Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา โครงการติดตามการเมืองภาคประชาชน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งชาติ (กป.อพช.) จัดเสวนาเรื่อง "ทางแพร่งประชาธิปไตยกับการเมืองที่ใหม่กว่า"  ที่ห้องประชุมสมาคมนิสิตเก่า คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ดำเนินรายการโดย ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการเว็บไซต์ประชาไท


 


โดย ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักเขียน นักแปลอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านละตินอเมริกา นำเสนอบทความ เรื่อง การเมืองใหม่ในละตินอเมริกา วิจารณ์โดย เจษฎา โชติกิจภิวาทย์ กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ และ ฉัตรชัย ไพยเสน เลขาธิการสหภาพแรงงานไทยอินดรัสเตรียลแก๊ส


 


ประภาส ปิ่นตบแต่ง หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นำเสนอบทความเรื่อง ประชาธิปไตยทางตรง (Direct Democracy) ในบริบทปัญหาประชาธิปไตยแบบตัวแทน วิจารณ์โดย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์


 


 


หมายเหตุ: ดาวน์โหลดบทความฉบับเต็มของผู้นำเสนอทั้งสอง ได้ที่ลิ้งค์ด้างล่าง


 


00000


 


ภัควดี วีระภาสพงษ์


นักเขียน นักแปลอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านละตินอเมริกา


(ผู้นำเสนอ)


 


กรณียึดเอ็นบีที ต่างกับตอนฮูโก ชาเวซ รัฐประหารครั้งหนึ่งที่เวเนซุเอลา ที่ยอมติดคุก โดยออกมาบอกว่ายอมรับผิดชอบ ไม่ได้บอกว่าแมน แต่จังหวะก้าวทางการเมืองได้ใจประชาชน แต่ถ้าเป็นแกนนำออกมาก่อน ทิ้งหางไว้ในคุก คงลำบากฐานความชอบธรรมทางการเมืองต่อไปข้างหน้า


 


ทำไมคนถึงหันมาสนใจละตินอเมริกา แง่หนึ่งเป็นเพราะว่า ละตินอเมริกาเป็นประเทศที่ยากจน มาโด่งดังส่วนหนึ่งคงเนื่องจากในปีที่มีการบังคับใช้ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือนาฟต้า และมีอินเดียแดงเผ่ามายา ที่เรียกว่า ซาปาติสตา ลุกขึ้นกบฎ ตอนหลังตั้งเขตปกครองตนเองขึ้นมา ความโด่งดังของซาปาติสตา เพราะไม่เหมือนใคร ไม่ใช่หัวขบวนปฎิวัติแบบแวนการ์ด มีลักษณะแบบชนพื้นเมืองอยู่ในนั้น มีโฆษกที่ค่อนข้างมีวาทศิลป์ และแนวคิดไม่ผูกติดทฤษฎีอันใดอันหนึ่ง แต่ใช้ประสบการณ์จากข้างล่างขึ้นมาทำให้ได้แนวคิดที่ค่อนข้างแปลกใหม่ นอกจากนี้ยังใช้อินเทอร์เน็ตเป็นอาวุธ ทำให้ปัญญาชนตะวันตกสนใจมากและนำแนวคิดหลายอย่างไปใช้ จนกระทั่งกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า ขบวนการสังคมใหม่ เช่น การประท้วงซีแอตเติล ซึ่งไม่ได้หมายความว่าขบวนการสังคมใหม่ รับอิทธิพลจากซาปาติสตาฝ่ายเดียว แต่อาจรับจากทางฟิลิปปินส์ด้วย คือ ขบวนการล้มรัฐบาลของประธานาธิบดีมาร์กอส รวมถึงรับจากคานธีด้วย แต่ซาปาติสตาก็เป็นอิทธิพลที่สำคัญประการหนึ่ง


 


โดยปกติ แนวคิดทางการเมืองจะเป็นแนวคิดที่มาจากซีกโลกตะวันตกไปซีกโลกตะวันออก หรือซีกโลกเหนือไปซีกโลกใต้ สมัยก่อน ลัทธิชาตินิยม ขบวนการปลดปล่อยเอกราช ลัทธิคอมมิวนิสต์ ลัทธิสังคมนิยม จะเป็นการถ่ายทอดความคิดจากซีกโลกเหนือมาทางซีกโลกใต้ แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่แนวความคิดทางการเมืองของขบวนการสังคมถ่ายทอดจากซีกโลกใต้ไปสู่ซีกโลกเหนือ หลายคนก็ถือว่า นี่เป็นการถอดรากถอนโคนมากของขบวนการนี้


 


และที่สำคัญ ละตินอเมริกาเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์โลก ตั้งแต่ถูกล่าอาณานิคมมา ตั้งแต่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เดินเรือผิด คือจะไปอินเดียแต่ไปเจอทวีปอเมริกา โดยในสมัยนั้น มหาอำนาจในยุโรป คือ สเปนกับโปรตุเกส ได้แบ่งโลกเป็นสองซีก หลังจากนั้นมีกองเรือของสเปนเดินทางไปละตินอเมริกาบ้าง เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติขึ้นมา ดั้งเดิมทวีปนี้เรามักมีภาพว่าเป็นทวีปที่รกร้างว่างเปล่า แต่จากการประเมินของนักประวัติศาสตร์เดิมมีประชากรประมาณ 90-120 ล้านคนในยุคนั้น แต่เสียชีวิตไปเกือบ 90% ในยุคนั้น สาเหตุสำคัญคาดว่าเป็นเพราะคนที่นั่นไม่มีภูมิต้านทานโรค พวกโรคทรพิษ โรคไข้รากสาด พวกโรคคอตีบ ซึ่งคนยุโรปพาเข้าไป ทำให้คนเสียชีวิตจำนวนมาก หลังจากนั้นภูมิภาคนี้ก็กลายเป็นแหล่งที่ทำให้เกิดความมั่งคั่งขึ้นในยุโรป จนกระทั่งเกิดการพัฒนาระบบทุนนิยมขึ้นมาได้ ส่วนหนึ่งเพราะเกิดการค้าทาส เนื่องจากชาวพื้นเมืองตายไปมาก แต่เป็นทวีปที่คนตะวันตกอยู่ได้ เพราะไม่มีโรคที่คนตะวันตกต้องหวาดกลัว คือสาเหตุที่คนยุโรปไม่มาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และตั้งรกรากที่ทวีปเอเชีย เพราะที่นี่มีมาลาเรียและไข้เหลือง ซึ่งคนผิวขาวไม่มีภูมิต้านทาน แต่ในทวีปอเมริกามีภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมที่คนผิวขาวอยู่ได้ เขาก็อพยพเข้าไปอยู่ มีการนำทาสไปใช้ที่นั่น มีไร่เกษตรกรรมขนาดใหญ่ มีการทำเหมืองแร่ และเหมืองแร่เงิน ความมั่งคั่งนี้ส่วนหนึ่งกลับไปสั่งสมอยู่ที่ยุโรป และทำให้เกิดทุนนิยมด้วยส่วนหนึ่ง หลังจากนั้น เมื่อละตินอเมริกาเป็นเอกราชจากยุโรปแล้ว ก็ยังตกอยู่ใต้อิทธิพลของสหรัฐอเมริกา ซึ่งสหรัฐฯ ถือว่าเป็นหลังบ้านของเขา


