Skip to main content
sharethis


หนึ่งในปัญหาทางธรรมชาติ ที่เชื่อว่าเกี่ยวโยงกับน้ำมือมนุษย์ คือชายฝั่งทะเลถูกกัดเซาะอย่างรุนแรง วันนี้กำลังจะได้รับการพิสูจน์อีกครั้งในอีกทางหนึ่ง คือโดยกระบวนการยุติธรรม ว่าส่งผลกระทบอย่างไร มีสาเหตุมาจากโครงการพัฒนาจริงหรือไม่


สถานการณ์ล่าสุด ชาวบ้านตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ประกอบด้วย นายสาลี มะประสิทธิ์ นายเจะหมัด สังข์แก้ว และนายดลรอมหาน โต๊ะกาหวี ได้ยื่น คำฟ้องต่อศาลปกครองสงขลา เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2551 ฟ้องกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี และอธิบดีกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี โดยเรียกร้องให้จ่ายค่าชดเชยถึงเกือบ 200 ล้านบาท


แม้ว่าศาลปกครองสงขลาได้มีคำสั่งรับและไม่รับฟ้องไปแล้วในบางประเด็น เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2551 แต่นั่นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้สั่งคมได้เรียนรู้ถึงภัยพิบัติที่เกิดขึ้น แทนที่จะโทษสภาวะโลกร้อนอย่างเดียว และถูกนำไปเป็นมาตรฐานในการดำเนินโครงการ ตามที่ผู้ฟ้องต้องการ


แล้วผลกระทบที่เกิดขึ้น มากถึงขนาดต้องขอให้ชดเชยสูงถึงเกือบสองร้อยล้านกระนั้นหรือ ถ้าพูดถึงปัญหากัดเซาะที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ตลอดชายฝั่งอ่าวไทยและอันดามันรวม 23 จังหวัดแล้ว มูลค่าความเสียหายจะมีมากขนาดไหน และกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กับความพยายามจัดการและแก้ปัญหาชายฝั่งนั้นหรือคือตัวการ


ต่อไปนี้เป็นเนื้อหาโดยสรุปของคำฟ้อง และคำสั่งศาลปกครองสงขลา ประเด็นต่อประเด็น ดังนี้ 


 


คำฟ้องต่อศาลปกครองสงขลา คดีหมายเลยดำ 16/2551


ข้อ 1. ผู้ฟ้องคดีเป็นชาวบ้านในชุมชนบ้านบ่อโชนและบ้านโคกสัก ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ ในฐานะเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากชายหาดสะกอม ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 โดยเมื่อประมาณปี 2540 ถึง 2541 ทั้งสองได้ออกคำสั่งและดำเนินการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นบริเวณปากคลองสะกอม 6 ตัว


ผลจากการสร้างทำให้ชายหาดสะกอมถูกน้ำทะเลกัดเซาะอย่างรุนแรงและได้พังทลายลง นอกจากนี้กระแสน้ำยังกัดเซาะชายหาดสะกอมบริเวณบ้านบ่อโชนและบ้านโคกสักพังทลายตามไปด้วย และยังคงลุกลามต่อไปไม่มีที่สิ้นสุดจนถึงปัจจุบัน


 


ข้อ 2. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นหน่วยงานทางปกครอง มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยฯลฯ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1


 


ข้อ 3. ก่อนปี 2540 ชายหาดบ้านบ่อโชน ตำบลสะกอม ถูกปกป้องจากคลื่นลมด้วยหาดทรายผืนใหญ่ในลักษณะจะงอยปากแม่น้ำ ที่บริเวณปากคลองสะกอมมีทรายตกตะกอนตามธรรมชาติกีดขวางแนวร่องน้ำ ซึ่งใช้เป็นเส้นทางสัญจรไปมาของเรือในหมู่บ้านสะกอม ส่งผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ต้องทำการขุดลอกคลองทุกปีเพื่อให้แนวร่องน้ำดังกล่าวสามารถใช้เป็นเส้นทางสัญจรไปมาได้โดยสะดวก


ปี พ.ศ.2537 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงได้ว่าจ้างบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรมและสิ่งแวดล้อม เพื่อก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นร่องน้ำสะกอม เพื่อแก้ปัญหาการที่รัฐต้องดำเนินการขุดลอกปากคลองสะกอมทุกปี


จากการศึกษาสภาพเดิมของปากคลองสะกอม พบว่า เมื่อปี 2534 - 2536 มีการงอกของสันทรายด้านใต้ โดยมีทิศทางจากทิศใต้มายังทิศเหนือและกีดขวางแนวร่องน้ำ โดยมีการงอกเกิดขึ้นประมาณ 100 - 200 เมตร ส่วนชายฝั่งด้านทิศเหนือของปากร่องน้ำมีการทับถมและการกัดเซาะสลับกันไปตามธรรมชาติ เป็นระยะทางประมาณ 200 - 300 เมตร


