Skip to main content
sharethis

 


เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา โครงการติดตามการเมืองภาคประชาชน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งชาติ (กป.อพช.) จัดเสวนาเรื่อง "ทางแพร่งประชาธิปไตยกับการเมืองที่ใหม่กว่า" ที่ห้องประชุมสมาคมนิสิตเก่า คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ดำเนินรายการโดย ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการเว็บไซต์ประชาไท


 


โดย ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักเขียน นักแปลอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านละตินอเมริกา นำเสนอบทความ เรื่อง การเมืองใหม่ในละตินอเมริกา วิจารณ์โดย เจษฎา โชติกิจภิวาทย์ กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ และ ฉัตรชัย ไพยเสน เลขาธิการสหภาพแรงงานไทยอินดรัสเตรียลแก๊ส


 


ประภาส ปิ่นตบแต่ง หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นำเสนอบทความเรื่อง ประชาธิปไตยทางตรง (Direct Democracy) ในบริบทปัญหาประชาธิปไตยแบบตัวแทน วิจารณ์โดย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นฤมล ทับจุมพล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งชาติ (กป.อพช.)


เกี่ยวข้อง


รายงานเสวนา (1): "ทางแพร่งประชาธิปไตยกับการเมืองที่ใหม่กว่า"


ประชาธิปไตยทางตรง ในบริบทปัญหาประชาธิปไตยแบบตัวแทน (ประภาส ปิ่นตบแต่ง)


การเมืองใหม่ในละตินอเมริกา (ภัควดี วีระภาสพงษ์)


 


 


ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์


(ผู้วิจารณ์)


 


 


ปรากฎการณ์พันธมิตรฯ เป็นปรากฎการณ์การเมืองที่แปลกประหลาดข้อหนึ่งคือ


เป็นการสร้างกระบวนการมวลชนที่ปฎิเสธมวลชน


เป็นการสร้างขบวนการประชาธิปไตยที่ปฎิเสธประชาธิปไตย


เป็นการสร้างความเคลื่อนไหวที่ปฎิเสธการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังของภาคประชาชน


และที่สุดแล้วจะนำพันธมิตรฯ ไปสู่ความเป็นปรากฎการณ์ทางการเมืองที่สำคัญคือ


พันธมิตรฯ จะทำให้เกิดการปฎิรูปทางการเมืองที่เป็นปฎิปักษ์กับประชาธิปไตย


เกิดขบวนการต้านรัฐบาลที่ไม่ได้นำไปสู่การสร้างรัฐประชาธิปไตยที่มากขึ้น


เป็นขบวนการประท้วงรัฐบาล แต่ไม่ได้ต้านรัฐทุนนิยม


 


 


บทความของ อ.ประภาส มีความสำคัญมากๆ 3 ข้อ ข้อแรกคือ บทความชิ้นนี้ทำให้เราเห็นภาพว่า ประชาธิปไตยทางตรงที่พูดกันอย่างมากในสังคมไทย ปัจจุบันมีมิติ 3 อย่างที่ประกอบกัน ซึ่งสำคัญและควรรู้ให้การดีเบตเรื่องประชาธิปไตยทางตรง


 


หนึ่งคือ ประชาธิปไตยในฐานะที่เป็นข้อความคิดทางการเมือง ในบทความชิ้นนี้ทำให้เราเห็นภาพชัดเจนว่า ประชาธิปไตยทางตรงเป็นปฎิกิริยาต่อประชาธิปไตยแบบตัวแทน เป็นประชาธิปไตยที่ทำงานบนฐานคิดว่า ประชาธิปไตยทางตรงจะนำไปสู่ประชาธิปไตยที่จริงมากขึ้น ดีมากขึ้น ซึ่งหมายถึงการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองมากขึ้น เพราะฉะนั้นประชาธิปไตยทางตรงจึงสัมพันธ์กับการกระจายอำนาจการเมืองการปกครองจากแนวดิ่งสู่แนวราบ จากศูนย์นกลางสู่ภูมิภาค จากการกระจุกตัวสู่การกระจายตัว ซึ่งทั้งหมดนี้คือกระบวนคือ "กระบวนการ" หรือ "รูปแบบ" เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนมากกว่าประชาธิปไตยแบบตัวแทน


 


ผมเน้นเรื่องนี้เพราะในการพูดเรื่องประชาธิปไตยทางตรง หรือการเมืองใหม่ในบ้านเรา ในปัจจุบันนี้คอนเซ็ปท์ว่า อำนาจประชาธิปไตยควรจะอยู่ที่ไหน เป็นของประชาชนรึเปล่า เป็นสิ่งที่คนจำนวนมากไม่ถามกัน เพราะฉะนั้นมิติที่สำคัญและหายไปของการเมืองใหม่ในบ้านเราคือ ประชาธิปไตยทางตรงก็ดีหรือการเมืองใหม่ก็ดี มีฐานคิดที่สำคัญคือ อำนาจอธิปไตยต้องเป็นของปวงชน


 


ข้อสังเกตอีกอันหนึ่งก็คือ ในบทความของ อ.ประภาส ทำให้เห็นว่า ประชาธิปไตยทางตรง ในฐานะข้อความคิด ไม่ได้สนใจเรื่องการได้มาซึ่งผู้ปกครองที่มีคุณธรรม หรือรัฐบาลที่มีจริยธรรมสูงสุด ซึ่งนี่เป็นวาระที่คนที่พูดเรื่องการเมืองใหม่ในบ้านเราจะพูดกันเยอะ นักเคลื่อนไหว นักการเมืองขั้ว พันธมิตรฯ จะพูดว่า การเมืองที่ดีคือการเมืองใหม่ การเมืองใหม่ที่ดีคือการเมืองใหม่ที่ผู้นำมีจริยธรรม รัฐบาลมีคุณธรรม แต่ถ้าในบทความของ อ.ประภาส จะพบว่า ความคิดเรื่องการเมืองใหม่หรือประชาธิปไตยทางตรง ไม่ได้พูดเรื่องคุณธรรมหรือจริยธรรมเอาไว้ เพราะคุณธรรมและจริยธรรมไม่ใช่แก่นสารของความเป็นประชาธิปไตย เพราะมาตรวัดความเป็นประชาธิปไตยไม่ได้อยู่ที่การมีผู้นำที่ทรงธรรมสูงสุด รัฐบาลคุณธรรม หรือรัฐบาลบุคคลตัวอย่าง ทุกสังคมมีมาตรฐานเดียวกัน คือวัดที่ระดับการเข้าถึง การใช้ และการควบคุมอำนาจรัฐโดยประชาชน


 


ข้อน่าสนใจประการที่สองในบทความของ อ.ประภาส คือการแสดงให้เราเห็นว่า ประชาธิปไตยทางตรงไม่ได้เป็นแค่ข้อความคิดทางการเมืองอย่างเดียว แต่ว่า เป็นเรื่องของการมีตัวแบบ เป็นเรื่องของการสร้างเครื่องมือจัดการทางการเมือง ที่มีพัฒนาการ มีประวัติศาสตร์ มีแบบแผน มีพลวัตรที่ต่อเนื่องและหลากหลายในแต่ละสังคมด้วย เพราะฉะนั้น ประชาธิปไตยทางตรง ในประเทศตะวันตกหลายประเทศ ก็จะเป็นเรื่องของการลงประชามติ การให้ประชาชนริเริ่มเสนอกฎหมาย การประชามติที่มีผลผูกพันให้รัฐนำไปปฎิบัติ หรือกรณีซาปาติสตา ประชาธิปไตยทางตรงก็เป็นเรื่องของการสร้างสมัชชาชุมชน การสร้างงบประมาณแบบมีส่วนร่วม นี่เป็นประเด็นที่สำคัญว่า ประชาธิปไตยทางตรงไม่ได้เป็นแค่เรื่องคอนเซ็ปท์อย่างเดียว แต่มีแบบแผน มีความเป็นเครื่องมือทางการเมืองบางอย่างที่ชัดเจนด้วย


 


ผมพูดเรื่องนี้เพื่อจะโยงไปสู่อีกประเด็นหนึ่งว่า ประชาธิปไตยทางตรงในรูปแบบของประชาธิปไตยในโลกตะวันตก เป็นไปได้ไหมว่า มันสัมพันธ์กับความเป็นรัฐทุนนิยมเสรีประชาธิปไตยในตะวันตกเองด้วย นั่นก็คือทำให้เกิดรัฐทุนนิยมเสรีประชาธิปไตยขึ้นมา แล้วก็เกิดปัญหาในเชิงการพัฒนาจำนวนมากขึ้น ทำให้ประชาธิปไตยทางตรงถูกใช้ในโลกตะวันตกเป็นมาตรการเสริมประชาธิปไตยแบบตัวแทน เพื่อให้ประชาชนเข้าใช้อำนาจโดยตรงได้บางวาระเป็นการชั่วคราว เช่น การเสนอนโยบายสาธารณะ หรือการถอดถอนผู้นำทางการเมือง


 


ขณะที่ในกรณีซาปาติสตา เป็นไปได้ไหมว่าการเกิดประชาธิปไตยทางตรงในกรณีซาปาติสตา อาจต้องมองในฐานะเป็นการเมืองในรัฐทุนนิยมที่มีพัฒนาการที่ล้าหลัง ไม่สม่ำเสมอ ไม่ต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นในเงื่อนไขแบบนี้ ประชาธิปไตยทางตรงก็ถูกใช้โดยคนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ในฐานะเป็นมาตรการหลักหรือข้อเสนอหลักของ ฝ่ายชนชั้นล่าง ฝ่ายคนจนเมือง หรือชาวนารายย่อย เพราะฉะนั้น ในการอภิปรายเรื่องประชาธิปไตยทางตรง หรือการเมืองใหม่ในสังคมไทย ปัจจุบันนี้มันสัมพันธ์หรือเปล่ากับการทำความเข้าใจเรื่องรัฐไทยในปัจจุบันว่าเป็นรัฐแบบไหนกันแน่ สภาพเศรษฐกิจสังคมไทยเป็นแบบไหนกันแน่


 


