Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการจัดเสวนาทางวิชาการ ภาควิชาประวัติศาสตร์ โดย รศ.

สายชล สัตยานุรักษ์ ได้เสวนาในหัวข้อ "ประวัติศาสตร์การบัญญัติศัพท์: การเมืองวัฒนธรรมก่อนและหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475"

 

"ประชาไท" เห็นว่าเป็นประเด็นเรื่องการเมืองวัฒนธรรมที่น่าสนใจ จึงขอเรียบเรียงมานำเสนอโดยละเอียดดังนี้

 

                                                           

 

 

"ตัวอย่างคำบางคำที่ทำให้เราเข้าใจถึงความสำคัญของการบัญญัติศัพท์ คือคำว่า "ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ซึ่งอาจารย์เกษียร เตชะพีระ ท่านชี้ให้เห็นว่า  "การใช้คำนี้เป็นกระบวนการการเมืองวัฒนธรรมที่ดลบันดาลให้ศัพท์การเมืองจากต่างชาติต่างภาษามีนัยยะเปลี่ยนแปลงแบบขุดรากถอนโคน กลับเชื่องหรือหมดเคี้ยวเล็บลงด้วยเดชานุภาพแห่งอำนาจนำ"

 

"การใช้ภาษาไทยยังเป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมกำหนดความรู้สึกนึกคิดกำหนด เพราะการทำให้คนชาติพันธ์ต่างๆ ในประเทศใช้ภาษาไทย หมายถึงการทำให้คนเหล่านั้นตกอยู่ภายใต้โลกทัศน์ อุดมการณ์ ค่านิยม ภายใต้ความหมายที่ "ภาษาไทยมาตรฐาน" กำหนดเอาไว้นั่นเอง"

 

"รัฐไทยในฐานะรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพิ่งรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางอย่างแท้จริง เมื่อสมัยรัชกาลที่5   ในสมัยนั้น จึงเน้นภาษาไทยเพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางความคิด ทางค่านิยม ของคนในรัฐไทยอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ  รัชกาลที่ 6 ได้ตรัสเอาไว้ว่า การแปลงสัญชาติเป็นไทยไม่ได้ทำให้เป็นไทย แต่จะเป็นไทยได้อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวันร่วมกับความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์   ภาษาไทยจึงเป็นตัวบอกว่า คุณเป็นสมาชิกที่ดีของชาติไทยหรือไม่   การใช้ภาษาไทยจึงเป็นการจรรโลงรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้มั่นคงและยั่งยืน"

 

"ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีการบัญญัติศัพท์มากมายเช่น "เสรีภาพ" "สหกรณ์" เป็นต้น   ในช่วงหลัง 2475 ยกตัวอย่าง เช่น ส. เสถบุตร ซึ่งเป็นนักโทษการเมืองในคดี "กบฏบวรเดช" ได้จัดทำ The New Model English-Siamese Dictionary 4 vol. (A-Z) (2480-2483)  แม้ว่าไม่ใช่การบัญญัติศัพท์โดยตรง   แต่ทำให้ศัพท์บัญญัติบางคำเป็นที่แพร่หลายขึ้น เป็นตัวอย่างที่ดีที่ใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมือง"

 

"อย่างไรก็ตาม ศัพท์บางคำที่กรมพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ทรงบัญญัติขึ้น เพื่อเน้นว่าอำนาจในการปกครองประเทศของประชาชน กลับเป็นศัพท์ที่ไม่ได้รับความนิยมแต่อย่างใด เช่นคำว่า "ประชาชาติ" เป็นต้น ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะศัพท์เหล่านี้ไม่สอดคล้องกับระบอบการปกครองที่อำนาจยังไม่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง และไม่เอื้อต่อการผูกขาดอำนาจรัฐของผู้นำทางทหารและระบบราชการนั่นเอง"

 

 

o o o o

 

 

 

ความหมายของการเมืองวัฒนธรรม

"ความหมายของการเมืองวัฒนธรรม" หมายถึง การต่อสู้เพื่อรักษาหรือปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เป็นการต่อสู้ในมิติทางวัฒนธรรมการสร้างความรู้ การบัญญัติศัพท์ การสร้างสรรค์ศิลปะแขนงต่างๆ เช่น ทัศนศิลป์ นาฏศิลป์ วรรณศิลป์ ฯลฯ   กิจกรรมทางวัฒนธรรมดังกล่าวลึกลงไปเป็นการนิยามความหมาย ว่าอะไรคือ ความจริง ความดี ความงาม ความถูกต้อง อะไรที่มีคุณค่า