นอกจากนี้ยังวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงชายฝั่งหลังการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่น ด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ( One-line Model of Shoreline Change) โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจภาคสนามสั้นๆ ร่วมกับการคำนวณคลื่นและตะกอนชายฝั่งจากข้อมูลลม ณ สถานีตรวจอากาศสงขลา


ผลของการศึกษาพบว่าหากเวลาผ่านไป 20 ปี จะมีการกัดเซาะชายฝั่งเกิดขึ้นทางด้านเหนือของตัวเขื่อนเป็นระยะทาง 18 เมตรจากเส้นแนวชายฝั่ง และต้องสำรวจชายฝั่งทุกปีเพื่อตรวจสอบการทับถมและกัดเซาะชายฝั่ง


ต่อมาในปี 2540 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ออกคำสั่งให้สร้างเขื่อนกันทรายปากคลองสะกอมและสร้างเขื่อนกันคลื่นอีก 4 ตัว โดยวางเรียงเข้าหาฝั่ง ซึ่งการก่อสร้างโครงสร้างรุกล้ำชายฝั่งเหล่านี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชายหาดและชายฝั่งบ้านบ่อโชน เนื่องจากพื้นที่ที่ติดต่อกับปากคลองสะกอม ซึ่งมีกระแสน้ำชายฝั่งไหลเวียนสุทธิขึ้นไปทางทิศเหนือ กระแสน้ำได้พัดพาทรายให้เคลื่อนที่ขึ้นไปทางทิศเหนือด้วยตลอดเวลา


การสร้างเขื่อนกันทรายรุกล้ำจากชายฝั่งลงไปในทะเล เท่ากับเพิ่มสิ่งกีดขวางกระแสน้ำและการเคลื่อนที่ของตะกอนชายฝั่ง ทำให้ทรายตกทับถมที่ตัวเขื่อนด้านใต้ ขณะที่ทางด้านเหนือของเขื่อนไม่มีทรายไปหล่อเลี้ยง รวมทั้งทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางและเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง เนื่องจากชายฝั่งบางพื้นที่ขาดตะกอนไปหล่อเลี้ยงและพยายามที่จะปรับตัวให้เข้าสู่สมดุลใหม่


ส่วนกรณีของเขื่อนกันคลื่นที่สร้างขนานกับแนวชายฝั่ง จะเปลี่ยนรูปแบบของกระแสน้ำชายฝั่ง กล่าวคือ ด้านหลังของเขื่อน น้ำจะนิ่งทำให้ทรายตกทับถม ขณะที่บริเวณชายหาดด้านข้างของเขื่อนซึ่งไม่มีเขื่อนกั้นจะเกิดการกัดเซาะรุนแรงเป็นรูปโค้งเว้า และเมื่อสิ้นสุดเขื่อนตัวสุดท้าย ชายหาดด้านทิศเหนือของเขื่อนจะถูกกัดเซาะอย่างฉับพลันและลุกลามต่อไป ส่งผลทำให้ชายหาดสะกอมถูกทำลาย


ดังนั้น เมื่อสร้างเขื่อนกันทรายและเขื่อนกันคลื่นเสร็จ ชายฝั่งของบ้านบ่อโชนถูกกัดเซาะหายไปกว่า 10 เมตร ปัจจุบันชายฝั่งได้พังทลายลึกเข้าไป 80 เมตร เป็นระยะทางยาวมากกว่า 3 กิโลเมตรและจะยังคงพังทลายต่อไปไม่สิ้นสุด


 


ข้อ 4. การออกคำสั่งและการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นบริเวณปากคลองสะกอมส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพตามปกติสุข รวมทั้งส่งผลกระทบต่อความรู้สึกด้านจิตใจ ดังนี้


4.1 ผลกระทบต่อการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ผู้ฟ้องคดีใช้เรือท้ายตัด เมื่อว่างจากการทำประมงจะอาศัยบริเวณชายหาดดังกล่าวเป็นแหล่งที่พักจอดเรือ


นอกจากนี้ บริเวณชายหาดถัดขึ้นไปทางทิศเหนือ เรียกว่า "ลานหอยเสียบ" ซึ่งผู้ฟ้องคดีมาเก็บหอยเสียบและสัตว์น้ำต่างๆ เพื่อนำไปตากขายเลี้ยงชีพ และรุนกุ้งเคย เพื่อนำไปขายร่วมกับสัตว์น้ำอื่นๆ เมื่อชายหาดบริเวณลานหอยเสียบพังทลายทำให้ไม่สามารถใช้บริเวณดังกล่าว ประกอบอาชีพประมงและอาชีพเก็บหอยเสียบและกุ้งเคยไปขายเพื่อเลี้ยงชีพได้ดังเดิม


