Skip to main content
sharethis

ปนัดดา ขวัญทอง


 


1 เมษายน 2551 เวลา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์กรวิชาชีพสื่อ ร่วมกับ สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมนักบริหารวิทยุและโทรทัศน์การศึกษา สมาคมผู้สื่อข่าววิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษา จัดเวทีเสวนา "อนาคตวิทยุโทรทัศน์ไทย หลังกฎหมายใหม่ใช้บังคับ" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจเนื้อหาหลักที่สำคัญรวมถึงผลกระทบตลอดจนแนวทางและวิธีการปฏิบัติ ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ พ.ศ. 2551 ต่อสาธารณชน


 


นายสุรนันทน์ วงศ์วิทยกำจร เลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวว่าในฐานะที่ตนเป็นเลขาธิการของกทช.จึงต้องมารับหน้าที่เป็นฝ่ายธุรการ ตามที่บทเฉพาะกาลของกฎหมายฉบับนี้ ให้อำนาจ กทช. ในการออกใบอนุญาตการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชนและกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ซึ่งก็คือเคเบิลทีวี ขณะนี้ได้เริ่มต้นดำเนินการตามกฎหมายแล้ว คือมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์บางส่วนแล้ว แต่ยังรอองค์กระกอบในส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้แต่งตั้งอีกจำนวน 6 คน


 


ช่วงรอยต่อการทำหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นอยู่กับกระบวนการสรรหา กสทช. หากเกิดได้อย่างรวดเร็วก็จะสามารถผ่องถ่ายภารกิจได้ทันที ภารกิจหลักของกรรมการชุดนี้จึงเป็นการเตรียมการ สำหรับระยะเวลาที่กทช. ต้องทำหน้าที่นี้จึงยังไม่มีความแน่นอน


 


คลื่นความถี่ที่มีอยู่ในขณะนี้ความจำกัดทั้งคลื่นของวิทยุและโทรทัศน์ การใช้คลื่นความถี่จึงถูกจำกัดในทางเทคนิค เพื่อมิให้เกิดการรบกวนกัน ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ได้รับคลื่นความถี่จาก กบว.ไปหมดแล้ว เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องมีการจัดสรรใหม่จึงต้องมีการสร้างกฎกติกากันใหม่ แต่กฎหมายระบุว่าต้องมีภาคส่วนอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วม ดังนั้นคณะอนุกรรมการก็อาจเป็นผู้ร่างหลักเกณฑ์ออกมา เช่น เรื่องแผนจัดสรรความถี่จะจัดการอย่างไรให้อยู่รอดกันได้ เพราะมีความต้องการใช้เพิ่มมากขึ้นเป็น 3 ส่วน คือภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน


 


"ปัญหาคือพอมีรัฐธรรมนูญใหม่เกิดขึ้น เมื่อคลื่นความถี่ถูกระบุว่าเป็นสาธารณะ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ก็ต้องได้รับการจัดสรรด้วย แล้วจะแบ่งกันอย่างไร หลายท่านอ้างถึงสัดส่วนสี่สิบ สี่สิบ และยี่สิบ เมื่อถามผู้รู้ไปก็ได้รับคำถามกลับมาว่า สัดส่วนดังกล่าวหมายถึงสัดส่วนคลื่นความถี่หรือเป็นพื้นที่ของเวลา อันนี้ต้องคุยกัน"


 


ด้านนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภาสรรหาสายวิชาชีพ อดีตรองประธานคนที่ 1 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ชี้แจงว่าในช่วงที่มีการผลักดันกฎหมายฉบับนี้มีกลุ่มผลประโยชน์หลายฝ่ายส่งตัวแทนเข้ามาร่วมร่าง ทั้งฝ่ายรัฐข้าราชการ และกลุ่มทุนธุรกิจ จึงต้องเน้นการประสานประโยชน์ทุกฝ่ายแต่ก็เป็นผลให้กฎหมายออกมาไม่สมบูรณ์และการพิจารณาก็เป็นไปด้วยความลำบากและล่าช้า


