Skip to main content
sharethis

1.         สถานการณ์ในประเทศพม่า


1.1        รัฐธรรมนูญใหม่พม่าห้ามนางอองซาน ซู จี รับตำแหน่งทางการเมือง 


1.2        พล.อ.หม่องเอ จะเดินทางเยือนอินเดีย


1.3        โฆษกพรรคฝ่ายค้านพม่าสิ้นใจที่สิงคโปร์


1.4        SPDC ย้ายพันโทมิวมิตอ่อง ประธานคณะกรรมการชายแดนไทย-พม่าระดับท้องถิ่น


1.5        พม่าจะมีรัฐบาลพลเรือนหลังการเลือกตั้งในอีก 2 ปีข้างหน้า


1.6        กลุ่มผู้สนับสนุนนางอองซาน ซูจี ประท้วงต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


1.7        พม่าคัดค้านความเคลื่อนไหวโยงความไม่สงบในทิเบตกับโอลิมปิกปักกิ่ง


 


2.         การค้าชายแดน


2.1        ประธานหอการค้าจังหวัดตาก ระบุมีความจำเป็นต้องพัฒนาระบบโลจิสติกส์การค้าชายแดนไทย-พม่า ด้านอำเภอแม่สอด หลังส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าไทยในพม่า ลดลงจากร้อยละ 80 เหลือเพียงไม่เกินร้อยละ 20


2.2        เวที GMS เร่งรัดเชื่อมโยงเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นรูปธรรม


2.3        แหล่งก๊าซธรรมชาติจากพม่า จะหยุดซ่อมอุปกรณ์บางอย่าง อาจมีผลทำให้ภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก และมีผลกระทบต่อค่าเอฟทีเพิ่มขึ้น


 


3.         ผู้ลี้ภัย


3.1        สมัคร สุนทรเวช กำชับเหล่าทัพร่วมมือแก้ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย


 


4.         ต่างประเทศ


4.1        คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ออกข้อมติโจมตีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของพม่า


4.2        กลุ่มสิทธิมนุษยชนในสหรัฐเรียกร้องให้สหรัฐ เพิ่มความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้พม่า


 


 


000


 


 


1.         สถานการณ์ในประเทศพม่า


 


1.1        รัฐธรรมนูญใหม่พม่าห้ามนางอองซาน ซู จี รับตำแหน่งทางการเมือง 


 


สำนักข่าวเอพีออกมาเปิดเผยว่า ได้รับเอกสารที่เป็นสำเนาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของพม่าที่ร่างเสร็จเมื่อเดือนที่ผ่านมา ที่มีการบรรจุข้อความที่ระบุว่า นางออง ซาน ซู จี ผู้นำฝ่ายค้าน จะไม่มีสิทธิ์ในการเข้าดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศและตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ โดยเอกสารลับที่ทางเอพีได้รับได้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลทหารพม่าได้ขัดขวางอนาคตทางการเมืองของนางซู จีอย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ข้อความที่บรรจุในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดังกล่าวได้ตัดสิทธิ์ชาวพม่าผู้ซึ่งได้สมรสกับชาวต่างชาติ ไม่ให้เข้ารับตำแหน่งทางการเมืองในทุกตำแหน่ง และยังมีการกำหนดให้ทหารเข้ามามีที่นั่งในรัฐสภาแห่งชาติของพม่าถึงร้อยละ 25 หรือ 1 ใน 4 อีกด้วย


 (แนวหน้า วันที่ 31/3/2551)


 


1.2        พล.อ.หม่องเอ จะเดินทางเยือนอินเดีย


 


เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ว่า พล.อ.หม่องเอ รองประธานสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ ผู้นำอันดับสองของรัฐบาลทหารพม่าจะเดินทางเยือนอินเดียเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดของพม่าเป็นเวลา 5 วัน แหล่งข่าวทางการทูตเผยว่า อาจเป็นวันที่ 2 เม.ย.นี้ และคาดว่าหม่องเอจะลงนามข้อตกลงโครงการความช่วยเหลือ ราว 3,720 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินทุนที่อินเดียสนับสนุนการพัฒนาเส้นทางคมนาคมตามแนวแม่น้ำคาลาดัน และพัฒนาท่าเรือซิตเวย์ในรัฐยะไข่ของพม่า


 (ข่าวสด วันที่ 31/3/2551)


 


1.3        โฆษกพรรคฝ่ายค้านพม่าสิ้นใจที่สิงคโปร์


 


เมื่อวันเสาร์ที่ 29 มี.ค. ว่า นายมินต์ เถ่ง โฆษกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) พรรคฝ่ายค้านของพม่า ได้เสียชีวิตแล้วเมื่อเย็นวันศุกร์ที่ผ่านมาด้วยวัย 62 ปี ที่โรงพยาบาลเจเนอรัล ในสิงคโปร์ หลังป่วยเป็นมะเร็งช่องท้องและเข้ารับการรักษาตัวมาตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค.   


การเสียชีวิตของนายมินต์ เถ่ง เป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของพรรคเอ็นแอลดี ทั้งนี้นายมินต์ เถ่ง ถูกจับกุมโดยไม่มีการไต่สวนหลายครั้งในช่วงที่มีชีวิตและการถูกจับกุมในปี 2541 ทำให้ถูกจำคุกถึง 3 ปี ส่วนการถูกจับกุมครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อวันที่ 27 กันยายนปีที่แล้ว ในช่วงที่ทหารปราบปรามการเรียกร้องประชาธิปไตยนำโดยพระสงฆ์ในกรุงย่างกุ้ง ต่อมานายมินต์ เถ่ง ได้รับการปล่อยตัวและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลซึ่งแพทย์ในพม่าแนะนำให้ไปรักษาตัวในสิงคโปร์ 


(คมชัดลึก, ศูนย์ข่าวแปซิฟิค วันที่ 30-31/3/2551)


 


1.4        SPDC ย้ายพันโทมิวมิตอ่อง ประธานคณะกรรมการชายแดนไทย - พม่า ระดับท้องถิ่น


 


พลตรีแต้ไหน่วิน  แม่ทัพภาคตะวันออกเฉียงใต้ของพม่า ได้มีคำสั่งย้ายด่วนพันโทมิวมิตอ่อง ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 284/4  เมียวดี ในฐานะประธานคณะกรรมการชายแดนไทย - พม่า ระดับท้องถิ่นTBC (ทีบีซี.) ฝ่ายพม่า และควบตำแหน่งผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 284 จังหวัดเมียวดี ตรงข้ามอำเภอแม่สอดออกจากพื้นที่ และให้พันโทเมียะทูน เอ ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 283 ไปประจำพื้นที่ จ.เมียวดี และเป็นประธานทีบีซี.แทน โดยคำสั่งกล่าวเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของฝ่ายเจ้าหน้าที่ไทย และเจ้าหน้าที่ฝ่ายพม่า


ส่วนเหตุผลของการย้ายนั้น เจ้าหน้าที่ต่างเชื่อว่า พันโทมิวมิตอ่องบกพร่องต่อหน้าที่ กรณีเกาะมะนาว พื้นที่พิพากไทย-พม่า ที่บ้านแม่โกนเกน ตำบลมหาวัน และเกาะโนแมนแลนด์ ที่ใต้สะพานมิตรภาพไทย - พม่า บ้านริมแมย ตำบลท่าสายลวด ซึ่งที่บริเวณเกาะมะนาว บ้านแม่โกนเกน หมู่ที่ 1 ตำบลมหาวัน อ.แม่สอดนั้น ขณะนี้มีเกษตรกรได้เข้าไปทำไร่นาโดยมีทหารไทยคอยคุ้มกัน โดยเฉพาะประเด็นที่ทหารท้องถิ่นเมียวดียอมให้ฝ่ายไทยนำชาวไร่เข้าไปทำกินบนพื้นที่เกาะมะนาว ซึ่งไม่มีการหารือกับผู้บังคับบัญชาก่อน