 


ในยุคของประธานาธิบดีมอนโรบอกว่า สหรัฐฯ จะไม่ยุ่งกับโลกภายนอก ก็หมายความว่า โลกภายนอกก็อย่ามายุ่งกับละตินอเมริกาด้วย เพราะที่นี่เป็นดินแดนภายใต้อิทธิพลของเขา เพราะฉะนั้น แนวความคิดอะไรที่สหรัฐฯ คิดว่าควรจะใช้กับโลก ก็จะทดลองกับที่นี่ก่อน เช่น ลัทธิเผด็จการ ลัทธิทุนนิยม เสรีนิยมใหม่ เขตการค้าเสรี


 


เมื่อเป็นภูมิภาคที่ตกเป็นอาณานิคมมายาวนาน และตกเป็นเครื่องมือของการทดลอง แนวคิดทางเศรษฐกิจและการปกครองใหม่ๆ ทำให้เป็นภูมิภาคที่มีคนยากจนมาก และการกดขี่ของภูมิภาคนี้ จะทับซ้อนสองแบบ คือ ชนชั้นและเชื้อชาติ คนอินเดียแดงกลายเป็นชนชั้นล่าง ซึ่งไม่มีสิทธิเท่าเทียมกับชั้นอื่น ส่วนคนผิวขาวหรือผิวผสมก็จะมีชนชั้นที่ลดหลั่นกันลงมา ในภายหลังเกิดขบวนสังคมขึ้นมาจำนวนมาก นอกจากซาปาติสตาแล้วมีรัฐบาลซ้ายขึ้นมา ในยุคที่ไม่คิดว่าจะรัฐบาลสังคมนิยมอีกแล้ว นอกจากคิวบา ก็จะมีเวเนซุเอลา-ฮูโก ชาเวซ โบลิเวีย-เอโว โมราเลส เอกวาดอร์-ราฟาเอล คอเรอา นิการากัว-ดาเนียล ออติกา โดยภูมิภาคนี้ตอนหลังมีการร่วมมือกัน และคัดง้างกับสหรัฐอเมริกาอยู่มากพอสมควร ทำให้ที่นี่กลายเป็นที่ที่มีคนสนใจมากในเรื่องของขบวนการสังคม


 


สิ่งที่ทำให้ละตินอเมริกาน่าสนใจ ก็คือการเคลื่อนไหวทางสังคมของเขามาจากประสบการณ์ของชนชั้นล่าง ไม่ได้มีทฤษฎีอะไรมาก จริงอยู่มีแนวคิดทางสังคมนิยมเข้ามามาก แต่นอกจากแนวคิดทางสังคมนิยม มีแนวคิดทางศาสนาที่เรียกว่า เทววิทยาเพื่อการปลดปล่อยเข้ามา ซึ่งก็เป็นการผสมลัทธิมาร์กซกับศาสนาคริสต์


 


ประเด็นสำคัญที่คนหันมาศึกษาละตินอเมริกาอย่างหนึ่งคือ สมัยก่อน ลัทธิมาร์กซ ถือว่าชนชั้นกรรมาชีพจะเป็นประธานเปลี่ยนแปลงสังคม มองว่าชาวนาเป็นพวกล้าหลัง เฉพาะแรงงานซึ่งเป็นชนชั้นกรรมาชีพในระบบทุนนิยมเท่านั้นที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สังคมนิยมได้ แต่แนวคิดของละตินอเมริกามาจากการปฎิบัติของเขา มาจากชนสองกลุ่มที่ลัทธิมาร์กซไม่เคยสนใจมาก่อน กลุ่มแรก คือ ชนพื้นเมือง ชนพื้นเมืองของละตินอเมริกามีวิถีของการอยู่ร่วมกัน ซึ่งเกิดช่วงสเปนเป็นเจ้าอาณานิคม เพราะสเปนกดขี่มาก และหลังจากตายจากโรคระบาดจำนวนมาก ชนพื้นเมืองจึงอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน และใช้ประชาธิปไตยทางตรง ใช้วิธีประชุมมีผู้นำเป็นหมู่คณะ สาเหตุเพราะถูกฆ่าตายเยอะ ถ้ามีผู้นำเดี่ยวโอกาสถูกลอบสังหารสูงมาก นอกจากชนพื้นเมืองแล้ว คนอีกกลุ่มที่เปลี่ยนแปลงสังคมคือแรงงานนอกระบบ เนื่องจากการพัฒนาลัทธิเสรีนิยมใหม่ในละตินอเมริกา ทำให้เกิดแรงงานที่ว่างงาน หรือแรงงานกลุ่มกรรมาชีพจำนวนมาก กลุ่มพวกนี้จะตั้งสลัมล้อมเมืองใหญ่ๆ ไม่มีระบบสาธารณูปโภค จะรวมกันเป็นละแวกบ้าน ร่วมกันสร้าง สาธารณูปโภคตามมีตามเกิด ระยะหลังกลายเป็นองค์กรพื้นฐานทางการเมือง เช่นในเวเนซุเอลา และบราซิล


 


ลักษณะการเมืองใหม่ที่ใหม่กว่าของพันธมิตรฯ หรือลักษณะการเมืองใหม่ของละตินอเมริกา มีอะไรบ้าง อย่างแรกคือ เวลาพูดคำว่า ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ตอนหลังมีปัญหา เวลาพูดถึงภาคประชาสังคม นักธุรกิจ นายทุนก็เป็นภาคประชาสังคมได้ อะไรที่ไม่ใช่รัฐหรือกองทัพก็เป็นภาคประชาสังคมได้ ซึ่งเมื่อตีวงกว้างแบบนี้ ทำให้ภาคประชาชนมีอุดมการณ์ที่ไม่แน่นอนเกิดขึ้น บางทีก็ไม่ได้ทำอะไรเพื่อความอยู่ดีกินดีของคนส่วนใหญ่จริงๆ


 


