Skip to main content
sharethis




น.ส.มึดา นาวานาถ ระหว่างการประชุม ณ ที่ว่าการอำเภอสบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อวันเด็กไร้สัญชาติ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา (แฟ้มภาพ/ที่มาของภาพ: สำนักข่าวชาวบ้าน)


 


ตามที่เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ที่ผ่านมา น.ส.มึดา นาวานาถ อดีตเยาวชนไร้สัญชาติซึ่งปัจจุบันได้รับสัญชาติตามมาตรา 23 พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ.2551 ได้ไปติดต่อโรงพยาบาลสบเมย อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งได้ปฏิเสธสิทธิในการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือการมีบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าของ น.ส.มึดา โดยให้เหตุผลกับ น.ส.มึดาว่า "ทะเบียนบ้านนั้นเป็นทะเบียนบ้านชั่วคราว และเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักนั้น ขึ้นต้นด้วยเลข 8 ซึ่งหมายถึงบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย ทำให้ไม่สามารถมี


บัตรได้"


 


และเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (Stateless Watch) ได้ ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลสบเมย เพื่อขอหารือและขอให้ชี้แจงกรณีการปฏิเสธสิทธิในการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของนางสาวมึดา นาวานาถ และมีการทำสำเนาถึง นายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ นั้น


 


ต่อมาเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. น.ส.มึดา ได้โทรศัพท์มาแจ้งคณะทำงานโครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ ว่า ทางโรงพยาบาลสบเมย ได้ติดต่อมาให้ตนไปทำบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้แล้ว


 


ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2552 นายจักรี คมสากร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสบเมย ได้ทำหนังสือชี้แจงที่ มส 0027.3/001 เรื่อง "การขึ้นทะเบียนบัตรทอง นางสายมึดา นาวานาถ" มาโครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ


 


หนังสือชี้แจงดังกล่าว มีเนื้อหาโดยสรุปว่า ในวันที่ น.ส.มึดา มาติดต่อโรงพยาบาลสบเมยเพื่อขอทำบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า เจ้าหน้าที่งานประกันสุขภาพ ได้ทำการตรวจสอบข้อมูลบุคคลกับระบบฐานข้อมูลเวชระเบียน ของโรงพยาบาลสบเมย พบว่า ข้อมูลในระบบเวชระเบียน เลข 13 หลัก คือ 6-5806-72006-39-6 ไม่ตรงกับข้อมูลที่นางสาวมึดา นาวานาถ มายื่นคือเลข 13 หลัก คือ 8-5806-73000-01-1 (ดูภาพ 2.1 ประกอบ)


 


เจ้าหน้าที่งานประกันสุขภาพ จึงได้ทำการตรวจสอบสิทธิหลักประกันด้านสุขภาพในระบบออนไลน์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลกลางระดับประเทศ ในการตรวจสอบสิทธิ์การรักษาพยาบาลอีกครั้งพบว่ามีเลข 13 หลัก ของนางสาวมึดา นาวานาถ อยู่ 2 เลข คือ เลข 13 หลัก หมายเลข 6-5806-72006-39-6 แจ้งว่า สถานะของนางสาวมึดา เป็นสถานะต่างด้าว และหมายเลข 8-5806-73000-01-1 สถานะคือ สิทธิ์ว่าง หมายถึงสิทธิ์ที่รอการขึ้นทะเบียนบัตรทอง (ดูภาพ 2.1 ประกอบ)


 


เจ้าหน้าที่งานประกันสุขภาพ จึงแจ้งให้ น.ส.มึดา นาวานาถ ขอเวลาในการตรวจสอบข้อมูล เพื่อยืนยันสิทธิ์ในการขึ้นทะเบียนบัตรทอง โดยได้แจ้งให้นางสาวมึดา นาวานาถมาติดต่อทำบัตรทองอีกครั้ง ในสัปดาห์ต่อไป


 


ต่อมา ในวันที่ 26 ธ.ค. 2551 ทางโรงพยาบาลได้รับหนังสือจากโครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ ทางโรงพยาบาลโดยงานประกันสุขภาพได้พยายามติดต่อ น.ส.มึดา เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจในประเด็นการตรวจสอบข้อมูลและการขึ้นทะเบียนบัตรทองแต่เนื่องจากว่า ทางงานประกันสุขภาพ ไม่มีข้อมูลที่อยู่ปัจจุบัน ของนางสาวมึดา นาวานาถ จึงไม่สามารถติดต่อได้


