Skip to main content
sharethis

 

 

ชายผิวสีชื่อ ‘บารัก โอบามา’ กลายเป็นประเด็นไปทั่วโลก ในฐานะหมุดหมายใหม่บนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐอเมริกา ในฐานะผู้ได้รับเลือกจากประชาชนให้ขึ้นเป็น ‘ประธานาธิบดีผิวสีคนแรก’ ด้วยคะแนนท่วมท้นล้นหลามเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551 และเมื่อคณะกรรมาธิการพิจารณามอบรางวัลโนเบลประกาศชื่อเขาในฐานะผู้ได้รับ รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2552 โอบามาก็กลายเป็นหัวข้ออันโอชะในการถกเถียงประเด็นทางการเมืองอีกครั้ง ทั้งในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก

ไม่ใช่เรื่องแปลกหากผู้นำประเทศฝ่ายตรงข้ามกับมหาอำนาจทุนนิยมอย่างสหรัฐฯ จะโจมตีหรือตั้งแง่เพื่อวิพากษ์วิจารณ์การได้รับรางวัลของโอบามา ในขณะที่ผู้นำจากซีกโลกต่างๆ อาจจะพากันแสดงความยินดีหรืออวยชัยให้พร แต่เรื่องที่ผิดคาดอย่างมากก็คือพลเมืองอเมริกันจำนวนไม่น้อยกลับเป็นฝ่ายมองว่าโอบามา‘ไม่คู่ควร’ กับรางวัลทรงเกียรติระดับโลกซึ่งควรจะมอบให้แก่ผู้ผลักดันและส่งเสริมให้เกิดแนวทางสันติภาพแก่มวลมนุษยชาติ
 
สื่อมวลชนอเมริกันบางค่ายเสนอข่าวว่าการมอบรางวัลให้ประธานาธิบดีวัย 48 ปีของพวกเขาเป็นสิ่งที่ ‘มาก่อนกาล’ จนเกินไป เพราะรัฐบาลโอบามายังอยู่ในวาระไม่ถึง 1 ปี และยังไม่ได้พิสูจน์ผลงานเป็นรูปธรรม รวมถึงเผยแพร่คำให้สัมภาษณ์ของประชาชนในรัฐต่างๆ ที่ตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของโอบามา
 
กระแสความคิดเห็นอันเชี่ยวกรากของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต ทั้งในอเมริกาและยุโรป ต่างถกเถียงกันว่าโอบามา ‘คู่ควร’ กับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพหรือไม่ ถึงขั้นมีผู้เสนอว่าโอบามาควรปฏิเสธการรับรางวัลดังกล่าวไปเสีย เพราะควรตระหนักได้ว่าเขา ‘ไม่คู่ควร’ กับรางวัล
 
แม้แต่นักเคลื่อนไหวในองค์กรพัฒนาเอกชนที่รณรงค์ให้ยุติสงครามและการเหยียดเชื้อชาติยังมองว่าโอบามาได้รางวัลนี้ เพียงเพราะ ‘เขาเป็นคนผิวดำ’ และการตัดสินของคณะกรรมาธิการฯ โนเบล มีประเด็นทางการเมืองแอบแฝงอยู่ (1)
 
ทางด้านโฆษกกองกำลังตาลีบันในอัฟกานิสถาน โจมตีว่าการมอบรางวัลสันติภาพให้โอบามา เป็น ‘เรื่องตลก’ และอ้างอิงถึงคำสั่งของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เพิ่มกำลังทหารอเมริกันกว่า 21,000 นายให้ไปประจำการที่อัฟกานิสถาน เพื่อต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายในพื้นที่เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
 
ส่วนที่ผิดคาดอย่างมากคือผู้นำประเทศที่มีท่าทีต่อต้านสหรัฐอเมริกามาตลอดอย่าง มาห์มูด อะมาห์ดิเนจาด’ แห่งอิหร่าน กลับส่งที่ปรึกษาด้านสื่อมาแสดงความเห็นเพียงว่า“เรามิได้โกรธเคืองใดๆ แต่หวังว่ารางวัลที่ได้รับจะทำให้เขา (โอบามา) เริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมในการกำจัดความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นทั่วโลก”
 
ปฏิกิริยาทั้งหมดทั้งมวลนำไปสู่การกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับรางวัลที่ได้รับ ณ กรุงวอชิงตัน ซึ่งโอบามาระบุอย่างตรงไปตรงมาว่า “ผมไม่รู้สึกว่าตัวเองคู่ควรกับรางวัลโนเบล” อีกทั้งยังประหลาดใจและรู้สึกเจียมตัวอย่างยิ่งที่ผลประกาศรางวัลออกมาเป็นเช่นนี้
 