แต่ในละตินอเมริกา จะเห็นว่าขบวนการประชาชนละตินอเมริกาเกิดจากการจัดตั้งองค์กร เพราะถ้าไม่มีองค์กรมันไม่เกิดการเรียนรู้ของคน คือถ้ามีม็อบแล้วไปเป็นมวลชนก็เท่ากับว่าคุณสามารถจะถูกปลุกระดมจากนักวาทศิลป์ต่างๆ แต่ไม่มีการเรียนรู้ทางการเมือง ไม่มีการเรียนรู้ทางด้านจิตสำนึกเกิดขึ้น แต่ถ้ามีองค์กรประชาชน ถ้ามีผลประโยชน์เฉพาะหน้า และผลประโยชน์ระยะยาวของตัวเองชัดเจน จะเกิดการเรียนรู้ทางการเมือง เช่น ในโบลิเวีย เอโว โมราเลส ก้าวมาเป็นประธานาธิบดี เขาไม่ได้เป็นผู้นำที่โดดเด่นในตอนแรก เขามาจากสมาพันธ์ที่ปลูกใบโคคา ซึ่งเป็นสมาพันธ์ที่มีการนำเป็นหมู่คณะ แต่เลือกเอโว โมราเลส เพราะเป็นตัวเลือกที่ดีสุดในตอนนั้น นโยบายอะไรของเขาก็ตามจะต้องถูกสมาพันธ์นี้กดดันตลอดเวลา หมายความว่านักการเมืองซึ่งมีสายสัมพันธ์กับองค์กรประชาชนจะเป็นนักการเมืองที่ประชาชนสามารถกดดันได้ แต่ถ้าประชาชนไม่มีองค์กร จะไปกดดันนักการเมืองได้ยังไง


 


ประการที่สองคือ โครงสร้างการจัดตั้งองค์กรแนวใหม่ ซึ่งมีการนำเป็นหมู่คณะและการใช้กระบวนการตัดสินใจแบบประชามติ มีความร่วมมือของกระบวนการสังคมต่างๆ และการจับมือร่วมกันระหว่างประเทศ หลังจากนั้นก็จะมีการทดลองทางเลือกใหม่ๆ ในอาร์เจนตินาหลังมีวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เมื่อโรงงานล้มละลายแล้ว ก็จะมีการยึดโรงงานมาบริหารอย่างอื่น ก็จะเป็นลักษณะการบริหารงานในลักษณะประชาธิปไตยทางตรง เป็นการจัดตั้งองค์กรในระนาบ


 


และที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง คือ การสร้างความหมายให้กับชุมชน ชุมชนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะว่าถ้าพูดถึงลัทธิเสรีนิยมใหม่หรือลัทธิทุนนิยมนั้นพยายามที่จะแยกคนออกจากกัน ให้คนเป็นปัจเจกบุคคล แต่ว่ามนุษย์เมื่อเป็นปัจเจกบุคคล มันไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ มันต้องมีชุมชน ซึ่งชุมชนในที่นี้ไม่ใช้ชุมชนในความหมายแบบดั้งเดิม แต่จะมีการสร้างชุมชนแบบใหม่คือชุมชนทางศาสนา สหภาพแรงงานก็ถือว่าเป็นชุมชนอย่างหนึ่ง ละแวกบ้านในสลัมก็ถือเป็นชุมชนอย่างหนึ่ง


 


 


"ประเทศที่กำลังก้าวไปสู่ขั้นตอนการเป็นฟาสซิสม์ มักแสดงออกถึงอาการต่างๆ


โดยไม่จำเป็นต้องมีขบวนการฟาสซิสม์จริงๆ ดำรงอยู่เลยก็ได้


 


สัญญาณที่สำคัญอย่างน้อยที่สุดก็คือ การแพร่หลายของปรัชญาที่ไร้เหตุผล


สุนทรีศาสตร์ที่คลั่งเชื้อชาติ การปลุกระดมทางการเมืองเพื่อต่อต้านทุนนิยม


ทัศนะที่แหวกแนวจากบรรทัดฐานทั่วไป การวิพากษ์วิจารณ์ระบบพรรคการเมือง


การดูหมิ่นดูแคลนระบอบการปกครองหรือชื่ออะไรก็ตาม


ที่ใช้เรียกกระบวนการประชาธิปไตยที่มีอยู่


 


นี่เป็นเงื่อนไขทางภาวะวิสัยที่ทำให้เกิดลัทธิฟาสซิสม์ขึ้น"


 


 


"กลุ่มพันธมิตรฯ หรือการเสนอเรื่องการเมืองใหม่


แง่หนึ่งคือความพยายามตอบโต้กับลัทธิตลาดเสรีที่เข้ามาในสังคมไทย


แต่การยืนยันว่าตัวเองต่อสู้กับทุนสามานย์ มันไม่ใช่ความชอบธรรมในตัวมันเอง


 เพราะขึ้นอยู่กับว่าจะต่อสู้และพาสังคมไปในแนวทางไหน


ซึ่งในประวัติศาสตร์ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว


ในยุโรป ความพยายามต่อสู้กับลัทธิทุนนิยมนำพาประเทศไปสู่ลัทธิฟาสซิสม์"


 


 


การเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ รายละเอียดเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากพอสมควรแล้ว แต่ในที่นี้จะเสนอว่า แนวคิดของพันธมิตรฯ เป็นการตอบสนองต่อเงื่อนไขทางภาวะวิสัยในทางประวัติศาสตร์ ข้ออ้างของพันธมิตรฯ ส่วนใหญ่บอกว่าเขาต่อสู้กับทุนสามานย์ ระบบตลาดเสรี เสรีนิยมใหม่ ซึ่งสิ่งพวกนี้เคยเกิดแล้วในอดีต ครั้งแรกที่มันเกิดขึ้นคือตอนปฎิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งมีความพยายามสร้างตลาดเสรีของตลาดแรงงานขึ้นมา แต่ตลาดเสรีถ้าหากปล่อยให้ใช้อย่างถึงที่สุดจะทำลายโครงสร้างของสังคมลงไป เพราะระบบเศรษฐกิจในสมัยก่อนจะถูกฝังอยู่ในระบบสังคม แต่ในปัจจุบันระบบเศรษฐกิจถูกแยกออกจากระบบสังคมแล้วกลืนกินระบบสังคมเข้าไป การที่คุณค่าทุกอย่างในชีวิตมนุษย์ถูกวัดด้วยนัยยะทางเศรษฐกิจ ทำให้โครงสร้างหรือเนื้อเยื้อสังคมแตกทลายไป ด้วยเหตุนี้เองสังคมต้องพยายามป้องกันตัวเอง


 


การป้องกันตัวเองของสังคม ไม่ได้หมายความว่าดีเสมอไป เช่นในสมัยปฎิวัติอุตสาหกรรม ก็จะมีสถาบันอนุรักษ์นิยมล้าหลังอย่างสถาบันกษัตริย์ ราชวงศ์ทิวดอร์พยายามรักษาสังคมไว้ โดยบังคับให้คนอยู่กับชุมชนดั้งเดิมของอังกฤษ โดยไม่ยอมให้คนไปขายแรงงานที่ตลาดแรงงาน ซึ่งวิธีป้องกันคนของสังคมแบบนี้ ทำให้เกิดการกดขี่คนไว้ในพื้นที่ และระบบสังคมสงเคราะห์ที่บิดเบือนค่าแรงในยุคนั้น ทำให้คนไม่มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ กลายเป็นกระยาจกไป ขณะเดียวกันตลาดเสรีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั้นมันก็ทำให้เกิดลัทธิฟาสซิสม์ขึ้น โดยลัทธิฟาสซิสม์คือความพยายามต่อต้านระบบทุนนิยมเช่นกัน