 


ต่อมาในวันที่ 29 ธ.ค. 2551 ทางโรงพยาบาลสบเมย โดยว่าที่ ร.ต.ทวีพันธ์ วิศวกลกาล หัวหน้างานประกันสุขภาพ โรงพยาบาลสบเมย ได้ติดต่อประสานงาน ไปยังนายสันติพงษ์ มูลฟอง ผู้จัดการศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและเยาวชน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อทำความเข้าใจและประสานงานกับนางสาวมึดา นาวานาถ ในการขึ้นทะเบียนบัตรทอง เนื่องจากในวันดังกล่าวนี้ทางโรงพยาบาลสบเมย ได้ทำการตรวจสอบแล้วยืนยันได้ว่า หมายเลข 13 หลัก 2 หมายเลข เป็นคนๆ เดียวกัน ประกอบกับ กรณีนางสาวมึดา นาวานาถ เป็นบุคคลแรกที่ได้รับสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 พ.ศ. 2551 เลยทำให้การตรวจสอบข้อมูลต้องใช้เวลาในการตรวจสอบเพื่อยืนยันตัวบุคคล


 


ต่อมาในวันที่ 30 ธ.ค. 2551 หลังจากที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสบเมย นพ.จักรี คมสาคร ได้รับทราบการยืนยันสิทธิ์แล้วว่า น.ส.มึดา เป็นบุคคลที่ได้รับสัญชาติไทย ว่าที่ ร.ต.ทวีพันธ์ วิศวกลกาล หัวหน้างานประกันสุขภาพ โรงพยาบาลสบเมย จึงได้สั่งการให้ดำเนินการขึ้นทะเบียนโดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างหลักประกันด้านสุขภาพแก่ผู้มีสิทธิ์ ขณะเดียวกัน ได้รับความร่วมมือจากนายสันติพงษ์ มูลฟอง ผู้จัดการศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและเยาวชน ในการประสานงาน


 


ในวันดังกล่าวนี้ น.ส.มึดา ก็ได้มาติดต่อทำบัตรทองอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้โรงพยาบาลก็ได้ทำความเข้าใจและดำเนินการขึ้นทะเบียนบัตรทองให้แก่ น.ส.มึดา พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการใช้สิทธิ์บัตรทอง ซึ่งในการทำความเข้าใจครั้งนี้ น.ส.มึดา ได้ทำหนังสือ ขอบคุณโรงพยาบาลสบเมย ในการทำความเข้าใจและดำเนินการขึ้นทะเบียนบัตรทอง


 


"โรงพยาบาลสบเมย ขอขอบคุณผู้ประสานงานและผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานครั้งนี้ที่สามารถทำให้การขึ้นทะเบียนบัตรทองนางสาวมึดา นาวานาถ สำเร็จตามความมุ่งหมาย" นพ.จักรี กล่าวในตอนท้ายของหนังสือชี้แจง


 


ต่อกรณีดังกล่าว น.ส.ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล นักวิชาการด้านนิติศาสตร์และทนายความ โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ ให้ความเห็นว่า "จดหมายตอบจากโรงพยาบาลสบเมย ถือว่าเป็นท่าทีการตอบรับกับปัญหา กับความสงสัยของที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีและน่าชื่นชม โดยเฉพาะสิ่งที่ทาง รพ. ดำเนินการภายหลังจากที่ได้รับจดหมายของเรา วัตถุประสงค์ของความเห็นทางกฎหมายที่ทางโครงการฯ สื่อสารผ่านรูปแบบของจดหมาย ก็คือ เราต้องการทำความเข้าใจกับทางโรงพยาบาลว่า เรามองกฎหมายแตกต่างกันหรือเปล่า ไม่เฉพาะกรณีของมึดา ทุกครั้งที่มีเรื่องร้องเรียนมา เราตรวจสอบข้อเท็จจริงกับผู้ร้อง หลังจากนั้นก็เป็นงานทำความเข้าใจกับหน่วยงานรัฐ รวมถึงสาธารณะ ถึงสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้อง และอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานรัฐ"