 

ประวัติศาสตร์ก็เป็นเรื่องของการนิยามความหมายว่า อะไรเป็นความจริงเกี่ยวกับอดีต   ความจริงเกี่ยวกับอดีตที่เรามีจิตนาการถึงมัน จะมีผลให้เรามองปัจจุบันแล้วก็มองอนาคตของเราแตกต่างกันไป ซึ่งมีผลกับพฤติกรรมทางสังคมของเรา

 

ข้อสังเกตคือ การให้ความหมายในสมัยก่อน ประชาชนมีบทบาทน้อยในการสร้างความหมายที่จะสามารถครอบงำคนในวงกว้าง ส่วนใหญ่จะเป็นการสร้างความหมายสำหรับความสัมพันธ์ในท้องถิ่นของตนเอง   แต่ในระดับชาติแล้วชนชั้นนำจะมีอำนาจสูงในการผูกขาการนิยามความหมาย เพราะฉะนั้นจึงทำให้คนในประเทศทั้งหลายมีความคิดและความรู้สึกที่อยู่ในกรอบที่ถูกกำหนดโดยชนชั้นนำ ดังนั้นจึงควรทำความเข้าใจให้ดีเพื่อที่เราจะไม่ตกอยู่ในการครอบงำทางวัฒนธรรม ทางความคิดและความรู้สึก เพื่อที่จะมีเสรีภาพอย่างแท้จริง

 

การบัญญัติศัพท์พวกเรามักจะนึกถึงว่าเป็นเรื่องของภาษา   ที่ไม่มีเรื่องของอำนาจหรือเรื่องของการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่

การบัญญัติศัพท์ยังมีมิติของอำนาจเข้ามาควบคุมความรู้สึกนึกคิดและโลกทัศน์ของคน การศึกษาการบัญญัติศัพท์ในการเมืองวัฒนธรรมจะทำให้เข้าใจถึงอำนาจของภาษา ทำให้เราตระหนักว่าภาษาถูกกำหนดโดยบริบททางการเมืองค่อนข้างสูงในอดีตที่ผ่านมา ตัวอย่างคำบางคำที่ทำให้เราเข้าใจถึงความสำคัญของการบัญญัติศัพท์ คือคำว่า "ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ซึ่งอาจารย์เกษียร เตชะพีระ ท่านชี้ให้เห็นว่า "การใช้คำนี้เป็นกระบวนการการเมืองวัฒนธรรมที่ดลบันดาลให้ศัพท์การเมืองจากต่างชาติต่างภาษามีนัยยะเปลี่ยนแปลงแบบขุดรากถอนโคน กลับเชื่องหรือหมดเคี้ยวเล็บลงด้วยเดชานุภาพแห่งอำนาจนำ"

 

ความสำคัญทางการเมืองของภาษาไทย

ภาษาไทยมีความสำคัญทางการเมืองอย่างน้อยตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 19 จนถึงสมัยที่เกิดรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีการปลูกฝังให้คนทั่วประเทศใช้ภาษาไทยไม่เพียงแต่เพื่อประโยชน์ในการสื่อสารเท่านั้น การใช้ภาษาไทยยังเป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมกำหนดความรู้สึกนึกคิดกำหนด เพราะการทำให้คนชาติพันธ์ต่างๆ ในประเทศใช้ภาษาไทย หมายถึงการทำให้คนเหล่านั้นตกอยู่ภายใต้โลกทัศน์ อุดมการณ์ ค่านิยม ภายใต้ความหมายที่ "ภาษาไทยมาตรฐาน" กำหนดเอาไว้นั่นเอง เพราะฉะนั้นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์จึงมีการสร้างภาษาไทยมาตรฐานอย่างมาก

 

การใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องจะทำได้ก็ต่อเมื่อเราเข้าใจวัฒนธรรมที่แบ่งคนออกเป็นลำดับชั้น เราจะต้องรู้ว่าใครอยู่ในที่สูงกว่าเรา ใครเป็นผู้ใหญ่ ใครเป็นผู้น้อย ความหมายของคำว่า "กตัญญูกตเวที" ความหมายของคำว่า "จงรักภักดี"   เราจะเข้าใจความหมายของคำเหล่านี้ เมื่อเราเข้าใจการจัดลำดับชั้นทางสังคม   ซึ่งก็คือการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในรัฐไทย การใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องจึงผูกพันอย่างแนบแน่นกับโลกทัศน์อุดมการณ์ชาตินิยมที่มีรากฐานของการแบ่งชั้นอย่างซับซ้อนของสังคมไทย

