว เช่น ทุกคนอยากลดโลกร้อนแต่จะทำให้ทุกคนลดได้จริงได้อย่างไร ความรู้ที่จะไปคู่กับการรณรงค์ได้อย่างไร เป็นคำถามที่ท้าทายขึ้นว่าจะทำอย่างไร จากนี้ไปจะเป็นกิจกรรมอย่างไรที่ทำให้คนเข้าร่วมได้มากขึ้นเรื่อยๆ

“ประเด็นท้าทายของการรณรงค์ คือการทำกิจกรรมเป็นขั้นเป็นตอนที่ทำให้คนจำนวนมากรู้สึกว่าเขาเข้าร่วมได้และเขามีความสุขกับมัน” พิชญ์กล่าว
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net