Skip to main content
sharethis

ตัวแทนภาคประชาสังคมไทยร่วมหารือเกี่ยวกับการประกาศนโยบายควบคุมยาเสพติดของรัฐบาลไทยในเวทีเสวนาองค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีตัวแทนขององค์กรพัฒนาเอกชนระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ โครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) และสถาบันวิจัย เข้าร่วม


 


การประชุมนี้เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เฉลิม อยู่บำรุง ประกาศเริ่มทำสงครามยาเสพติดในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดย รมต.เฉลิม ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าจะใช้การปราบปรามขั้นเด็ดขาดแบบเดียวกับนโยบายปราบปรามยาเสพติดที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณเคยใช้


 


ครั้งแรกที่มีการประกาศใช้นโยบายนี้ในปี 2546 ภายใต้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ผลปรากฏว่ามีผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ใช้ยาเสพติดถูกฆาตกรรมกว่า 2,800 คน ซึ่งก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากภาคประชาสังคมทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ


 


ภาคประชาสังคมเกิดความกลัวว่านโยบายควบคุมยาเสพติดรอบใหม่จะทำให้ผู้ใช้ยาเสพติดหลบซ่อนตัว และเข้าไม่ถึงบริการด้านสาธารณสุขที่จำเป็น และอีกหลายชีวิตที่อาจต้องสังเวยไปกับนโยบายควบคุมยาเสพติดซึ่ง รัฐบาลวางแผนจะประกาศในวันที่ 2 เมษายน นี้


 


"การปราบปรามยาเสพติดไม่ใช่เรื่องใหม่ ปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นมานับสิบปีแล้ว แต่เพิ่งมาไม่นานนี้ ที่องค์กรที่ทำงานกับผู้ใช้ยาเสพติด และเอ็นจีโอได้เริ่มสนใจประเด็นนี้มากขึ้น ซึ่งนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะร่วมกันจับตามองว่าเกิดอะไรขึ้น และ ช่วยผลักดันให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาอย่างมีมนุษยธรรมและครอบคลุมทุกประเด็น" คุณคาเรน แคพริน ผู้อำนวยการด้านนโยบายและการพัฒนา กลุ่มรณรงค์เพื่อการรักษาเอดส์ กล่าว


 


"เมื่อก่อนหลายคนไม่ค่อยให้ความสำคัญกับชีวิตของผู้ใช้ยาเสพติดเท่าไหร่ ในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดนั้นอัตราการติดเชื้อเอชไอวีสูงถึง 50% และตัวเลขไม่เคยลดลงเลยตลอดระยะเวลายี่สิบปีที่ผ่านมา แต่รัฐบาลก็ยังไม่มีการแก้ปัญหาในประเด็นนี้อย่างจริงจัง" ซึ่งสถานการณ์นี้ ทำให้ต้องมองย้อนกลับไปที่ความมุ่งมั่นและจริงจังของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีโดยรวม"


 


ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีชื่อเสียงไปทั่วโลกถึงความพยายามในการแก้ปัญหาเอชไอวีและเอดส์ แต่กลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดยังไม่สามารถเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพและสังคมที่เหมาะสม การแพร่เชื้อเอชไอวีในคนกลุ่มนี้ยังมีอัตราสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ใช้ยาเสพติดที่อยู่ในเรือนจำมีอัตราการติดเชื้อเอชไอวีมากเป็นสองเท่าเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ใช้ยาเสพติดทั่วไป


 


"กระแสเกี่ยวกับนโยบายการควบคุมยาเสพติดทำให้มองเห็นอนาคตที่ไม่สดใสเท่าไหร่ แต่มาวันนี้รู้สึกภูมิใจที่หลายหน่วยงาน หลายองค์กรเข้ามามีส่วนร่วม เข้ามารับรู้สถานการณ์ แต่ผมไม่อยากจะคิดถึงอนาคตเพราะไม่แน่ใจว่ามันจะออกมาในเชิงบวกหรือลบ" คุณศักดา เผือกชาย ประธานเครือข่ายผู้ใช้ยาเสพติดประเทศไทย กล่าวแสดงความคิดเห็น


 


"ถ้าเริ่มสงครามยาเสพติดอีกครั้ง ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสมาชิกของเราจะต้องหลบซ่อนตัว และจะไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ อีกทั้งยังจะเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่" คุณศักดากล่าวเพิ่มเติมว่า การทำวิจัยจะต้องเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้ยาเสพติด


 


"กลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับการแก้ปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้กำหนดโยบายจะต้องรับฟังปัญหาที่แท้จริงจากผู้ใช้ยาฯ ณ ปัจจุบัน ผู้ใช้ยาฯ ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบไม่เคยมีสิทธิ มีเสียงที่จะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและจัดทำโครงการ" คุณศักดากล่าว