 


"จากกรณีของมึดา หรือประเด็นสิทธิในหลักประกันสุขภาพของกรณีคนไทยตามมาตรา 23 เราจะไม่หยุดเพียงแค่การทำความเข้าใจกับ รพ.สบเมย แต่เรากำลังจะทำจดหมายถึงสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และปลัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้เกิดความชัดเจนและความมั่นใจว่า รพ.อื่นๆ ในพื้นที่อื่นๆ มีความเข้าใจสิทธิในหลักประกันสุขภาพของคนไทยตามมาตรา 23 เช่นเดียวกับที่โรงพยาบาลสบเมย โดยอาจขอให้มีการทำหนังสือเวียนหรือหนังสือสั่งการถึงโรงพยาบาลทุกแห่งต่อไป"


 


สำหรับรายละเอียดของหนังสือขอให้ชี้แจงของโครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ และหนังสือชี้แจงของโรงพยาบาลสบเมย มีรายละเอียดดังนี้


 


 


000


 


1) 26 ธันวาคม 2551


โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ ทำหนังสือถึง ผอ.รพ.สบเมย


 







ที่ ฝสร. 11/2551


 


วันที่ 26 ธันวาคม 2551


 


เรื่อง ขอหารือและขอให้ชี้แจงกรณีการปฏิเสธสิทธิในการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของนางสาว มึดา นาวานาถ


 


เรียน 1) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสบเมย


2) เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)


 


อ้างถึง 1) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550


2) พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545


3) อนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่รัฐไทยเป็นภาคี (กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ, อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ, อนุสัญญาสิทธิเด็ก และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน)


4) พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 พ.ศ.2551


5) พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542


 


 


สืบเนื่องจาก โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (Stateless Watch) ร่วมกับองค์กรเครือข่ายคือ โครงการแสวงหาองค์ความรู้ในการบังคับใช้กฎหมายใหม่เพื่อแก้ปัญหาความไร้รัฐ และไร้สัญชาติของมนุษย์ในสังคมไทย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการร้องขอความช่วยเหลือด้านกฎหมายจากนางสาวมึดา นาวานาถ เนื่องด้วยเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551 นางสาวมึดาได้ไปติดต่อโรงพยาบาลสบเมย อำเภอสบเมย จังหวัดแม่อ่องสอน ซึ่งได้ปฏิเสธสิทธิในการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือการมีบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าของนางสาวมึดา โดยให้เหตุผลกับนางสาวมึดาว่า "ทะเบียนบ้านนั้นเป็นทะเบียนบ้าน ชั่วคราว และเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักนั้น ขึ้นต้นด้วยเลข 8 ซึ่งหมายถึงบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย ทำให้ไม่สามารถมีบัตรได้" นั้น ทางโครงการฯและองค์กรเครือข่าย เห็นว่าความเข้าใจดังกล่าวไม่ถูกต้อง คลาดเคลื่อน จึงเรียนมาเพื่อขอหารือข้อกฎหมายและความเห็นทางกฎหมาย ดังต่อไปนี้ รวมถึงขอให้ทางผู้อำนวยการโรงพยาบาลสบเมย และเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อกรณีดังกล่าว


 


1. สิทธิในการรับบริการสาธารณสุขเป็นสิทธิมนุษยชน เป็นสิทธิของบุคคลที่ได้รับการรับรองโดยมาตรา 51 และมาตรา 52 รวมถึงมาตรา 80 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2550) และพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยสาระสำคัญของสิทธิในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็คือ เป็นสิทธิของบุคคลที่จะได้รับบริการสุขภาพที่มีมาตรฐานอย่างเสมอหน้า ด้วยเกียรติศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน ที่สำคัญไม่ใช่บริการที่ต้องมีการสมัครจึงจะได้รับ หากแต่เป็นสิทธิตามกฎหมายของบุคคล


 


