Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันพุธที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมาว่า ผู้พิพากษาศาลส่วนกลางที่รับผิดชอบพิจารณาคดีที่บริษัทแอมเจน (Amgen Inc) ฟ้องร้องบริษัทโรช โฮลดิ้ง เอจี (Roche Holding AG) ในข้อหาละเมิดสิทธิบัตรของบริษัท ได้มีคำสั่งให้แต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้คำแนะนำเปรียบเทียบปริมาณยาและราคายารักษาภาวะโลหิตจางของทั้งสองบริษัท


 


คำสั่งศาลเมื่อวันพุธที่ผ่านมานั้นทำให้ศาลต้องเลื่อนการพิจารณาคดีออกไปจนกระทั่งกลางเดือนมิถุนายนว่าจะมีคำสั่งให้บริษัทโรชระงับการจำหน่ายยา Mirceraของบริษัทในประเทศสหรัฐฯ หรือไม่ โฆษกศาลกล่าว


 


ในเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา ลูกขุนในศาลชั้นต้นสหรัฐในกรุงบอสตันพบว่ายารักษาภาวะโลหิตจางของบริษัทแอมเจนมีสิทธิบัตรคุ้มครอง เป็นผลให้ยา Mircera ซึ่งได้รับอนุมัติให้ใช้รักษาภาวะโลหิตจางในผู้ป่วยโรคไตของโรช ละเมิดสิทธิบัตรยาทั้งสามรายการของบริษัทแอมเจน


 


วิลเลี่ยม ยัง ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นปฎิเสธที่จะมีคำสั่งถาวรให้บริษัทโรชระงับการจำหน่ายยา Mircera ในสหรัฐฯ พร้อมกล่าวว่าศาลอาจมีคำสั่งใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเพื่ออนุญาตให้บริษัทโรชวางจำหน่ายยาของบริษัทได้หากสามารถตกลงเงื่อนไขกันได้


 


ทั้งนี้ยา Mircera มีปริมาณการใช้ไม่บ่อยครั้งเท่ายา Epogen และ Aranesp ของบริษัทแอมเจน แม้ว่าบริษัทแอมเจนจะชนะคดีสิทธิบัตร แต่มีแนวโน้มว่าศาลจะมีคำสั่งใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ โดยถือตามคำวินิจฉัยของศาลสูงสุดสหรัฐฯ ปี 2549 ในคดีระหว่างบริษัทอีเบย์ (eBay) กับเมิร์คเอ็กซ์เชนจ์ (MercExchange) ซึ่งส่งผลให้ศาลมีคำสั่งระงับการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิในเทคโนโลยีได้ยากขึ้น


 


วิลเลี่ยม ยัง ผู้พิพากษากล่าวว่า สำหรับกรณีนี้การสั่งระงับการจำหน่ายยา Mircera อาจไม่ส่งผลดีต่อประโยชน์สาธารณะอีกทั้งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาบริษัทโรชตกลงรับข้อเสนอเงื่อนไขสำหรับการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรรวมถึงการจ่ายค่าตอบแทนการใช้สิทธิแก่บริษัทแอมเจนในอัตราร้อยละ22.5 พร้อมตั้งราคาจำหน่ายยาให้กับระบบประกันสุขภาพ Medicare ของสหรัฐฯ ต่ำกว่าราคายา Epogen


 


ในคำสั่งดังกล่าว ผู้พิพากษา วิลเลี่ยม ยัง ระบุว่าเขา "พยายามที่จะทำความเข้าใจในประเด็นซับซ้อนต่างๆ ตามข้อเรียกร้องของบริษัทแอมเจน" ซึ่งต้องการให้ศาลมีคำสั่งถาวรให้ระงับการจำหน่ายยา พร้อมร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้ง "Special Master" หรือผู้ดูแลการทำตามคำสั่งศาล เพื่อให้คำแนะนำเปรียบเทียบราคาและอัตราเปรียบเทียบปริมาณยาที่ผู้ป่วยต้องใช้ระหว่างยา Mircera และ Epogen


 


จากท่าทีของผู้พิพากษา"ชี้ให้เห็นว่าศาลกำลังพิจารณาให้วางจำหน่ายยา Mircera แม้ว่าบริษัทแอมเจนจะมีข้อโต้แย้งว่าหากศาลไม่มีคำสั่งถาวรเพื่อบังคับคดีอาจจะสร้างความเสียหายให้กับระบบสิทธิบัตรของสหรัฐฯได้" ยารอน เวอร์เบอร์นักวิเคราะห์ของซิตี้กรุ๊ประบุในงานวิจัยชิ้นหนึ่ง


 


ผู้พิพากษา วิลเลี่ยม ยัง ให้เวลาบริษัทแอมเจนและโรช 15 วัน เพื่อยื่นเสนอรายชื่อผู้เชี่ยวชาญโดยที่ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการแต่งตั้งจากศาลจะมีเวลา 60 วันในการแสดงความเห็นดังระบุข้างต้น พร้อมกันนี้ บริษัทแอมเจนได้ยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้ผู้พิพากษาดำเนินการพิจารณาให้มีการชดใช้ค่าเสียหายเต็มจำนวนแก่บริษัทแอมเจน หากบริษัทโรชได้รับอนุญาตให้จำหน่ายยาดังกล่าวในประเทศสหรัฐฯ


 


บริษัทแอมเจนแถลงข่าวว่าบริษัทยังคงเชื่อมั่นว่าคำสั่งบังคับคดีเป็นการถาวรนั้นเป็นมาตรการเยียวยาที่เหมาะสมในกรณีนี้และบริษัทจะถอนคำร้องหากศาลมีคำสั่งบังคับคดีเป็นการถาวร


 


"การจ่ายค่าตอบแทนการใช้สิทธิและมาตรการเยียวยาต่างๆที่ได้หารือกันในศาลเมื่อเร็วๆ นี้ยังไม่อาจชดเชยผลกำไรที่แอมเจนต้องสูญเสียไปได้ทั้งหมด" บริษัทแอมเจนกล่าว


 


Mark Schoenebaum นักวิเคราะห์ของแบร์สเติร์นกล่าวในการประชุมผ่านโทรศัพท์ว่า เขาคาดหวังจะเห็นยอดขายรวมของยารักษาโรคไต Epogen และ Aranesp ของบริษัทแอมเจนเติบโตถึง 2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐในปีหน้า พร้อมกับประเมินว่า ยอดขายทุกๆ 100 ล้านเหรียญสหรัฐที่ต้องสูญเสียให้กับบริษัทโรช ทำให้กำไรสุทธิต่อปีต่อหุ้นของบริษัทแอมเจนตกลงถึงหุ้นละ 5 เซนต์ หุ้นของบริษัทแอมเจนเพิ่มขึ้น 1.16 เหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 2.84 และปิดตลาด (แนสแดค) ที่ 42 เหรียญสหรัฐในขณะที่สัปดาห์ที่ผ่านมาหุ้นของบริษัทตกต่ำสุดในรอบ 12 เดือนท่ามกลางความวิตกกังวลในตลาดอีกครั้งเกี่ยวกับความปลอดภัยของยารักษาภาวะโลหิตจางต่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง


 


(รายงานโดย Deena Beasley; บรรณาธิการ: Carol Bishopric และ Leslie Gevirtz)

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net