ผู้ฟ้องคดีทั้งสามขาดรายได้จากการเก็บหอยเสียบและกุ้งเคย ประมาณเดือนละ  30,439 บาท


4.2 ผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์จากชายหาดสะกอมในชีวิตประจำวัน กล่าวคือ แต่เดิมก่อนปี 2541 ผู้ฟ้องคดีสามารถใช้พื้นที่บริเวณชายหาดสะกอมเป็นเส้นทางสัญจรไปมาเพื่อติดต่อกันระหว่างหมู่บ้านได้โดยสะดวกและอิสระ เมื่อชายหาดสะกอมถูกทำลายทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องใช้เส้นทางผ่านที่ดินของเอกชน หากเจ้าของไม่ประสงค์ให้เดินผ่าน ย่อมทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนแน่นอน


ด้วยเหตุว่าผู้ฟ้องคดีต้องเดินทางสัญจรบนถนนสาธารณะซึ่งอยู่ห่างออกไปจากแนวชายหาดแทน ซึ่งทำให้ต้องพึ่งพายานพาหนะและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ระยะทางในการหาจับสัตว์น้ำไกลขึ้นและไม่สามารถใช้ชายหาดเดิมเป็นที่จอดเรือได้ ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รวมแล้วประมาณเดือนละ 3,486 บาทต่อคน


4.3 ผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมที่สมดุล เพราะหาดทรายเป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล ปูลม หนอนทรายทะเล ทะเลใกล้ชายฝั่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมงดาทะเล ปลาทรายและปลากระบอก ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของนกที่อพยพมาจากซีกโลกเหนือ


ดังนั้นการทำลายชายหาด จึงเป็นการทำลายที่อยู่อาศัยของบรรดาสัตว์และพืชทะเล และทำลายห่วงโซ่อาหารของนกที่อาศัยปลาทะเลเป็นอาหารที่สำคัญ


นอกจากนี้ ชายหาดทำหน้าที่หลักในการป้องกันคลื่นมิให้ซัดเข้าทำลายผืนดินบนฝั่ง และในขณะเดียวกันชายหาดยังอาจพัฒนากลายเป็นผืนแผ่นดินในภายหลังได้ เพราะเหตุว่าตะกอนดินที่ไหลจากแม่น้ำลงสู่ทะเลจะถูกคลื่นพัดพามาทับถมบนชายหาดและพัฒนาเป็นแผ่นดินในที่สุด


เมื่อชายหาดถูกทำลาย นอกจากจะทำให้ขาดโอกาสที่จะมีผืนดินใหม่งอกเงยขึ้นแล้ว ยังทำให้ผืนดินชายฝั่งเดิมที่อยู่ถัดจากชายหาดเข้ามา ถูกคลื่นซัดทะลายตามไปด้วย


ซึ่งปรากฏว่าปัจจุบัน คลื่นและลมได้ซัดทำลายผืนดินบนชายฝั่งบางช่วงลึกถึง 80 เมตรจากเส้นแนวฝั่งทะเลเดิม


4.4 ผลกระทบความรู้สึกด้านจิตใจของผู้ฟ้องคดีและชุมชนชาวบ้านสะกอมที่ผูกพันกับชายหาดสะกอม ที่อาศัยดำรงชีพมาช้านาน และต้องการรักษาไว้ให้เป็นมรดกแก่คนรุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์ต่อไป เพราะนอกจากคุณประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ สังคมและในเชิงระบบนิเวศน์แล้ว ยังเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ท่องเที่ยว เมื่อชายหาดถูกทำลายลงไปและไม่มีโอกาสฟื้นสภาพกลับมาได้ดังเดิมจึงนับเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่


ชายหาดสะกอมที่ถูกทำลาย แม้ไม่อาจประเมินความเสียหายด้านจิตใจได้ แต่สามารถคิดประเมินราคาในการฟื้นฟูเยียวยาชายหาดให้กลับคืนสู่สภาพเดิมเท่าที่จะเป็นไปได้ได้ คำนวณเป็นเงินประมาณปีละ 21,000,000 บาท


ผู้ฟ้องคดีประสงค์จะเรียกค่าเสียหายส่วนนี้จากผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้แก่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งซึ่งผู้ฟ้องคดีขออำนาจศาลเรียกเข้ามาเป็นผู้ร้องสอดในคดี เพื่อให้ทำการเยียวยาฟื้นฟูชายหาดสะกอมต่อไป ตามบทบัญญัติมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535


