Skip to main content
sharethis






การเมือง



ยื่นชื่อถอด "ไชยา" สิ้นมี.ค.


โพสต์ทูเดย์ — วานนี้ (24 มี.ค.) น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ในเร็วๆ นี้ จะขอเข้าพบนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา (สว.) เพื่อแจ้งให้ทราบว่าได้มีประชาชนร่วมกันลงรายชื่อถอดถอนนายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีปัญหาในการบริหารงานในกระทรวงสาธารณสุข


 


น.ส.สารี กล่าวว่า ขณะนี้ยอดรายชื่อถอดถอนนายไชยามีมากถึง 1.4 หมื่นคนแล้ว และยังคงมีประชาชนทยอยส่งรายชื่อมาอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยวันละ 400 คน ซึ่งคาดว่าจะรวบรวมครบ 2 หมื่นคนได้ภายในสิ้นเดือน มี.ค.นี้


 


อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 26 มี.ค. จะมีการประชุมเรื่องการเตรียมยื่นรายชื่อถอดถอนอีกครั้ง เนื่องจากการยื่นถอดถอนรัฐมนตรีอาจจะต้องอิงกฎหมายป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติและผู้รวมลงรายชื่อถอดถอน 100 คนแรก ที่เป็นผู้ร่วมก่อการจะต้องรายงานตัวต่อประธานวุฒิสภาด้วย


 


ด้านนายไชยา กล่าวว่า การถอดถอนตนเองออกจากตำแหน่งถือเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ทราบว่าจะถอดถอนเรื่องอะไรเพราะการประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) ก็มีการขับเคลื่อน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ก็ไม่เคยคิดแก้ไข


 


นอกจากนี้ ปัญหาการโยกย้ายก็ได้รับการยืนยันจาก นพ.ชาตรี บานชื่น ว่ายอมจะไปรับตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตามคำสั่งโยกย้ายเดิม ฉะนั้นไม่มีปัญหาอะไรอยู่แล้ว


 


"ผมไม่ได้ดูแล อย. แต่นาย ชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมช.สาธารณสุข เป็นผู้ดูแล ดังนั้นขณะนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไรแล้ว ต่อไปจะเป็นการทำงานให้เกิดความเหมาะสมและก็จะไม่มีการโยกย้ายข้าราชการอีก ยกเว้นเกษียณ" นายไชยา กล่าว


 


วันเดียวกัน นายประจักษ์ ทองงาม ประธานชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ตำหนิการเคลื่อนไหวต่อต้านนายไชยาว่าจะก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่ราชการและยังผลเสียต่อการให้บริการประชาชนโดยรวมด้วย จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้แนวทางสมานฉันท์และให้โอกาสนายไชยาทำงานต่อไป


 


เฟ้นผู้เหมาะสมนั่ง ตลก.ศาลรธน.


เว็บไซต์ไทยรัฐ - เมื่อเวลา 10.00 น. วานนี้ (24 มี.ค.) ที่รัฐสภา ได้มีการประชุมคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีนายวิรัช ลิ้มวิชัย ประธานศาลฎีกา เป็นประธานในที่ประชุม เพื่อพิจารณาคุณสมบัติและประวัติเชิงลึกของผู้สมัครเป็นตุลาการฯทั้ง 21 คน โดยได้เชิญเจ้าหน้าที่ออกจากห้องประชุม เพื่อประชุมลับ คณะกรรมการสรรหาฯเห็นตรงกันว่าข้อมูลที่ผู้สมัครกรอกไว้ รวมถึงข้อมูลที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งมาให้นั้นเพียงพอที่จะใช้ประกอบการตัดสินใจได้แล้ว จึงไม่เปิดให้ผู้สมัครได้แสดงวิสัยทัศน์เหมือนเช่นการสรรหาในอดีตที่ผ่านมา