 

ยกตัวอย่างงานของ จิตร ภูมิศักดิ์ ในหนังสือ "โองการแช่งน้ำและข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา" ในงานชี้ให้เห็นว่ามีการใช้ภาษาไทยในกรณีที่ต้องการให้คนในวงกว้างได้เข้าใจ ถ้าไม่ต้องการให้คนในวงกว้างเข้าใจจะไม่ใช้ภาษาไทย อาจใช้ภาษาเขมร สันสกฤต ทำไมจึงมีการใช้ภาษาไทยในบางกรณีเท่านั้น เช่นใน โองการแช่งน้ำพระพัทธ์ โองการดำน้ำ กฎหมายกลับใช้ภาษาไทยมาก เพราะภาษาไทยเป็นภาษาที่คนหลายชาติพันธ์ในสมัยนั้นเข้าใจร่วมกันของคนหลายชาติ

 

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม อธิบายว่า ภาษาไทยเป็นภาษากลางทางการค้าทางบก ส่วนอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เห็นว่า ภาษาไทยถูกใช้เพื่อสอนศาสนาพุทธนิกายลังกาวงศ์  ภาษาไทยจึงเป็นภาษากลางที่เข้าใจกันอย่างกว้างขวาง กษัตริย์อยุธยาจึงใช้ภาษาไทยในการจัดระเบียบสังคมที่ประกอบด้วยคนหลายๆชาติพันธ์  

 

รัฐไทยในฐานะรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพิ่งรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางอย่างแท้จริง เมื่อสมัยรัชกาลที่5   ในสมัยนั้น จึงเน้นภาษาไทยเพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางความคิด ทางค่านิยม ของคนในรัฐไทยอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ  รัชกาลที่ 6 ได้ตรัสเอาไว้ว่า การแปลงสัญชาติเป็นไทยไม่ได้ทำให้เป็นไทย แต่จะเป็นไทยได้อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวันร่วมกับความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ 

 

ภาษาไทยจึงเป็นตัวบอกว่า คุณเป็นสมาชิกที่ดีของชาติไทยหรือไม่ การใช้ภาษาไทยจึงเป็นการจรรโลงรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้มั่นคงและยั่งยืน ทำให้คนทั้งประเทศเข้ามาสู่ภาษาเดียวกัน ภาษาที่จรรโลงสังคมที่แบ่งคนเป็นลำดับชั้นเช่นเวลาจะใช้สรรพนาม "คุณ" กับผู้ที่เป็นหม่อมราชวงศ์ แต่ประชาชนธรรมดากลับเรียกคุณไม่ได้ มีสรรพนามเช่น "มึง"  "ฝ่าพระบาท" "ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท" จะเห็นว่ามีชั้นของสรรพนามอยู่ และยังมีชั้นของลีลาที่จะใช้พูดกำหนดไว้ จึงเป็นเครื่องมือในการสืบผ่านอำนาจของชนชั้นสูงได้  

 

แต่เดิมพุทธศาสนาใช่อักษรขอม ใช้ภาษาบาลี ในรัชกาลที่ 5   มีการดำเนินนโยบายอย่างจริงจังมากที่จะทำให้คำสอนของศาสนาพุทธอยู่ในรูปของภาษาไทย   ผู้ที่ได้รับหมอบหมายให้ทำหน้าที่นี้อย่างจริงจังคือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้แต่งตำราธรรมเป็นภาษาไทย โดยตำราเหล่านี้เป็นตำราที่ใช่ศึกษาของคณะสงฆ์ ศาสนาพุทธจึงกลายเป็นไทย กลายเป็นความคิดที่อยู่ในภาษาไทย เมื่อนำเอาศาสนาพุทธแบบนี้ไปเผยแพร่ให้คนในประเทศรับรู้ 

 

มีพระในสายธรรมยุตออกไปสอนศาสนาให้ชาวบ้าน  บอกชาวบ้านว่าการนับถือผีไม่ถูกต้องทำให้คนเข้าหาศาสนาที่มีกรุงเทพเป็นศูนย์กลาง  กรุงเทพฯจึงเป็นผู้กำหนดมาตรฐานว่าอะไรคือความคิดของศาสนาที่ถูกต้อง  

 