 


คาร์ล โปลันยี ได้อธิบายเกี่ยวกับลัทธิฟาสซิสม์ไว้ว่า ประเทศที่กำลังก้าวไปสู่ขั้นตอนการเป็นฟาสซิสม์ มักแสดงออกถึงอาการต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องมีขบวนการฟาสซิสม์จริงๆ ดำรงอยู่เลยก็ได้ สัญญาณที่สำคัญอย่างน้อยที่สุดก็คือ การแพร่หลายของปรัชญาที่ไร้เหตุผล สุนทรีศาสตร์ที่คลั่งเชื้อชาติ การปลุกระดมทางการเมืองเพื่อต่อต้านทุนนิยม ทัศนะที่แหวกแนวจากบรรทัดฐานทั่วไป การวิพากษ์วิจารณ์ระบบพรรคการเมือง การดูหมิ่นดูแคลนระบอบการปกครองหรือชื่ออะไรก็ตามที่ใช้เรียกกระบวนการประชาธิปไตยที่มีอยู่ นี่เป็นเงื่อนไขทางภาวะวิสัยที่ทำให้เกิดลัทธิฟาสซิสม์ขึ้น


 


ในขณะเดียวกัน ในปัจจุบัน ขณะที่ลัทธิตลาดเสรี หรือลัทธิเสรีนิยมใหม่ใช้อย่างมากไปทั่วโลก ความพยายามของสังคมที่จะปกป้องตัวเองก็เกิดขึ้นเช่นกัน ในละตินอเมริกา ภาคประชาชนที่พยายามทำให้ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น มีขบวนการประชาธิปไตยมากขึ้น ก็คือการต่อต้าน/ต่อสู้กับลัทธิเสรีนิยมใหม่ในแง่หนึ่ง  


 


แต่ในขณะเดียวกัน ในฝรั่งเศสหรือสหรัฐฯ ก็มีกระแสที่พยายามต่อต้านเสรีนิยมใหม่ แต่ใช้วิธีอำนาจนิยมเข้ามาแทน โดยเรียกว่าเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมใหม่ โดยมีประธานาธิบดีบุช กับพรรครีพับลิกันเป็นหัวหอก


 


โดย เดวิด ฮาร์วี บรรยายถึงลัทธิอนุรักษ์นิยมใหม่ ซึ่งคือ นีโอคอน หรือพรรครีพับลิกันไว้ว่า ประการแรก นักอนุรักษ์นิยมใหม่เชื่อว่าระเบียบสังคมคือคำตอบต่อสภาพสับสนวุ่นวายของผลประโยชน์ปัจเจกบุคคล และประการที่สอง การให้ความสำคัญต่อศีลธรรมจรรยาอย่างเคร่งครัด โดยเชื่อว่าจะเป็นกาวสังคมที่จำเป็นต่อการรักษาองค์การเมืองให้มีความมั่นคง เมื่อต้องเผชิญกับอันตรายจากภายในและนอกประเทศ ผลประโยชน์ปัจเจกบุคคลอาจสร้างความสับสนวุ่นวายจนมีอำนาจเหนือระเบียบสังคมได้  อนาธิปไตยของตลาด การแข่งขันและลัทธิปัจเจกบุคคลนิยมที่ไม่มีการควบคุมอาจนำไปสู่การพังทลายของความผูกพันและความสามัคคีทั้งหมด จนสังคมตกลงสู่ขอบเหวของอนาธิปไตยและการทำลายล้างกันเอง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงดูเหมือนมีความจำเป็นที่ต้องใช้การข่มขู่บังคับระดับหนึ่ง เพื่อฟื้นฟูระเบียบขึ้นมาใหม่ ด้วยเหตุนี้เอง นักอนุรักษ์นิยมใหม่จึงเน้นการสร้างความเข้มแข็งของกองทัพเพื่อเป็นยาถอนพิษความสับสนวุ่นวายของผลประโยชน์ปัจเจกบุคคล


 


เหตุผลนี้เองที่ทำให้นักอนุรักษ์นิยมใหม่ มีแนวโน้มที่มักจะกระพือความหวาดกลัวภัยคุกคามต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของชาติ ทั้งในความเป็นจริงและจินตนาการขึ้นมา ทั้งจากภายในประเทศและจากต่างประเทศ นอกจากนี้ พวกอนุรักษ์นิยมใหม่จะคลั่งไคล้ในคุณค่าทางศีลธรรมของลัทธิชาตินิยมเชิงวัฒนธรรม โดยที่การยืนยันคุณค่าของศีลธรรมนี้อิงอาศัยการเรียกร้องหาอุดมคติของชาติ ศาสนา ประวัติศาสตร์ จารีตทางวัฒนธรรม ในสหรัฐฯ จะเชิดชูเรื่องความเป็นอเมริกัน ส่วนในประเทศไทย ลัทธิชาตินิยมเชิงวัฒนธรรมเป็นระบอบการปกครองที่ผูกพันอยู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์


 


สิ่งที่อยากนำเสนอในที่นี้ก็คือ กลุ่มพันธมิตรฯ หรือการเสนอเรื่องการเมืองใหม่ แง่หนึ่งคือความพยายามตอบโต้กับลัทธิตลาดเสรีที่เข้ามาในสังคมไทย แต่การยืนยันว่าตัวเองต่อสู้กับทุนสามานย์ มันไม่ใช่ความชอบธรรมในตัวมันเอง เพราะขึ้นอยู่กับว่าจะต่อสู้และพาสังคมไปในแนวทางไหน ซึ่งในประวัติศาสตร์ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ในยุโรป ความพยายามต่อสู้กับลัทธิทุนนิยมนำพาประเทศไปสู่ลัทธิฟาสซิสม์


 


ชูวัส - ขบวนการต่อสู้นี่ผมสรุปได้ว่า มาจากการจัดตั้งองค์กร มีรูปแบบองค์กรชัดเจน และเป็นฐานเสียง ผมเข้าใจว่า ไม่ได้ปฏิเสธรัฐใช่ไหม


ในละตินอเมริกา มีขบวนการสังคมอยู่ 3  แบบ 1.ขบวนที่แยกตัวไปนอกรัฐ เช่น ซาปาติสตา 2.ขบวนการสังคมภายในรัฐ พยายามกดดันรัฐ เช่น MST (ขบวนการแรงงานไร้ที่ดิน) ของบราซิล  3.กลุ่มที่พยายามยึดอำนาจรัฐ เช่นในเวเนซุเอลา โบลิเวีย