 


คุณวิวัฒน์ ตามี่ ผู้ประสานงาน เครือข่ายสุขภาพชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง กล่าวถึงนโยบายการปรามปรามยาเสพติดว่า มาจากความคิดที่มีอคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งมองชนเผ่าเป็นผู้ค้ายาเสพติด และ เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ


 


"การปราบปรามยาเสพติดทำให้เกิดปัญหาในชุมชน หลายครอบครัวได้รับผลกระทบ ผู้หญิงต้องเป็นม่ายและมีปัญหาเด็กกำพร้า ผู้หญิงชนเผ่าจำนวนมากต้องขายบริการทางเพศเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว"คุณวิวัฒน์ กล่าว


 


ถึงแม้ว่ารัฐบาลไทยจะประกาศต่อสื่อมวลชนว่าไม่ได้มีความตั้งใจที่จะให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือใช้ความรุนแรงในการปรามปรามยาเสพติด แต่จากประกาศนโยบายของ รมต.เฉลิม ก็ทำให้ภาคประชาสังคมกังวลกับสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยในชีวิตและสิทธิในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขของกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด


 


จากการหารือในครั้งนี้ ได้มีความเห็นพ้องกันว่าการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม ควรประกอบด้วยแนวทางที่สมดุลย์ ผสมผสาน เพื่อแก้ปัญหาแบบองค์รวม โดยเคารพสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานภายใต้ข้อตกลงสากล


 


"วันนี้เป็นนิมิตรหมายอันดีและถือว่าเป็นโชคดีของผู้ใช้ยาเสพติด ที่มีหลายองค์กรมาร่วมผลักดันเรื่องนี้ ซึ่งตัวผู้ใช้ยาฯ เอง ถ้าจะไปผลักดันเรียกร้องก็คงจะทำอะไรได้ไม่มาก ถึงแม้ว่าเราจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงก็ตาม" คุณศักดากล่าว


 


ตัวแทนภาคประชาสังคมยังคงเน้นย้ำถึงความสำคัญในการเจรจาในประเด็นนี้ต่อไปในอนาคต ทั้งนี้จากการหารือ กลุ่มผู้เข้าร่วมได้เสนอแนวทางปฏิบัติสำหรับนโยบายควบคุมยาเสพติดดังต่อไปนี้


 


•           นโยบายควบคุมยาเสพติดควรมีความสมดุลย์ และควรนำบทเรียนจากงานด้านเอชไอวี/เอดส์ไปใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหา


•           ควรมีการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย และควรจัดสรรงบประมาณเพิ่มมากขึ้นสำหรับการป้องกันและรักษาเอชไอวี/เอดส์


•           การปรับปรุงนโยบายปราบปรามยาเสพติดควรเปิดกว้างให้ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เช่น ผู้ใช้ยาเสพติด


•           การลดอันตรายจากการใช้สารเสพติดควรเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย ควบคู่ไปกับการปราบปรามและการป้องกัน


•           ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรผลักดันให้มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด ซึ่งมีบริการด้านสุขภาพและการสนับสนุนด้านต่างๆ


•           การปราบปรามยาเสพติดไม่ได้เป็นเรื่องของกฏหมายเท่านั้น แต่เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทุกคนในสังคม ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา สื่อมวลชน และคนในท้องถิ่น


•           รัฐบาลและภาคประชาสังคมควรทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนางานลดอันตรายจากการใช้สารเสพติดแบบองค์รวมเพื่อลดผลกระทบจากยาเสพติดของประเทศไทย และ มุ่งเน้นให้เกิดการบริการที่ให้ประโยชน์สูงสุด


 


ข้อเสนอดังกล่าวมาจากผู้เข้าร่วมเวทีเสวนาองค์กรพัฒนาเอกชนประจำเดือนมีนาคม ซึ่งเหล่านี้เป็นข้อความที่สำคัญและต้องทำงานสื่อสารกับสังคม


 


"ในฐานะของตัวแทนผู้ใช้ยาเสพติดและภาคประชาสังคม เราต้องการให้คุณสื่อสารกับเรา พบปะกับเรา และฟังความจริงจากเรา"


 


เวทีเสวนาองค์กรพัฒนาเอกชนประจำเดือนมีนาคมจัดและดำเนินการโดย เครือข่ายลดอันตรายจากการใช้สารเสพติดแห่งเอเชีย (AHRN) กลุ่มรณรงค์เพื่อการรักษาเอดส์ (TTAG) เครือข่ายสุขภาพและการพัฒนา (HDN) และสนับสนุนโดย โครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS)

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net