มีศัพท์หลายคำที่ถูกเปลี่ยนจากภาษาอื่นมาเป็นภาษาไทยโดยชนชั้นนำในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์บัญญัติขึ้น เช่น คำว่า "สถาปนิก" รัชกาลที่ 6 ทรงบัญญัติขึ้นมา ในช่วงหลังสนธิสัญญาเบาริง พ.ศ.2398 เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และวัฒนธรรม รวมทั้งกฎหมายสมัยใหม่ จึงมีการบัญญัติศัพท์อย่ามาก  เพราะการเข้ามาของความคิดแบบตะวันตกที่ได้นำเอาโลกทัศน์ อุดมการณ์ใหม่ๆเข้ามามากมาย ชนชั้นนำในสมัยนั้นได้ตระหนักเป็นอย่างดีว่าภาษาเป็นเรื่องของอำนาจ เมื่อมีคำใหม่ๆเข้ามาสื่อสารกันจึงจำเป็นจะต้องควบคุมความหมายของคำเพื่อที่จะควบคุมความรู้สึกนึกคิดของคน   ถึงแม้ว่าจะควบคุมไม่ได้อย่างเด็จขาดก็ตาม  

 

ยกตัวอย่างของ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ชี้ให้เห็นว่าท่านมีการเลือกใช้คำอย่างมีสำนึกและระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เช่น คำว่า "พงศวดาร" แม้ว่าคนอื่นจะรู้จักคำว่า "ประวัติศาสตร์" แต่ท่านยังยืนยันจะใช้คำนี้อยู่เพราะต้องการยืนยันความสำคัญของพระมหากษัตริย์ มีหนังสือที่น่าสนใจคือ นิทานโบราณคดี ท่านได้เขียนหนังสือเล่มนี้ในปี พ.ศ.2483 ซึ่งเป็นช่วงที่ จอมพล ป. มีอำนาจสูงสุด ท่านใช้คำว่า "นิทาน" ทั้งๆ ที่สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ได้ทักท้วงว่าไม่ควรจะใช้คำว่า "นิทาน" เพราะว่าเป็นการบอกผู้อ่านว่าไม่ใช่เรื่องจริงให้หาคำอื่นมาใช่แต่ท่านก็ยังยืนยันเช่นเดิม เหตุที่ท่านใช้คำว่า "นิทาน" ก็เพื่อไม่ให้คนที่มีอำนาจสูงสุดในเวลานั้นรู้สึกว่าท่านกำลังประกาศความจริงอะไรผ่านนิทานโบราณคดี  

 

แท้จริงแล้วเป็นการประกาศว่าชนชั้นนำในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ทำการปฏิรูปประเทศจนบังเกิดผลดีอย่างมากในทุกๆด้าน ทรงระบุในคำนำว่า "เรื่องต่างๆจะเล่าต่อไปนี้ ล้วนเป็นเรื่องจริงซึ่งตัวฉันได้รู้เห็นเอง มิได้คิดประดิษฐ์ขึ้นใหม่ แต่เป็นเรื่องเกร็ดนอกพงศวดาร" ถ้าท่านไม่ได้ใช่คำว่า "นิทาน" หนังสือนี้อาจไม่ได้รับการตีพิมพ์ขึ้นในงานพระราชทานเพลิงศพของพระองค์ใน พ.ศ.2487 มีการตีพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง จนทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรื้อฟื้นอำนาจนำของ "เจ้า" และพวก "นิยมเจ้า" ในปลายทศวรรษ 2480 เป็นต้นมา

 

ในนิทานโบราณคดีอีกเช่นเดียวกัน ขอยกตัวอย่างคำว่า "โซเซียลลิสต์" แต่เดิมก่อน พ.ศ. 2475 คำว่า "โซเซียลลิสต์" เป็นคำที่ถูกต่อต้านมาก มีความพยายามทำให้ความหมายของศัพท์ดังกล่าวหมดพลัง เช่น ในรัชกาลที่ 6 ทรงแสดงให้เห็นว่า สังคมแบบโซเซียลลิสต์ก็ไม่ต่างไปจากยุคพระศรีอาริย์ ซึ่งทุกอย่างดีมาก แต่ก็เป็นเพียงอุดมคติที่ไม่มีทางเป็นไปได้ในโลกของความเป็นจริง ในขณะที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในการเล่าเรื่อง "สมาคมไทยอย่างโบราณ" (เป็น "นิทานโบราณคดี" เรื่องหนึ่ง) ว่า ชีวิตชาวบ้านไทยก็เป็นโซเซียลลิสต์อยู่แล้ว "ถ้าจะอวดว่าว่าสมาคมโซเซียลลิสต์มีมาในเมืองไทยหลายร้อยปีแล้วก็ได้กระมัง" เป็นการโต้ตอบอิทธิพลของลัทธิโซเซียลลิสม์รวมทั้งแนวคิดที่ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เสนอไว้ใน "เค้าโครงร้างเศรษฐกิจฯ" ถึงแม้ว่าเค้าโครงนี้จะไม่ได้ประกาศใช้