ประชาธิปไตยทางตรงในโลกที่หนึ่งมีลักษณะสำคัญข้อหนึ่งคือ จำกัดตัวเองไว้แค่ในปริมณฑลการเมืองและสถาบันการเมืองที่เป็นทางการเป็นหลัก ขณะที่ประชาธิปไตยทางตรง หรือการเมืองใหม่ในโลกที่สามเป็นปฏิกริยาโต้รัฐในปริมณฑลเศรษฐกิจสังคมและกิจกรรมในชีวิตประจำวัน


 


ความน่าสนใจประการที่สาม คือ เราอาจจะต้องเข้าใจประชาธิปไตยทางตรง หรือการเมืองใหม่ในฐานะที่เป็นกระบวนทัศน์ทางการเมืองที่ตั้งคำถามต่อตำแหน่งแห่งที่ของอำนาจทางการเมือง หรือการเมืองในโลกสมัยใหม่ นั่นคือประชาธิปไตยแบบสมัยใหม่นั้นรวมศูนย์อยู่ที่การสร้างอำนาจทางการเมืองให้อยู่ในสถาบันตัวแทนบางอย่าง เพราะฉะนั้น ตำแหน่งแห่งที่ของอำนาจทางการเมืองและการต่อสู้ทางการเมืองก็จะจำกัดอยู่ที่สถาบันการเมืองที่เป็นทางการ การเมืองในโลกสมัยใหม่เป็นการเมืองที่เป็นเรื่องของการแข่งขันต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ จะโดยวิธีสร้างพรรคการเมือง รัฐประหารหรือสร้างรัฐกรรมาชีพก็ตามแต่ แต่ถ้าเราดูการต่อสู้ทางการเมืองในโลกสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นของฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวา ฝ่ายปฎิกิริยาหรือฝ่ายก้าวหน้า สิ่งที่จะคล้ายคลึงกันมาก คือการมุ่งยึดอำนาจรัฐ การแย่งชิงอำนาจรัฐในฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายตุลาการ


 


นอกจากนี้ ประชาธิปไตยทางตรงเป็นการตั้งคำถามเชิงกระบวนทัศน์ว่า ตำแหน่งแห่งที่ของอำนาจทางการเมือง อยู่ที่สถาบันการเมืองทางการอย่างเดียวจริงๆ หรือเปล่า หรือว่าอยู่ที่การสร้างบรรยากาศทางการเมือง หรือว่าอยู่ที่การต่อสู้ทางความคิด การต่อสู้ช่วงชิงมวลชนเพื่อความสนับสนุนในแต่ละประเด็นด้วย ประชาธิปไตยทางตรงไม่ได้คิดว่าอำนาจการเมืองกระจุกแค่ในสถาบันการเมือง แต่อยู่ในภาคประชาสังคม อยู่ในคนกลุ่มต่างๆ ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบในสังคมด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญมากในการทำความเข้าใจประชาธิปไตยทางตรงคือ ต้องเข้าใจว่า การต่อสู้เรื่องประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของการได้อำนาจรัฐอย่างเดียว แต่คือการต่อสู้ในชีวิตประจำวัน ในประเด็นเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม หรือพูดอีกอย่างคือทำให้ความเป็นการเมืองขยายตัวไปสู่ทุกปริมณฑลของชุมชนการเมืองอย่างเด่นชัด


 


ส่วนที่สอง เมื่อได้อ่านบทความของ อ.ประภาสแล้ว เห็นภาพปัญหาทางการเมืองที่จะเกิดจากการเรียกร้องการเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ อย่างน้อย 5 ข้อ คือ


 


1.ความเข้าใจของพันธมิตรฯ ต่อเรื่องตำแหน่งแห่งที่ของอำนาจทางการเมือง คืออะไร


2.พันธมิตรฯ คิดว่าความเป็นการเมืองในสังคมไทยคืออะไร


3.การเมืองใหม่แบบพันธมิตรฯ จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมในสังคมไทยเป็นอย่างไร


4.เป็นไปได้ไหมว่าปฎิบัติการการเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ เป็นแค่ปฎิบัติการโค่นล้มรัฐบาล แต่ไม่ได้ต้านรัฐไทย


5.การเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ ในฐานะโครงการทางการเมือง หรือ political project เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการเมืองที่เรียกว่า ปฎิปักษ์ประชาธิปไตยที่มีอภิชนบางกลุ่มเป็นผู้นำ


 


ข้อแรก เมื่อครู่ได้พูดว่า บทความของ อ.ประภาสได้ทำให้เห็นว่า ประชาธิปไตยทางตรงควรมีองค์ประกอบอย่างน้อย 3 ข้อ ที่ควรจะชัดเจน คือ องค์ประกอบในแง่การเป็นข้อความคิด/ การมีตัวแบบทางการเมืองที่ชัดเจน/ และการเป็นกระบวนทัศน์ที่ชัดเจน


 


เมื่อกลับมาดูสามข้อนี้ จะพบว่า ข้อเสนอของพันธมิตรเรื่องการเมืองใหม่ไม่มีความชัดเจนในระดับข้อความคิด เปลี่ยนได้ทุกวัน ทุกเวลา ทุกสถานที่ เหตุผลที่ข้อเสนอของพันธมิตรเรื่องการเมืองใหม่ไม่มีความชัดเจนในระดับข้อความคิด เป็นเพราะการต่อสู้ทางการเมืองของพันธมิตรฯ ไม่เคยตอบคำถามการเมืองที่สำคัญและเป็นจิตวิญญาณของประชาธิปไตยทางตรง และการเมืองใหม่ทั้งหมด คืออำนาจอธิปไตยของประเทศนี้อยู่ที่ใคร อำนาจอธิปไตยอยู่ที่ประชาชนทุกคน หรืออำนาจอธิปไตยอยู่ที่คนมีความรู้ มีบรรดาศักดิ์ มีฐานันดร มีสถานภาพทางวิชาการหรือว่า อำนาจอธิปไตยอยู่ที่คนทุกคนเท่าๆ กัน การเมืองใหม่ก็ดี หรือประชาธิปไตยทางตรงของพันธมิตรฯ กีไม่เคยพูดเรื่องนี้เลย ซึ่ง เป็นเรื่องที่ประหลาดว่าทำไมถึงไม่พูด พันธมิตรฯ เชื่อหรือเปล่าว่าปัจเจกชนทุกคนมีสิทธิมีเสียงเท่ากัน อำนาจการเมืองควรกระจายไปสู่คนทุกคน โดยไม่เลือกชนชั้น ไม่เลือกระดับการศึกษา รสนิยมการเมือง เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ฐานันดร หรือพันธมิตรฯ เห็นว่า ประชาธิปไตยที่ดีควรให้น้ำหนักทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการไปที่คนบางฐานันดร บางอาชีพ บางระดับการศึกษา บางรสนิยมการเมืองเท่านั้น


 


พูดให้ถึงที่สุดแล้ว การเมืองใหม่แบบพันธมิตรฯ ไม่เคยตอบคำถามว่าเขาคิดอย่างไรกับความเชื่อพื้นฐานของประชาธิปไตยสมัยใหม่ข้อหนึ่ง คือ มนุษย์ทุกคนมีเหตุผล คิดเองได้ เป็น rational being เป็น free agent ตัดสินใจทางการเมืองด้วยตัวเองได้ และทุกคนมีหนึ่งเสียงเท่ากัน สิ่งนี้พันธมิตรฯ ไม่เคยตอบ เพราะคิดว่า พันธมิตรฯ ตอบไม่ได้ เพราะอาจจะตอบแล้วอาย หรือว่าเป็นไปได้ว่า พันธมิตรฯ โดยเฉพาะแกนนำทั้ง 5 ไม่รู้ว่าคำถามนี้สำคัญ ไม่รู้ว่าคำถามแบบนี้คือเส้นแบ่งระหว่างประชาธิปไตยกับปฎิปักษ์ประชาธิปไตย หรือรู้ว่าแกนนำทั้ง 5 ควรตอบคำถามนี้ แต่ไม่สามารถตอบได้ เพราะคำตอบจะทำให้เห็นความขัดแย้งระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ที่อยู่ในฝ่ายพันธมิตรฯ เอง เช่น ชนชั้นสูง ผู้พิพากษา นักวิชาการ ผู้นำสังคม สื่อมวลชน กฎุมพี บ้านนอก ทหาร ข้าราชการผู้ใหญ่ ซึ่งในที่สุดแล้วคนเหล่านี้ไม่เชื่อว่า ประชาธิปไตยและการเมืองที่ดี คือการให้คนจน คนไร้การศึกษา คนโง่ คนรสนิยมต่ำ คนชายขอบทั้งหมดมีเสียงหนึ่งเสียงเท่ากับ คนที่มีการศึกษา คนฉลาด คนที่มีรสนิยมดีและคนที่เข้าใจประชาธิปไตย


 


การเมืองใหม่ของ พันธมิตรฯ ในแง่ของการเป็นตัวแบบทางการเมือง อาจจะชัดเจนกว่าในแง่ของข้อความคิด เพราะ พันธมิตรฯ พูดไว้ค่อนข้างชัดเจนว่า โจทย์หลักของการเมืองใหม่แบบ พันธมิตรฯ อยู่ที่การเข้าสู่อำนาจหรือการพ้นอำนาจของนักการเมือง ในแง่นี้ การเมืองใหม่ของ พันธมิตรฯ ผิดจากการเมืองใหม่หรือปชตทางตรง ในหลายสังคมแบบที่ ประภาสหรือภัควดี พูด เพราะการเมืองใหม่แบบ พันธมิตรฯ ทำงานบนกระบวนทัศน์ที่เก่าแสนเก่า ที่เชื่อว่า ปัญหการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ความไม่เท่าเทียม ปัญหาทั้งหลายในสังคมไทยเกิดจากรัฐบาลที่เลว ผู้นำที่เลว แล้วเราจะแก้ปัญหานี้ได้ง่ายๆ โดยเอารัฐบาลที่ดี มีศีลธรรมคุณธรรมเข้ามา นี่ไม่ใช่การเมืองใหม่ นี่เป็นทัศนคติทางการเมืองที่เก่าแสนเก่า ในโลกตะวันตกย้อนไปได้ถึงสมัยเพลโตหรือโสเครติส สังคมไทยในโลกวัฒนธรรมฮินดู อารายันย้อนไปได้ถึงสมัยพระพุทธเจ้า นี่เป็นการเมืองที่บอกว่า การเมืองที่ดี คือการมีผู้ปกครองที่ดีมีศีลธรรม