ส่วนที่เกาะกลางแม่น้ำเมยใต้สะพานมิตรภาพฯนั้น เกิดจากฝ่ายทหารพม่าเข้าไปเคลียร์พื้นที่และไม่ให้ชาวพม่าเข้าไปสร้างปัญหาบนเกาะดังกล่าว อันอาจจะนำไปสู่การร้องเรียนไปยังหน่วยเหนือระดับผู้นำ SPDC ทำให้มีการย้าย ประธาน TBC เมียวดี คนปัจจุบันเพราะเข้าใจว่า พ.ท.มิวมิตอ่องเอาใจฝ่ายไทยมากเกินไป


 


ในช่วงที่ พ.ท.มิวมิตอ่อง ดำรงตำแหน่ง ผบ.พัน 284/4 และ ประธาน TBC เมียวดี ได้สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและพม่า ระดับท้องถิ่นแม่สอด-เมียวดี อย่างมากจนนำไปสู่ความสำเร็จในการพัฒนาความสัมพันธ์ ทั้งการค้า-การทหาร-การเมือง-ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนทั้ง 2 ฝั่ง และเมื่อมีการกวาดล้างอาชญากรรมบนเกาะกลางแม่น้ำเมยและให้คนไทยไปทำไร่-นาที่เกาะมะนาว ทำให้ พ.ท.มิว


มิตอ่องถูกย้ายทันที


 (สยามรัฐ วันที่ 29/3/2551)


 


1.5        พม่าจะมีรัฐบาลพลเรือนหลังการเลือกตั้งในอีก 2 ปีข้างหน้า


 


พลเอกอาวุโสตัน ฉ่วย ผู้นำสูงสุดของรัฐบาลพม่า กล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวันกองทัพพม่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 มี.ค. ว่า พลเรือนจะเข้าคุมรัฐบาลหลังการเลือกตั้งในปี 2553 เมื่อรัฐธรรมนูญผ่านการอนุมัติแล้ว แต่ไม่ได้ระบุว่าจะเปิดเผยเนื้อหาในรัฐธรรมนูญต่อสาธารณชนเมื่อใด รวมถึงกำหนดวันที่แน่นอนในการจัดลงประชามติ แต่กล่าวว่าเป้าหมายสูงสุดของรัฐบาลทหารก็คือการส่งมอบอำนาจให้แก่ประชาชน


นายพลตัน ฉ่วย วัย 74 ปี กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้เสร็จสิ้นแล้ว และเตรียมจะเปิดให้มีการลงประชามติในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ หลังจากนั้นจึงจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2553 ซึ่งจะประกอบด้วยหลายพรรคการเมืองตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ


ผู้นำสูงสุดของพม่ายังกล่าวต่อหน้าทหาร 1.3 หมื่นคน ในพิธีสวนสนามเนื่องในวันกองทัพพม่า ที่กรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงแห่งใหม่ เรียกร้องให้ทหารบดขยี้ใครก็ตามที่พยายามบ่อนทำลายเสถียรภาพของประเทศ ขณะที่สถานีโทรทัศน์ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลได้เผยแพร่สุนทรพจน์ของนายพลตัน ฉ่วยที่มีขึ้นหลังการตรวจพลสวนสนามของกองทัพในวันกองทัพที่เป็นทั้งวันหยุด และเป็นวันเฉลิมฉลองความเข้มแข็งของกองทัพ


เป็นที่น่าสังเกตว่า นายพลตัน ฉ่วย ไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องการกวาดล้างพระภิกษุและประชาชนในระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ หรือมุ่งเน้นบทบาทของกองทัพในการคงไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยในพม่าเหมือนทุกๆ ปีที่ผ่านมา แต่ในปีนี้กลับเรียกร้องให้ทหารร่วมมือกับประชาชนบดขยี้พวกที่จ้องบ่อนทำลายเสถียรภาพและความก้าวหน้าของประเทศ ทั้งที่อยู่ในและนอกประเทศแทน