 

การเมืองวัฒนธรรมในการบัญญัติศัพท์

ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีการบัญญัติศัพท์มากมายเช่น "เสรีภาพ" "สหกรณ์" เป็นต้น   ในช่วงหลัง 2475 ยกตัวอย่าง เช่น ส. เสถบุตร ซึ่งเป็นนักโทษการเมืองในคดี "กบฏบวรเดช" ได้จัดทำ The New Model English-Siamese Dictionary 4 vol. (A-Z) (2480-2483)  แม้ว่าไม่ใช่การบัญญัติศัพท์โดยตรง   แต่ทำให้ศัพท์บัญญัติบางคำเป็นที่แพร่หลายขึ้น เป็นตัวอย่างที่ดีที่ใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมือง

 

อาจารย์ณัฐพล ใจจริง ในบทความเรื่อง "อ่านปทานุกรมของ สอ เสถบุตร ในฐานะวรรณกรรมทางการเมือง" ยกตัวอย่างเช่นคำว่า "blue" หมายถึง สีน้ำเงิน สีฟ้า แต่ใน Dictionary ของ สอ เสถบุตร ให้ความหมายถึงความสูงส่งและอำนาจกษัตริย์    ซึ่งแท้จริงคำว่า "blue" ไม่มีความจำเป็นต้องพูดถึงกษัตริย์เลยก็ได้ และยังมีคำว่า absolute, conserve, democracy dictator, just, king, mob, revolve, royal เป็นต้น

 

บุคคลที่มีบทบาทโดดเด่นที่สุดในการบัญญัติศัพท์ และเป็นบุคคลที่ได้กล่าวอย่างชัดเจนตรงไปตรงมา   ว่าการควบคุมความหมายของคำ   โดยเฉพาะคำที่เกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิด ก็คือ พระองค์วรรณฯ หรือพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์

 

ภูมิหลังของท่านเป็นโอรสของกรมพระนราธิประพันธ์พงศ์   บิดาของท่านเป็นเจ้านายที่มีบทบาทมากในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตัวท่านเองจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอดส์ จึงเป็นผู้ที่มีความรู้มากแต่ตัวท่านเองเป็นหม่อมเจ้า ในตอนหลังท่านจึงได้เลื่อนขึ้นมาเป็นพระองค์เจ้า ท้ายที่สุดจึงได้เป็นพระเจ้าวรวงค์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์  

 

หม่อมเจ้าในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีโอกาสน้อยมากที่จะได้ตำแหน่งราชการที่สำคัญ ดังนั้นท่านจึงสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะคิดว่าจะทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองเต็มที่ ภายหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโอกาสที่ท่านจะมีตำแหน่งที่ได้ทำงานตามความรู้ความสามารถมากขึ้น   งานส่วนใหญ่ของท่านเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม แต่ท่านไม่ใช่ผู้ที่ตอบสนองต่อนโยบายของ จอมพล ป.   อย่างตรงไปตรงมา แต่ส่วนมากจะมีบทบาทเป็นที่ปรึกษา  

 

ในงานเขียนของท่านเช่น "ประวัติการทูตไทย" เป็นงานที่แสดงให้เห็นว่าไทยมีวัฒนธรรมทางการทูตที่เน้นการประสานประโยชน์  ไม่ใช่การทำสงคราม งานชิ้นนี้จึงเป็นผลงานที่แสดงว่า ท่านไม่ได้คล้อยตามนโยบาย จอมพล ป. แต่ จอมพล ป. ก็สนับสนุนให้ท่านทำงานตลอดมา ในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนรัตน์ท่านจะมีบทบาทด้านการต่างประเทศเป็นหลัก ถึงแม้ว่าท่านจะทำงานให้หลายรัฐบาลแต่ท่านก็ไม่ได้ทำงานรับใช้อย่างเต็มที่  ถ้าอ่านงานของท่านจะพบว่าท่านมีความเป็นนักมนุษยธรรมค่อนข้างมาก ในสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆท่านได้ทำหนังสือพิมพ์ "ประชาชาติ" ให้ภรรยาของท่านเป็นผู้อำนวยการ ให้ "กุหลาบ สายประดิษฐ์" ซึ่งเป็นนักเขียนหัวก้าวหน้ามากเป็นบรรณาธิการ ท่านจึงเป็นบุคคลที่มีจุดยืนของท่านเองสูง

