Skip to main content
sharethis

 

 

เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.52 ที่ผ่านมา รายการ “มองคนละมุม” ผลิตโดยโครงการพื้นที่ทางสังคมและสื่อทางเลือก ดำเนินรายการโดยนายมานพ คีรีภูวดล กระจายเสียงทางสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ FM 100 MHz ได้เชิญอาจารย์คืนใส ใจเย็น บรรณาธิการสำนักข่าว S.H.A.N. เป็นแขกรับเชิญ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองของพม่าและชนกลุ่มน้อยที่มีการปะทะกันอยู่ในขณะนี้
 
โดย อ.คืนใส ได้เล่าย้อนอดีต ตั้งแต่ในปี ค.ศ. 1948 ที่พม่าได้รับเอกราชคืน ซึ่งตอนนั้นทั้งชาวพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ไทใหญ่ คะฉิ่น ชิน มารวมตัวแล้วมากู้เอกราชคืน และใช้ระบอบประชาธิปไตยในการปกครองประเทศนานกว่า 14 ปี
 
ปี ค.ศ.1962 พม่าได้ตั้งกองทัพพม่ามายึดอำนาจจนถึงปัจจุบัน ในปี 1990 ได้มีการจัดการเลือกตั้ง พรรคNLD ของ ออง ซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งทั่วประเทศ แล้วพรรคของไทใหญ่ก็ชนะการเลือกตั้งในรัฐฉาน แต่ทหารไม่ยอมคืนอำนาจให้กับประชาชน แต่กลับใช้เวลาในการร่างรัฐธรรมนูญนานถึง 14 ปี ต้นปีที่แล้วรัฐบาลพม่าประกาศว่าร่างรัฐธรรมนูญใกล้เสร็จแล้ว และในเดือนพฤษภาคมก็มีการลงประชามติเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ  
 
ในปี ค.ศ.2010 จะมีการเลือกตั้งในประเทศพม่า โดยปีที่แล้วก็มีการลงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญจริงๆ แล้วประชาชนส่วนใหญ่จากการตรวจสอบของสำนักข่าวต่างๆ เขาก็ต่อต้าน อย่างไรก็แล้วแต่ หลังจากทำประชามติเสร็จ รัฐบาลทหารพม่าก็ออกมาประกาศว่า ประชาชน 92% ได้รับรองร่างรัฐธรรมนูญ  
 
ในขณะเดียวกันก็เกิดเหตุการณ์พายุนาร์กีส ซึ่งเชื่อว่ายังมีประชาชนอีกมากที่ได้รับผลกระทบจากพายุ ไม่มีโอกาสได้ลงประชามติ ขนาดประเทศที่มีการปกครองแบบเสรีจริงๆ 92%  ซึ่งเป็นตัวเลขที่เป็นไปไม่ได้เลย ทำไมเป็นไปได้ในประเทศพม่า ในขณะที่รัฐบาลทหารพม่ามีการกดขี่ประชาชนตลอดเวลา จะได้รับการสนับสนุนมากถึงเพียงนี้หรือ
 
จากนั้น อ.คืนใส ได้วิเคราะห์ต่อไปว่าในปี ค.ศ. 2010 จะมีการเลือกตั้ง ซึ่งมีการเตรียมการใหญ่ โดยมีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่อยู่ในรัฐฉานได้วิเคราะห์ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัย 4 ด้าน คือ
 
  1. การสำรวจจำนวนประชากรจะทันหรือเรียบร้อยหรือไม่
 
  1. ปัญหาความขัดแย้งเขตแดนระหว่าง พม่า กับ บังคลาเทศ เรื่องนี้จะจบลงโดยดีไหม หรือจะเกิดสงครามขึ้น
 
  1. จัดการกับพรรคฝ่ายค้าน และกองกำลังต่างๆ โดยเฉพาะกองกำลังที่ตกลงหยุดยิงมาตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1989 ได้หรือไม่
 
  1. ปัญหาการปรับปรามยาเสพติด ทำกันจริงหรือเปล่า รัฐบาลสหรัฐ ไว้ใจและเชื่อถือขนาดไหน
 
โดยในประเด็นการสำรวจจำนวนประชากรนั้น อ.คืนใส กล่าวว่ายังไม่ชัดเจนมากนัก เพราะการสำรวจจำนวนประชากรที่ทำกันอย่างถูกระเบียบในพม่ามีแค่ 2 ครั้ง คือเมื่อสมัยอังกฤษปกครองอยู่ ในปี ค.ศ. 1931 กับ ค.ศ. 1941 เท่านั้นเอง นอกจากนั้นยังไม่มีการสำรวจที่เป็นทางการอีกเลย
 