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขานิติศาสตร์ ที่น่าจับตามองคือ นายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม ถือว่ามีบทบาทโดดเด่นในกระบวนการล้มระบอบทักษิณ แต่ได้มีผู้ร้องเรียนในคดีที่เคยมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องที่ดินมาในอดีต และนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ เคยเป็นพยานในชั้นศาล กรณีอดีต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยื่นฟ้อง น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีต บก.หนังสือพิมพ์แนวหน้า จากผลพวงคดีซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และยังเคยถูกคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาให้เข้าชิงตำแหน่ง กกต.มาแล้ว และอีกคนที่น่าจับตามองคือ นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มีความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญในสำนักงานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมานาน อีกทั้งยังเป็นอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550


 


ในส่วนผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์มีแคนดิเดตที่สำคัญคือ นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แม้มีภาพความใกล้ชิดกับกลุ่มพันธมิตรและ คมช. แต่กรรมการหลายคนยังให้การสนับสนุน นายสุพจน์ ไข่มุกข์ อดีตเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโปแลนด์ และอดีต ส.ส.ร.2550 นายวิสุทธิ์ โพธิแท่น อดีตกรรมการ ป.ป.ช.และ กกต. ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าตัวเก็งส่วนใหญ่ ล้วนเป็นกลุ่มบุคคลที่ไม่เห็นด้วยและวิพากษ์วิจารณ์ ระบอบทักษิณมาโดยตลอด ทั้งนี้ คณะกรรมการสรรหาฯได้นัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 25 มี.ค.นี้ เวลา 09.30 น. เพื่อลงมติคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์จำนวน 2 คน และผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่นอีก 2 คน โดยผู้ที่ได้รับเลือกต้องได้รับคะแนน 2 ใน 3 คือต้องได้ 3 คะแนนขึ้นไป จากคณะกรรมการสรรหา 4 คน คือ นายวิรัช นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน ขณะนี้นายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ได้ถอนตัวจากการเป็นกรรมการสรรหาฯ จากนั้นจะส่งให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบต่อไป


 


"อ.โต้ง" เชื่อ รัฐเร่งแก้รธน.อยู่ไม่ครบเทอมแน่


เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ - วานนี้ (24 มี.ค.) นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ส.ส.ระบบสัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ เชื่อการเตรียมแก้รัฐธรรมนูญของรัฐบาล เพื่อประโยชน์ของพรรคพลังประชาชน พร้อมยืนยันไม่เชื่อนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จะอยู่ครบวาระ


 


นายเทพไท เสนพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เชื่อว่า การเตรียมแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 237 ของรัฐบาลมีวาระซ่อนเร้น แนะให้ทำการลงประชามติก่อน เพราะเกรงว่านำไปสู่วิกฤตทางการเมือง


 


ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะได้บอกกับประชาชนไว้ตั้งแต่การหาเสียง ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วยคงไม่เลือกมาเป็นรัฐบาล และเห็นว่า กลุ่มบุคคลที่ออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นพวกสิ้นสภาพทางการเมือง อายุมากแล้วควรอยู่บ้านเลี้ยงหลาน ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ฝ่ายที่เห็นด้วยจะต้องพูดคุยกันว่าจะต้องแก้ไขในประเด็นใด และประเด็นที่เกี่ยวกับการยุบพรรคเป็นส่วนหนึ่งที่จะต้องนำมาหารือด้วย


 


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยังกล่าวฝากถึงการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ว่า ควรพูดน้อยและทำงานไป เพราะหากช่างพูดจะทำให้ถูกมองว่าชี้นำในเรื่องการพิจารณาคดียุบพรรค เพราะ กกต.เป็นผู้มีอำนาจ


 


วิปรัฐบีบพรรคร่วมแก้รัฐธรรมนูญ ม.237


เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ - รัฐบาลที่มีพรรคพลังประชาชน เป็นแกนนำได้มีความเห็นรวมกันแล้วว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 237 โดยวานนี้ (24 มี.ค.) นายชัย ชิดชอบ ประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมรัฐบาล เปิดเผยหลังการประชุม ว่า ทุกพรรคการเมืองมีความเห็นสอดคล้องกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส. ส.ว. และพรรคการเมือง ซึ่งจะเสนอแก้ไขในเร็วๆ นี้ และมีความจำเป็นแก้ไขเพื่อให้องค์กรอิสระคือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีทางออก


 


นายชัย อ้างถึงกรณีที่นายสุเมธ อุปนิสากร กตต.ระบุว่าเรื่องยุบพรค มีทางออกเพียงทางเดียว คือส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ดังนั้น หากแก้รัฐธรรมนูญ กกต.ก็จะมีทางออกได้ นอกจากนั้นคงจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และประชาธิปไตยเดินหน้า ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน ยืนยันว่าเราไม่มีเจตนาที่จะแตะต้องอะไรมากมายในกฎหมายรัฐธรรมนูญ


 


เมื่อถามว่า เหตุใดวิปรัฐบาลจึงกล้าเสี่ยงที่จะเร่งแก้ มาตรา 237 เพราะจะโดนต่อต้านว่าต้องการหนีคดียุบพรรค นายชัย กล่าวว่า วิปฯ ได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว เรื่องนี้เป็นการทำให้ กกต.มีทางออกเพราะมันตัน


 


ต่อข้อถามว่ากรณีนี้เป็นเรื่องที่นักการเมืองทำผิด ทำไมไม่ดูที่ฝ่ายการเมือง แต่ไปหาทางออกโดยการแก้รัฐธรรมนูญ นายชัย กล่าวว่า กรณีที่บุคคลทำความผิดต้องว่าไปตามกฎหมาย แต่ไม่ใช่พรรคไปทำผิด เทียบกับกรณีการปล้น หากตัวบุคคลไปกระทำผิด และมีการลดหย่อนเป็นลักทรัพย์ก็สามารถรอลงอาญาได้ เราจะหาทางออกไว้สำหรับอนาคตข้างหน้า และถึงแม้ว่าทั้ง 3 พรรคร่วม จะไม่เจอคดียุบพรรค ก็หยิบยกเรื่องแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะเคยมีกรณียุบพรรคไทยรักไทยอยู่แล้ว ทำให้สมาชิกต้องว้าเหว่ และรัฐธรรมนูญมีมาก่อนแล้ว ดังนั้น ไม่ใช่ทำเพื่อช่วย 111 คน แต่ทำเพื่อความสมานฉันท์และเป็นธรรมกับทุกฝ่ายเพื่อช่วยอนาคตของประเทศ


 


ทั้งนี้ เชื่อว่าต้องมีแรงต้านในการเร่งแก้ไขอย่างหนักแน่นอน แต่เราทำให้ถูกใจทุกคนไม่ได้ ส่วนเกมในสภาในการแก้ก็คงไม่หนัก เพราะเราไม่ได้ทำให้เฉพาะพรรคพลังประชาชน ซึ่งการพิจารณายุบพรรคก็อาจจะเสร็จก่อน


 


นายสามารถ แก้วมีชัย กรรมการและเลขานุการวิปรัฐบาล แถลงว่า จะมีการศึกษาประเด็นอื่นๆ ที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติมด้วย ทั้งนี้วิปฯ ได้มอบหมายให้วิปฯ ร่วมรัฐบาลไปยกร่างแก้ไขมาตรา 237 กลับมาให้วิปฯ พิจารณาได้ในสัปดาห์หน้า หากวิปฯ ให้ความเห็นชอบ ก็จะนำไปบรรจุเป็นระเบียบวาระการประชุมสภาต่อไป ทั้งนี้ที่ประชุมวิปฯได้มอบหมายให้วิปฯร่วมรัฐบาลไปยกร่างแก้ไขในมาตรา 237 ก่อนกลับมาให้วิปฯพิจารณาในสัปดาห์หน้า หากวิปฯเห็นชอบก็จะนำไปบรรจุเป็นระเบียบวาระการประชุมสภาต่อไป ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในช่วงเดือน ส.ค.ก่อนหมดวาระสมัยประชุมสามัญฯ