ข้อ 5. ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า คำสั่งอนุญาตให้มีการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและเขื่อนกันคลื่นทั้ง 6 ตัวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 เป็นคำสั่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 66 และ 67 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 6 (1) มาตรา 46 และ 47 และพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 30 ประกอบกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ.2539 เพราะมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายกำหนด


กล่าวคือ มิได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนเสียตั้งแต่ในระยะทำการศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯ เสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ตามลำดับ เพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณา ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการก่อสร้าง


อีกทั้งมิได้เคารพสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของผู้ฟ้องคดี โดยจัดให้ผู้ฟ้องคดีรวมทั้งชาวบ้านในชุมชนบ่อโชนและโคกสักคนอื่นๆ มีโอกาสได้รับทราบข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลในการก่อสร้างเขื่อนเหล่านี้อย่างชัดเจนเพียงพอ


และมิได้เปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดีได้โต้แย้งแสดงเหตุผล หลักฐานและความคิดเห็นอย่างเพียงพอก่อนการอนุญาตดำเนินการก่อสร้าง ทั้งๆ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีทราบอยู่แล้วว่าการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใด ที่เกี่ยวกับผู้ฟ้องคดีและชุมชนบ้านบ่อโชนและโคกสัก ซึ่งเป็นชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณก่อสร้าง


 


ข้อ 6. การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยหลักการพื้นฐานของกฎหมายปกครองอย่างชัดแจ้ง เพราะขัดต่อหลักความได้สัดส่วนทั้งในแง่ที่เป็นมาตรการที่เกินกว่าความจำเป็นที่ต้องกระทำ และทั้งในแง่ประโยชน์ที่ชุมชนส่วนน้อยได้รับกับความเสียหายของประเทศที่ต้องสูญเสียชายหาด ระบบนิเวศทางทะเลและสูญเสียทรัพยากรชายฝั่งอย่างที่ไม่อาจจะนำกลับคืนมาได้


อีกทั้งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้กระทำไปโดยรู้สำนึกถึงผลเสียหายแห่งการกระทำหรือเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เพราะหากผู้ถูกฟ้องคดีได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในระดับวิญญูชนพึงมีในตำแหน่งหน้าที่การงานของตนแล้ว จะต้องไม่อนุมัติให้ก่อสร้างหรือดำเนินโครงการลักษณะดังกล่าวเลย และความเดือดร้อนเสียหายของผู้ฟ้องคดีและของส่วนรวมก็จะไม่เกิดขึ้น


กล่าวคือว่า ก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จะมีคำสั่งอนุญาตให้ก่อสร้างเขื่อนกันทรายและเขื่อนกันคลื่นนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ว่าจ้างบริษัทวิศวกรที่ปรึกษา ศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรมและสิ่งแวดล้อม และศึกษาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นภายหลังจากการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและเขื่อนกันคลื่น


ซึ่งผลจากการศึกษานั้นปรากฏอย่างชัดเจนว่าการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าว จะส่งผลทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งทางด้านเหนือของตัวเขื่อนเป็นระยะทางอย่างน้อย 18 เมตรจากเส้นชายฝั่ง และต้องสำรวจชายฝั่งทุกปี เพื่อตรวจสอบการทับถมและกัดเซาะชายฝั่ง


จากรายงานการศึกษาดังกล่าว ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองทราบอยู่แล้วว่า หากก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่น จะส่งผลทำให้เกิดผลกระทบต่อชายหาดอย่างรุนแรง


และในภายหลังจะต้องสูญเสียงบประมาณแผ่นดินจำนวนมากมายนับหลายล้านบาท ในการแก้ไขเยียวยาชายหาดในแต่ละปี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยังคงตัดสินใจเลือกใช้มาตรการสร้างเขื่อนกันทรายและเขื่อนกันคลื่นเพื่อแก้ปัญหาการตกตะกอนทับถมปากคลองสะกอม


หากพิจารณาถึงผลกระทบต่อชายหาดซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญของชุมชนท้องถิ่นและของประเทศชาติและผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ริมชายหาดแล้ว ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเหตุว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยังสามารถเลือกใช้มาตรการอื่นซึ่งส่งผลกระทบน้อยกว่า เพื่อแก้ปัญหาการตกตะกอนของทรายได้ เช่น การใช้เรือขุดลอกสันดอนทรายเป็นคราวๆ ไป