ทั้งนี้ พลเอกอาวุโสตัน ฉ่วย ได้ยืนตรวจพลสวนสนามของทหาร 1.3 หมื่นคน และกล่าวสุนทรพจน์เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ท่ามกลางข่าวลือเรื่องสุขภาพที่ทรุดโทรมลง ในพิธีนี้มีนายทหารระดับสูง นักการทูต และผู้สื่อข่าวท้องถิ่นเข้าร่วม นับเป็นการเดินสวนสนามครั้งใหญ่ในกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงแห่งการบริหารราชการที่ตั้งอยู่ห่างไกลความเจริญซึ่งรัฐบาลย้ายมาเมื่อปี 2548


อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า ทางการพม่าไม่ยอมออกวีซ่าให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศเข้าไปทำข่าวงานวันกองทัพพม่านี้ ซึ่งตรงกับวาระครบรอบ 6 เดือนที่มีการใช้กำลังเข้ากวาดล้างผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยภายใต้การนำของพระสงฆ์ ซึ่งถูกกวาดล้างอย่างหนักไปเมื่อเดือนกันยายน จนเป็นเหตุให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโลก และเรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าที่ครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 2531 เร่งปฏิรูปประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย


 (คมชัดลึก วันที่ 27/3/2551)


 


1.6        กลุ่มผู้สนับสนุนนางอองซาน ซูจี ประท้วงต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


 


กลุ่มผู้สนับสนุนนางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านพม่าประมาณ 50 คนแต่งกายด้วยเสื้อยืดสีขาว ร่วมชุมนุมประท้วงกันที่หน้าสำนักงานใหญ่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดีของนางซูจีในนครย่างกุ้งเมื่อวันที่ 27 มีนาคม เพื่อแสดงการต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประชาชนลงคะแนนเสียงไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวในการลงประชามติที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ และให้รัฐบาลทหารเปิดการเจรจากับกลุ่มเคลื่อนไหวประชาธิปไตย อย่างไรก็ตามไม่มีผู้ถูกจับกุมจากการประท้วงครั้งนี้


 (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 27/3/2551)


 


1.7        พม่าคัดค้านความเคลื่อนไหวโยงความไม่สงบในทิเบตกับโอลิมปิกปักกิ่ง


 


หนังสือพิมพ์ของทางการพม่ารายงานเมื่อวันที่ 27 มีนาคมว่า รัฐบาลทหารพม่าแสดงความคัดค้านความเคลื่อนไหวใดๆที่จะเชื่อมโยงความไม่สงบในทิเบตกับมหกรรมโอลิมปิกที่จีนเป็นเจ้าภาพ


หนังสือพิมพ์นิว ไลท์ ออฟ เมียนมาร์ รายงานอ้างแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศพม่าว่า ความไม่สงบในทิเบตนั้นเป็นกิจการภายในของจีนอย่างแท้จริง และว่ารัฐบาลจีนจะสามารถผ่านพ้นอุปสรรคดังกล่าวได้อย่างประสบความสำเร็จ อีกทั้งจะสามารถคงสันติภาพและเสถียรภาพภายในประเทศได้ พม่าขอคัดค้านความเคลื่อนไหวทุกรูปแบบที่จะเชื่อมโยงเหตุการณ์ในทิเบตเข้ากับมหกรรมโอลิมปิกในเดือน ส.ค.นี้


จีนนับเป็นพันธมิตรสำคัญของพม่า ที่ให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ การทหาร ตลอดจนความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ ขณะที่ชาติตะวันตกแสดงความต่อต้านพม่าเรื่องสถิติมนุษยชนที่ย่ำแย่ และความล้มเหลวในการปฏิรูปประชาธิปไตยในประเทศ