 


นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานวิปฯ กล่าวภายหลังการประชุมว่า วิปฯ ได้มอบหมายให้ตัวแทนพรรคร่วมที่อยู่ในวิปฯ ไปคุยกันในแต่ละพรรค เพื่อสรุปว่าควรจะแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นใดบ้าง ส่วนจะมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ ในสมัยประชุมหน้าหรือไม่นั้น ยังไม่ได้พูดกันให้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องใด ซึ่งพรรคร่วมทั้ง 6 พรรค ก็เห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกันหมด ไม่มีใครคัดค้าน


 


นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาการบังคับใช้ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 กล่าวว่า กระบวนการที่รัฐบาลจะทำวันนี้ จะทำให้เกิดวิกฤติในบ้านเมือง เพราะภาพชัดเจนว่ามุ่งจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อหลีกหนีการถูกยุบพรรค เขาว่าไปไม่ได้ เพราะเป็นภาพที่ชี้ให้เห็นว่า พรรคการเมืองและนักการเมือง สมคบกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ของตนเองเท่านั้น วันนี้ไม่คิดว่ารัฐธรรมนูญ จะเป็นปัญหาให้เกิดทางตันในบ้านเมือง แต่เป็นการบิดเบือนกันทั้งนั้น



"ผมเป็นห่วงว่าเรื่องนี้จะกลายเป็นชนวนที่ทำให้เกิดการแบ่งฝ่ายตามมา และการรวมตัวของกลุ่มพันธมิตรที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็อาจจะมีปัญหาได้ เพราะวันนี้พันธมิตรฯก็ประกาศแล้วว่าไม่ยอมให้มีการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง ดังนั้น ถ้ารัฐบาลปล่อยให้เกิดปัญหาขึ้นอีก ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะควรช่วยกันประคับประคองบ้านเมือง ไม่ใช่เอาประเด็นแก้รัฐธรรมนูญมาเป็นเชื้อเพลิง ทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลง"


 


"ชลิต" ติงเร็วเกินไปที่จะแก้รธน.


เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ - ด้านพล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ และอดีตรักษาการประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) กล่าวถึงกรณีที่พรรคพลังประชาชน เสนอให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ ว่า การแก้ไขนั้นต้องเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมทั้งประเทศและเพื่อชาติ ไม่ใช่เพื่อกลุ่มคนเล็กๆ ที่จะดำเนินการต่างๆ ได้ ต้องคำนึงภาพรวมของประเทศ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด


 


เมื่อถามว่า การเสนอแก้รัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้มีการยุบพรรคการเมือง พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มองถึงผลประโยชน์ว่าเพื่อใครอย่างไร ประชาชนต้องติดตาม หากเป็นการทำเพื่อประโยชน์ภาพรวมพัฒนาประชาธิปไตยให้เกิดความยุติธรรม ก็สามารถทำได้โดยไม่น่าทักท้วง แต่หากทำเพื่อประโยชน์คนกลุ่มเล็กกลุ่มหนึ่ง เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งประชาชนทุกคนมีสิทธิทักท้วงและเสนอแนะทุกเรื่อง ส่วนเหมาะสมหรือไม่ที่จะแก้รัฐธรรมนูญนั้น เราเพิ่งเริ่มใช้รัฐธรรมนูญมาไม่นาน ส่วนการเคลื่อนไหวคัดค้าน หากให้คำตอบกับประชาชนได้ก็สมควร แต่หากให้คำตอบประชาชนไม่ได้ก็ไม่เหมาะสม


 


เมื่อถามว่า รัฐบาลไม่ทำประชาพิจารณ์แก้รัฐธรรมนูญถือเป็นข้อเสนอของประชาชนได้อย่างไร พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า หากประชาชนในประเทศบอกว่าควรทำประชาพิจารณ์ก็ต้องทำ ไม่ใช่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งสั่งการให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนการเสนอแก้มาตรา 237 นั้นเขายังไม่มีความเห็น