การเลือกใช้มาตรการในการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นอย่างถาวรจึงเป็นมาตรการที่เกินความจำเป็นและไม่ได้สัดส่วนระหว่างความสะดวกที่กลุ่มคนจำนวนหนึ่งได้รับจากการเดินเรือจากในคลองสะกอมออกสู่ทะเล กับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชายหาด การสูญเสียระบบนิเวศน์ และการสูญเสียแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ


 


ข้อ ๗.  ผลกระทบที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี 2541 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 เสร็จสิ้น ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี


กล่าวคือ ในปีแรกชายฝั่งของบ้านบ่อโชนถูกกัดเซาะกว่า 10 เมตร และขณะนี้ชายฝั่งถูกกัดเซาะลึกถึง 80 เมตร เป็นระยะทางยาวมากกว่า 3 กิโลเมตรแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ปีที่มีการก่อสร้างและยังคงเกิดอย่างต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาสู่การพิจารณาของศาลปกครอง


นอกจากโครงการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นที่ตำบลสะกอมแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยังได้อนุมัติให้ก่อสร้างเขื่อนลักษณะเดียวกันในพื้นที่อื่นๆ อีก เช่นที่ตำบลนาทับและตำบลเก้าเส้ง จังหวัดสงขลา เป็นต้น


หากศาลปกครองรับคำฟ้องไว้พิจารณาก็จะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม และเป็นบรรทัดฐานในกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะใช้ดุลพินิจตามอำนาจหน้าที่ของตนในอนาคต


ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเวลานี้มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องฟื้นฟูและรักษาแนวชายฝั่งทะเลให้กลับเข้าสู่สภาพสมดุลดังเดิม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่และได้รับมอบหมายจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ดำเนินการศึกษา ติดตาม แก้ไขและฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงแนวชายฝั่งทะเลของประเทศไทย จึงขออำนาจศาลปกครองเป็นที่พึ่งโดยเรียกให้เข้ามาในคดี เพื่อทำหน้าที่ฟื้นฟูเยียวยาชายฝั่งตำบลสะกอมร่วมกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1


อนึ่ง ผู้ฟ้องคดีได้เคยยื่นเรื่องร้องเรียนการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองต่อองค์กรอิสระและหน่วยงานของรัฐต่างๆ เพื่อขอให้ตรวจสอบการกระทำและการใช้อำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีให้เป็นไปตามกฎหมาย และเพื่อขอให้เยียวยาความเดือดร้อนของผู้ฟ้องคดี แต่ไม่เป็นผลแต่อย่างใดทั้งสิ้น


 


คำขอบังคับคดี


1. ขอให้ศาลปกครองวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 ในการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นที่ปากคลองสะกอม เป็นการกระทำที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และมีคำสั่งห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 กระทำการดังกล่าวทั้งหมด


2. ขอให้ศาลปกครองสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสามอันเป็นผลมาจากการกระทำละเมิดโดยการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง รายละเอียดดังนี้


ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ขาดรายได้และค่าขาดประโยชน์จากการได้ใช้ชายหาดสะกอม นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2541 ถึง2550 รวม 9 ปี รวมเป็นเงินค่าเสียหายทั้งสิ้น 965,049.00 บาท ดอกเบี้ยจากค่าเสียหายร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2541 จนถึงวันฟ้องคดี และนับตั้งแต่วันฟ้องคดีเป็นต้นไปจนกว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะชำระค่าเสียหายเสร็จสิ้น


ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ 2 และ 3 ได้แก่ าขาดรายได้และค่าขาดประโยชน์จากการได้ใช้ชายหาดสะกอม นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2541 ถึง 2550 รวม 9 ปี รวมเป็นเงินค่าเสียหายทั้งสิ้นคนละ 1,349,550.00 บาท ดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปี เช่นกัน


3.ขอให้ศาลปกครองสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูเยียวยาชายหาดสะกอมให้กลับมามีสภาพดีใกล้เคียงกับสภาพเดิมมากที่สุด ปีละ 21,000,000.00 บาท รวมระยะเวลา 9 ปี เป็นเงินทั้งสิ้น 189,000,000.00 บาท


4. ขอให้ศาลปกครองสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 ฟื้นฟูชายหาดสะกอมและเยียวยาสภาพแวดล้อมของบริเวณชายหาดดังกล่าวให้กลับคืนสู่สภาพดีโดยเร็ว


5. ขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งเรียกให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเข้ามาในคดีนี้ เพื่อรับหน้าที่ดำเนินการฟื้นฟูและเยียวยาสภาพแวดล้อมของบริเวณชายหาดตำบลสะกอม ร่วมกับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจนเสร็จสิ้น


 


