Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 14.00 น.วานนี้ (2 เม.ย.) นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ศึกษาธิการ ฐานะปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดปฏิบัติการ "รวมพลังประชาไทย พ้นภัยยาเสพติด" ซึ่งจัดโดยศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ศอ.ปส.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รมว.ยุติธรรม นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข นายพงษ์พโยม วาศภูติ ปลัดมหาดไทย นายกิตติ ลิ้มไชยกิจ เลขาธิการ ปปส. พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าส่วนข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ทหาร ตำรวจ มาร่วมงานอย่างคับคั่ง และมีการถ่ายทอดสดทผ่านทางสถานีโทรทัศน์ NBT ไปทั่วประเทศ


 


นายสมชาย กล่าวว่า นโยบายการปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลชุดนี้จะเริ่มเอาจริงเอาจังและมีการประเมินความสำเร็จตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. - 30 ก.ย. ภายใต้กลยุทธ์ที่มีสโลแกนว่า"3 ลด 3 เพิ่ม 3 เน้น"


 


นายสมชาย กล่าวว่า รัฐบาลนี้แถลงต่อสภาว่า มุ่งมั่นจะปราบปรามซึ่งเป็นสัญญาประชาคมที่ให้ไว้ อย่างไรก็ตามการปราบปรามนั้นขึ้นอยู่เพียงว่าในยุคใดสมัยใดที่มีความเข้มเข้นเน้นหนักเอาจริงเอาจังเอาจังแค่ไหน ซึ่งบางรัฐบาลที่ผ่านมา ก็เอาจริงเอาจัง เด็ดขาดและยาเสพติดลดปริมาณจำนวนมาก แต่ก็ยังมีปัญหาเกิดขึ้น ซึ่งเป็นการบั่นทอนความรู้สึกและความตั้งใจของผู้ปฏิบัติที่ดำเนินการ แต่สุดท้ายตนเชื่อว่ารัฐบาลที่มานั่งทำงานจะต้องมองถึงปัญหา และมองสวัสดิภาพ และความสุขของประชาชนเป็นที่ตั้ง


 


นายสมชาย กล่าวอธิบายถึงปัญหาฆ่าตัดตอนว่า ยาเสพติดเป็นเรื่องของการทำผิดกฎหมายอย่างหนึ่งตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ที่ว่า ผู้ใดมีไว้หรือผู้ใดค้าก็มีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งเมื่อก่อนเป็นการประกาศสงครามกับยาเสพติด ก็ทำให้มุมมองกลายเป็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เหมือนจะไปฆ่าฟันทำลาย ทำร้ายร่างกายประชาชน ทั้งที่คิดง่ายๆว่าเป็นการทำผิดกฎหมายอย่างหนึ่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมีหน้าที่ต้องดูแล และปราบปราม


 


สำหรับรัฐบาลชุดนี้ เพื่อไม่ให้ไขว้เขวกับความรู้สึกไม่ว่าจะด้านใดก็ตาม อยากจะเรียนว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องการเอาจริงเอาจังกับการดำเนินการจับกุมหรือดำเนินการทางการเงินกับผู้ค้ายา ผู้ทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดจึงเป็นที่มาของการรวมพลังประชาไทยพ้นภัยยาเสพติด


 


"เพื่อความเข้าใจกัน ไม่ใช่นโยบายที่ต้องการให้ทำร้ายร่างกาย หรือฆ่าใคร เดี๋ยวจะเบนเป็นประเด็นเรื่องของการฆ่าตัดตอนกันอีก และอยากเรียนว่า ผู้ค้ายาหรือผู้ครอบครองมีความผิดทางกฎหมาย จะต้องถูกจับกุมและทำดำเนินคดีโดยผู้มีหน้าที่โดยตรง"


 


นายสมชาย กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนไม่เชื่อว่าเจ้าหน้าที่จะไปฆ่าใคร แต่การที่มีคนตายโดยเจ้าหน้าที่นั้น มีกฎหมายรองรับและประมวลกฎหมายอาญามีชัดเจน


 


"ผู้ใดกระทำเพื่อป้องกันภยันตราย ที่จะมาถึงแล้วป้องกันไปตามสมควรแก่เหตุ" ตรงนี้เห็นชัดเจนว่าไม่มีเรื่องที่จะฆ่าคน ไม่มีเรื่องที่จะทำร้ายคน แต่ถ้าเขาฆ่ากันเองก็ดำเนินคดี จะได้ตัดปัญหาที่ว่านโยบายฆ่าตัดตอน ซึ่งนโยบายนี้ไม่มี และท่านนายกฯ เน้นย้ำมาแน่นอน เพราะรัฐบาลเป็นห่วงเจ้าหน้าที่ทุกท่านในการดำเนินการเรื่องนี้รวมทั้งที่ผ่านมาก็ตาม


 


นายสมชาย กล่าวอีกว่า ในเรื่องของการป้องกันยาเสพติด นายกฯได้มอบหมายให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ซึ่งทุกฝ่ายไม่ว่าราชการ ตำรวจ กองทัพ ฝ่ายปกครองและประชาชนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง นอกจากนี้ต้องมีการให้ความรู้กับเยาวชนชองชาติที่อาจจะเป็นผู้เสพรายใหม่ว่า การเสพยาไม่ได้โก้เก๋ ดังนั้นต้องให้นโยบายว่าต้องเสียสละเวลาในวิชาต่างๆในการสร้างความเข้าใจกับเด็กในเรื่องพิษภัยของยาเสพติดเพื่อไม่ให้เข้าไปอยู่ในวงจรอุบาทว์


 