 


ขณะเดียวกัน นอกจากขบวนการที่แยกตัวออกไปนอกรัฐ อย่างซาปาติสตาแล้ว ที่เหลือก็ยังเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา จริงอยู่ที่นักการเมืองของละตินอเมริกาเลวไม่ต่างอะไรจากนักการเมืองไทย แต่ทำอย่างไรให้นักการเมืองอยู่ใต้อำนาจของประชาชนได้ วิธีการเดียวที่จะทำได้ก็คือต้องมีองค์กรที่เป็นฐานเสียง ขณะเดียวกันก็กดดันนักการเมืองไว้ เช่น ในเวเนซุเอลา ทุนจะเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาล เพราะรัฐบาลชาเวซ มาจากประชาชน ไม่ได้หมายความว่า เลือกชาเวซแล้วเขาจะช่วยเหลือประชาชนเสมอไป อย่างเช่นประธานาธิบดีลุลาในบราซิล ซึ่งพรรคแรงงานดันขึ้นสู่อำนาจในที่สุด ลุลาก็ทรยศ สาเหตุที่ลุลาทรยศได้ก็เพราะองค์กรประชาชนไม่สามารถกดดันลุลาได้ ด้วยเหตุผลซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของบราซิล แต่ในกรณีของละตินอเมริกา องค์กรประชาชนจะกดดันชาเวซได้ตลอดเวลา ชาเวซเป็นแค่ตัวกลางการต่อสู้ระหว่างประชาชนกับทุน แต่กระบวนการรัฐสภาไม่ได้ถูกปฏิเสธ ส่วนใหญ่มักจะมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่าง แต่จะมีส่วนร่วมได้ต้องสร้างองค์กรขึ้นมา


 


การกดดันของกลุ่มที่เป็นฐานคะแนนให้กับชาเวซ มีลักษณะของการเคลมว่าเป็นตัวแทนประชาชนหรือไม่


ส่วนใหญ่องค์กรในละตินอเมริกาจะไม่มีองค์กรเดียวมาเคลมว่าจะเป็นตัวแทนประชาชนทั้งหมด จะมีองค์กรเฉพาะกลุ่มผลประโยชน์เลย เช่นในเวเนซุเวลาอาจจะมีกลุ่มละแวกบ้านในสลัม กลุ่มแรงงาน แรงงานนอกระบบ กลุ่มแม่บ้าน ชมรมอ่านรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกัน


 


จะเห็นได้ชัดในโบลิเวีย ซึ่งมีสหพันชาวไร่โคคา ที่โมราเลสเป็นตัวแทน แต่สหพันธ์ไร่โคคาจะไปจับมือกับ กลุ่มอื่นๆ เช่น สหภาพ นักศึกษา กลุ่มที่ต่อต้านการแปรรูป คือแต่ละกลุ่มเป็นตัวแทนของกลุ่มประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่มันต้องมีองค์กรจำนวนมาก


 


ในละตินเป็นการเมืองใหม่หรือไม่ การเมืองใหม่ในละตินอเมริกามีลักษณะอย่างไร การต้านเสรีนิยม นำไปสู่อะไร เดินหน้าหรือถอยหลัง


ที่ว่าการเมืองใหม่ เพราะสมัยก่อน ในละตินอเมริกาก็ไม่ต่างจากประเทศไทย คือเป็นลัทธิเชิดชูตัวบุคคล มีความหวัง มีความฝัน มีความคลั่งไคล้ต่อตัวบุคคลที่เป็นนักการเมือง แต่เขาผ่านประสบการณ์ของผู้นำที่ทรยศประชาชนมาเยอะแล้ว ทำให้การเมืองใหม่ของเขาจึงเป็นเรื่องของประชาธิปไตยที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง มีการนำเป็นหมู่คณะ มติต้องมาจากที่ประชุม ไม่ใช่ผู้นำคนเดียวตัดสินใจ ความผูกพันระหว่างผู้นำกับองค์กรประชาชนเป็นไปในลักษณะสนับสนุนและทั้งคานอำนาจกันไปในตัว


 


ทางละตินอเมริกา เขาชูอะไรข้างหน้า


แล้วแต่แต่ละองค์กร ในนั้นมีทั้งองค์กรประชาชนที่มีผลประโยชน์ขัดแย้งกันและสอดคล้องกัน แต่ส่วนใหญ่เป้าหมายหลักของเขาคือการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน


 


 


00000


 


ประภาส ปิ่นตบแต่ง


หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ


(ผู้นำเสนอ)


 


เราคงเห็นว่าปัญหาประชาธิปไตยตัวแทนเป็นปัญหาทั่วไปหมด ไม่ว่าจะเป็นในโลกที่หนึ่ง ในตะวันตก ในอเมริกา อังกฤษ ซึ่งหลายประเทศพยายามหาทางออก โดยพยายามทำให้มันเพียงพอ โดยที่ขยายไปสู่ประชาธิปไตยทางตรง นั่นก็เป็นประสบการณ์ร่วม เฉพาะในละตินอเมริกา ผมว่าเส้นทางคล้ายมากกับสังคมไทย แต่ปัญหาคือ พอถึงทางแพร่งอาจเดินไปคนละทางก็ได้


 


ในช่วงประมาณ 1980 ถ้าเราย้อนไปดูในละตินอเมริกาคือ การหลุดออกจากระบอบเผด็จการทหาร เข้าสู่ประชาธิปไตยเต็มใบแบบบ้านเรา มีเลือกตั้ง แต่ปัญหาก็คือ ประชาธิปไตยแบบตัวแทน ซึ่งอาศัยกลไกเรื่องพรรคการเมืองกับการเลือกตั้ง ซึ่งมักผนวกกับทุนนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุนนิยมข้ามชาติ ซึ่งอาศัยกลไกประชาธิปไตยเข้ามามีอำนาจทางการเมือง ปรากฎการณ์แบบนี้ตั้งแต่ 1980-90 เป็นปรากฎการณ์การเมืองของขบวนการทางสังคมที่คุณภัควดี พยายามฉายภาพให้เห็น โดยปัญหารากเหง้าที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์ของการเมืองใหม่ในละตินอเมริกาตั้งแต่ 1990 เป็นต้นมา หรือเกิดชาเวซ หรือโมราเลส ซึ่งเป็นคนพื้นเมืองที่ขึ้นมามีอำนาจ เกิดจากปัญหาความอยุติธรรมที่สั่งสม จนเกิดกระบวนการทางสังคมเต็มไปหมด ซึ่งตอนหลังเข้ามาสู่การเมืองในระบบด้วย


 