 (สำนักข่าวไทย วันที่ 27/3/2551)


 


 


2.         การค้าชายแดน


 


2.1        ประธานหอการค้าจังหวัดตาก ระบุมีความจำเป็นต้องพัฒนาระบบโลจิสติกส์การค้าชายแดนไทย-พม่า ด้านอำเภอแม่สอด หลังส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าไทยในพม่า ลดลงจากร้อยละ 80 เหลือเพียงไม่เกินร้อยละ 20


 


วันที่ 31 มี.ค.51 ที่ห้องประชุมโรงแรมเซ็นทารา แม่สอดฮิลล์ รีสอร์ท นายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวในโอกาสสัมมนาโลจิสติกส์การค้าไทย-พม่า ด้านชายแดน อำเภอแม่สอด ว่า สินค้าไทยเคยมีส่วนแบ่งการตลาดในพม่าอย่างน้อยร้อยละ 80 แต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้ถูกสินค้าจากจีนซึ่งมีราคาต่ำกว่า และมีการพัฒนาเส้นทางการขนส่งในพม่าที่มากกว่า แย่งสัดส่วนตลาดไป ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าไทยในพม่าเหลืออยู่ไม่เกินร้อยละ 20 และนับวันจะยิ่งลดลงไปอีก หากไทยไม่มีการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ เพื่อลดต้นทุนการค้า


ด้านนางกัญญา อมีระกุล ผู้อำนวยการสำนักโลจิสติกส์การค้า กรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า พร้อมจะพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะของภาคเอกชน ในการพัฒนาโลจิสติกส์ด้าน อำเภอแม่สอด เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาการค้าชายแดน และลดต้นทุนด้านการค้าลง แต่หากเกินขีดความสามารถของหน่วยงาน ก็จะเสนอไปยังรัฐบาล เพื่อให้หาแนวทางช่วยเหลือต่อ


(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 31/03/2551)


 


2.2        เวที GMS เร่งรัดเชื่อมโยงเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นรูปธรรม


 


นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในการเข้าร่วมประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ GMS Summit ครั้งที่ 3 ที่โรงแรมดอนจันทน์พาเลซ นครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งมีประเทศสมาชิก 6 ประเทศเข้าร่วมประชุม ได้แก่ กัมพูชา ลาว จีน พม่า ไทย และเวียดนาม


โดยผู้นำ 6 ประเทศสมาชิกได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมกัน ซึ่งสาระสำคัญคือ การรับทราบความก้าวหน้าแผนดำเนินงานของ GMS และการกำหนดทิศทางการดำเนินงานในอนาคตร่วมกัน การเร่งรัดเชื่อมโยงโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขันของกลุ่ม และความเป็นอยู่ของประชาชน ต่อยอดการส่งเสริมการค้าและการลงทุน เร่งรัดพัฒนาเส้นทางคมนาคมให้เป็นแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ ตลอดจนอำนวยความสะดวกกิจกรรมทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดน สร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเอกชน


 


นอกจากนี้ ยังเห็นชอบผลการศึกษาทบทวนกลางรอบ และแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ ระยะ 4 ปี ของความร่วมมือ 9 สาขา เช่น การคมนาคมขนส่ง พลังงาน โทรคมนาคม เกษตร สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการร่วมกันลดภาวะโลกร้อน การท่องเที่ยว ทรัพยากรมนุษย์ การอำนวยความสะดวก การค้าและการลงทุน เพื่อประโยชน์ของประเทศสมาชิกและประชาชนในอนุภูมิภาค


(ผู้จัดการ วันที่ 31/03/2551)


 


2.3        แหล่งก๊าซธรรมชาติจากพม่า จะหยุดซ่อมอุปกรณ์บางอย่าง อาจมีผลทำให้ภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก และมีผลกระทบต่อค่าเอฟทีเพิ่มขึ้น