 


ขณะที่ถ้าฟัง อ.ประภาสหรือภัควดีพูด เรื่องศีลธรรมหรือจริยธรรมไม่ใช่ประเด็นของการเมืองใหม่ ประเด็นของการเมืองใหม่คือการสู้เพื่อความเท่าเทียม สู้เพื่อคนด้อยโอกาสในสังคม ไม่ใช่เรื่องของการได้ผู้นำซึ่งเป็นคนดี หรือเป็นบุคคลตัวอย่าง เป็นพ่อตัวอย่าง เป็นแม่ตัวอย่าง


 


ตรรกะทางการเมืองที่บิดเบี้ยวแบบนี้ทำงานได้เพราะ พันธมิตรฯ และการเมืองแบบ พันธมิตรฯ เชื่อว่าการเมืองเป็นเรื่องของความดี การต่อสู้ทางการเมืองคือการต่อสู้ให้คนดีได้มีอำนาจ พูดให้สั้นๆ คือการเมืองเป็นเรื่องของคุณธรรม ทำราวกับว่าการแย่งชิงทรัพยากรไม่สำคัญ ความไม่เท่าเทียมไม่สำคัญ การกระจายรายได้ไม่สำคัญ อคติทางเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ไม่สำคัญ ปัญหาการเมืองทั้งหมดแก้ได้ง่ายๆ ด้วยการให้คนดีมีอำนาจทางการเมือง ทั้งที่ ความดี เป็นคำล่องลอย ไม่มีใครคิดเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับนิยามจากมุมไหน มุมความเป็นธรรม มุมกระจายรายได้ มุมศีลธรรมหรือมุมการจัดสรรทรัพยากรเพื่อส่วนรวม


 


ข้อเสนอเรื่องการเมืองใหม่หมกมุ่นอยู่แต่กับการเอาคนมีคุณธรรมขึ้นมาเป็นผู้นำทางการเมือง แต่ไม่พูดเลยว่าปัญหาการเมืองอื่นๆ ในสังคมไทยจะแก้โดยผู้ทรงธรรมได้อย่างไร


 


ประเด็นนี้อาจจะสำคัญ เพราะพันธมิตรฯ อาจจะบอกว่า เรากำลังเรียกร้องให้ผู้นำประเทศเป็นคนเลวหรืออย่างไร ซึ่งคำตอบคือไม่ใช่ ไม่มีใครบอกว่าผู้นำประเทศควรเป็นคนเลว แต่การบอกว่าการมีคนดีมาเป็นผู้ปกครองประเทศอย่างเดียวไม่แก้ปัญหาประชาธิปไตยไทยในปัจจุบันและพูดจริงๆ ในประวัติศาสตร์ของการเมืองทั่วโลก เผด็จการจำนวนมากก็ใช้อำนาจในนามคุณธรรม อันนี้เป็นข้อที่พบได้ทั่วไป


 


การหมกมุ่นกับคุณธรรมของ พันธมิตรฯ ทำให้การสร้างการเมืองใหม่ของ พันธมิตรฯ มีจุดมุ่งหมาย มีกระบวนการที่คับแคบ จำกัดอยู่แต่ในวงคนที่พันธมิตรฯ และฝ่ายผู้สนับสนุน พันธมิตรฯ เห็นว่าก้าวหน้า มีความรู้ มีความเข้าใจประชาธิปไตยที่ดี มีคุณธรรม เพราะฉะนั้น ในกระบวนการริเริ่ม กระบวนการผลักดัน กระบวนการคิดเรื่องการเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ ดำเนินไปโดยใครก็ไม่รู้ กระบวนการไหนก็ไม่มีใครทราบ ไม่คุยกันที่ไหนก็ไม่มีใครรู้ เป็นเรื่องลับทั้งหมด ทั้งที่นี่เป็นเรื่องการเมืองใหม่ของคนทั้งประเทศ เพราะฉะนั้น ทั้งมวลชน พันธมิตรฯ และคนในสังคมไทยทั้งสังคมไทยได้ยินคำว่า การเมืองใหม่ แต่ว่าการเมืองใหม่คืออะไร คุยกันที่ไหน ใครเป็นคนคิด กระบวนการคิดมาอย่างไรไม่มีใครรู้


 


ในแง่นี้แล้วสังคมไทยทั้งสังคม รวมทั้งมวลชน พันธมิตรฯ เองถูกกระบวนการนี้ทำให้มีค่าเพียงแค่คนรับฟัง เป็นแค่ผู้รับข้อเสนอ หรือข้อริเริ่มที่ผู้รู้ ผู้ทรงภูมิ ผู้ทรงธรรมของฝ่ายพันธมิตรฯ คิดค้นไว้แล้วทั้งหมด เพราะฉะนั้นการเมืองใหม่และการเมืองแบบ พันธมิตรฯ นำไปสู่ปัญหาทางการเมืองที่สำคัญ 2 ข้อคือ


 


ข้อแรก คือ พันธมิตรฯ ทำให้การเมืองเป็นเหมือนกับการมีรูปแบบรัฐบาลที่ดี หรือการได้ผู้นำที่ดีอย่างเดียว พันธมิตรฯ ไม่เข้าใจว่าสังคมการเมืองทั้งหมดเริ่มต้นด้วยการมีบทสนทนาระหว่างคนทุกฝ่าย คนที่เรียนรัฐศาสตร์หรือปรัชญาการเมืองก็จะรู้ว่า เวลาโสเครติสปฎิบัติการทางการเมืองของเขา สิ่งที่โสเครติสทำก็คือการไปคุยกับคนทุกคน ชุมชนในทางการเมืองในทางรัฐศาสตร์ เกิดขึ้นเพราะเราเชื่อว่า เราจะสร้างชุมชนทางการเมืองได้จากการมีไดอะล็อก มีบทสนทนาระหว่างคนทุกฝ่ายในสังคมร่วมกัน สิ่งที่ พันธมิตรฯ ทำไม่ใช่เรื่องของการสร้างไดอะล็อกแบบนี้ แต่คือการเคลม หรือการอ้างว่าตัวเองเป็นหัวหอกของการสู้เพื่อการเมืองที่ดี แล้วเอาแนวคิดเรื่องการเมืองที่ดี แบบ พันธมิตรฯ มากำกับคนอื่นในสังคม แล้วบอกให้ทุกคนต้องคิดในโจทย์แบบนี้เท่านั้น เพราะฉะนั้น แนวทางแบบนี้จะนำไปสู่การเมืองที่ดีหรือไม่นั้น ไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ แนวทางแบบนี้ในปัจจุบัน ไม่ทำให้เกิดชุมชนทางการเมืองที่ดีขึ้นมา เกิดความขัดแย้งทางการเมืองที่ไม่จำเป็นขึ้นจำนวนมาก


 


ข้อสอง การปฎิเสธความสำคัญของการสนทนา ทำให้การเมืองของ พันธมิตรฯ เบียดขับหรือขับไล่คนกลุ่มอื่นๆ ออกไปจากการต่อสู้ของ พันธมิตรฯ เองทั้งหมด สังคมไทยทั้งสังคมหรือแม้กระทั่งมวลชนฝ่ายพันธมิตรฯ ถูกทำให้เป็นคนที่เป็นแค่มวลชนเท่านั้น การเมืองแบบ พันธมิตรฯ ทำงานบนการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ที่ปราศจากเหตุผล นั่นคือแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเพราะรสนิยมทางการเมือง เอารสนิยมทางการเมืองมาปิดกั้นอีกฝ่าย เช่นเดียวกับเอารสนิยมทางการเมืองของผู้นำไม่กี่คน มาปิดกั้นความหลากหลายของฝ่ายผู้ชุมนุมในแง่ชนชั้น ในแง่การศึกษา ในแง่ฐานะทางสังคม


 


ผลจากการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายแบบนี้ทำให้การเมืองแบบ พันธมิตรฯ เป็นการเมืองใหม่ ในแง่มุ่งยึดอำนาจรัฐ แล้วเปลี่ยนรัฐให้เป็นแบบที่ตัวเองชอบอย่างเดียว โดยไม่สนใจพลังฝ่ายอื่น ไม่สนใจการมีอยู่ของฝ่ายอื่นๆ ในสังคม ทำให้พลังการเมืองใหม่แบบ พันธมิตรฯ ทำได้แค่กลับสู่รัฐประหาร เรียกร้องให้ทหารเข้าช่วยสร้างการเมืองใหม่ ใช้พันธมิตรฯ ชั้นสูงทุกฝ่ายในการทำลายระบบการเมืองปัจจุบัน แม้กระทั่งเพิกเฉย ไม่ขอโทษ ไม่รู้สึกผิดกับการตายของฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างคุณณรงค์ศักดิ์ กรอบไธสง หรือแม้กระทั่งการทำร้ายหรือคุกคามฝ่ายอื่นที่ไม่ใช่พันธมิตรฯ เช่น กรณีฟ้าเดียวกัน กรณีโชติศักดิ์ อ่อนสูง หรือกรณีอื่นๆ


 


นอกจากนี้ การผลักดันการเมืองใหม่ ในโลกที่สาม มาพร้อมกับสปิริตที่สำคัญข้อหนึ่งคือ การสร้างการเมืองใหม่มันต้องมาพร้อมกับกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยตั้งแต่ต้น แต่ในกรณีของ พันธมิตรฯ การสร้างการเมืองใหม่เกิดขึ้นบนกระบวนการที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างน้อยก็ใน 3 แง่


 