ทั้งนี้คือตัวเลขในปัจจุบันคงเป็นการคาดเดามากกว่า และการสำรวจประชากรก็ทำกันแค่เขตอิทธิพลของกลุ่มที่หยุดยิงต่างๆ เท่านั้น และยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หยุดยิงอีกหลายกลุ่มก็ยังไม่ได้ทำการสำรวจด้วยเช่นกัน
“แต่ละกลุ่มไม่ให้ทำ เพราะสิ่งที่เขาเรียกร้องมาคือสิทธิ์ในการปกครองตนเอง แต่เมื่อยังไม่ได้ กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ก็ไม่อยากเกี่ยวข้องกับการสำรวจข้อมูลประชากร”  
 
ทั้งนี้กลุ่มหยุดยิงทั้งหมดมี 17 กลุ่มตามที่รัฐบาลทหารพม่าระบุไว้เป็นทางการ แต่ก็มีบางกลุ่มที่มอบอาวุธให้รัฐบาล และบางกลุ่มก็เข้าไปสวามิภักดิ์กับรัฐบาลทหารพม่า แต่ยังมีอีก 3 รัฐใหญ่ โดยเฉพาะรัฐฉาน คะฉิ่น และ มอญ ที่ไม่ยอมให้มีการสำรวจประชากร แม้จะมีการหยุดยิงแล้วก็ตาม
 
แล้วกลุ่มที่ยังไม่หยุดยิง KNU, SSE, แล้วก็ KNPP ที่อยู่ติดกับแม่ฮ่องสอนหรือคะยา นอกจากนั้นหลายกลุ่มหยุดยิงมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1989 แต่ก็ยังเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเองอยู่ ซึ่งก่อนนี้ทหารพม่าบอกว่าเราไม่ได้เป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะฉะนั้นตอนนี้ยังไม่ต้องพูดเรื่องการเมืองการปกครอง เราจะมาพูดก็ต่อเมื่อรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง และมาจากกฎหมายรัฐธรรมนูญ และตอนนี้รัฐธรรมนูญมีแล้ว
 
หลังจากผ่านการลงประชามติแล้วรัฐบาลทหารพม่าก็เริ่มกดดันกลุ่มหยุดยิงต่างๆ ให้มอบอาวุธถ้าไม่มอบอาวุธก็อ้างว่าจะจัดการเลือกตั้งไม่ได้ แต่หลายกลุ่มก็ไม่ยอมมอบ เพราะว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้รัฐบาลทหารพม่าร่างกันเอง ข้อเสนอของกลุ่มอื่นๆ หลายข้อถูกปัดออกไป  แล้วข้อเสนอของกลุ่มชาติพันธุ์ตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบันคือ ทั้งประเทศต้องปกครองแบบประชาธิปไตยหรือการปกครองในรูปแบบสหพันธรัฐ แต่รัฐบาลทหารพม่าบอกว่าเราจะเก็บไว้พิจารณา แต่พอร่างออกมาไม่มีเลยสักข้อ
 
โดย อ.คืนใส กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้เราจะต้องรู้ว่าจิตวิทยาของรัฐบาลทหารพม่าเป็นยังไง โดยเฉพาะผู้นำทางทหารเขาคิดแบบ “จักรพรรดิพม่า” ในอดีต คือเขาต้องรวบรวมดินแดนต่างๆ โดยใช้กองกำลังทหารเป็นหลัก
 
“เขาไม่ได้คิดแบบนายพล ออง ซาน ในการรวบรวมกำลังหรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ นายพล ออง ซาน ใช้วิธีการเข้าไปหาไปประชุม อย่างที่ผ่านมาเขาได้เข้ามาคุยกับไทยใหญ่ว่า การที่จะได้เอกราชคืนนั้น จะสู้เฉพาะไทยใหญ่ไม่ได้ต้องร่วมกันพอไทยใหญ่ร่วมกับพม่าก็ได้เอกราชพร้อมกัน”
 