 


ระหว่างวันที่ 11-18 เมษายน 2551 แหล่งก๊าซธรรมชาติจากพม่า จะหยุดซ่อมอุปกรณ์บางอย่าง ทำให้ก๊าซธรรมชาติจากพม่าหยุดส่งเข้าระบบ เป็นผลให้โรงไฟฟ้าในประเทศไทยต้องหันมาเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้น้ำมันเตาหรือน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงแทน ทำให้ภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก และมีผลกระทบต่อค่าเอฟที หรือค่าไฟฟ้าผันแปรเพิ่มขึ้น


นายอภิชาต ดิลกโศภณ รองผู้ว่าการควบคุมระบบ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.ได้รับแจ้งจากบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ว่าในช่วงเดือนเมษายน 2551 จะมีการปิดซ่อมประจำปีแหล่งก๊าซธรรมชาติดังกล่าว กฟผ.จึงได้สั่งให้ทุกโรงไฟฟ้าเตรียมการสำรองน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล เพื่อเป็นเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าอย่างน้อยเป็นเวลา 3 วัน และให้โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าต่ำกว่า 15% หรือไม่ให้เกิดปัญหาไฟฟ้า


นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ. กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย เพื่อรับมือกับการปิดซ่อมประจำปีของแหล่งก๊าซในพม่าอยู่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทางผู้ผลิตได้มีแผนที่จะเปิดซ่อมบำรุงในช่วงเดือนเมษายน 2551 หากปริมาณก๊าซในอ่าวไทยสามารถป้อนโรงไฟฟ้าได้ไม่มีปัญหา ก็ไม่จำเป็นต้องเลื่อนการปิดซ่อมบำรุงออกไป


 (มติชน วันที่ 31/03/2551)


 


 


3.         ผู้ลี้ภัย


 


3.1        สมัคร สุนทรเวช กำชับเหล่าทัพร่วมมือแก้ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย


 


นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมสภากลาโหมว่า ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งสภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเหล่าทัพ ต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ต่อไปจะต้องดำเนินคดีกับคนเหล่านี้ แล้วนำไปปล่อยเกาะ เพื่อให้รู้ว่าลำบาก แล้วจะได้ไม่กลับมาอีก


 


นายกรัฐมนตรียอมรับว่าปัญหามุสลิมโรฮินญาจากพม่าเป็นปัญหาสำคัญ อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นโรฮินญาหรือกลุ่มใดจะต้องถูกดำเนินการ โดยกองทัพเรือจะเป็นผู้พิจารณาหาสถานที่ เบื้องต้นรัฐบาลจะจัดหางบประมาณในการดูแลคนเหล่านี้ และจะประสานสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ให้มาดำเนินการต่อในเรื่องของการดูแลงบประมาณและการส่งกลับ และขอยืนยันว่าจะดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว


(สำนักข่าวไทย วันที่ 28/03/2551)


 


 


4.         ต่างประเทศ


 


4.1        คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ออกข้อมติโจมตีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของพม่า


 


คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ หรือ UN ออกข้อมติโจมตีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของพม่า และกระตุ้นให้รัฐบาลพม่าดำเนินมาตรการแก้ปัญหานี้เป็นการด่วน เช่น ปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทั้งหมดในพม่า และควรให้เสรีภาพแก่ประชาชนอย่างเต็มที่


นอกจากนี้ร่างข้อมติซึ่งนำเสนอโดยสโลวีเนียในฐานะประธานสหภาพยุโรป หรืออียู ยังแสดงความกังวลต่อการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงอย่างสงบของรัฐบาลพม่าเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว กับโจมตีความล้มเหลวของรัฐบาลที่ไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม และยังมีการคุมขังกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง


 


เป็นที่น่าสังเกตว่า ร่างข้อมติดังกล่าว ผ่านความเห็นชอบของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติโดยไม่มีการลงมติ แม้จะมีประเทศสมาชิกหลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน แสดงความกังวลต่อร่างข้อมติ