แง่ที่หนึ่งคือ แง่องค์กรนำ คนที่สนใจการเมืองก็คงจะรู้ว่าในช่วงที่ พันธมิตรฯ ตั้งองค์กรใหม่ๆ มีความพยายามจะให้เครือข่ายเอ็นจีโอเข้าร่วม 21 คน มี พันธมิตรฯ ใหญ่กับ พันธมิตรฯ เล็ก อยู่ๆ ไปพันธมิตรฯ เล็ก 21 คนก็ไม่เคยมีบทบาทในการประชุมกับ พันธมิตรฯ ใหญ่ทั้ง 5 คน ตัวอย่างที่ 2 พันธมิตรฯ ก่อตั้งมา 3 ปีแล้ว ไม่เคยมีแม้แต่ครั้งเดียวที่ผู้นำ พันธมิตรฯ จะพูดถึงการขยายองค์กรนำ ขยายแกนนำไปสู่คนที่เข้าร่วมในการชุมนุม ไม่ว่า พันธมิตรฯ จะเกิดขึ้นในช่วงไล่คุณทักษิณ หรือไล่คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แกนนำเป็นคนหน้าเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง จะเปลี่ยนเป็นแกนนำรุ่น 2 เมื่อแกนนำถูกจับ เพราะฉะนั้นการเป็นประชาธิปไตยในแง่องค์กรนำ พันธมิตรฯ มีปัญหามากๆ


 


สอง ที่มีปัญหามากๆ คือความเปิดกว้างของการนำ พันธมิตรฯ มีจุดแข็งคือมีคนจำนวนมากเข้าร่วมชุมนุม แต่ปัญหาที่สำคัญคือ ผ่านไปแล้วเป็นเวลา 3 ปี คนที่เข้าร่วมชุมนุมก็มีฐานะเป็นมวลชนอย่างเดียวเหมือนเดิม ช่วงนี้มีการพูดถึงบทบาทของนักศึกษาในการร่วมกับ พันธมิตรฯ เยอะ แต่ก็ไม่ปรากฎว่าผู้นำ พันธมิตรฯ ทั้ง 5 ท่านบอกว่าจะให้นักศึกษาเข้าไปเป็นองค์กรนำใน พันธมิตรฯ อย่างไรบ้าง ขณะที่การเคลื่อนไหวในอดีต เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องสำคัญ เช่น ตอน พ.ค. 35 คุณปริญญา (เทวานฤมิตรกุล) เข้าไปในนามของนักศึกษา พี่สมศักดิ์ (โกศัยสุข) เข้าไปในนามกรรมกร แต่ในรอบนี้นักศึกษาไม่มีตัวแทน กรรมกรก็ไม่มีตัวแทน มีแต่ผู้นำ 5 ท่านตลอดมา


 


สาม การสร้างองค์กรมวลชน พันธมิตรฯ ไม่สนใจการสร้างมวลชนที่มีความชัดเจน พันธมิตรฯ สนใจแค่เอามวลชนมาเป็นฐานในการชุมนุม เมื่อวานนี้ (18 ก.ย.) คุณจำลอง ศรีเมือง พยายามตอบโต้เวลามีคนบอกว่าเวทีของพันธมิตรฯ เป็นเวทีของคนรวยและชนชั้นกลาง คุณจำลองบอกว่าไม่จริง มีคนจนอยู่ในเวที พันธมิตรฯ เต็มไปหมด


 


ข้อสังเกตของผมคือ คนจนมีส่วนร่วมในเวทีของ พันธมิตรฯ ในบทบาทอะไรบ้าง ผมคิดว่ามี 4 ข้อ 1.ร่วมชุมนุม 2.เดินขบวน 3.เป็นการ์ด 4.ขึ้นปราศรัย และคุมการเดินขบวน ส่วนคนที่มีอิทธิพลกับวาระทางการเมืองของ พันธมิตรฯ จริงๆ คือใคร มีตัวแทนคนจนไปร่วมในการตัดสินวาระทางการเมืองของ พันธมิตรฯ จริงหรือเปล่า ก็ไม่ปรากฎชัดเจน เพราะฉะนั้น คนจนจึงมีอยู่ใน พันธมิตรฯ จริง แต่เป็นการ์ด เป็นคนทำกับข้าวให้กองทัพธรรม เป็นยามเฝ้าแผ่นดิน


 


แนวทางแบบนี้ทำให้ในที่สุดแล้ว การเมืองแบบพันธมิตรฯ เป็นองค์กรขาลอย ลอยจากสังคมและคนที่เข้าร่วมกับ พันธมิตรฯ นี่เป็นปัญหาสำคัญมาก เป็นไปได้อย่างไร ที่ชุมนุมใหญ่ 3 ปี แต่ไม่เปิดให้มวลชนมีส่วนร่วมในการนำได้เลย เขาให้เหตุผลไว้ก็คือ เครือข่ายของ พันธมิตรฯ อาศัยอิทธิพลการเมืองนอกสภา ไปบีบสภาให้ทำเรื่องต่างๆ ใช้อิทธิพลนอกระบบการเมืองแบบเปิดเผยไปบีบให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลงเรื่องต่างๆ เพราะฉะนั้นในแง่นี้แล้ว การเมืองใหม่แบบ พันธมิตรฯ เป็นการเมืองแบบที่อาศัยอภิสิทธิชน อาศัยคนมีอำนาจ มีพลัง ทำเรื่องต่างๆ โดยเอามวลชนเป็นเครื่องบังหน้า


 


การเมืองแบบพันธมิตรฯ ไม่เคยปฎิเสธการรัฐประหาร ไม่เคยบอกว่า เราไม่ยอมรับการรัฐประหาร การเมืองแบบพันธมิตรฯ พูดตลอดเวลาว่า ทหารที่ดีต้องร่วมกับประชาชน ข้าราชการที่ดีต้องร่วมกับประชาชน หรือแม้กระทั่งเกือบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ก็ยังพูดแบบเปิดเผยว่า อยากให้ทหารที่ดีมาปฎิวัติกับประชาชน


 


เพราะฉะนั้นในที่สุดแล้ว ปรากฎการณ์พันธมิตรฯ เป็นปรากฎการณ์การเมืองที่แปลกประหลาดข้อหนึ่งคือ เป็นการสร้างกระบวนการมวลชนที่ปฎิเสธมวลชน เป็นการสร้างขบวนการประชาธิปไตยที่ปฎิเสธประชาธิปไตย เป็นการสร้างความเคลื่อนไหวที่ปฎิเสธการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังของภาคประชาชน และที่สุดแล้วจะนำ พันธมิตรฯ ไปสู่ความเป็นปรากฎการณ์ทางการเมืองที่สำคัญคือ พันธมิตรฯ จะทำให้เกิดการปฎิรูปทางการเมืองที่เป็นปฎิปักษ์กับประชาธิปไตย เกิดขบวนการต้านรัฐบาลที่ไม่ได้นำไปสู่การสร้างรัฐประชาธิปไตยที่มากขึ้น เป็นขบวนการประท้วงรัฐบาล แต่ไม่ได้ต้านรัฐทุนนิยม


 


ถึงที่สุดแล้วเราอาจจะต้องพูดด้วยซ้ำไปว่า พันธมิตรฯ ทำให้การเมืองใหม่หรือประชาธิปไตยทางตรงถูกบิดเบือนความหมาย ความหมายสำคัญที่สุดของการเมืองใหม่หรือประชาธิปไตยทางตรง หรือการทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยโดยตรง ทำให้สังคมคุมรัฐได้มากขึ้น ขณะที่แนวทางการเมืองใหม่ของ พันธมิตรฯ ไม่เคยพูดเรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ในที่สุดแล้วจะทำให้รัฐกลับมาคุมสังคม โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นนำที่มีอำนาจมากๆ ในรัฐจะกลับมาคุมสังคมมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนจากโครงสร้างของวุฒิสมาชิกในปัจจุบันคน 74 คนมาจากการแต่งตั้งของคน 7 คนขณะที่คน 30 กว่าล้านคน เลือกคนได้ 76 คน เท่าๆ กับคน 7 คน นี่ไม่ใช่ประชาธิปไตยแล้ว


 


ในที่สุดแล้ว ถ้าพูดถึงประชาธิปไตย ในแง่ input-output นี่จะเป็นปรากฎการณ์ประหลาด เพราะ input ของ พันธมิตรฯ ที่ดูเป็นประชาธิปไตย มีมวลชนเข้าร่วม มีพลังประชาชนหลายชนชั้นเข้าร่วม แต่ที่สุดแล้ว output หรือกระบวนการและระบบการเมืองที่ พันธมิตรฯ จะสร้างขึ้น กลับทำให้ชนชั้นกฎุมพีบางกลุ่มมีอำนาจมากขึ้น ข้าราชการหัวอนุรักษ์มีอำนาจมากขึ้น และที่สุดแล้ว output หรือ product ที่ พันธมิตรฯ จะทำให้เกิดก็คือ การแปรสภาพ อคติ ค่านิยมทางการเมืองแบบชนชั้นสูง ให้เป็นสถาบันทางการเมือง ให้เป็นกติกาทางการเมืองซึ่งจำกัดอำนาจของตัวแทนประชาชนลงไป จำกัดอำนาจของตัวแทนเชิงพื้นที่ลงไป จำกัดอำนาจของตัวแทนที่เป็นคนระดับล่างลงไป


 


การเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ ในแง่นี้จึงเป็นการเมืองที่เก่าแสนเก่า และเป็นการเมืองที่คิดถึงแต่รัฐ คิดถึงแต่การชิงอำนาจในหมู่ผู้นำ คิดถึงแต่ว่าการเมืองจำกัดอยู่ในเรื่องการได้สภา การครองสภา การครองอำนาจรัฐ การยึดอำนาจรัฐบาล อันนี้ไม่ใช่จิตวิญญาณของการเมืองใหม่ หรือการสร้างประชาธิปไตยทางตรง เพราะจิตวิญญาณของการเมืองใหม่ หรือการสร้างประชาธิปไตยทางตรง คือการเชื่อว่า อำนาจรัฐไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในรัฐบาล แต่อยู่ในทุกปริมณฑลของสังคม


 


 


