Skip to main content
sharethis


วานนี้ (30 มี.ค.51) กลุ่มศึกษาพรรคการเมืองทางเลือก จัดเสวนา "จินตภาพพรรคการเมืองของประชาชน" ในโครงการ จินตภาพสังคมไทยและพรรคการเมืองของประชาชน เปิดตัวกลุ่มศึกษาพรรคการเมืองทางเลือก เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปี การเสียชีวิตของ นายสุวิทย์ วัดหนู เอ็นจีโอที่ต่อสู้เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยให้กับชุมชนแออัด อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เลขาธิการเครือข่ายเดือนตุลา และผู้ประสานงานเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อีกทั้งยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการตั้งพรรคการเมืองภาคประชาชน


เวทีเสนอความคิดเห็น "จินตภาพพรรคการเมืองของประชาชน" ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว เริ่มต้นเมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ดำเนินรายการโดย นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด กลุ่มเพื่อนประชาชนบนพื้นที่สูง


นายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา จากมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท กล่าวว่า เครื่องมือที่จะนำไปสู่สังคมประชาธิปไตยมี 3 ประการ ประการแรกคือ "ประชาชน" ที่ต้องรู้จักรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นๆ สามารถวิพากษ์วิจารณ์กันได้ ประการต่อมาคือ "ภาคประชาชน" ที่ต้องมีความเข้มแข็งและกระตือรือร้น และสุดท้าย "พรรคการเมือง" ที่เชื่อมั่นในประชาธิปไตย มีประชาชนจำนวนมากเป็นฐานสมาชิกโดยมีส่วนร่วมในพรรคการเมืองนั้นๆ แต่ในประเทศไทยทั้งสามส่วนนี้ยังอ่อนแอ เพราะประชาชนถูกครอบงำมาก การเมืองภาคประชาชนก็ตีบตัน อีกทั้งพรรคการเมืองเองก็หลุดลอยออกจากประชาชน ดังนั้นพรรคการเมืองของประชาชนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น


 


นายศักดินาแบ่งพรรคการเมืองในโลกเป็น 3 ประเภท คือ 1.พรรคการเมืองที่อยู่ภายใต้ผู้นำที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งพรรคการเมืองโดยส่วนใหญ่ของประเทศไทยจัดอยู่ในประเภทนี้ 2.พรรคการเมืองที่นำโดยคณะผู้นำ ผู้ทรงบารมีเหนือคนอื่นโดยปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชน และ3.พรรคการเมืองที่เป็นพรรคประชาธิปไตย มีสมาชิกจำนวนมากและเปิดให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ อีกทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งถือเป็นจินตภาพพรรคการเมืองของประชาชนตามความคิดของเขา


 


จากนั้นนายศักดินากล่าวถึงเป้าหมายทางการเมืองและเศรษฐกิจของไทยว่า ในทางการเมืองพรรคการเมืองต้องสร้าง "ประชาธิปไตย" ส่วนในทางเศรษฐกิจต้องการเห็นสังคมที่เป็นธรรม คือต้องมีแนวคิด "แบบสังคมนิยม" รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งระหว่าง รูปแบบของอเมริกัน (Libertarian Democracy) ซึ่งละเลยเรื่องความหลากหลาย และความเป็นธรรมในสังคม ไม่สอดคล้องกับความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ อีกรูปแบบหนึ่งใช้ในยุโรปตะวันตก คือสังคมนิยม (Social Democracy) พรรคการเมืองของประชาชนจะต้องเชื่อในเรื่องนี้


 


"การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน การล่มสลายของโซเวียต คือการล่มสลายของเศรษฐกิจสังคมนิยม และถูกทำให้เชื่อว่ามีเพียงเสรีนิยมเท่านั้นที่สามารถดำรงอยู่ได้ แต่ก็เห็นกันแล้วว่าไม่สามารถนำมาซึ่งความยุติธรรมในสังคมได้ ผมจึงเห็นว่าควรเป็นสังคมนิยม ที่ต้องมีความหลากหลาย มีความเป็นประชาธิปไตยที่ยอมรับการมีส่วนร่วมของสมาชิก จะต้องเป็น Social Democracy" นายศักดินากล่าว