อย่างไรก็ตาม โอบามาได้ยืนยันเพิ่มเติมโดยระบุว่าเขาตระหนักดีว่า “รางวัลที่ได้รับครั้งนี้ มิใช่ผลพวงจากความสำเร็จของผมแต่เพียงผู้เดียว แต่เป็นเครื่องยืนยันการปฏิบัติหน้าที่ผู้นำอเมริกันในนามของตัวแทนประชาชนทั้งชาติ”
 
ด้านโฆษกทำเนียบขาวออกมาชี้แจงภายหลังว่าเงินรางวัลกว่า 1.4 ล้านดอลลาร์ซึ่งโอบามาได้รับจะถูกนำไปมอบแก่องค์กรด้านการกุศลหรือมูลนิธิเพื่อการพัฒนาสังคม แต่ยังไม่ได้ระบุชัดเจนว่าองค์กรใดจะได้รับเงินสนับสนุนจากโอบามาบ้าง (2)
 
ทว่ากระแสกดดันและต่อต้านผลรางวัลโนเบลยังถูกนำเสนออย่างต่อเนื่องตามสื่อต่างๆ ในสหรัฐฯ และสิ่งที่ทำให้กลายเป็นประเด็นโจมตีเพิ่มมาอีกเรื่องหนึ่งคือการที่โอบามาปฏิเสธที่จะพบปะเจรจากับองค์ดาไล ลามะ ผู้นำลี้ภัยแห่งทิเบต ซึ่งเดินทางเยือนสหรัฐฯ ในช่วงเวลาเดียวกับที่มีการประกาศว่าโอบามาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ
 
นักรณรงค์และวุฒิสมาชิกด้านสิทธิมนุษยชนตำหนิโอบามาอย่างรุนแรง โดยระบุว่าเขาเป็นผู้นำสหรัฐฯ คนแรกในรอบ 20 ปีที่ปฏิเสธการเจรจากับดาไล ลามะ ทั้งที่ผู้นำลี้ภัยเป็นตัวแทนการต่อสู้เพื่ออิสรภาพทิเบตด้วยแนวทางสันติภาพ และเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพมาก่อนโอบามาเสียด้วยซ้ำ การปฏิเสธเข้าพบดาไล ลามะ จึงมีนัยยะว่าโอบามา ‘เคารพนบนอบ’ รัฐบาลจีนจนเกินไป ทั้งที่จีนเป็นฝ่ายยึดครองทิเบตและกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
 
คอลัมนิสต์บางรายมองว่าโอบามากำลังส่งข้อความผิดๆ ไปยังผู้นำอื่นๆ ทั่วโลก และหยิบยกกรณีที่ผู้นำออสเตรเลีย‘นายกรัฐมนตรีเควิน รัดด์’ ปฏิเสธเข้าพบดาไล ลามะ เช่นกัน เพียงเพื่อหวังจะรักษาความสัมพันธ์ระหว่างจีนและออสเตรเลียเอาไว้ หลังจากที่รัฐบาลจีนแสดงความไม่พอใจอย่างหนักที่พนักงานระดับสูงของบริษัทเหมืองแร่รายใหญ่ในออสเตรเลียมีส่วนพัวพันคดีติดสินบนเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของจีนเพื่อแสวงหาผลประโยชน์เข้าบริษัท
 
ส่วนสื่อที่มีแนวคิดเสรีนิยมและสนับสนุนโอบามา โต้แย้งว่าการเข้าพบดาไล ลามะ ไม่ต่างอะไรจากการ ‘โฆษณาชวนเชื่อ’ ซึ่งดำเนินมาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี แต่ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ระหว่างจีนกับทิเบตดีขึ้นเลย พร้อมทั้งตอกย้ำว่าการเจรจาเพื่อนำไปสู่สันติภาพในทิเบตอาจไม่ใช่แค่การเข้าพบดาไล ลามะ หากแต่เป็นการเจรจาโน้มน้าวและต่อรองกับรัฐบาลจีนซึ่งเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของชาวทิเบต ณ ปัจจุบันขณะ (3) (4) (5)
 
การถกเถียงและข้อคิดเห็นที่ขัดแย้งเรื่องการตัดสินมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพครั้งนี้ ถึงขั้นนำไปสู่การตั้งคำถามถึงความชอบธรรมและความโปร่งใสของคณะกรรมาธิการฯ ที่พิจารณาเรื่องการมอบรางวัล
 
ด้าน ‘ทอร์บยอนด์ ยักลันด์’ ประธานกรรมาธิการฯ โนเบล ชาวนอรเวย์ ชี้แจงเหตุผลว่าโอบามาคู่ควรกับรางวัลดังกล่าว โดยพิจารณาจากบทบาทของเขาในฐานะผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งนำไปสู่ทิศทางการเมืองโลกในรูปแบบใหม่ซึ่งให้ความสำคัญกับความร่วมมือในรูปแบบพหุภาคี เน้นย้ำความสำคัญของสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศ อีกทั้งโอบามามีความพยายามที่จะใช้การเจรจาและการต่อรองเป็นเครื่องมือในการแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วโลกโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยอาวุธนิวเคลียร์
 