00000


นฤมล ทับจุมพล


อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ


(ผู้วิจารณ์)


 


 


ถ้าถามว่าการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ มีคุณูปการอะไรหรือไม่ ข้อหนึ่งที่มีก็คือการบังคับให้วงวิชาการหรือวงเคลื่อนไหวทางสังคมต้องลุกออกมาพูดว่าตัวเองคิดอย่างไร และสิ่งที่เขาพูดนั้น ใช่หรือไม่ใช่ ในข้อถกเถียงเรื่องประชาธิปไตยหรือการเมืองใหม่


 


ในแง่นี้ เวลาเราพูดถึงวาทกรรมการเมืองใหม่ หรือประชาธิปไตยทางตรงหรือประชาธิปไตยอะไรต่างๆ ถ้าจะให้วิเคราะห์พันธมิตรฯ ก็คือ พันธมิตรฯ อาจจะเป็น oppositional consciousness คือ เราตอบไม่ได้ว่าพันธมิตรฯ มีอุดมการณ์อะไร ศิโรตม์อาจจะพูดว่าเขาเป็นขวา เราก็ไม่ค่อยแน่ใจ คือผู้นำพันธมิตรฯ บางคนอาจจะใช่จริงๆ แต่สำหรับมวลชนที่ไปร่วม อาจจะเรียกได้ว่าเป็นมวลชนที่ตัดสินใจว่า มีศัตรูร่วมอันเดียวกัน แต่ตอบไม่ได้ว่าอะไรคือเป้าหมายร่วมในอนาคต ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คุณศิโรตม์ถามว่า ทำไมพันธมิตรฯ ชุมนุมมา 3 ปีถึงไม่มีผู้นำใหม่แทนแกนนำ 5 คน และถ้าถามว่าแกนนำ 5 คนมีความคิดเหมือนกันไหม อาจจะไม่ ไม่สามารถตอบได้ว่าเขาคิดอย่างไร ซึ่งแนวคิดแบบนี้อาจจะเกิดขึ้นได้ ขบวนการชาตินิยมในหลายๆ ประเทศก็จะเป็นแบบนี้ คือการรู้สึกว่าอยากจะขับไล่จักวรรดินิยมแต่ตอบไม่ได้ว่าคุณคิดอย่างไร ซึ่งจะเห็นได้ในหลายประเทศที่หลังจากขับไล่จักรวรรดินิยมหรือประเทศอาณานิคมออกไปแล้ว บางประเทศก็นำไปสู่เผด็จการยิ่งกว่าตอนอยู่ใต้อาณานิคมเสียอีก


 


สำหรับประเด็นที่อยากวิจารณ์ก็คือ ขณะที่พันธมิตรฯ พยายามอธิบายว่าการมีประชาธิปไตยในขณะนี้ไม่สามารถที่จะตอบคำถามของประชาชนได้ เพราะว่าผู้ที่มาจากการเลือกตั้งไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชน เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว นักวิชาการเยอรมันคนหนึ่งอธิบายประชาธิปไตยแบบทักษิณ โดยเรียกว่าเป็น delegate democracy คือเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนมอบอำนาจ โดยผ่านการเลือกตั้งหนึ่งครั้ง และถ้าไม่พอใจ อีกสี่ปี ก็ delegate อำนาจนั้นให้กับนักการเมืองคนใหม่ อันนี้อาจจะอธิบายได้ว่า ประชาธิปไตยแบบทักษิณเป็นอย่างไร คำถามก็คือ เมื่อขบวนการแบบพันธมิตรฯ ซึ่งอาจไม่ใช่พันธมิตรฯ กลุ่มเดียว ที่อาจไม่พอใจแนวคิดแบบ delegate democracy เพราะรู้สึกว่า มันไม่แก้ปัญหา ไม่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างผู้เลือกตั้งกับผู้ที่ได้รับอาณัติไปบริหารแล้ว เขาเสนอทางออกอย่างไร ซึ่งข้อเสนอหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับกลุ่มนอกพันธมิตรฯ คือ ก่อนหน้าที่จะมีพันธมิตรฯ ก็จะมีกลุ่มต่างๆ ที่วิพากษ์วิจารณ์ซึ่งมีข้อเสนอที่ต่าง กัน เช่น การเปิดการเจรจา การมีส่วนร่วมในรูปแบบต่างๆ เช่น การเสนอกฎหมาย การถอดถอน หรือการมีส่วนร่วมในระดับการปกครองส่วนท้องถิ่น


 


ประเด็นที่เป็นสาระสำคัญ คือ ปัญหาคุณภาพของการมีส่วนร่วม คือเวลาเราจะพูดว่า การมีส่วนร่วม หรือประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือจะเป็นไปได้ ต้องยืนอยู่บนฐานของเหตุผล และพลเมืองที่เข้าไปมีส่วนร่วมต้องมีอิสระ และตระหนักว่าเป็นเจ้าของสิทธิ คำถามที่ต้องตั้งกับการเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ คือขณะที่คุณตั้งคำถามกับการเมืองแบบปกติ การเมืองตัวแทนว่ามันไม่ตอบคำถามเรื่องการซื้อเสียง ดังนั้น กระบวนการได้มาของอำนาจจึงไม่ชอบธรรม สอง เมื่อได้อำนาจมาแล้ว บริหารประเทศโดยไม่ฟังประชาชน ดังนั้น การมีอยู่ของอำนาจนั้นจึงไม่ชอบธรรมด้วย


 


แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นของพันธมิตรฯ คือความไม่ชอบธรรมทั้งสองอย่าง ไม่สามารถตอบด้วยความไม่ชอบธรรมแบบที่สาม โดยบอกว่า ดังนั้นวิธีการอะไรก็ได้ที่จะขจัดความไม่ชอบธรรมนั้น มันเป็นปัญหาเหมือนกับที่เราเคยวิจารณ์สหรัฐฯ ที่ใช้วิธีบุกเข้าไปทิ้งระเบิดในอัฟกานิสถาน หลังกรณี 9/11 ว่า การทำผิดสองครั้งไม่ได้แปลว่า ทำให้ถูกขึ้นมาได้ เช่น ฝ่ายหนึ่งทำผิด คุณก็ทำผิดได้เหมือนกัน แปลว่าผิดกับผิดก็เจ๊ากันไป ไม่น่าจะใช่


 


ปัญหาของพันธมิตรฯ คือ ขณะที่พันธมิตรฯ วิจารณ์ว่า ประชาธิปไตยตัวแทน ไม่มีความชอบธรรมทั้งในแง่ที่มาและการดำรงอยู่ สิ่งที่พันธมิตรฯ ทำก็ไม่ค่อยต่างจากสิ่งที่ตัวเองวิจารณ์ เพราะพันธมิตรฯ ก็ไม่ได้กลับไปหาการสร้างกระบวนการสาธารณะที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมจริงๆ หรือตระหนักถึงอำนาจ สิ่งที่พันธมิตรฯ ทำ เขารู้สึกว่าตัวเองเป็นนักรบคุณธรรม เป็น moral warrior ดังนั้น เมื่อคุณเป็นนักรบคุณธรรม มันไม่ใช่การเถียงกันระหว่างพื้นที่ของเหตุผลแล้ว เพราะเมื่อคุณคิดว่าคุณเป็นนักรบคุณธรรม มันไม่มีเรื่องความถูกกับความผิด เมื่อเขาคิดว่ายืนอยู่ข้างของความถูก มันไม่มีที่เหลือให้กับฝ่ายที่คิดไม่เหมือนเขา เพราะฝ่ายที่คิดไม่เหมือนเขาก็แปลว่าผิด ถ้าเช่นนั้น เราในฐานะคนที่ไม่ต้องการอยู่ภายใต้กับดักของการถกเถียงแบบถูกผิด วิธีคิดแบบขาวดำ เห็นด้วยกับที่ศิโรตม์พูดว่า มันไม่ใช่มีแค่พันธมิตรฯ ครั้งนี้ มันมีมาในอดีตของประวัติศาสตร์โลกเยอะแยะ ขบวนการ fundamentalist ทั้งหลายก็ยืนอยู่บนฐานคิดนั้น เพราะเขาถือว่าเขาเป็นนักรบคุณธรรม ดังนั้น จึงไม่มีปัญหาอะไรที่จะใช้การก่อการร้าย การวางระเบิดพลีชีพ เพราะเขารู้สึกว่าเขาทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าสิ่งที่เรียกว่า ประชาธิปไตย ดังนั้นถ้าถามพันธมิตรเขาอาจจะไม่คิดถึงเรื่องประชาธิปไตยก็ได้ เพราะสิ่งที่เขาทำยิ่งใหญ่กว่านั้น คำถามคือในวิธีคิดแบบนี้ มีพื้นที่ให้คนที่ไม่เหมือนคิดได้ไหม คนที่คิดไม่เหมือนเขาก็ต้องสะท้อนที่กระบวนการ


 


มีคำถามต่อพันธมิตรฯ 5 ข้อในเรื่องกระบวนการคือ


 


1.กระบวนการนั้นมีความกว้างขวางของมวลชนแค่ไหน มวลชนของพันธมิตรฯ น่านับถือมาก ฝนตกฟ้าร้อง ก็ยังมา แต่คำถามคือ ความกว้างขวางแบบนี้มีกระบวนการอย่างไร โปร่งใสตรวจสอบได้ไหม หรือมาเพราะเป็นความเชื่อ ถ้ามาเพราะเป็นความเชื่อ มันก็ไม่ใช่ฐานของขบวนการประชาธิปไตย เพราะสมาชิกของขบวนการมาจากขบวนการแฟนคลับ ในความหมายที่เชิดชูผู้นำบางคน เหมือนกับที่เรากรี๊ดผู้นำบางคนแล้วเราก็ไป มันไม่ได้มาจากการตระหนักว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ เป็นคนที่มีเจตจำนงเสรี แล้วเราสามารถตัดสินใจได้ว่าขบวนการจะไปแบบไหน


 