 

ท่านให้ความสำคัญกับการบัญญัติศัพท์อย่างต่อเนื่องจนถึงปีสุดท้ายท่านก็ยังบัญญัติศัพท์คำว่า "มลพิษ"   ท่านให้ความสำคัญกับการบัญญัติศัพท์ก็เพราะว่าภาษาเป็นตัวกำหนดวิธีคิดของมนุษย์และกำกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ดังนั้นท่านจึงมีความพยายามที่จะทำให้คำจากภาษาตะวันตกเป็นจำนวนมากกลายเป็นคำไทย โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้คำเหล่านี้ช่วยควบคุมการเปลี่ยนแปลงของสังคมวัฒนธรรมไทยในปัจจุบันและอนาคต

 

ท่านไม่ต้องการให้รักษาของเดิมเอาไว้อย่างตายตัว ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ต้องการให้เปลี่ยนใหม่เร็วเกินไป   ท่านต้องการให้เกินการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นธรรมชาติ   ช่วงที่ท่านได้บัญญัติศัพท์มากที่สุดคือทศวรรษ 2490 ในช่วงดังกล่าวเป็นช่วงสงครามเย็นที่มีการต่อสู้กันระหว่างทุนนิยมและคอมมิวนิสต์อย่างเข้มข้น   ปัญญาชนฝ่ายซ้ายจะทำงานกันอย่างคึกคักในช่วงนี้ จะมีงานแปลหนังสือในกรอบทฤษฏีมาร์กซิสต์ที่มาจากยุโรปและจีน ท่านจึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างความหมายของคำเพื่อที่จะทำให้ความหมายที่สร้างขึ้นเกิดความรู้สึกนึกคิดที่จะเปลี่ยนสังคมไม่ให้เดินเร็วเกินไป  เปลี่ยนในขอบเขตและทิศทางที่เหมาะสม

 

การบัญญัติศัพท์ของพระองค์วรรณฯจะแตกต่างกับปัญญาชนกระแสหลักเพราะว่าพื้นฐานภูมิหลังของท่านทำให้ท่านไม่ต้องการภาษาไทยแบบมาตรฐาน   มีแบบแผนในเชิงที่จะทำให้ผู้คนยอมรับชนชั้นของตนเอง   แต่ท่านต้องการเน้นความสำคัญของภาษาไทยในฐานของประชาชาติไทย   ท่านไม่ได้ใช้คำว่าชาติไทย   อย่างที่หลวงวิจิตรวาทการ หรือพระยาอนุมานราชธน ที่ใช้คำว่าชาติไทยเหมือนที่คนอื่นๆนิยมใช้กันในสมัยนั้น เพื่อที่จะเน้นว่าเป็นชาติของประชาชน ในประชาชาติไทยท่านคิดว่าจะต้องมีภาษาไทยที่เจริญขึ้นเนื่องจากโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ใช้การเจริญขึ้นอย่างปราศจากการควบคุม จึงต้องบัญญัติศัพท์ที่จะควบคุมความหมายแล้วจะช่วยให้การพัฒนาเดินทางไปสู่ทางสายกลางไม่เดินเร็วเกินไป   เหมือนกับตุ้มนาฬิกาถ้าแกว่งซ้ายแรงเกินก็จะตีกลับมาแรง การเปลี่ยนแปลงจะไม่เปลี่ยนอย่างราบรื่นแต่การเปลี่ยนแปลงจะเต็มไปด้วยปัญหา 

 

ท่านเคยกล่าวว่า "ประเทศสยามได้ดำเนินก้าวหน้าไปเป็นอันมาก และปัญหาบ้านเมืองยุ่งยากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า การปกครองก็ดี การทำมาหากินก็ดี ได้เปลี่ยนรูปไปตามทำนองของอารยประเทศ เมื่อความเป็นจริงได้ยุ่งยากขึ้นเช่นนี้ ถ้อยคำสำหรับพรรณนา หรือความบรรยายความเป็นจริงนั้น ก็ต้องยุ่งยากขึ้นเป็นเงาตามตัว ศัพท์แสงและวิธีพูด จึงต้องยุ่งยากขึ้นตามกัน"

 

"ความรู้สึกนึกคิดที่ง่าย เช่นการแสดงความชื่นชมยินดี หรือแสดงความขอบใจ ก็ย่อมใช้ถ้อยคำที่ง่ายให้เหมาะแก่กาลเทศะ แต่แม้การแสดงความรู้สึกดังกล่าว ก็เปลี่ยนเป็นสภาพเป็นลำดับมาด้วยเหมือนกัน"