สิทธิของบุคคลดังกล่าว ผูกพันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีหน้าที่ต้องเคารพและรับรอง โดยการใช้อำนาจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเป็นไปโดยคำนึงถึงถึง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ (มาตรา 26, 27 และมาตรา 4 แห่งรัฐธรรมนูญฯ) และโดยเสมอภาค (มาตรา 30 แห่งรัฐธรรมนูญฯ)


 


2. ในทางปฏิบัติ บุคคลซึ่งเป็นผู้ทรงสิทธิในหลักประกันสุขภาพจะได้รับการออกบัตรหลักประกัน สุขภาพถ้วนหน้า ภายหลังการขึ้นทะเบียน (ข้อ 13 และ 14 แห่งระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยหลักประกันสุขภาพ พ.ศ.2544) โดยขั้นตอนนี้ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบอาจสำรวจและขึ้นทะเบียน หรือบุคคลอาจไปยื่นคำขอขึ้นทะเบียน ณ หน่วยงานหรือหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ผู้มีสิทธิมีชื่ออยู่ ตามทะเบียนบ้าน


 


3. อนึ่ง การรับรองสิทธิดังกล่าวของประเทศไทย ยังเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับพันธกรณีในทางระหว่างประเทศในฐานะรัฐภาคี ได้แก่ ข้อ 25 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง, ข้อ 12.1 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม, ข้อ 5 (e) (iv) แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ, ข้อ 11.1 (f), ข้อ 12.1 และ 12.2 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ, ข้อ 24.1 แห่งอนุสัญญาสิทธิเด็ก ค.ศ. 1989 รวมถึงข้อ 25 (1) ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน


 


4. สำหรับกรณีของนางสาวมึดา ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 (ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2515) ทำให้นางสาวมึดาไม่มีสัญชาติไทยในขณะที่เกิด อย่างไรก็ดี โดยผลแห่งมาตรา 23 ของพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 พ.ศ.2551 ได้ส่งผลให้นางสาวมึดามีสัญชาติไทยโดยผลของกฎหมาย นับตั้งแต่วันที่กฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ คือวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 โดยสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครองได้รับการกำหนดเลขประจำตัว 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 8 ให้แก่นางสาวมึดา และนางสาวมึดาได้ดำเนินการเพื่อเพิ่มชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) และได้รับการถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อใช้เป็นเอกสารแสดงตนว่าเป็นบุคคล ผู้มีสัญชาติไทยเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2551


 


5. ภายใต้กฎหมายทั้งในระดับรัฐธรรมนูญ กฎหมายระดับพระราชบัญญัติ และกฎหมายลำดับรอง รวมถึงกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องข้างต้น ทางโครงการฯและองค์กรเครือข่ายมีความเห็นว่า หากโรงพยาบาลสบเมยมีฐานะเป็นหน่วยงานบริการด้านการลงทะเบียนและทำบัตรหลัก ประกันสุขภาพถ้วนหน้า หากทางโรงพยาบาลปฏิเสธการดำเนินการเพื่อออกบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ แก่นางสาวมึดานั้น อาจหมายถึงการกระทำที่ขัดต่อมาตรา 51-52 แห่งรัฐธรรมนูญฯ รวมถึงหลักความเสมอภาค (มาตรา 30 แห่งรัฐธรรมนูญฯ) ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กฎหมายลำดับรอง กฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องทุกฉบับ อันอาจนำไปสู่การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครองของโรงพยาบาล สบเมยในเบื้องต้น คือการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเกี่ยวกับขั้นตอนในการออกคำสั่งทางปกครอง (มาตรา 29, 30 และ 37 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539), การไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเกี่ยวกับขอบอำนาจในการออกคำสั่งทางปกครอง รวมถึงการกระทำทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ หรือมีลักษณะการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม (มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542)


 


ทางโครงการฯ และองค์กรเครือข่าย จึงเรียนมาเพื่อขอคำชี้แจงต่อกรณีดังกล่าว ด้วยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทางโรงพยาบาลสบเมยและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในฐานะหน่วยงานทาง ปกครองด้านสาธารณสุขจะปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดไว้เพื่อคุ้มครองและ รับรองสิทธิในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของบุคคลผู้มีสัญชาติไทย ตามมาตรา 23 แห่งกฎหมายสัญชาติฉบับใหม่


 


จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการ


 