2. มีความเสมอภาคภายในกระบวนการ ทั้งแง่กระบวนการตัดสินใจและผลลัพธ์ของการปรึกษาหารือที่นำมาสู่การตัดสินใจหรือไม่ ตรงนี้เป็นปัญหาหลักที่มากที่สุด เพราะว่าในแง่กระบวนการตัดสินใจจะอยู่ที่ 5 แกนนำ ซึ่งจะประชุมกันเองโดยไม่ให้ผู้อื่นเข้าด้วย คนอื่นก็เป็นผู้ที่เข้าไปให้ข้อมูล ซึ่งในแง่นี้ประชาธิปไตยจะทำหน้าที่ไม่ได้ เพราะเราไม่รู้ว่าคุณใช้ฐานอะไรในการตัดสินใจ ข่าวลวง ข่าวจริงสารพัดอย่าง ไม่มีใครรู้ ซึ่งในแง่นี้มีปัญหาความยั่งยืน และสอง นำไปสู่ความไม่เสมอภาคของขบวนการ คือต่อให้เป็นคุณเป็นขบวนการที่ไม่ต้องสนใจประชาธิปไตยก็ได้ ขบวนการนักรบคุณธรรมทั้งหลายต้องมีความเสมอภาคในทางการเมือง ทั้งในแง่กระบวนการตัดสินใจและอำนาจในแง่ที่จะทำให้ผลลัพธ์ของกระบวนการตัดสินใจนำไปสู่สิ่งที่ตัวเองต้องการ


 


3.ต้องมีฐานข้อมูล ข้อถกเถียงและเงื่อนไข อ.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ วิจารณ์ค่อนข้างแรง แต่ดิฉันไม่ถึงขนาดเห็นด้วย อ.สุธาชัยวิจารณ์ว่าปัญหาหลักเป็นเพราะคุณกำหนดยุทธวิธีในการเคลื่อนไหวที่เป็นข้อเสนอที่ไม่มีวันต่อรองได้ เช่น ขับไล่รัฐบาล ถอดถอนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เนื่องจากคุณไม่มีมวลชนที่จะไปถอดถอนในวิธีการเลือกตั้ง คุณจึงใช้การชุมนุมแบบยืดเยื้อ เพราะคาดหวังว่า จะเกิดขึ้นสิ่งที่เรียกว่า การจุดประกายอันหนึ่งแล้วจะเปลี่ยน ปัญหาก็คือกระบวนการแบบนั้น ข้อถกเถียงและเงื่อนไขอื่นๆ จะอยู่นอกเหนือสมาชิกในกระบวนการ คุณก็ต้องไปคาดหวังพลังที่ 3, 4, 5, 6 อันที่จริง มือที่สามอาจเป็นมือที่มองเห็นแต่พูดไม่ได้ก็ได้ แต่คำถามก็คือ จริงๆ ใครเป็นเบี้ยของใคร ดิฉัยเคยเถียงกับคนของพันธมิตรฯ หลายคน เขาบอกว่านี่มันเป็นวิธีการ แต่คำถามก็คือวิธีการแบบนี้เป็นวิธีการที่อันตราย แล้วจริงๆ คุณก็ไม่มีฐานข้อมูลจริงทั้งหมด อาจเป็นข่าวลือ ไม่มีใครรู้ว่าตกลงมือที่สามที่อยากให้เขาเข้ามาช่วยนั้น คิดอย่างไรจริงๆ


 


สาม เวลาประเมินผลฐานการวิเคราะห์อยู่ตรงไหน ประเด็นที่พันธมิตรฯ ถูกวิจารณ์มากที่สุด คือ ไม่สนใจเรื่องการใช้ความรุนแรง ความรุนแรงในที่นี้ไม่ได้หมายถึงว่าคุณต้องไปตีคนอื่น การใช้วาจาก็ถือเป็นความรุนแรง เพราะหลักการที่สำคัญของความรุนแรง คือทำให้คู่กรณีไม่มีฐานะเป็นมนุษย์ ดังนั้น คุณจึงไม่รู้สึกผิดที่จะทำร้ายเขา เช่น เมื่อทหารไปรบกับอริราชศัตรู เราไม่ได้รู้สึกว่าอริราชศัตรูเป็นมนุษย์เหมือนกับเรา เรารู้สึกว่าเขาเป็นคู่ต่อสู้ เป็นคนที่จะทำร้ายสิ่งที่เราภักดีและหวงแหน ดังนั้น ฐานะความเป็นมนุษย์ของคู่กรณีเราก็จะลดลง นี่เป็นปัญหารากของความรุนแรงที่อาจจะมากกว่า


 


ความจริงเอเอสทีวีก็เป็นเรียลลิตี้ทีวีชนิดหนึ่งที่น่าสนใจในแง่ที่ว่า เมื่อดูไปสักพักจะรู้สึกอิน ปกติถ้าคุณแค่ดูเรียลลิตี้แบบขบวนการซูเปอร์สตาร์ หรือ AF อย่างมากคุณก็ส่งเอสเอ็มเอสไปโหวต ว่าใช่ไม่ใช่ แต่นี่ทำได้มากกว่านั้น นอกจากกดโทรศัพท์ไปบริจาคแล้วก็ยังไปร่วมได้ แล้วเย็นๆ ก็กลับบ้านมานอน ดังนั้นมันจึงเป็นการมีส่วนร่วมที่อินไปในทางอารมณ์ แต่ไม่ได้ยืนอยู่บนฐานเหตุผล แล้วบางทีความรุนแรงก็อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะสะใจที่ได้ด่าคนที่เราไม่ชอบหน้า


 


ก็มีคนแซวเหมือนกันว่า ทำไมการปราศรัยบนเวทีของพันธมิตรฯ นปก. หรือแม้กระทั่งของพวกเราเองก็เป็น ของกลุ่มเครือข่ายทั้งหลาย กลุ่มชาวบ้าน กลุ่มชาวนา เวลาปราศรัยต้องด่าคู่กรณีไว้ เพราะเราต้องหาสิ่งที่เรียกว่า ศัตรูร่วม เพื่อให้ขบวนการมันอยู่ได้และสร้างอารมณ์ความรู้สึกของมวลชน แต่คำถามก็คือการสร้างความรุนแรงแบบนั้น ปัญหาหลักของพันธมิตรฯ ที่มีมากที่สุดก็คือ ไม่มีธงสุดท้ายของคำตอบว่าสิ่งที่คุณเรียกร้องคืออะไร จะนำไปสู่อะไร ธงที่คุณมีอันเดียวคือ คุณไม่พอใจใครหรือคิดว่าคนเหล่านี้ไม่มีฐานะที่จะอยู่ ก็จะเป็นปัญหาในอนาคต


 


ถ้าเป็นแบบนี้ ปัญหาของพลเมืองหรือปัญหาของสิ่งที่พันธมิตรฯ เสนอเรื่องการเมืองใหม่ จึงไม่ได้ดูบทบาทของพลเมืองในฐานะผู้เข้าไปมีส่วนร่วม รับรู้ข้อมูลข่าวสาร และร่วมตัดสินใจ เพราะพันธมิตรฯ มองว่า ประชาชนหรือพลเมืองในชนบทเป็นผู้ที่ถูกหลอก ถูกครอบงำด้วยความกลัว ด้วยเงิน ด้วยอามิสสินจ้าง ดังนั้น สิ่งที่พันธมิตรฯ นำเสนอคือ เขามี active citizen พลเมืองที่ขยันขันแข็งอีกกลุ่มหนึ่งที่จะเข้าไปมีส่วนร่วม ถามว่า active citizen เป็น active citizen จริงหรือเปล่า หรือดูเสมือนขยันขันแข็ง เพราะพลเมืองที่ขยันขันแข็งที่จริง ยืนอยู่บนฐานหนึ่งที่สำคัญสำหรับสังคมประชาธิปไตย คือตัดสินใจด้วยเหตุผล ไม่ใช่อารมณ์ความรู้สึก ดังนั้น เวลาที่พูดเรื่องนโยบายสาธารณะ ต้องมีฐานข้อมูลที่ต้องรับรู้และตัดสินใจร่วมกัน


 


อันที่จริง ก็เสียดายมวลชนที่เข้าไปร่วมกับพันธมิตรฯ เพราะในแง่หนึ่งคนเหล่านี้น่าสนใจ เพราะปกติพวกเขาอาจจะดูทีวีอยู่บ้าน ไม่รู้สึกมีส่วนร่วมทางการเมือง ครบ 4 ปีที อาจไปเลือกตั้ง นำเสนอนโยบาย ทั้งๆ ที่รู้ว่าผู้ที่เลือกไปอาจจะไม่เอานโยบายของเราไปนำเสนอ ถ้าเช่นนั้น ทำอย่างไรให้คนเหล่านี้มาเป็น active citizen หรือเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมจริงๆ แทนที่พันธมิตรฯ จะนำเสนอข้อเสนอของแกนนำ ควรให้คนเหล่านั้นเข้าไปมีกิจกรรมในทางการเมืองสาธารณะในพื้นที่ของตัวเอง หรือบ้านจัดสรรของตนเอง ไปดีเบตกับ สก. สข. ของตนเอง อาจจะมีประโยชน์เสียกว่าที่จะมานั่งเถียงว่า ตกลง นายกฯ คนนี้เป็นนอมินีหรือไม่ เพราะคำถามนั้นไม่ตอบโจทย์เรื่องการมีส่วนร่วมของพลเมือง


 


ทิ้งท้ายไว้ ยืมของฮาเบอร์มาสมา เนื่องจากเมืองไทย เรารับรู้ข่าวสารผ่านสื่อ ไม่ได้รับรู้จากข้อมูลจริงๆ และคิดว่าสิ่งที่ดูผ่านโทรทัศน์เป็นข้อเท็จจริง ซึ่งบางทีมันอาจจะไม่ใช่ การสร้างสิ่งที่เรียกว่ากระแสสาธารณะ ส่วนหนึ่งมาจากบทบาทของสื่อสารมวลชน-สื่อสาธารณะ สถานการณ์ที่เราเจอ จึงเห็นได้ว่า ฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่ค้านก็จะใช้สื่อ ไม่ว่าพันธมิตรฯ คุณทักษิณ หรือการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ก็ใช้สื่อ