อยากฉายภาพระหว่างการเคลื่อนไหวกับการเชื่อมต่อกับการเมืองในระบบ ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นการพยายามจัดการกับความไม่เพียงพอของประชาธิปไตยแบบตัวแทน โดยจะใช้ว่าเป็นประชาธิปไตยแบบทางตรง ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะเรื่องของการสร้างขบวนการทางสังคมที่เข้มแข็ง มาตรวจสอบกำกับ แต่ในพื้นที่ทางการเมืองปกติหรือการเมืองในระบบ เราเห็นภาพการเมือง 2-3 ระดับ คือ มีการปฎิรูปการเมืองสู่การเมืองที่ใหม่กว่า คือประชาธิปไตยทางตรง คือถ่ายโอนอำนาจออกจากประชาธิปไตยแบบตัวแทน ซึ่งอยู่ที่พรรคการเมือง กลไกการเลือกตั้ง ผ่าน ส.ส. ผ่านตัวแทน


 


ถ้าดูรัฐธรรมนูญในละตินอเมริกา ในตาราง (ดูไฟล์แนบ) เราจะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญระดับชาติ 2-3 เรื่อง หนึ่ง คือประเทศเหล่านี้หันมาเลือกประธานาธิบดีทางตรง ตรงนี้สำคัญที่ว่า คุณไว้ใจประชาชน ไม่เหมือนพันธมิตรฯ ที่เอาอำนาจขึ้นข้างบน นี่เป็นการถ่ายโอนอำนาจลงข้างล่าง คือเลือกตั้งโดยตรงไปเลย แต่บ้านเราคงเสนอไม่ได้  


 


ในเส้นทางนั้น เราเห็นสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เราเห็นถึงกลไกประชาธิปไตยทางตรงที่ขยายระดับชาติ 2-3 กลไก ที่พูดกันเสมอๆ คือเรื่องประชามติ การถอดถอนผู้บริหาร การริเริ่มกฎหมายโดยประชาชน รวมทั้งการร่าง การแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งทำกันอย่างเข้มข้นมาก ยิ่งประเทศไหนที่ขบวนการฝ่ายซ้ายเข้ายึดครองเป็นรัฐบาล ไปเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เราจะเห็นสิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นเต็มไปหมด ซึ่งถือเป็นการถ่ายโอนอำนาจสู่ชาวบ้านจริงๆ สู่ผู้คนในสังคม ทำให้ระบบตัวแทนลดบทบาทลง ไม่ได้เอาเข้ามาแทน แต่ขยายถ่ายโอน อย่างเช่น ประชามติ เวลามีนโยบายสาธารณะที่สำคัญๆ แทนที่จะให้ระบบตัวแทนตัดสินใจ ให้นักการเมือง 400-500 คนยกมือกันเอง ก็ถ่ายโอนอำนาจให้ชาวบ้านโหวตกันเอง หรือให้ประชาชนมีสิทธิร่างกฎหมายที่สำคัญๆ ในหลายประเทศเขียนไว้ก้าวหน้า ถ้าประชาชนเสนอกฎหมายที่สำคัญๆ แล้วถ้าสภาไม่เอา ให้เอามาทำประชามติ นี่คือการออกแบบการเมืองใหม่ในละตินอเมริกา ที่เกิดจากขบวนการต่อสู้ของชาวบ้าน ซึ่งเริ่มจากปัญหาความไม่เป็นธรรม เริ่มจากทุนนิยมที่สร้างความอยุติธรรมแก่ผู้คนในสังคม ที่ทำให้คนเล็กคนน้อยเข้าไม่ถึงทรัพยากร


 


อีกระดับหนึ่ง มันเกิดประชาธิปไตยทางตรง ที่ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มก้อนของผู้คนซึ่งมากระทำการทางการเมืองโดยตรง หรือ "ปฎิบัติการท้าทายซึ่งหน้า" (direct action) ในแง่นี้จะเห็นถึงกลุ่มก้อนขององค์กรระดับชุมชนเกิดขึ้นเต็มไปหมด ของเวเนซุเอลา เกิดสิ่งที่บ้านเราเรียกว่า สภาองค์กรชุมชนระดับต่างๆ เยอะแยะไปหมด หลังจากชาเวซขึ้นมา มีกฎหมายที่ถ่ายโอนอำนาจสู่ชุมชน ให้องค์กรชุมชนเข้ามาจัดการเรื่องทรัพยากรประมาณ 46 ฉบับ


 


หรือการจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม (Participatory budget) ถ่ายโอนอำนาจออกจากระบบตัวแทนในระบบท้องถิ่น พวก อบต. อบจ. ที่เป็นนักเลือกตั้ง หย่อนบัตร โดยเกิดองค์กรระดับชุมชนเข้ามาจัดทำแผนระดับชุมชน ด้านการใช้ทรัพยากร ในอินเดียตอนใต้ รัฐเกอเรล่า เป็นปรากฎการณ์ที่สำคัญมาก ตรงนี้เป็นปมที่สำคัญคือ การเมืองใหม่ในละตินอเมริกาเป็นการเมืองที่ไว้ใจประชาชน ไว้ใจคนข้างล่าง มองว่าคนข้างล่างสามารถจัดการชีวิตสาธารณะด้วยตัวเอง ถ้าการเมืองใกล้ตัวเขา และเขามีปฎิบัติการทางการเมืองโดยตรง เขาไม่ได้มองชาวบ้านเป็นเหยื่อของทักษิณ ไม่ได้มองชาวบ้านเป็นพวก "โง่" "งก"


 


ประสบการณ์แบบในเวเนซุเอลา มีงานวิจัยพบว่าเมื่อชาวบ้านจัดการงบประมาณด้วยตัวเอง เขียนแผนเองแล้วให้นักเลือกตั้งหรือระบบราชการมาช่วยทางเทคนิค ปรากฎว่า คอร์รัปชั่นลดลงไป ด้วยเงินเท่ากัน จากที่เคยสร้างถนนได้ 20 กม. ชาวบ้านมาสร้างได้ 50 กม. นั่นคือชาวบ้านจัดการได้ดี แล้วคนที่เข้ามาเป็นคนจนมากกว่าคนชั้นกลาง


 


นี่เป็นปมที่สำคัญ เวลาเราพูดถึงประชาธิปไตยทางตรง การเมืองใหม่ที่สู้กับทุนนิยม ประสบการณ์จากละตินอเมริกา นี่คงเป็นสิ่งที่ต่างไปจากขบวนการแบบพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นนามธรรมมาก ไม่ได้เชื่อมโยงกับคนข้างล่าง ความอยุติธรรมของสังคมไม่ได้เป็นวาระที่สำคัญ คงยากที่การเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ จะพูดเรื่องปฎิรูปที่ดิน หรือแม้กระทั่งรัฐสวัสดิการ เพราะโจทย์ของพันธมิตรฯ ไม่ได้อยู่ที่ความอยุติธรรม แต่อยู่ที่เรื่องชาตินิยม