นอกจากนี้ ‘ฟารีด ซาการิยา’ นักวิเคราะห์การเมืองประจำรายการ GPS ของสถานีโทรทัศน์ CNN สื่อกระแสหลักของสหรัฐฯ ยังพยายามหาเหตุผลมาหักล้างข้อกล่าวหาว่ารัฐบาลโอบามาไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันด้วยการแจกแจงผลงานที่ผ่านมา อันได้แก่ การถอนทหารในอิรัก การเสนอแนวทางเจรจากับโลกมุสลิมซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในรัฐบาลยุคก่อนหน้า และการทบทวนให้ยุติบทบาทของสหรัฐฯ ในการเป็นผู้นำด้านอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งอาจมีส่วนทำให้การเจรจาปลดอาวุธในประเทศต่างๆ ดำเนินไปอย่างง่ายดายขึ้น
 
อย่างไรก็ตาม ถ้อยคำยืนยันจากปากยักลันด์และซาการิยา ไม่อาจทำให้เสียงวิจารณ์เงียบลงแต่อย่างใด และนักวิเคราะห์ในสหรัฐฯ บางส่วนชี้แจงว่าคะแนนนิยมในตัวโอบามาที่ได้รับจากฝ่ายสนับสนุนนโยบายการปฏิรูประบบสาธารณสุขและการประกันสุขภาพ รวมถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีก หลังจากการประกาศผลรางวัลโนเบลผ่านพ้นไป แต่ขณะเดียวกันก็เป็นภาระหนักหนาสาหัสสำหรับรัฐบาลโอบามาเช่นกันที่จะต้องแบกรับความคาดหวังอันยิ่งใหญ่ของประชาชน
 
ด้วยเหตุนี้ ซาการิยาจึงพยายามเน้นย้ำข้อความเดียวกับที่โอบามาพยายามสื่อสาร คือการระบุว่ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพไม่ใช่รางวัลของประธานาธิบดีบารัก โอบามา แต่เป็นรางวัลของ ‘สหรัฐอเมริกา’ ซึ่งพยายามเชื่อมโยงกับโลก พร้อมทั้งสรุปปิดท้ายว่าอเมริกาควรเติบโตและมีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะเข้าใจว่าการแสดงอำนาจเหนือผู้อื่นไม่ใช่นโยบายต่างประเทศ และการยึดครองพื้นที่ในเวทีโลกเพียงลำพังไม่ประสบความสำเร็จอีกต่อไป เพราะในโลกใบใหม่ซึ่งประเทศอื่นๆ มีความมั่นใจและมีอำนาจต่อรองมากขึ้น ความสำเร็จของอเมริกา รวมถึงความมั่นคง และมั่งคั่ง ล้วนขึ้นอยู่กับการ ‘ร่วมมือกับผู้อื่น’ (6) (7)
 
ถ้าหากว่าคนส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกา (ซึ่งมีประวัติศาสตร์อันยาวนานเรื่องการเหยียดสีผิว เหยียดเชื้อชาติ ทั้งยังเป็นสังคมที่ ‘ชายผิวขาวเป็นใหญ่’ มาตลอด) สามารถยอมรับและเลือกผู้นำคนใหม่โดยมองข้ามความแตกต่างทางสีผิวไปได้เมื่อปีที่ผ่านมา รางวัลโนเบลสันติภาพในปีนี้ อาจเป็นเพียงอีกหนึ่งบททดสอบว่า‘ความหวัง’ ที่เบ่งบานในสังคมอเมริกันเมื่อปีที่แล้ว ได้หยั่งรากลึกลงในโครงสร้างสังคมอย่างมั่นคง หรือเป็นแค่เพียงปรากฏการณ์ลมๆ แล้งๆ ชั่ววูบเท่านั้น
 
ข้อมูลอ้างอิง
 
(1) ผลสำรวจความเห็นออนไลน์ของสำนักข่าว MSNBC ซึ่งมีผู้ตอบแบบสอบถาม 194,000 คน ในวันที่ 9 ต.ค.2552 ระบุ 62 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดเห็นว่าโอบามาไม่คู่ควรกับรางวัลเกียรติยศที่เพิ่งได้รับ และ 14 เปอร์เซ็นต์เห็นว่าโอบามาคู่ควรกับรางวัลแล้ว ขณะที่ 13 เปอร์เซ็นต์เห็นว่าโอบามาสมควรได้รางวัลในอนาคตข้างหน้า แต่ตอนนี้ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม (Obama Peace Prize win has some Americans asking why?)
 
 
 
 
 
 
 
 
สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net