 


นายศักดินากล่าวต่อว่า การที่พรรคการเมืองแบบนี้จะเกิดขึ้นได้ และจะแข่งขันกับพรรคการเมืองอื่นๆ ที่มีเงินทุนได้ จะต้องใช้แนวทางในการหาสมาชิก มีมวลสมาชิกจำนวนมาก พรรคการเมืองต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชน ร่วมกับภาคประชาสังคม และกลุ่มต่างๆ ที่มีอยู่อย่างหลากหลาย เป็น Mass Membership Party โดยเริ่มต้นจากองค์กรจัดตั้ง เช่นเริ่มจากกลุ่มแรงงานซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนมาก และเป็นกลุ่มจัดตั้งขนาดใหญ่ที่สุด ถึงแม้ในไทยสหภาพแรงงานจะยังเล็กอยู่ก็ตาม


 


"พรรคการเมืองในจินตภาพต้องมีความเป็นประชาธิปไตยในพรรค และมีแนวทางแบบสังคมประชาธิปไตยที่สอดคล้องเหมาะสม จึงจะเป็นทางเลือกของสังคมในปัจจุบัน" นายศักดินากล่าวทิ้งท้าย


 


ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง รองประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวถึงเป้าหมาย 3 ข้อในฐานะคนทำงานของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค คือ 1.ทำให้ผู้บริโภครู้ว่าจะใช้ข้อมูล สิทธิที่มีเพื่อการตัดสินใจเลือกบริโภคได้อย่างไร 2.ทำให้ผู้บริโภครู้ว่าเงินที่ใช้ในการจับจ่ายเพื่อการบริโภคสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ไม่ใช่เฉพาะแก่ตนเอง และ 3.การลดปริมาณการบริโภค ทั้งนี้ การทำงานโดยมีเป้าหมายด้านสังคม ก็ต้องสัมพันธ์กับการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


 


นางสาวสารีกล่าวต่อว่า แนวคิดเรื่องการมีพรรคการเมืองเพื่อสร้างพื้นที่ของภาคประชาชนให้มากขึ้นเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และที่ผ่านมาคนทำงานภาคประชาชนต่างมีการพูดคุยกันเรื่องนี้ ซึ่งก็น่าจะเป็นความร่วมมือกันได้ โดยการร่วมระดมความคิด ระดมกำลังสร้างเอกภาพในการเชื่อมโยงกัน และอาจมีพื้นที่ทดลองปฏิบัติการ เพื่อให้คนทั่วไปมองเห็นแนวทางที่เป็นรูปธรรม โดยต้องมีนโยบายและการทำงานที่ชัดเจน มีทิศทางที่จะเป็นไปได้ในภาคปฏิบัติ


 


นอกจากนี้พรรคการเมืองไม่ควรรับเงินจากบริษัทเพื่อป้องกันการเข้ามามีอิทธิพลของแหล่งทุน สำหรับในบางเรื่องที่สังคมยังหาทางออกไม่ได้ เช่น การค้านระบอบทุนนิยม ค้านการแปรรูป พรรคการเมืองต้องไปไกลมากกว่านั้น โดยการระดมความคิดเพื่อหาทางออก หรือเสนอทางเลือกอื่นๆ


 


"เราต้องชัดเจนว่าพวกเราต่างทำการเมืองภาคประชาชนอยู่ การมีพรรคการเมืองทางเลือกของภาคประชาชน ก็ต้องทำให้เครือข่ายการเมืองภาคประชาชนเข้มแข็งขึ้นด้วย" นางสาวสารีกล่าว


 


ส่วนนางประทิน เวคะวากยานนท์ จากเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า อยากเห็นพรรคการเมืองที่เป็นพรรคของประชาชนจริงๆ ซึ่งอาจรวมกลุ่มปัญหาต่างๆ ทั้งหมด เป็นจุดรวมของภาคประชาชนจริงๆ ไม่เน้นการส่งคนเข้าไปในสภา หรือหากจะต้องส่งคนลงสมัครก็อาจดูในพื้นที่ที่มั่นใจแล้วว่าจะชนะ และต้องมั่นในว่าคนที่จะเข้าไปเป็น ส.ส.จะทำงานตามนโยบายที่มาจากพี่น้องกลุ่มปัญหาต่างๆ อย่างจริงจัง เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาแม้จะเลือกคนดีเข้าไป แต่ถ้าน้ำดีไปอยู่กับน้ำเน่าก็ไม่แน่ใจว่าจะเป็นน้ำดีได้อีกหรือไม่