 


คำถามคือ ถ้าเราต้องการเปลี่ยนพื้นที่ที่เป็นพื้นที่เสมือนจริงโดยผ่านสื่อให้เป็นพื้นที่สาธารณะจริงๆ จะทำอย่างไร ถ้าจะเป็นข้อเสนอสำหรับพวกเราที่คิดว่าตัวเองไม่ใช่พันธมิตรฯ หรือว่า อดีตเป็นคนใกล้พันธมิตรฯ มากที่สุด หรือยังอยากจะให้กลไกเหล่านี้ดำเนินไปได้ หนึ่ง คือ ต้องผลักดันประเด็นอื่นๆ ที่กว้างไปกว่าข้อเสนอเรื่องการเมืองแบบ 70-30 ปัญหาที่มีต่อพันธมิตรฯ ไม่ใช่เรื่องจำนวน พันธมิตรฯ เข้าใจผิดในแง่ของกระบวนการเลือกตั้งกับระบอบประชาธิปไตย


 


แน่นอน ระบบการเลือกตั้งอาจจะไม่ดี การเลือกตั้งแบบ winner-takes-all เสียงข้างมากที่สุดได้คะแนนไปเลย ไม่สะท้อนความเป็นตัวแทน คุณก็ต้องคิดระบบเลือกตั้งแบบอื่น เช่น การเลือกแบบสัดส่วน แทนที่ปาร์ตี้ลิสต์จะเป็น ครม. ในฝัน ปัจจุบันกลายเป็น ส.ส.ระดับพื้นที่ภูมิภาค คุณก็ต้องทำให้ปารตี้ลิสต์นั้น สะท้อนสัดส่วนของกลุ่มชาติพันธุ์ คนจนเมือง ผู้ใช้แรงงานเกษตรกร เพื่อที่จะบังคับให้พรรคการเมืองสะท้อนลักษณะของสัดส่วน ดิฉันยังชอบสิ่งที่หมอยิวนำเสนอในประชาไท แต่ยังรู้สึกว่า บัตรสิบใบมากไปหน่อย ยังรู้สึกว่าประมาณสักสามใบ เช่น การเลือกตั้งในฐานะตัวแทนจำนวนประชากร และตัวแทนกลุ่มของชนชั้นที่ตัวเองสังกัดอาจจะเป็นคำตอบ คือเปลี่ยนเป็นการพูดเรื่องการเลือกตั้งแบบสัดส่วน แต่การเลือกตั้งแบบสัดส่วนนี่ไม่ใช่แบบที่พันธมิตรฯ เสนอว่า 70% ให้มีผู้ทรงศีลธรรม 1 คน มาคัดเลือกจากการคัดสรร เพราะ 70% ที่พันธมิตรฯ เสนอ ก็คือเอามาจาก ส.ส.ร.1 เสนอขึ้นมา 10 ชื่อแล้วให้ใครคนหนึ่งมาหยิบ 1 ชื่อ อันนั้นไม่ใช่การสะท้อนเจตจำนงของประชาชน และไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องกระบวนการเลือกตั้ง และเราก็ไม่สามารถตอบได้ว่า คนที่เขามาเลือก 1 ใน 10 นั้น เขาเอาอำนาจหรือความชอบธรรมจากไหนมาเลือก


 


ถ้าคุณจะเสนอว่าระบบการเลือกตั้งปัจจุบันไม่ตอบโจทย์ในแง่เขตพื้นที่ หรือวิธีการเลือกตั้งแบบ winner-takes-all คุณก็ต้องคิดระบบวิธีการเลือกตั้ง เช่น การเลือกตั้งแบบสัดส่วน การกำหนดสัดส่วนของกลุ่มอะไรต่างๆ ซึ่งอันนี้อาจจะเป็นคำตอบในหลายๆ ประเทศก็ได้ แต่ไม่ใช่เท่ากับลบเรื่องประชาธิปไตยทิ้งไป แล้วก็ให้คนบางคนมามีอำนาจเหนือกว่าในการคัดเลือกว่าใครจะเป็นยังไง ซึ่งคิดว่านี่คือโจทย์ที่ผิดและเป็นข้อเสนอที่ผิดและถูกตั้งคำถามได้ว่า ตกลงคุณเป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตย


 


ประเด็นที่สอง ที่อยากจะตั้งคำถามกับพันธมิตรฯ มี 5 รูป อาจจะให้เลือกว่าคิดว่า พันธมิตรฯ คืออะไร 1.เช กูวารา ผู้นำเรื่องการเปลี่ยนแปลง 2.รองผู้บัญชาการมาร์กอส ในขบวนการซาปาติสตา 3.มหาตมะ คานธี ที่นำเสนอเรื่องสัตยาเคราะห์ในแง่ของอารยะขัดขืน ในสามรูปนี้ พันธมิตรฯ พยายามนำเสนอตัวเองใช้หลักการว่า เราคืออารยะขัดขืนขั้นสุดท้าย โดยใช้วิธีการที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง


 


คำถามคือ ตกลงพันธมิตรฯ เลือกจะเอาอะไรกันแน่ ด้านหนึ่งคุณบอกว่าคุณจะเป็นอารยะขัดขืน ถ้าเป็นอารยะขัดขืนแบบคานธี คุณก็ต้องพร้อม เพราะคานธียอมพ่ายแพ้ทางการเมืองหลายครั้ง ทั้งๆ ที่ตัวเองมีสิทธิที่จะได้ชัยชนะ เพราะว่าคิดว่ามันกระทบกระเทือนต่อชีวิตประชาชน ถ้าอย่างนั้นคุณก็ต้องชัดเจนว่าในฐานะนักต่อสู้เพื่อสันติวิธี หรืออารยะขัดขืน คุณก็ต้องคิดแบบนั้น ไม่ใช่เอาวิธีการบางอันมาใช้ แล้วส่วนหนึ่งไม่ใช้ ถ้าคุณจะเป็นมาร์กอส คุณก็ต้องชัดเจนไปเลยว่าจะสร้างกองกำลังอิสระแล้วรับผลกับสิ่งที่คุณกระทำ หรือจะเอารูปนี้ เนลสัน แมนเดลา เป็นประธานาธิบดีของอัฟริกาใต้คนแรกที่ติดคุก 37 ปี เนื่องจากปัญหาการเหยียดผิว แมนเดลาก็อ้างอยู่ตลอดเวลาว่าต่อสู้เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับ โมห์มา กาดัฟฟี่ น่าสนใจที่ทั้งสองฝ่ายเชื่อว่า ตัวเองทำถูก แต่วิธีการที่ใช้เป็นวิธีการตรงข้ามกัน ก็ต้องถามว่าพันธมิตรฯ จะเลือกอย่างไหน


 


หรือจะเลือกอย่าง มุโสลินี ใครๆ ชอบวิจารณ์พันธมิตรฯ ว่าป็นฟาสซิสม์และยกตัวอย่างเยอรมนี แต่คิดว่าไม่ใช่ ดิฉันคิดว่าเหมือนในอิตาลี ช่วงก่อนที่มุโสลินีจะขึ้น เพราะช่วงนั้น มีข้อถกเถียงเรื่องช่องว่างทางเศรษฐกิจและความแตกต่างทางชนชั้นอย่างมาก ข้อเสนอของมุโสลินีในช่วงนั้น คือ เปลี่ยนจากเรื่องชนชั้นมาสู่เรื่องชาตินิยมแทน มุโสลินีคิดว่าสังคมอิตาลีจะสามารถอยู่ได้ ถ้าสร้างสิ่งที่เรียกว่า เอกภาพของความเป็นชาติ การดำรงอยู่ของศีลธรรม และการที่คนจนต้องเป็นพลเมืองที่ดี ส่วนคนรวยต้องเสียสละให้กับคนจนที่ด้อยกว่า คำถามคือ แม้ว่าพันธมิตรฯ จะพูดอะไรก็แล้วแต่ แต่สิ่งที่พันธมิตรฯ เสนอให้กับสังคมดูเหมือนปฎิเสธสิ่งที่เรียกว่า ความแตกต่างในทางชนชั้น เศรษฐกิจ หรือสังคม ถ้าหากว่าคุณจะเป็นแบบมุโสลินี คุณก็ต้องชัดเจนออกมาเลยว่าคุณคิดแบบนี้ แล้วคนก็จะได้ดีเบต


 


สำหรับดิฉันอาจจะไม่เหมือน อ.สุธาชัย หรือว่าภัควดีบางเรื่อง คือ อ.สุธาชัยบอกว่า ในทัศนะของเขา พันธมิตรฯ ไม่ใช่ขบวนการประชาชน เพราะภาคประชาชนจะต้องเป็นขบวนการที่ก้าวหน้า สำหรับดิฉัน คำว่าภาคประชาชนไม่ได้แปลว่าต้องก้าวหน้าเสมอไป เราก็มีอภิรักษ์จักรีมาแล้วในอดีต ตอนนี้สิ่งที่พันธมิตรฯ ทำก็อาจจะต่างหน่อยตรงที่เป็นอภิรักษ์จักรีที่กู้ชาติ แต่วิธีการนำเสนอของพันธมิตรฯ อันหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ คุณสามารถสร้างเอกภาพร่วมได้ ถ้ามีศัตรูร่วมและมีประเด็นเรื่องชาตินิยมและสถาบันนิยม


 


00000


 


ไพโรจน์ พลเพชร


ประธาน กป.อพช.