นายสมชาย ให้สัมภาษณ์อีกครั้ง ถึงระยะเวลาที่มีการกำหนดระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-30 ก.ย.ว่า เป็นช่วงที่ต้องเข้มข้น และเน้นย้ำ เพราะเป็นรัฐบาลใหม่ ต้องการทำจริงจัง และไม่ใช่ว่าจะครบกำหนด 30 ก.ย. แล้วจะหยุดดำเนินการ จะต้องประเมินจุดดีจุดเด่นจุดด้อยว่าอยู่ตรงไหน


        


        


ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย กล่าวถึงการแก้ไขปัญหายาเสพติดว่า จะนำนโยบายที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ดำเนินการไว้ แต่จะให้อยู่ในกรอบกฎหมาย และไม่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ที่สำคัญจะไม่มีการฆ่าตัดตอน และนายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ ยังได้มอบตนให้ตนดูแลโดยตรง ในการแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ อย่างไรก็ตาม จะเน้นในการป้องกัน และบำบัด มากกว่าการปราบปราม โดยจะเน้นดูแลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ ตะเข็บชายแดนไทยเป็นพิเศษ


 


นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า การที่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนให้ความสนใจเรื่องการปราบปรามยาบ้าของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะประเด็นการฆ่าตัดตอนที่มีการพูดถึงนั้น ทางกลุ่มองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ มีการเข้าพบกับนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีได้แสดงความเป็นห่วงไปแล้ว เราไม่ได้ตั้งใจที่จะใช้มาตรการที่ดำเนินการขั้นรุนแรง หรือการฆ่าตัดตอน แต่ที่นายกรัฐมนตรีกังวล และฝากมาถึงตนคือ ให้ช่วยดูแลเจ้าหน้าที่ อย่าให้มีการไปฆ่ากันเอง


 


เมื่อถามว่า รัฐบาลจะมีการตอบข้อกังวลของสหประชาชาติอย่างเป็นทางการหรือไม่ รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า รัฐบาลไม่จำเป็นต้องไปตอบ เพราะยูเอ็นไม่ได้ถามมาอย่างเป็นทางการ และการดำเนินการเป็นเรื่องภายในของประเทศไทย ไม่จำเป็นต้องบอกเขาทุกอย่าง


 


สำหรับผู้เสพย์นั้นมีปัญหาในการบำบัดรักษา ซึ่งสิ่งที่ดีที่สุดคืออยากเรียกร้องให้ผู้ติดยาเสพติดเข้ามาบำบัดรักษา ที่ผ่านมามีผู้ที่ให้ความร่วมมือมากกว่านี้ จึงตั้งข้อสังเกตว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาประชาชนไม่ค่อยให้ความร่วมมือ เพราะทุกอย่างหย่อนยานลง ซึ่งขณะนี้หากมีการจับกุมได้ก็จะนำเข้ารักษาในทันที


 


นายกิตติ ลิ้มชัยกิจ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กล่าวว่าแนวโน้มสถานการณ์ยาเสพติด มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยสรุปในปี 50 มีผู้ติดยาเสพติดจำนวน 570,000 คน เพิ่มขึ้น 26% จาก ปี 46 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่ 80% เป็นผู้เสพรายใหม่ ที่มีอายุระหว่าง 18 - 25 ปี ขณะที่สถานการณ์จับกุมผู้ต้องหาได้ทั้งสิ้น 100,988 คน สำหรับสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีผู้ติดยาเสพติดเพิ่มมากขึ้น คือ ปัญหาเศรษฐกิจ


 


"ทาง ป.ป.ส.เคยทำสำรวจผู้ติดยาเสพติดไว้ เมื่อปี 46-49 พบว่า มีผู้ติดยาเสพติด 3-4 แสนคน แต่เมื่อสำรวจอีกครั้งในปี 50 กลับพบว่า ในจำนวนผู้เสพยาเสพติดพบเพียง 20% เท่านั้นที่เป็นรายเก่า นอกนั้นเป็นผู้เสพรายใหม่ทั้งสิ้น" เลขาธิการป.ป.ส.กล่าว


 


ทั้งนี้ แหล่งนำเข้ายาเสพติดลักลอบมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนใหญ่ใช้วิธีขบวนการกองทัพมด ลักลอบขนผ่านตะเข็บชายแดนแถบจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ ลาว พม่า และ กัมพูชา โดยชาวลาวมากที่สุด ส่วนยาเสพติดส่วนใหญ่ที่ได้รับความนิยม คือกระท่อม เนื่องจากมีโทษความผิดต่ำและราคาถูก รองลงมา คือยาบ้า และยาไฮซ์ โดยเฉลี่ยปริมาณการลักลอบนำเข้าที่ตรวจพบประมาณ 1,000 - 10,000 เม็ด


 


"จากการสกัดกั้นตามแนวชายแดน ตั้งแต่ปี46-50 จับกุมได้จำนวน 66 ล้านเม็ด คิดเป็น 49.2% ของปริมาณยาบ้าที่จับกุมได้" นายกิตติ กล่าว


 


สำหรับการจับกุมผู้ค้ายาเสพติด ตั้งแต่ปี 46-50 สามารถจับกุมได้ 162,080 คน คิดเป็น 69.8% หรือ 113,138 คนเป็นผู้ค้ายารายใหม่ และ ผู้ค้ายารายเก่ามีเพียง 30% หรือ 48,942 คนเท่านั้น โดยการจับกุมเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปเกี่ยวข้องมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปี 50 สามารถจับกุมได้ 160 ราย เป็นการจับกุมคดีค้า 79.4% และ เสพ 20.6% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหาร ตำรวจ อบต. อบจ. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ตามลำดับ"


 


ที่มา : ผู้จัดการ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net