 


เช่น ผู้แทนฟิลิปปินส์ที่เห็นว่า การกระตุ้นพม่าให้เคารพหลักสิทธิมนุษยชนควรกระทำในรูปแบบสร้างสรรค์ และควรใช้ถ้อยคำกล่าวโจมตีหรือประณามพม่าให้ลดน้อยลง ขณะที่ผู้แทนพม่าไม่ยอมรับข้อมตินี้ เพราะถือว่าคณะมนตรีฯ ไม่ใส่ใจต่อสถานการณ์ทางการเมืองในพม่าที่เป็นจริง ทั้งยังกล่าวหาคณะมนตรีฯ ว่าพยายามนำเรื่องกิจการภายในพม่ามาเป็นประเด็นทางการเมือง โดยหยิบยกกฎเกณฑ์ด้านสิทธิมนุษยชนเป็นข้ออ้าง


(ศูนย์ข่าวแปวิฟิค วันที่ 29/03/2551)


 


4.2        กลุ่มสิทธิมนุษยชนในสหรัฐ เรียกร้องให้สหรัฐ เพิ่มความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้พม่า


 


กลุ่มสิทธิมนุษยชนในสหรัฐ เรียกร้องให้สหรัฐทำเหมือนยุโรปที่เพิ่มความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้พม่า แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงมาตรการคว่ำบาตรอย่างมีเป้าหมายต่อไป


กลุ่มเรฟูจีส์ อินเตอร์เเนชั่นนัลเผยแพร่รายงานหลังส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบสถานการณ์ในพม่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ว่า มาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก ไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลพม่า แต่กำลังสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน


 


รายงานอ้างสถิติขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจหรือโออีซีดีว่า ชาวพม่าได้รับความช่วยเหลือด้านการพัฒนาจากต่างประเทศหรือ โอดีเอ เพียงคนละ 2.88 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 92 บาท น้อยที่สุดในบรรดาประเทศยากจนที่สุด 50 ประเทศ ซึ่งได้รับโอดีเอ เฉลี่ยมากกว่าคนละ 58 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,856 บาท ประชาคมโลกรวมทั้งสหรัฐ ต้องเพิ่มความช่วยเหลือพม่าเพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานของชาวพม่า


 


กลุ่มเรฟูจีส์ อินเตอร์เเนชั่นนัล ขอให้สหรัฐทบทวนนโยบายพม่าใหม่ แล้วทำตามอังกฤษและยุโรปที่เพิ่มความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแต่ยังคงการคว่ำบาตรอย่างมีเป้าหมายต่อเจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลพม่า


 


การที่รัฐบาลพม่าไม่ยอมปฏิรูปประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่สร้างความชอบธรรมให้แก่การที่ชาวพม่าต้องทนทุกข์ทรมานอย่างยาวนาน ทางกลุ่มขอให้สมาชิกรัฐสภาและรัฐบาลสหรัฐไปเยือนพม่าเพื่อประเมินสถานการณ์ในพม่าเองโดยตรง รวมทั้งประเมินความสามารถของสหประชาชาติและองค์กรนอกภาครัฐที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในพม่าด้วย


 (ศูนย์ข่าวแปซิฟิค วันที่ 28/03/2551)


 


 


Newsline เป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการวิจัยไทย (Thai Research) มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี (Peaceway Foundation) เป็นการรวบรวมข่าวภาษาไทยที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเทศพม่า และผลกระทบที่มีต่อประเทศไทย เพื่อให้ผู้คนในสังคมไทยได้รับรู้ ตระหนักถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพม่า และเพื่อกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและรณรงค์ให้เกิดสันติภาพที่แท้จริงในประเทศพม่าต่อไป


ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการวิจัยไทย และโครงการอื่นๆติดตามได้ที่ www.burmaissues.org

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net