ขอแสดงความนับถือ


 


ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล


นักวิชาการด้านนิติศาสตร์และทนายความ


โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ


 


สำเนาถึง:


1) นายกรัฐมนตรี


2) ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


3) เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ


4) ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ


5) ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ



 

 


000


 


2) 5 มกราคม 2552


หนังสือชี้แจงจาก ผอ.รพ.สบเมย และสิ่งที่แนบมาด้วย


 


 


(2.1) หนังสือชี้แจงการขึ้นทะเบียนบัตรทอง น.ส.มึดา นาวานาถ






ที่ มส 0027.3 /001                                                           โรงพยาบาลสบเมย อำเภอสบเมย


จังหวัดแม่ฮ่องสอน 58110


 


5 มกราคม 2552


 


เรื่อง การขึ้นทะเบียนบัตรทอง นางสาวมึดา นาวานาถ


เรียน ผู้อำนวยการโครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ


อ้างถึง 1.) หนังสือที่ ฝสร. 11/2551 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2551


สิ่งที่ส่งมาด้วย 1.) เอกสารการตรวจสอบสิทธิ์และเอกสารการขึ้นทะเบียนบัตรทอง    จำนวน 1 ชุด


             2.) หนังสือจากนางสาวมึดา นาวานาถ                                               จำนวน 1 ฉบับ


 


ตามที่หนังสือที่อ้างถึง โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ ได้ทำหนังสือขอหารือและขอให้ชี้แจง กรณีการปฏิเสธในการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของ นางสาว มึดา นาวานาถ นั้น


 


            โรงพยาบาลสบเมย ขอชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า ในวันที่ 25 เดือนธันวาคม 2551 นางสาวมึดา นาวานาถ ได้มาติดต่อเพื่อขอขึ้นทะเบียนบัตรทอง ต่องานประกันสุขภาพ โรงพยาบาลสบเมย ซึ่งขณะนั้น มีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานคือ นาย ศุภชัย ชิงชัย เจ้าหน้าที่งานประกันสุขภาพ โรงพยาบาลสบเมย รับเรื่องในการขึ้นทะเบียนบัตรทอง


 


            จากนั้น ขั้นตอนที่ 1 เจ้าหน้าที่งานประกันสุขภาพ ได้ทำการตรวจสอบข้อมูลบุคคลกับระบบฐานข้อมูลเวชระเบียน ของโรงพยาบาลสบเมย ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการรักษาของบุคคล สาเหตุที่ต้องตรวจสอบกับระบบข้อมูลเวชระเบียนของโรงพยาบาลสบเมย เพื่อยืนยันข้อมูลให้ตรงกับบุคคล เนื่องจากในอดีต โรงพยาบาลสบเมย เคยประสบปัญหาการยืนยันบุคคลในการรักษา เนื่องจากข้อมูลที่ผู้ป่วยบางรายแจ้งข้อมูลในการมารับการรักษาแต่ละครั้งไม่ตรงกัน ซึ่งมีความเสี่ยงอาจทำให้เกิดการรักษาผิดคนได้ กรณีนางสาวมึดา นาวานาถ ในวันดังกล่าว โรงพยาบาลสบเมย ตรวจสอบในระบบฐานข้อมูลเวชระเบียน พบว่า ข้อมูลในระบบเวชระเบียน เลข 13 หลัก คือ 6580672006396 ไม่ตรงกับข้อมูลที่นางสาวมึดา นาวานาถ มายื่นคือเลข 13 หลัก หมายเลข 8580673000011


 


            ขั้นตอนที่ 2 หลังจากตรวจสอบกับข้อมูลในระบบเวชระเบียนแล้ว พบว่าข้อมูล เลข 13 หลัก ไม่ตรงกัน เจ้าหน้าที่งานประกันสุขภาพ จึงได้ทำการตรวจสอบสิทธิหลักประกันด้านสุขภาพในระบบออนไลน์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลกลางระดับประเทศ ในการตรวจสอบสิทธิ์การรักษาพยาบาลอีกครั้งพบว่ามีเลข 13 หลัก ของนางสาวมึดา นาวานาถ อยู่ 2 เลข คือ เลข 13 หลัก หมายเลข 6580672006396 แจ้งว่า สถานะของนางสาวมึดา เป็นสถานะต่างด้าว และหมายเลข 8580673000011 สถานะคือ สิทธิ์ว่าง หมายถึงสิทธิ์ที่รอการขึ้นทะเบียนบัตรทอง