ทั้งนี้หากไม่ไว้ใจพม่า ก็ต้องทำสัญญากันนั่นคือสัญญาปางโหลง (ปางหลวง) ใครที่ละเมิดสัญญาคือคนละเมิดกฎหมาย หรือคนนอกกฎหมาย ซึ่งตอนนั้นก็เป็นอย่างนั้นคือทุกชาติพันธุ์มาร่วมกันและไม่มีปัญหา แต่ปัญหาคือ พม่าเองไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญา เรื่องการปกครองตนเองไม่มี ทั้งเรื่องการถูกละเมิด เรื่องประชาธิปไตย, เรื่องมนุษยชน ฯลฯ จึงเกิดการเรียกร้องสิทธิตามกฎหมาย ตามสัญญา เนื่องจากทหารพม่าละเมิดสัญญาเอง ส่วนนายพลออง ซาน หลังจากทำข้อตกลงได้ไม่นานก็ถูกสังหารเสียชีวิตไป รวมทั้งผู้นำชาติพันธุ์อื่นๆ ก็ถูกสังหารไปด้วย
 
โดยหลังจากนั้นรัฐบาลทหารพม่าก็อ้างถึงเหตุผลว่า จีนคณะชาติเข้ามายึดดินแดน มาล่วงละเมิดอำนาจอธิปไตยของเรา ความจริง จีนคณะชาติเข้ามาในรัฐฉาน เลยอ้างเหตุผลและยึดไทใหญ่ไป หลังจากนั้นรัฐบาลไทใหญ่ที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่มีความหมายอะไร นี่คือปัญหาทั้งหมด ทั้งประชาธิปไตยและเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชนไม่มีเลยในพม่า จึงเกิดการต่อสู้ตั้งแต่นั้นจนถึงบัดนี้
 
“ตอนนี้รัฐบาลทหารพม่าก็เลยตั้งการที่จะแกะออกมา แต่วิธีการแกะของเขาไม่ถูก คือเขาคิดเพียงถ้าเป็นมิตรกับเราต้องตามใจเรา ถ้าไม่ตามใจเราก็ต้องเป็นศัตรู เขาไม่ได้คิดในสิ่งที่เอาได้ก็ต้องให้ด้วย ตอนนี้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เรียกร้องคือ ทั้งประเทศต้องปกครองแบบประชาธิปไตยในรูปแบบสหพันธรัฐเขาไม่เอาแล้วบังคับให้มอบอาวุธ”
 
จากนั้นผู้ดำเนินรายการได้ตั้งคำถามว่า ในปี ค.ศ. 2010 ที่จะมีการเลือกตั้ง ดูจากปัจจัย ทั้งการสำรวจข้อมูลประชากรไม่ชัดเจน, ปัญหากับบังคลาเทศยังร้อนระอุอยู่, การจัดการกับกลุ่มที่คัดค้าน และเรื่องยาเสพย์ติด ดูเหมือนไม่มีทางเลยที่จะเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยได้
 
โดย อ.คืนใส ตอบว่า ก่อนที่จะพูดเรื่องยาเสพติด ต้องพูดถึงฝ่ายค้านหรือเรื่อง ในประเด็น ออง ซาน ซูจี  ทั้งนี้รัฐบาลทหารพม่ากำหนดมาตลอดว่าพวกเขามีศัตรู โดยศัตรูตัวแรกที่ใกล้ตัวที่สุดคือ ประชาธิปไตย ซึ่ง นาง ซูจี เป็นตัวแทนของประชาธิปไตย
 
ส่วนศัตรูต่อมาในระยะยาวคือกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์และพรรคการเมือง ตัวอย่างเช่นเมื่อ 4 ปีที่แล้ว มีการตัดสินคดีผู้นำไทใหญ่ให้ติดคุกซึ่งไม่เคยมีในประวัติพม่ามาก่อนคือติดคุก 106 ปี มีอย่างที่ไหน ไม่ใช่คดีอาญาแต่เป็นคดีการเมือง คือรวบรวมคดีทั้งหมดมารวมกัน
 
และตอนนี้กำลังทำกับนางอ่อน ซาน ซูจี ที่มีการกักขังกำลังจะครบ 5 ปีอยู่แล้ว ตามกำหนดการแล้ว 5 ปีต้องปล่อยตัวนาง ซูจี แต่ก็ไม่เป็นตามนั้นคือทำทุกวิถีทางที่ไม่ให้ นางซูจี เข้าไปยุ่งกับการเมือง ไม่ให้นางเข้าไปเลือกตั้ง นางไม่มีสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ มิหนำซ้ำในรัฐธรรมนูญ ยังระบุถึงผู้ที่จะเข้ามามีบทบาททางการเมืองที่ระบุว่า บุคคลที่แต่งงานกับต่างชาติ บุคคลที่ได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติ อย่างนี้ถึงแม้จะไม่ระบุชื่อ แต่ก็รู้ว่าเป็นการทำทุกวิถีทางที่จะหยุดนาง ซูจี และคนอื่นๆ
 