 

คำว่า "ปฏิวัติ" และคำว่า "อภิวัฒน์" เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการต่อสู้ทางความคิดระหว่างพระองค์วรรณฯกับอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ พระองค์วรรณฯใช้คำว่า "ปฏิวัติ" ในขณะที่อาจารย์ปรีดีใช้คำว่า "อภิวัฒน์" แต่มีข้อสังเกตว่าพระองค์วรรณฯใช้คำว่า "ปฏิวัติ" ตั้งแต่สมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ แต่อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ใช้คำว่า "อภิวัฒน์" หลังจากเหตุการณ์เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 เป็นเวลานาน "อภิวัฒน์" หมายถึงความก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่   

 

พระองค์วรรณฯดำริว่าคำที่ใช้เรียกเหตุการณ์วันที่ 24  มิถุนายน 2475 ควรจะเป็นคำว่า "ปฏิวัติ" เพราะว่า "รัฐประหาร" หรือ "ยึดอำนาจ" หรือ "การเปลี่ยนแปลงการปกครอง" ซึ่งเป็นคำที่คณะราษฎรในสมัยแรกๆนิยมใช้และคำว่า "พลิกแผ่นดิน" ซึ่งหลวงวิจิตรวาทการได้ใช้อยู่ในปี พ.ศ. 2475 นั้น พระองค์ไม่ทรงเห็นด้วยเลย ทรงใช้เห็นผลว่า คำที่ใช้มาเป็นคำเก่า ไม่เหมาะสำหรับการสื่อความหมายของการเปลี่ยนแปลงในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงที่มีความสำคัญมาก ดังนั้น จึงควรมีคำใหม่ที่ถอดความออกมาจากคำว่า Revolution ทรงอธิบายว่า "...การเปลี่ยนแปลงของเรานั้น ไม่ใช่การพลิกแผ่นดิน แต่เป็น Revolution การเปลี่ยนแปลงจากราชาธิปไตยมาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญนั้น แม้ไทยจะว่ากระไร ฝรั่งก็ว่าเป็น Revolution เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง..."

 

"อันคำว่า ปฏิวัตินั้น ข้าพเจ้าได้เลือกเฟ้นให้เหมาะกับความหมายในภาษาอังกฤษแล้ว กล่าวคือ แผ่นดินหมุน ไม่ใช่การหมุนแผ่นดิน "ปฏิวัติ"เป็นอกรรมกริยาซึ่งแสดงการหมุนของวัตถุต่างๆ ทั้งนี้เป็นอาการในธรรมชาติ และไม่มีที่เสียหายอย่างใดเลย เพราะฉะนั้น พระยากัลยาไมตรี ซึ่งเป็นผู้หวังดีต่อไทยโดยไม่มีใครโต้เถียงได้  ก็เรียกการเป็นไปในวันที่ 24 มิถุนายน ว่า เรวอลูชั่น หรือปฏิวัติ..."

 

"แต่ปฏิวัติกรหรือผู้หมุนแผ่นดินนั้น ...เป็นการฝืนธรรมชาติ... คนเราไม่ควรคิดหมุนแผ่นดิน แต่หากควรปล่อยให้แผ่นดินหมุนไป มิใช่ไปขัดไว้ ถ้าหากใครไปขัดไว้ข้าพเจ้าก็ไม่นิยมเหมือนกัน

พวกหมุนแผ่นดินนี้เห็นว่า ร่างแผ่นดิน หรือ รัฐกาย นั้นผิดทั้งเรื่อง ควรจะสร้างขึ้นใหม่ โดยเนรมิตขึ้นให้ถูกหลักแหล่งเหตุผล   ซินดิคะลิสต์ในสเปนซึ่งมีความมุ่งหมายให้คนงานเป็นใหญ่ในการค้า และพวกคอมมิวนิสต์ในโซเวียตมีความมุ่งหมายให้คนงานเป็นใหญ่ในการเมือง เป็นต้น  ลัทธิหมุนหรือพลิกแผ่นดินเหล่านี้โลกไม่นิยม เพราะเป็นการฝืนธรรมชาติ ข้าพเจ้าเป็นนักแก้รูปหรือปฏิรูปกาลี (reformer) มิใช่นักหมุนแผ่นดินหรือปฏิวัติกร (revolutionary)"

 