(ผู้วิจารณ์)


 


 


ปฎิกิริยาในละตินอเมริกา หรือในเมืองไทย ก่อนที่จะเป็นพันธมิตรฯ มีกระบวนการภาคประชาชนจำนวนมากที่ตอบโต้กับระบบเสรีนิยมใหม่ หรือทุนนิยม ที่ไปคุกคามต่อการดำรงอยู่ของผู้คนในสังคม ซึ่งอาจมีน้ำหนักที่รุนแรงแตกต่างกัน รวมทั้งพูดถึงความสัมพันธ์กับรัฐ จึงต้องอธิบายว่า ความสัมพันธ์กับรัฐ ระบบการเมือง มีรัฐเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจ เพราะฉะนั้น ซึ่งต้องพูดว่า ต้องวิพากษ์รัฐ ว่าจะสร้างรัฐแบบไหนถึงจะแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้


 


ในยุคหลัง ซึ่งไม่ใช่ยุคของการต่อสู้แบบสังคมนิยมกับเสรีนิยม ที่เน้นทฤษฎีชนชั้น ที่จะต่อสู้ยึดอำนาจรัฐ สร้างรัฐชนชั้นหนึ่งแล้วจัดการทุกอย่างได้ อยากพูดในเชิงปฎิบัติเป็นข้อสังเกตว่า ไม่ว่าจะเหมาหรือละตินอเมริกา เขาไม่เอาชนชั้นกรรมาชีพ ต้องเอาชาวนาเข้ามา เพราะถ้าเอาชนชั้นกรรมาชีพ แพ้หมดทุกที่ จะเห็นว่า เขาพลิกแพลง เขาฉลาดพอที่จะต่อสู้ ไม่ใช่ตายตัวขนาดนั้น คาสโตรไม่มีทางชนะถ้าเอาชนชั้นกรรมาชีพในมือไปสู้ เขาไปจัดตั้งชาวนาในชนบทมาสู้ ในละตินอเมริกาเป็นแบบนี้หมด เหมาจัดตั้งกรรมากรแล้วถูกฆ่าทิ้งหมดเป็นล้านคน จึงต้องไปจัดตั้งชาวนาในชนบทมาสู้ ดังนั้น จึงอยากตั้งข้อสังเกตกับนักทฤษฎีว่าต้องวิเคราะห์ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของการเมือง


 


ทีนี้ ช่วงหลัง ระบบตอบโต้กับอำนาจรัฐหรืออำนาจทุน ที่เกิดขึ้นของฝ่ายต่างๆ เป็นขบวนที่กว้าง มีรูปแบบไม่จำกัด ไม่มีลักษณะกระบวนการ เปลี่ยนไปจากเดิมที่ก่อตั้งพรรคการเมืองเพื่อเข้าสู่อำนาจรัฐ ไม่ว่าจะอำนาจรัฐโดยการปฎิวัติ หรืออำนาจรัฐโดยรัฐสมาทานก็ตาม


 


แต่ไม่ว่าจะเป็นละตินอเมริกาช่วงหลังหรือไทยช่วงหลัง พบว่าไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการจัดตั้งพรรคการเมืองอีกแล้ว คือกลุ่มคนต่างๆ ลุกขึ้นมาจัดตั้งตัวเอง มีเครือข่ายเกษตรกร เครือข่ายอะไรต่ออะไรเต็มไปหมด เพื่อจัดความสัมพันธ์กับรัฐเสียใหม่ ถ้าเป็นแบบนี้ หมายความว่าคิดว่าวิธีการจัดความสัมพันธ์ในไทยและละตินอเมริกาคล้ายกัน หนึ่ง คือตั้งพรรคการเมือง เพื่อเข้าไปเปลี่ยนแปลง ซึ่งเวทีค่อนข้างปิด อาจเพราะการจัดตั้งไม่เข้มแข็งเพียงพอ สอง จัดตั้งความสัมพันธ์กับรัฐเสียใหม่ แทนที่จะให้อำนาจรัฐล้นเหลือ ก็ลดอำนาจรัฐในกติกาต่างๆ ลงมาเสีย เช่น กติกาด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ก็จัดตั้งความสัมพันธ์ใหม่ เช่น กระบวนการต่อสู้ของป่าชุมชน ที่จัดความสัมพันธ์กับรัฐเสียใหม่ว่า รัฐไม่ได้มีอำนาจอย่างเด็ดขาดในทรัพยากรธรรมชาติอีกต่อไป โดยต้องให้ชุมชน หรือชุมชนที่ร่วมกับรัฐ จึงจะจัดความสัมพันธ์ได้ หรือชุมชนอโศกที่ปฎิเสธรัฐและทุน แล้วจัดตั้งองค์กรชุมชนของตัวเองขึ้นมาเพื่อตอบโต้กับทุน จัดตั้งและปฎิบัติการในอุดมคติของตัวเอง นี่คือสิ่งที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยก่อนที่จะเกิดปรากฎการณ์พันธมิตรฯ มากว่า 10-15 ปี


 


ทีนี้ กระบวนการที่ดำรงอยู่ มีลักษณะตอบโต้กับทุนและรัฐในระดับที่แตกต่างกัน บางส่วนก็ยังพึ่งพิงรัฐ อยากได้รัฐมาจัดการปัญหาให้ตัวเอง บางส่วนปฎิเสธเลยขอจัดการไม่สนใจ หรือปฎิบัติการของพี่น้องที่ยึดที่ดินในลำพูน ก็คือ จัดการปฎิรูปที่ดินเอง โดยไม่พึ่งพารัฐ เขาประสบปัญหาแตกต่างกันไป


 


ทีนี้ ปรากฎการณ์พันธมิตรฯ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 49 เป็นต้นมาก็เป็นปฎิกิริยาตอบโต้เฉพาะกับรัฐบาลทักษิณ ไม่ได้ตอบโต้กับระบบทุนนิยม เสรีนิยมหรือรัฐทั้งระบบ เขาประกาศมาตลอดว่า เขาต้องการล้มล้างระบอบทักษิณ ปฎิเสธทุนสามานย์ ซึ่งหมายถึงของทุนทักษิณ ไม่ใช่ทุนทั้งระบบ แต่สิ่งที่เขาวิพากษ์คือ ตั้งคำถามว่าระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนแก้ปัญหาได้จริงหรือเปล่า เพราะฉะนั้นจะข้ามพ้นตรงนี้อย่างไร เขาก็สร้างระบบโครงสร้างข้างบนขึ้นมา เพื่อถ่วงดุล คล้ายๆ กับการออกแบบรัฐธรรมนูญ ปี 50 เมื่อบอกว่า การสรรหาองค์กรอิสระถูกครอบงำโดยพรรคการเมือง ก็เปลี่ยนการครอบงำนั้น ให้ตุลาการมามีอำนาจบทบาท และเขาคิดว่านี่คือทางออก หรือวุฒิสมาชิกถูกครอบงำโดยพรรคการเมือง เพราะฉะนั้นก็เปลี่ยนให้ชนชั้นนำเลือก 74 คน โดยเชื่อว่า ฐานของคนที่จะต่อกรกับระบบทุน คือฐานของชนชั้นสูงด้วยกันไม่ใช่ฐานข้างล่าง และคิดว่าการเมืองแบบนี้จะถ่วงดุลกับระบบตัวแทนได้ และสร้างสมดุลผ่านการต่อรองได้ เพราะเขาไม่เชื่อว่าปฎิบัติการทางสังคมอื่นๆ สามารถต่อกรกับระบบทุนที่มันผูกขาดอำนาจรัฐไว้ได้ ดังนั้น พันธมิตรฯ ไม่ใช่ขบวนการ เป็นอาการลุกขึ้นสู้ เป็นปฎิกิริยาตอบโต้กับทักษิณทุกรูปแบบ มันไม่ใช่ขบวนการที่ก่อรูปมายาวนาน มีอุดมการณ์ชัดเจน ตอบโต้กับรัฐ มีเค้าโครงทางการเมือง อนาคตคืออะไร มันไม่มี เพราะฉะนั้นอย่าไปเรียกร้องให้เขามีเลย มันเป็นการต่อสู้อยู่ในสนามรบ เรียกว่าหากินวันต่อวัน เพราะมันเป็นอาการแบบนี้ของการลุกขึ้นสู้ เพราะฉะนั้น คนที่เข้าร่วมก็มีเป้าหมายทางการเมืองแบบนี้ว่าจะล้มระบอบทักษิณ


 


แต่พูดอย่างนี้ ก็จะเห็นว่า ทำไมไม่เชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวอื่น ก็เพราะการเคลื่อนไหวอื่นไม่ได้มีปฎิกิริยากับทักษิณอย่างรุนแรง ปัญหาของเกษตรกรเป็นเรื่องปฎิรูปที่ดิน ปัญหาของพี่น้องสลัมก็เป็นเรื่องสิทธิ ความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ซึ่งไม่รู้ว่าเกี่ยวกับทักษิณตรงไหน เพราะฉะนั้น สองอันนี้มันเชื่อมกันไม่ได้ นี่คือจุดอ่อนของสังคมไทย ซึ่งละตินอเมริกามีจุดแข็งตรงนี้ คือ สามารถสร้างอุดมการณ์ในการเปลี่ยนแปลงร่วมกันได้บางอย่าง และต่อเนื่อง เขาสร้างการศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงปลดปล่อยได้ แต่ของไทยนั้นยังไม่มี


 


ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว ข้างหน้าจะเป็นยังไง


 


เมื่อเขาคิดว่า ความสัมพันธ์ในโครงสร้างข้างบนเป็นตัวตั้งในการเปลี่ยนแปลง โดยเมื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างข้างบนแล้ว จัดความสัมพันธ์ใหม่ ไม่ว่าจะระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ หรือกลุ่มอื่นจะเข้ามาแชร์อำนาจ ในรูปของรัฐบาล รัฐสภา องค์กรอิสระทั้งหลายที่ออกแบบไว้ เขาเชื่อว่าถ้าเขาเปลี่ยนตรงนี้ได้ การเมืองจะแก้ได้ แต่ตนเองคิดว่าแก้ไม่ได้ จะไปให้พ้นตรงนี้ต้องเปิดบทบาทพื้นที่ให้กับการเมืองอื่นๆ ที่ไม่ใช่การเมืองโครงสร้างอย่างเดียว เช่นที่พยายามทำกันมาตั้งแต่ปี 35 ที่พยายามแบ่งอำนาจให้ประชาชนจัดการเรื่องของตนเอง ไปถึงขั้นที่สามารถจัดการตนเองได้มากที่สุด แต่จะจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ ระหว่างกลุ่มต่างๆ อย่างไรนั้น นี่คือสิ่งที่ท้าทาย


 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net