 


ในด้านเนื้อหาของกฎหมายที่มีผู้ชี้ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ เช่น มาตรา 37 ที่ให้อำนาจคณะกรรมการสั่งระงับรายการได้ด้วยวาจาได้หากรายการนั้นมีเนื้อหาที่ขัดต่อความมั่นคง ลามกอนาจารนั้น นายสมชาย แสวงการ ชี้แจงว่าในการพิจารณาร่างกฎหมายมีการบันทึกรายละเอียดดังกล่าวไว้และสามารถนำมาอ้างอิงได้


 


"มีการบันทึกนิยามไว้ในเจตนารมณ์ไว้อย่างชัดเจนว่ามีระดับแค่ไหนที่เรียกว่า "กระทบ" หรือ "เข้าข่ายลามกอนาจาร" แค่ไหน ในเรื่องที่รุนแรงถึงระดับก็จะมีการระงับการออกอากาศได้ เมื่อระงับรายการแล้วยังให้มีคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยพลัน" นายสมชาย กล่าว


 


นายกฤษณพรเสริมพานิชรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์กล่าวว่ากฎหมายวิทยุโทรทัศน์ฉบับนี้เกิดขึ้นมาโดยมี รากฐานที่ไม่แข็งแรงพอเพราะยังไม่เกิดการแก้ไข พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 ให้มีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2550 ที่กำหนดให้มีองค์กรกำกับดูแลเพียงหนึ่งองค์กร คือ กสทช. ซึ่งแต่เดิมถูกกำหนดไว้สององค์กร คือ กทช. และ กสช.


 


ด้านนายสุเทพ วิไลเลิศ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ เห็นว่ากฎหมายวิทยุโทรทัศน์ที่มีการบังคับใช้นั้น หากมองในแง่ของสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการสื่อสารและการเข้าถึงทรัพยากรคลื่นความถี่ตามที่รัฐธรรมนูญรองรับไว้ มีบางมาตราที่ถือว่าละเมิดการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เช่นในมาตรา 37 ที่กำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งระงับรายการได้ด้วยวาจา ซึ่งอำนาจในการพิจารณาว่าขัดต่อความมั่นคงของรัฐ หรือลามกอนาจารก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะกรรมการ ทั้งที่สามารถใช้มาตรการการตักเตือน พักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตในการกำกับดูแล ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้จึงมีมาตรการในการควบคุมสื่อ


 


ส่วนที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือสาระในบทเฉพาะกาลที่กำหนดให้ กรมประชาสัมพันธ์ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนที่ได้รับสัมปทานจากหน่วยงานรัฐ ประกอบกิจการต่อไปได้ อีกทั้งกฎหมายยังระบุว่าเมื่อมีองค์กรอิสระและแผนแม่บทแล้วให้แจ้งกรมประชาสัมพันธ์เพื่อให้ปฏิบัติให้สอดคล้อง และส่วนราชการรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐหากประสงค์ประกอบกิจการต่อให้จัดทำแผนและให้คณะกรรมการออกใบอนุญาตให้ สำหรับเอกชนที่ได้รับสัมปทานแต่เดิมก็ให้คณะกรรมการออกใบอนุญาตให้และสามารถประกอบกิจการต่อไปได้จนกว่าจะสิ้นสุดสัญญา


 


"กฎหมายฉบับนี้อยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ที่ไม่ได้สะท้อนว่าเกิดการกระจายการถือครองคลื่นความถี่เพราะกรรมสิทธิ์ดังกล่าวยังคงอยู่กับผู้ถือครองสื่อเดิม จึงมีคำถามสำคัญว่าความเปลี่ยนแปลงในสื่อที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ถือเป็นการปฏิรูปสื่อตามเจตนารมณ์เดิมตั้งแต่ปี 2550 หรือไม่" นายสุเทพ กล่าว


 


ทั้งนี้องค์กรวิชาชีพสื่อที่ร่วมจัดประกอบด้วย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย และสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย.

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net