 


นางประทินตั้งความหวังว่าพรรคการเมืองจะร่วมเดินหน้าป้องกันปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยเป็นตัวเชื่อมโยงข้อมูล จากเดิมที่การเคลื่อนไหวของกลุ่มชาวบ้านต้องทำกันเอง แยกกลุ่มกันทำงานไม่ได้รวมศูนย์ ทำให้ทุกครั้งที่พยายามแก้ปัญหาเหมือนเป็นการวิ่งตาม เกิดแล้วจึงไปแก้ ทำให้การแก้ปัญหาไม่ได้ผล


 


"การตั้งพรรคการเมือง ต้องไปล้างระบบคิดของระบบอุปถัมภ์ ว่ามันไม่ยั่งยืน ถ้าทำได้ก็จะทำให้การรวมศูนย์อำนาจของประชาชนทำได้มากขึ้น" นางประทินกล่าเสนอความคิดเห็นพร้อมสนับสนุนการตั้งพรรคการเมืองของภาคประชาชนเพื่อมาร่วมแก้ปัญหาโดยไม่ต้องมัวมาศึกษาเพราะที่ผ่านมาก็มีการศึกษากันมามากแล้ว


 


ทั้งนี้ นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์  (สรส.) คณะทำงานด้านจริยธรรมทางการเมืองกลุ่มศึกษาพรรคการเมืองทางเลือก กล่าวว่า การพูดคุยแลกเปลี่ยนในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรวบรวมปัญหาเพื่อที่จะตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มคนที่ต่อสู้ในปัญหาต่างๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ โดยมุ่งแก้ไขในเชิงนโยบาย โดยกลุ่มศึกษาพรรคการเมืองทางเลือกมีแนวคิดในการสร้างพรรคการเมืองของประชาชนเพื่อหาทางออกให้แก่สังคม โดยสิ่งที่ต้องเร่งทำในตอนนี้คือทำให้ประชาชนตื่นตัวต่อการมีส่วนร่วมในการเมืองภาคประชาชน


 


ส่วนการจะตั้งพรรคเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งนั้น นายสาวิทย์กล่าวว่า จะต้องเกิดจากความพร้อมและความเห็นชอบของสมาชิกพรรคซึ่งขณะนี้มีอยู่ราว 50 คน และกำลังพยายามขยายฐานสมาชิก โดยที่คนที่เข้ามาเป็นสมาชิกทุกคนต้องสนับสนุนเงิน 1% ของรายได้ต่อเดือน แต่ไม่เกิน 500 บาท เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนของกลุ่ม ภายใต้ฐานคิดที่ทุกคนร่วมเป็นเจ้าของและแต่ละคนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นกำหนดทิศทางนโยบายของพรรค 1 คนต่อ 1 เสียงเท่าเทียมกัน


 


"ได้เท่าไหร่ก็ค่อยๆ ขยับไป เรื่องนี้ต้องใช้เวลา เพราะประชาชนยังคุ้นเคยกับพรรคการเมืองแบบเก่าๆ อยู่ แต่ถ้าไม่เริ่มมันก็ไม่เกิด และเราก็เชื่อว่าประชาชนทุกคนมีศักดิ์ศรีที่จะกำหนดชีวิตของตนเองได้ ถ้าเค้าเห็นความพยายาม ความตั้งใจ เห็นรูปธรรมในอนาคต เขาก็จะเข้ามาเพราะมันมีแนวโน้มที่จะขับเคลื่อนได้" นายสาวิทย์กล่าว


 


 



กลุ่มศึกษาพรรคการเมืองทางเลือก (http://peopledemocracy.org/) ประกอบด้วยผู้นำแรงงาน นักกิจกรรมสังคม องค์กรประชาชน ฯลฯ ซึ่งมีแนวคิดในการสร้างพรรคการเมืองของประชาชนเพื่อหาทางออกให้แก่สังคม


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net