 


            จากกรณีดังกล่าว ผลการตรวจสอบข้อมูล 13 หลัก ทั้ง 2 ขั้นตอน พบว่าข้อมูลไม่ตรงกัน ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ เจ้าหน้าที่งานประกันสุขภาพ ได้แจ้งให้นางสาวมึดา นาวานาถ ขอเวลาในการตรวจสอบข้อมูล เพื่อยืนยันสิทธิ์ในการขึ้นทะเบียนบัตรทอง โดยได้แจ้งให้นางสาวมึดา นาวานาถมาติดต่อทำบัตรทองอีกครั้ง ในสัปดาห์ต่อไป


 


            ต่อมา ในวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ทางโรงพยาบาลได้รับหนังสือ ตามที่อ้างถึง 1.) เรื่อง ขอหารือและขอให้ชี้แจงกรณีการปฏิเสธในการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของ นางสาวมึดา นาวานาถ ทางโรงพยาบาลสบเมย โดยงานประกันสุขภาพจึงได้พยายามติดต่อนางสาวมึดา นาวานาถ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจในประเด็นการตรวจสอบข้อมูลและการขึ้นทะเบียนบัตรทองแต่เนื่องจากว่า ทางงานประกันสุขภาพ ไม่มีข้อมูลที่อยู่ปัจจุบัน ของนางสาวมึดา นาวานาถ จึงไม่สามารถติดต่อได้


 


            ต่อมาในวันที่ 29 ธันวาคม 2551 ทางโรงพยาบาลสบเมย โดยว่าที่ ร.ต.ทวีพันธ์ วิศวกลกาล หัวหน้างานประกันสุขภาพ โรงพยาบาลสบเมย ได้ติดต่อประสานงาน ไปยังคุณสันติพงษ์ มูลฟอง ผู้จัดการศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและเยาวชนอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อทำความเข้าใจและประสานงานกับนางสาวมึดา นาวานาถ ในการขึ้นทะเบียนบัตรทอง เนื่องจากในวันดังกล่าวนี้ทางโรงพยาบาลสบเมย ได้ทำการตรวจสอบแล้วยืนยันได้ว่า หมายเลข 13 หลัก 2 หมายเลข เป็นคนๆ เดียวกัน ประกอบกับ กรณีนางสาวมึดา นาวานาถ เป็นบุคคลแรกที่ได้รับสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 พ.ศ. 2551 เลยทำให้การตรวจสอบข้อมูลต้องใช้เวลาในการตรวจสอบเพื่อยืนยันตัวบุคคล


 


            ต่อมาในวันที่ 30 ธันวาคม 2551 ทางโรงพยาบาลสบเมย โดยว่าที่ ร.ต.ทวีพันธ์ วิศวกลกาล หัวหน้างานประกันสุขภาพ โรงพยาบาลสบเมย ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ หลังจากที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสบเมย นายแพทย์จักรี คมสาคร ได้รับทราบการยืนยันสิทธิ์แล้วว่าเป็นบุคคลที่ได้รับสัญชาติไทย จึงได้สั่งการให้ดำเนินการขึ้นทะเบียนโดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างหลักประกันด้านสุขภาพแก่ผู้มีสิทธิ์ ขณะเดียวกัน ด้วยการได้รับความร่วมมืออย่างดีจาก คุณสันติพงษ์ มูลฟอง ผู้จัดการศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและเยาวชนอำเภอสบเมย ในการประสานงาน ในวันดังกล่าวนี้ นางสาวมึดา นาวานาถ ก็ได้มาติดต่อทำบัตรทองอีกครั้ง ซึ่งในครั้งนี้โรงพยาบาลก็ได้ทำความเข้าใจและดำเนินการขึ้นทะเบียนบัตรทองให้แก่นางสาวมึดา นาวานาถ พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการใช้สิทธิ์บัตรทอง ซึ่งในการทำความเข้าใจครั้งนี้ นางสาวมึดา นาวานาถ ได้ทำหนังสือ ตามที่อ้างถึง 2.) ขอบคุณโรงพยาบาลสบเมย ในการทำความเข้าใจและดำเนินการขึ้นทะเบียนบัตรทองให้นางสาวมึดา นาวานาถ