หากเปรียบเทียบพระดำริพระองค์วรรณฯกับความคิดของผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน จะพบว่าผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือนมีความก้าวหน้ากว่า ที่แสดงออกในร่าง "เค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ" แต่ถ้าเปรียบท่านกับปัญญาชนกระแสหลักส่วนใหญ่ก็มีความแตกต่างกันมากเหมือนกัน เพราะปัญญาชนส่วนใหญ่ต้องการให้สังคมหยุดโครงสร้างสังคมแบบชนเป็นลำดับชั้นเอาไว้ หยุดความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่คนหยิบมือเดียวมีอำนาจเอาไว้ แต่พระองค์ไม่ต้องการเช่นนั้น

 

ถึงแม้ว่าพระองค์ไม่ได้มีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าแบบอาจารย์ปรีดี ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบธรรมชาติ แต่ก็ได้รับการคัดค้านในวันที่ 29 กรกฎาคม 2505 ในที่ชุมนุมภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นการอภิปรายหน้าพระที่นั่ง ซึ่งมีพระองค์วรรณฯเป็นผู้ทรงเข้าร่วมอภิปราย   ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เสนอแนวคิดคัดค้านการบัญญัติศัพท์เอาไว้ 

 

"เหตุที่สองในความวิบัติทางภาษาไทยนั้น ก็น่าจะได้แก่ ผู้ที่เป็นผู้ทรงวิทยาความรู้นั้น ชอบคิดเป็นฝรั่งมากกว่าชอบคิดเป็นไทย และเมื่อคิดเป็นฝรั่งแล้ว ในที่สุดเมื่อจะใช้ความคิดออกมาเป็นไทย ก็ย่อมจะหาคำไทยไม่ได้ เพราะถ้าผู้นั้นคิดเป็นฝรั่งเสียแล้ว ก็ย่อมอยากจะแสดงความคิดเห็นให้ตรงกับในใจของตนที่คิด เมื่อหาคำไทยใช้ไม่ได้ ก็ไม่ได้คิดเป็นไทย ก็ย่อมจะต้องบัญญัติศัพท์ขึ้นใหม่ เพื่อให้ตรงกับภาษาฝรั่งที่ตนคิด ด้วยเหตุนี้ก็ได้มีคำไทยมากมายเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น แค่ว่าความประสงค์นั้นเพื่อจะให้ตรงกับภาษาฝรั่งถ่ายเดียว"

 

ในที่ประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชดำรัสด้วยว่า

                 

"ภาษาไทยนั้นเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของชาติ ประเทศไทยนั้นมีภาษาของเราเองซึ่งต้องหวงแหน ประเทศใกล้เคียงของเราหลายประเทศมีภาษาเป็นของตนเอง แต่ว่าเขาไม่ค่อยแข็งแรง...เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้...อย่างหนึ่งต้องรักษาบริสุทธิ์ในทางออกเสียง...อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้...ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้...การบัญญัติศัพท์ใหม่ก็เป็นสิ่งสำคัญเหมือนกัน จำเป็น แต่อันตราย"

 

เพื่อให้การบัญญัติศัพท์เป็นที่ยอมรับของคนในสังคม กรมพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ทรงพยายามชี้ให้เห็นความสำคัญของคนในสังคม ดังนี้

 

"ในเวลานี้ถ้าเราจะถามตนเองว่า ไทยมีอะไรที่เป็นอารยธรรมของตน เราคงตอบว่ามีภาษาไทยนี้เอง ศิลปกรรม โภคกรรม หรือแม้แต่รัฐธรรม ก็เป็นไปตามทำนองของยุโรป เพราะเขาถ่ายแบบอารยธรรมของเขาก็ดี แต่ภาษาที่เราใช้นั้น เราพยายามให้เป็นไทยมากที่สุด ที่เราพึงกระทำได้ ทั้งนี้เป็รอันพึงปรารถนาสองสถาน คือคนไทยจะได้มีโอกาสเข้าใจได้ถนัดสถานหนึ่ง และจะได้เป็นการรักษาอารยธรรม และรักษาความเป็นชาติของเราอีกสถานหนึ่ง"

 

อย่างไรก็ตาม ศัพท์บางคำที่กรมพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ทรงบัญญัติขึ้น เพื่อเน้นว่าอำนาจในการปกครองประเทศของประชาชน กลับเป็นศัพท์ที่ไม่ได้รับความนิยมแต่อย่างใด เช่นคำว่า "ประชาชาติ" เป็นต้น ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะศัพท์เหล่านี้ไม่สอดคล้องกับระบอบการปกครองที่อำนาจยังไม่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง และไม่เอื้อต่อการผูกขาดอำนาจรัฐของผู้นำทางทหารและระบบราชการนั่นเอง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net