คำสั่งศาลปกครองสงขลา คดีหมายเลขดำ 16/2551


มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้


 


เรื่อง      คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของ


รัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ


 


...พิเคราะห์แล้ว คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสามได้ฟ้องคดีต่อศาลรวมสามประเด็นดังนี้


ประเด็นที่หนึ่งที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสามฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 มีบ้านพักอาศัยอยู่ที่หมู่ที่ 6 ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และผู้ฟ้องคดีที่ 2 และที่ 3 มีบ้านพักอาศัยอยู่ที่ หมู่ที่ 7 ตำบลสะกอม โดยทั้งสามได้ประกอบอาชีพประมงชายฝั่งบริเวณชายหาดสะกอม ครั้นเมื่อประมาณปี 2540 ถึง 2541 ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ออกคำสั่งและดำเนินการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นบริเวณปากคลองสะกอม จำนวน 6 ตัว โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เนื่องจากเป็นคำสั่งที่ขัดต่อมาตรา 56 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่ใช้อยู่ในขณะนั้น ซึ่งบังคับไม่ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองล่วงละเมิดสิทธิของผู้ฟ้องคดีทั้งสามซึ่งเป็นสมาชิกของชุมชนบริเวณชายหาดสะกอม ในอันที่จะดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติ ทั้งในการประกอบอาชีพและในทางสังคมวัฒนธรรม อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อทรัพย์สิน สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของผู้ฟ้องคดีทั้งสามนอกจากนั้นคำสั่งดังกล่าวยังขัดต่อมาตรา 59 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ใช้อยู่ในขณะนั้น ซึ่งบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองต้องทำการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมก่อนการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งมาตรา 66และมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่ใช้อยู่ในขณะนั้น ก็ได้บัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวนี้สืบต่อมา


นอกจากนี้ การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยังไม่ชอบด้วยมาตรา 6 (1) มาตรา 46 และมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ประกอบกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ.2539 เพราะมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายกำหนด


กล่าวคือ มิได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจาการดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนเสียตั้งแต่ในระยะทำการศึกษาความเหมาะสมของโครงการดังกล่าว เสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ตามลำดับ เพื่อให้หน่วยงานและคณะกรรมการดังกล่าวเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาต่อคณะรัฐมนตรี ก่อนการเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการก่อสร้าง


อีกทั้ง มิได้เคารพสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของผู้ฟ้องคดีทั้งสาม โดยการจัดให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสามรวมทั้งชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าว มีโอกาสได้รับทราบข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลในการก่อสร้างเขื่อนเหล่านี้อย่างชัดเจนเพียงพอจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง และมิได้เปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสามได้โต้แย้งแสดงเหตุผล หลักฐาน และความคิดเห็นอย่างเพียงพอก่อนการอนุญาตดำเนินการก่อสร้าง ทั้งๆที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองทราบอยู่แล้วว่าการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับผู้ฟ้องคดีทั้งสามและชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าว


และภายหลังจากการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเสร็จสิ้นในปี พ.ศ.2541 ชายหาดสะกอมถูกน้ำทะเลกัดเซาะอย่างรุนแรงและพังทลายลง ส่งผลให้ระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมบริเวณชายหาดสะกอมถูกทำลายทำให้ปริมาณสัตว์น้ำบริเวณชายหาดสะกอมมีปริมาณลดลง ผู้ฟ้องคดีทั้งสามและชาวบ้านบริเวณดังกล่าวจึงไม่อาจทำการประมงและใช้ประโยชน์จากชายหาดดังกล่าวได้ดังเดิม


จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองทำการฟื้นฟูชายหาดสะกอมและเยียวยาสภาพแวดล้อมของบริเวณชายหาดดังกล่าวให้กลับคืนสู่สภาพดีโดยเร็วนั้น เห็นว่า ตามบทบัญญัติมาตรา 120 แห่ง พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 บัญญัติให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีหน้าที่ดูแล รักษา และขุดลอกร่องน้ำ ทางเรือเดิน แม่น้ำ ลำคลอง ทะเลสาบและทะเลภายในน่านน้ำไทย


ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นบริเวณปากคลองสะกอมเพื่อไม่ให้เกิดการทับถมของตะกอนบริเวณร่องน้ำอันเป็นการดูแลรักษาร่องน้ำดังกล่าวมิให้ตื้นเขิน จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติมาตรา 120 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 แม้หากการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นดังกล่าวจะกระทำโดยไม่ชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 56 มาตรา 59 มาตรา 66 และมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่ใช้อยู่ในขณะนั้น และไม่ชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 (1) มาตรา 46 และมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 และบทบัญญัติมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ตามที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสามกล่าวอ้างก็ตาม