ผู้ดำเนินรายการได้ตั้งคำถามต่อไปว่าทำไมรัฐบาลทหารพม่าถึงกลัวนางออง ซาน ซูจี
 
อ.คืนใส ตอบว่า ในปี ค.ศ. 1990 ขนาดนางถูกกักบริเวณอยู่พรรคของนางยังชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย
 
“ถ้าหากปล่อยตัวนางออกมาจะเป็นยังไง แม้แต่ นายกเตง เส่ง คนปัจจุบัน ก็ยังพูดอยู่ว่า ถ้าหากเราแพ้การเลือกตั้งในครั้งนี้สิ่งที่เราทำมา 20 กว่าปีก็ไม่มีความหมาย”
 
ทั้งนี้ อ.คืนใส กล่าวต่อไปว่าไม่ว่าจะวิธีไหนเขาก็ต้องทำให้เขาชนะให้ได้อยู่แล้ว แต่เขาก็อยากจะทำให้ดูดี เขาก็เลยมาหาเรื่องนางซูจี ตอนแรกเขาคิดว่าเรื่องจะไม่ใหญ่โต ลำพังสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ยอมรับกันได้ เป็นเรื่องปกติ แต่มีทั้งไทยและอาเซียนด้วย ที่หนักกว่าในปัจจุบันทั้งรัสเซียและจีนต่างเริ่มตำหนิพม่าแล้ว ตอนแรกว่าจะมีการตัดสินโดยเร็วแต่ก็ถูกเลื่อนออกไปโดยไม่มีกำหนด จึงต้องส่ง พลเอก ฉ่วย มัง ที่เป็นเสนาธิการทหาร 3 เหล่าทัพ ไปเจรจากับจีน แล้วประเด็นที่ไปพูดก็หนีไม่พ้นเรื่องนางซูจี และเรื่องกลุ่มหยุดยิงว่า หากเกิดการสู้รบกับจีนอย่าได้สนับสนุนฝ่ายหยุดยิงได้ไหม เพราะกลุ่มหยุดยิงทั้งหมด ทั้ง ไทใหญ่และว้า ก็อยู่ติดกับจีน แล้วถ้าจีนกดดันพวกหยุดยิงเหล่านี้ก็จะแข็งข้อกับพม่าไม่ได้
 
“ผลการเจรจานั้นจะออกมาอย่างไรยังไม่แน่ชัด แต่ที่แน่ๆ คือจีนกำลังชั่งใจอยู่ เนื่องจากจีนมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับพม่า เขากำลังจะสร้างท่อส่งแก๊สธรรมชาติกับท่อน้ำมันที่ต้องผ่านประเทศพม่าไปยังไทใหญ่ จึงเป็นการเอาประเด็นนี้มาเจรจาแน่นอน”
 
โดยปัญหาทางจีนคือ ตอนนี้พม่ากำลังเข้าหาสหรัฐฯ อยู่โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เขาจึงเข้าหาสหรัฐฯ เพราะสหรัฐฯ เป็นกุญแจสำคัญที่จะเปิดทางให้สถาบันพัฒนาการเงินระดับโลก ไม่ว่า IMF, ธนาคารโลก มาที่พม่าได้ และเวลาจะกู้เงินก็จะต้องผ่านสหรัฐฯ
 
ท้ายสุด อ.คืนใส ได้ทิ้งท้ายไว้ในประเด็นการเลือกตั้งว่า ตอนนี้แม้แต่พม่าเองก็ยังไม่รู้ว่าจะสามารถเลือกตั้งได้หรือไม่ และในพม่าเองก็แตกคอกัน 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือยังไงๆ ก็ต้องเลือกตั้งให้ได้ในปีนี้ ให้เลือกตั้งไปเลย เมื่อ ค.ศ. 1990 ก็เคยมีการจัดมาแล้ว ส่วนฝ่ายที่สองนั้นต้องการแก้ปัญหาปัจจัย 4 ประเด็นก่อน หากยังแก้ไม่ได้การเลือกตั้งให้เลื่อนไปก่อน เพราะฉะก็ต้องติดตามกันต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net