 


            โรงพยาบาลสบเมย ขอขอบคุณ ผู้ประสานงานและผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานครั้งนี้ที่สามารถทำให้การขึ้นทะเบียนบัตรทองนางสาวมึดา นาวานาถ สำเร็จตามความมุ่งหมาย


 


จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการต่อไป


 


ขอแสดงความนับถือ


 


นายจักรี คมสากร


ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสบเมย


 


(2.1) ระบบฐานข้อมูลเวชระเบียน ที่พบว่าเลข 13 หลัก น.ส.มึดา นาวานาถ มี 2 เลขคือหมายเลข 6580672006396 แจ้งว่า สถานะของนางสาวมึดา เป็นสถานะต่างด้าว (ภาพบน) และหมายเลข 8580673000011 สถานะคือ สิทธิ์ว่าง หมายถึงสิทธิ์ที่รอการขึ้นทะเบียนบัตรทอง (ภาพล่าง)


 


 



 


 


 




(2.2) ใบแทนบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า ออกวันที่ 29 ธ.ค. 2551 ที่โรงพยาบาลสบเมยออกให้ น.ส.มึดา นาวานาถ นำไปขอรับบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า


 



 


(2.3) แบบคำร้องขอขึ้นทะเบียนผู้มีสิทธิ์ในโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผู้ยื่นคำร้องคือ น.ส.มึดา นาวานาถ เมื่อ 30 ธ.ค. 2551


 




 


 (2.4) น.ส.มึดา นาวานาถ ทำหนังสือขอบคุณถึงผู้อำนวยการ โรงพยาบาลสบเมย






30 ธันวาคม 2551


 


เรียน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสบเมย


เรื่อง การขึ้นทะเบียนบัตรทอง


อ้างถึง หนังสือที่ ฝสร. 11/2551 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2551


 


            ตามหนังสือที่อ้างถึง เรื่องขอหารือและชี้แจงการปฏิเสธการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพของนางสาวมึดา นาวานาถนั้น


เนื่องจากการขอขึ้นทะเบียนบัตรทองมีข้อมูลที่อยู่ระหว่างตรวจสอบ กรณีได้รับสัญชาติจากเดิมเลขบัตรชุมชนบนพื้นที่สูง 6580672006396 เป็น เลขบัตรประชาชน 858067300011 เกิดความคลาดเคลื่อนข้อมูลผู้ป่วย เลขบัตรผู้ป่วยเดิม กับเลขบัตรประชาชนใหม่ ในระบบเวชระเบียนซึ่งเป็นข้อมูลเก็บประวัติ การรักษาพยาบาลของผู้ป่วยไม่ตรงกัน ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวโรงพยาบาลต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ เพื่อยืนยัน ว่าผู้ป่วยเป็นคนๆ เดียวกัน เพื่อป้องกันการผิดพลาดในการรักษา กรณีรักษาผิดคน


            บัดนี้การยืนยันข้อมูลผู้ป่วยและการตรวจสอบสิทธิของโรงพยาบาลสบเมยได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว โดยที่ข้าพเจ้า นางสาวมึดา นาวานาถ สามารถขึ้นทะเบียนบัตรทองได้และโรงพยาบาลสบเมยได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนบัตรทองให้ข้าพเจ้าแล้ว


            ในโอกาสนี้ ข้าพเจ้า นางสาวมึดา นาวานาถ ขอขอบคุณโรงพยาบาลสบเมย เป็นอย่างสูงที่ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลและขึ้นทะเบียนบัตรทองให้ข้าพเจ้า


            จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและพิจารณาดำเนินการต่อไป


 


นางสาวมึดา นาวานาถ


 


 


......................................


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


"เฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ" จี้ "มาร์ค" สอบโรงพยาบาลเหตุปฏิเสธสิทธิทำบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า, 27 ธ.ค. 51


"เฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ" แจ้ง "น.ส.มึดา" สามารถทำบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้แล้ว, 31 ธ.ค. 51

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net