ก็เห็นว่า ความไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว เป็นความไม่ชอบด้วยกฎหมายที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติมาตรา 120 ข้างต้น ซึ่งแม้หากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวจะทำให้ชายหาดสะกอมถูกน้ำทะเลกัดเซาะอย่างรุนแรงและพังทลายลง ทำให้ระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมบริเวณดังกล่าวถูกทำลายมีผลให้ปริมาณสัตว์น้ำในบริเวณดังกล่าวลดลง ส่งผลให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสามและชาวบ้านบริเวณดังกล่าวได้รับความเดือดร้อนเสียหาย เนื่องจากไม่อาจทำการประมงและใช้ประโยชน์จากชายหาดดังกล่าวได้ดังเดิมก็ตาม


ก็เห็นว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ดังกล่าว มิได้เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายอันจะทำให้การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสามได้กล่าวอ้างเป็นการกระทำละเมิดด้วยการใช้อำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง อันจะทำให้คดีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสามฟ้องนี้ เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542


แต่เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติมาตรา 120 ข้างต้นที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีหน้าที่ดูแลทะเลภายในน่านน้ำไทยแล้ว คำฟ้องที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสามฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นจำนวน 6 ตัว เพื่อป้องกันการทับถมของตะกอนบริเวณร่องน้ำปากคลองสะกอมแล้วทำให้ชายหาดสะกอมถูกน้ำทะเลกัดเซาะรุนแรงและพังทลายลง และทำให้ระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมบริเวณดังกล่าวถูกทำลาย มีผลทำให้ปริมาณสัตว์น้ำในบริเวณดังกล่าวลดลง


แต่ไม่ปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้เข้าไปดูแลรักษาตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา 120 แห่งพระราชบัญญัติข้างต้น ส่งผลให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสามและชาวบ้านบริเวณดังกล่าวได้รับความเดือดร้อนเสียหายเนื่องจากไม่อาจทำการประมงและใช้ประโยชน์จากชายหาดดังกล่าวได้ดังเดิม ซึ่งพอที่จะเข้าใจได้ว่าคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งสาม เป็นคำฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจาการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542


และเมื่อปรากฏตามถ้อยคำของผู้ฟ้องคดีทั้งสามที่ศาลเรียกมาไต่สวนว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสามอาศัยและประกอบอาชีพทำการประมงอยู่บริเวณชายหาดสะกอม ผู้ฟ้องคดีทั้งสามจึงเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องมาจากการงดเว้นการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตามบทบัญญัติมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน


และคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสามที่ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองทำการฟื้นฟูชายหาดสะกอมและเยียวยาสภาพแวดล้อมของบริเวณชายหาดดังกล่าวให้กลับคืนสู่สภาพดีโดยเร็ว เป็นคำขอที่ศาลมีอำนาจกำหนดคำบังคับได้ตามบทบัญญัติมาตรา 72 (3) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และแม้ว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสามได้รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 แล้ว แต่เพิ่งนำคดีมาฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2551 ซึ่งเป็นการฟ้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดีตามบทบัญญัติมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว


แต่การฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองทำการฟื้นฟูชายหาดสะกอมและเยียวยาสภาพแวดล้อมของบริเวณชายหาดดังกล่าวให้กลับคืนสู่สภาพดีโดยเร็ว นั้น หากศาลมีคำบังคับตามคำขอดังกล่าวก็จะเป็นประโยชน์ไม่เฉพาะต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสามเท่านั้นแต่หากยังเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอื่นที่อาศัยอยู่ที่ตำบลสะกอมด้วย จึงเป็นการฟ้องคดีที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมตามบทบัญญัติมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ศาลจึงมีอำนาจรับคำฟ้องในประเด็นนี้ไว้พิจารณาได้


 


ประเด็นที่สองที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสามฟ้องว่า ภายหลังจาการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นเพื่อป้องกันไม่ให้ตะกอนทับถมบริเวณร่องน้ำปากคลองสะกอมตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเสร็จสิ้นในปี 2541 ชายหาดสะกอมถูกน้ำทะเลกัดเซาะอย่างรุนแรงและพังทลายลง และทำให้ระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมบริเวณดังกล่าวถูกทำลาย มีผลให้ปริมาณสัตว์น้ำบริเวณดังกล่าวลดน้อยลง ผู้ฟ้องคดีทั้งสามจึงไม่อาจประกอบอาชีพประมงชายฝั่งบริเวณชายหาดสะกอมได้ดังเดิม


จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสาม อันเนื่องมาจากการขาดรายได้จากการประกอบอาชีพประมงชายฝั่งบริเวณชายหาดสะกอม และขาดประโยชน์จากการได้ใช้ชายหาดสะกอม โดยขอให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 เป็นเงินจำนวน 956,049 บาท ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 2 เป็นเงินจำนวน 1,349,550 บาท และชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 3 เป็นเงินจำนวน 1,349,550 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2541 จนถึงวันฟ้อง และนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะชำระค่าเสียหายเสร็จสิ้นนั้น


เห็นว่า ศาลได้วินิจฉัยในประเด็นที่หนึ่งแล้วว่า คำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งสามนี้เป็นคำฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 แต่ในประเด็นที่สองนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสามมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสาม ซึ่งคำขอในประเด็นนี้ศาลสามารถกำหนดคำบังคับให้ได้ตามบทบัญญัติมาตรา 72 (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542ต่กรณีการฟ้องเรียกค่าเสียหายนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสามต้องฟ้องต่อศาลภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามบทบัญญัติมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่ปรากฏข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสามได้รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสามนำคดีมาฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2551 จึงเป็นการฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามบทบัญญัติมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติข้างต้นแล้ว และการฟ้องเรียกค่าเสียหายดังกล่าวเป็นการฟ้องเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของผู้ฟ้องคดีทั้งสามเอง การฟ้องคดีในประเด็นนี้จึงไม่เป็นการฟ้องคดีเพื่อคุ้มครองประโยชน์ต่อสาธารณะ หรือการฟ้องคดีที่จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ทั้งไม่ปรากฎมีเหตุจำเป็นอื่นใดที่ศาลจะรับคำฟ้องในประเด็นนี้ไว้พิจารณาได้ตามบทบัญญัติมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ศาลจึงไม่อาจรับคำฟ้องในประเด็นนี้ไว้พิจารณาได้


ประเด็นที่สามที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสามฟ้องว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นบริเวณปากคลองสะกอมเพื่อป้องกันตะกอนทับถมบริเวณร่องน้ำปากคลองสะกอม ทำให้ชายหาดสะกอมถูกน้ำทะเลกัดเซาะอย่างรุนแรงและพังทลายลงทำให้ระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ซึ่งหากมีการฟื้นฟูเยียวยาชายหาดให้กลับคืนสู่สภาพเดิมกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นจำนวนเงิน 189,000,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูเยียวยาชายหาดสะกอมให้กลับมามีสภาพดีใกล้เคียงกับสภาพเดิมนั้น


เห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่เข้าไปดูแลรักษาชายหาดสะกอมตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา 120 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 กลับปล่อยให้ชายหาดสะกอมถูกน้ำทะเลกัดเซาะอย่างรุนแรงและพังทลายลง ทำให้ระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมบริเวณดังกล่าวถูกทำลาย จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ


เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสามอ้างว่าหากมีการฟื้นฟูเยียวยาชายหาดให้กลับคืนสู่สภาพเดิม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก และมีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูเยียวยาชายหาดสะกอมให้กลับมามีสภาพดีใกล้เคียงกับสภาพเดิม จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542


แต่การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสามจะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้นั้น ผู้ฟ้องคดีทั้งสามจะต้องเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องมาจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามบทบัญญัติมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย ซึ่งคดีนี้หากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องฟื้นฟูเยียวยาชาดหาดสะกอมให้กลับมามีสภาพดีใกล้เคียงกับสภาพเดิม จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูเยียวยาชายหาดสะกอมซึ่งถูกทำลาย เนื่องจากการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดังที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามกล่าวอ้างก็ตาม


ก็เห็นว่าผู้ที่จะได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดังกล่าวตามบทบัญญัติมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ก็คือ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มิใช่ผู้ฟ้องคดีทั้งสาม ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสามได้รับมอบอำนาจจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ฟ้องคดีและเรียกค่าเสียหายแทนกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีทั้งสามจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายให้กับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศาลจึงไม่อาจรับคำฟ้องในประเด็นนี้ไว้พิจารณาได้


ด้วยเหตุผลดังที่ได้วินิจฉัยมา ศาลจึงมีอำนาจรับคำฟ้องในประเด็นที่หนึ่งไว้พิจารณาได้ ส่วนประเด็นที่สองและประเด็นที่สามศาลไม่อาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้


จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องในประเด็นที่สองและที่สามไว้พิจารณา และเมื่อศาลไม่รับคำฟ้องในประเด็นที่สองและประเด็นที่สามไว้พิจารณา จึงไม่จำต้องพิจารณาคำขอให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลของผู้ฟ้องคดีทั้งสามอีก

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net