 


เวลาเราพูดถึงการเมืองใหม่ในละตินอเมริกาถ้าดูผ่านประสบการณ์ประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่มีความไม่เพียงพอ จะเห็นความพยายามถ่ายโอนอำนาจจากตัวแทนสู่ผู้คนในสังคม ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น เห็นได้จากการออกแบบทางการเมือง เวลาพูดถึงปัญหาแบบประชาธิปไตยตัวแทน พธม มุ่งเอาอำนาจข้างบนมากำกับ 70:30 อะไรก็แล้วแต่ สุดท้ายคือ ทำอย่างไรที่คุมนักเลือกตั้งได้ด้วยอำนาจอื่นๆ อำนาจทหาร หรืออำนาจที่มาจากการสรรหา  


 


ประสบการณ์ของละตินอเมริกา คิดอีกแบบคือ ถ่ายอำนาจลงไปที่ผู้คนข้างล่างที่ประสบปัญหาการเมืองโดยตรง นี่คือหัวใจที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในแง่ของการออกแบบการเมือง ดังนั้น การพูดถึงการเมืองที่ใหม่กว่า ต้องเริ่มจากว่าเราจะมองประชาชน คนข้างล่างอย่างไร นี่อาจเป็นบทเรียนที่สำคัญ ซึ่งการเมืองใหม่ในละตินอเมริกามองว่าผู้คนข้างล่างนั่นแหละที่จะสร้างการเมืองใหม่ด้วยตนเอง


 


 


 


เจษฎา โชติกิจภิวาทย์


กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ


(ผู้วิจารณ์)


 


ในประเทศละตินอเมริกา กระบวนการภาคประชาชนไม่ได้ปฎิเสธระบบรัฐสภา การมีระบบรัฐสภาอย่างน้อย ให้เสรีภาพ ทำให้กลุ่มสหภาพ คนจน คนพื้นเมืองเติบโตได้อย่างมีศักดิ์ศรี สันติวิธี ทำให้คนเหล่านี้สามารถที่จะรวมกลุ่ม ต่อรอง แสดงอัตลักษณ์ตัวตนของตัวเองได้ แม้ว่าเราจะไม่ชื่นชมทักษิณ ไม่ชื่นชมประชาธิปัตย์ แต่ระบบรัฐสภาก็จำเป็น แต่เราต้องระวังการเคลื่อนไหวไปสู่รัฐประหาร ไปสู่อำนาจแบบที่พันธมิตรฯ ต้องการ เพราะมันจะไปกระทบกับเสรีภาพของคนจน เพราะเสรีภาพสำคัญสำหรับประชาชนในการรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องสิทธิต่างๆ


 


เมื่อพูดถึงความเข้มแข็ง องค์กร การต่อสู้และปัจจัยหลายๆ อย่าง ทำให้มีคำถามชวนทบทวนตรวจสอบองค์กรภาคประชาชนว่า เราจะนิยามกันอย่างไร อะไรเป็นภาคประชาชน อะไรไม่ใช่ภาคประชาชน แน่นอนว่าองค์กรภาคประชาชนอาจจะมีหลากหลายองค์กร ไม้เป็นเอกภาพ มีทั้งกลิ่นอายทักษิณ พันธมิตรฯ กลางๆ หรือไม่มีกลิ่นอายอะไรเลย


 


ดังนั้น เวลาเราพูดถึงการปฎิรูปสังคม ต้องพูดถึงการปฎิรูปองค์กรด้วย เพื่อก้าวพ้นอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม หรือเสรีนิยม ได้อย่างไร  


 


สำหรับการจัดตั้งองค์กรพื้นฐานในละตินอเมริกาเกิดจากกล่มคนผู้ใช้แรงงานที่กระทำการผลิต ไม่ใช่คนชั้นกลางที่ขึ้นมาเป็นผู้นำเอง เจ้าของปัญหาขึ้นมาเอง ของเราบางครั้งอิหลักอิเหลื่อ โดยการนำแบบหมู่คณะโดย กป.อพช. ครป. หรือเอ็นจีโอที่สนับสนุนเรื่องป่า เรื่องที่ดิน แบบพี่เลี้ยง ที่ปรึกษา นักวิชาการ ราษฎรอ่อนวัย ราฎษรอาวุโส ซึ่งต่างกับละตินอเมริกา


 


การนำการจัดตั้งที่เน้นไปที่ปัญญาชนชนชั้นกลาง มีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง เราอาจคิดว่าการวิเคราะห์ของพวกเราเหนือกว่า มีงบประมาณมากกว่าผู้ผลิต แต่เราอาจเข้าไปครอบงำโดยไม่รู้ตัว เราจะปรับแก้กันอย่างไร บางครั้งเราเคลื่อนไหว เราจัดการ รวมทั้งตัวผมด้วย บางทีอำนาจตัดสินใจหลายเรื่อง บางครั้งผมก็คิดว่าคนที่ไฮปาร์คก็เป็นเรา คนเจรจา หางบประมาณ ล็อบบี้ก็เป็นเรา เจ้าของปัญหาอาจมีหน้าที่แค่เรียกให้คนมารวมกัน อันนี้อำนาจการจัดการอยู่ที่ไหน ว่าจะรวมหมู่ หรือผสมผสาน หรือแบบเดิมจะสุดโต่งไปไหม อาจกลายเป็นลัทธิขุนนางในภาคประชาชนได้ด้วยเหมือนกันถ้าเราไม่ตระหนักในสิ่งเหล่านี้ เพราะถ้าสิบปีแล้ว ยังเป็นแบบนี้อยู่ การนำจากรากฐานไม่เกิด อาจกลายเป็นลัทธิทำแทนไหม เราจะทบทวนบทบาทนี้ยังไงให้เหมาะสม แต่ไม่เฉพาะเอ็นจีโอ ในสังคมไทย ผู้นำชาวบ้านบางคนก็เกิดอาการแบบนี้เหมือนกัน เกิดการนำเดี่ยว เกิดลัทธิวีรชน ไม่สร้างผู้นำเป็นหมู่คณะได้จริง นี่ก็เป็นปัญหาหนึ่ง  แน่นอนว่า


 


สิ่งที่สำคัญในการจัดตั้งของละตินอเมริกา คือ การเป็นอิสระจากพรรคการเมือง แม้ว่าจะเป็นพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายด้วยกันเอง แต่พร้อมสนับสนุนและเทคะแนนเสียงให้ เพราะเขาสนับสนุนระบบรัฐสภา


 


 


 


ฉัตรชัย ไพยเสน
เลขาธิการสหภาพแรงงานไทยอินดรัสเตรียลแก๊ส


(ผู้วิจารณ์)


 


ประเด็นที่ต้องคิดในงานเขียนของคุณภัควดีคือ คำถาม 3 ข้อ จะรักษาองค์กรอิสระขององค์กรประชาชนอย่างไร ทำอย่างไรที่จะผลักดันผลประโยชน์ที่แตกต่างกันของชุมชนให้ไปพร้อมๆ กัน และสาม ทำอย่างไรที่จะเชื่อมโยงกลุ่มประชาชนที่มีการจัดตั้งกับไม่มีการจัดตั้งเข้าด้วยกัน ความสัมพันธ์ของสองกลุ่มนี้ควรจะเป็นอย่างไร พยายามนึกหาคำตอบของทั้งสามข้อว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะถ้ามองย้อนกลับไปที่ปัญหาจริงๆ แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือ รากฐานด้านประชาธิปไตยของประชาชนไทยไม่มีความเข้มแข็ง เราไม่มีความรู้เรื่องของประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานจริงๆ ที่ประชาชนควรจะรู้เลย


 


เมื่อพื้นฐานไม่เข้มแข็ง การที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงต่างๆ น่าจะเกิดขึ้นยากสำหรับสังคมไทย ถ้าเปรียบเทียบกับละตินอเมริกา ที่การขับเคลื่อนที่เกิดขึ้นไม่มีทฤษฎี แต่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติจริง เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของชนชั้นล่าง แต่ในไทย ในส่วนนี้เรายังขาด ปัญหาคือเราไม่มีการศึกษาเรื่องของประชาธิปไตยที่เพียงพอให้กับประชาชน เช่น ถ้าเราเข้าใจพื้นฐานของประชาธิปไตย เราก็อาจจะเข้าใจว่า 70:30 คืออะไร แต่ ณ วันนี้ ถ้าเราไปถามชาวนาว่า 70:30 คืออะไร เขาอาจตอบว่า เคยชินแต่ 16-20-0 70:30  สูตรปุ๋ยใหม่หรือเปล่า แต่ถ้าให้การศึกษาเรื่องประชาธิปไตยกับประชาชนอย่างเพียงพอ ก็เชื่อว่าจะเห็นการขับเคลื่อนที่มาจากชนชั้นล่างจริงๆ และจะนำไปสู่ความเข้มแข็งของประชาธิปไตยในประเทศไทย


 


เรื่องขององค์กรสหภาพแรงงาน ก็เป็นชุมชนๆ หนึ่งที่มีส่วนผลักดันหลายๆ เรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในระบอบประชาธิปไตย แต่ถ้าจะมองจริงๆ แล้ว สหภาพแรงงานก็คือตัวอย่างด้านประชาธิปไตยที่เป็นการปฎิบัติจริงอย่างหนึ่ง เช่น สหภาพแรงงานมีการเลือกตั้งผู้นำโดยตรง มีการตั้งตัวแทน มีการแถลงนโยบาย แถลงผลการดำเนินการ มีฝ่ายค้าน มีการเสนอปลด เลือกตั้งใหม่ เป็นขั้นตอนของประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานของผู้ใช้แรงงาน แต่ขบวนการนี้กลับไม่ได้รับการส่งเสริม ถูกแทรกแซงจากภาครัฐ และประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังไม่เข้าใจเรื่องของสหภาพแรงงาน


 


อย่างที่หลายท่านพูดว่า ถ้าจะมองจริงๆ แล้ว องค์กรสหภาพแรงงานน่าจะเป็นจุดศูนย์รวมของการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนจุดหนึ่ง เพราะถ้าเรามองลึกไปจริงๆ แล้ว สหภาพแรงงานเกี่ยวข้องกับประชาชนทุกคน แต่ทุกวันนี้เรายังมองว่าแรงงานก็คือแรงงานไม่เกี่ยวกับประชาชน ทำไมถึงเกี่ยว ทุกคนต้องการให้ญาติพี่น้องบุตรหลานหรือเพื่อน มีงานทำดีๆ คนที่มีลูกก็ต้องการให้ลูกมีการศึกษาดีๆ เพื่อมีงานทำดีๆ หมายถึงว่าสุดท้ายแล้วทุกคนต้องเข้าสู่ตลาดแรงงาน นั่นหมายถึงว่าตลาดแรงงานน่าจะเป็นชุมชนใหญ่ชุมชนหนึ่ง เมื่อเทียบกับชุมชนของคนยากคนจน จำนวนไม่น่าจะต่างกันมากนัก แต่ถ้าจะมองแล้วชุมชนแรงงานก็เกี่ยวข้องกับคนยากคนจนด้วย เพราะหลายคนก็ยังรอเงินจากการขายแรงงาน แต่กระบวนการแรงงานถูกแทรกแซง การพัฒนาเพื่อไปสู่ประชาธิปไตยเพื่อไปสู่ทางเลือกทางแพร่ง โอกาสที่จะไปถึงน่าจะไกลอยู่


 


ถ้ามองย้อนไปสิ่งสำคัญที่สุดคือ การศึกษา ในสังคมไทยลองกลับไปดูว่า การศึกษาเรื่องประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานที่ควรจะเริ่มตั้งแต่ระดับประถม ในห้องเรียน มีการเลือกตั้งหัวหน้าชั้นหรือการศึกษาที่ให้ความรู้ในเรื่องของประชาธิปไตยจริงๆ ตอนนี้มันไม่มี พอขึ้นมัธยม ในอดีตจะได้เรียนวิชาศีลธรรม จริยธรรม ที่สอนเรื่องประชาธิปไตย แต่ทุกวันนี้ ก็ไม่มีแล้ว ดังนั้น สิ่งที่หายไปจากสังคมเราคือระบบการศึกษา


 


ถ้าจะมองย้อนกลับไป เพื่อไปสู่ทางเลือกใหม่ หรือทางแพร่ง หรือการเมืองใหม่ เราคงต้องมองย้อนกลับไปสู่ระบบการศึกษา การส่งเสริมองค์กรแรงงาน ซึ่งเป็นองค์กรขั้นพื้นฐานทางประชาธิปไตยที่ทุกคนสามารถจับต้องได้จริงๆ หลังจากนั้น การขับเคลื่อนของคนชั้นล่างแบบที่เกิดขึ้นในละตินอเมริกา น่าจะเกิดในเมืองไทยได้เหมือนกัน และนำไปสู่ประชาธิปไตยที่เข้มแข็งจริงๆ


 


 


เกี่ยวข้อง


รายงานเสวนา (2): "ทางแพร่งประชาธิปไตยกับการเมืองที่ใหม่กว่า" -

เอกสารประกอบ

การเมืองใหม่ในละตินอเมริกา (ภัควดี วีระภาสพงษ์)

ประชาธิปไตยทางตรง ในบริบทปัญหาประชาธิปไตยแบบตัวแทน (ประภาส ปิ่นตบแต่ง)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net