 


เมื่อถามว่า หากมีการยุบพรรคจะทำให้รัฐบาลบริหารงานไม่ได้แล้วประเทศชาติเป็นอย่างไร พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า ประเทศไทยไม่สิ้นคนดี เรามีประชากรถึง 60 ล้านกว่าคน


 


เมื่อถามว่า เหตุใดจึงมีคนมองว่า คมช.อยู่เบื้องหลังการเมืองขณะนี้ พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า คมช.จบไปนานแล้ว ทั้งนี้ ไม่รู้ว่าเหตุใดจึงกลัวการยุบพรรค เพราะเป็นเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมาย และ คมช.ไม่ต้องการยุบใคร กฎหมายที่ปฏิบัติใช้ก็ไม่ได้จ้องเอาผิดพรรคใด แต่เมื่อมีกลุ่มคนทำผิดกฎหมายก็ต้องถูกดำเนินคดี ทั้งนี้ ยืนยันว่าคมช.ไม่ได้อยู่เบื้องหลัง ซึ่ง กกต. ป.ป.ช. ปปง. และ คตส.เป็นคนที่มีคุณวุฒิ อายุขนาดนี้ไม่มีใครบังคับท่านได้ ยังไม่เห็นมีใครไปบังคับท่านได้ บางครั้งคนเราไม่โทษตัวเอง แต่โทษคนอื่น


 


เมื่อถามว่า เหตุใดคนยังระแวง คมช.เป็นเพราะยังไม่คายอำนาจหรือไม่ พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า สื่อพิจารณาได้ว่า คมช.มีอำนาจจริงหรือไม่ หรือทำอะไรอยู่ ขณะนี้ทุกคนใน คมช.ปฏิบัติหน้าที่ของ ผบ.เหล่าทัพ ไม่มีใครไปยุ่งวุ่นวาย ส่วนคนที่ระแวงอยู่นั้น ไม่ทราบ


 


"จักรภพ" ยันไม่เคยคิดหมิ่นเบื้องสูง หลังถูกแจ้งจับ


เดลินิวส์ - วานนี้ (24 มี.ค.) พ.ต.ต.วัฒนศักดิ์ มุ่งกิจการดี พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางมด ช่วยราชการพนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน เดินทางเข้าพบ พ.ต.ต.จตุพร งามสุวิชชากุล พนักงานสอบสวนกองปราบปราม เพื่อให้ดำเนินคดีกับนายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ข้อหาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ จากกรณีเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2550 นายจักรภพได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย มีเนื้อหาว่า "ตนอยากให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยแบบไม่มีพระมหากษัตริย์"


 


ทั้งนี้ พ.ต.ท.วัฒนศักดิ์ ได้นำหลักฐานเป็นดีวีดีคำให้สัมภาษณ์ของนายจักรภพ และคำถอดความจากภาษาอังกฤษ มายื่นเป็นหลักฐาน พร้อมกับกล่าวว่า การแจ้งความครั้งนี้ดำเนินการเป็นส่วนตัว ไม่ได้รับมอบหมายจากใคร


 


ด้าน นายจักรภพ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า เรื่องนี้ให้ถือว่าเรื่องสำคัญไม่ว่าใครจะแจ้งความก็ตามคนที่ถูกกล่าวหาจะต้องชี้แจง ซึ่งตนกำลังรวบรวมคำให้สัมภาษณ์และแผ่นซีดีที่เกิดขึ้นระหว่างการบรรยายในครั้งนั้น เพื่อมาดูว่ามีท่อนใดที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ในเบื้องต้นตนสามารถปฏิเสธได้ว่าไม่มีเจตนาจวบจ้วงเบื้องสูง เพราะฉะนั้นเป็นไปไม่ได้ที่ตนจะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยจงใจเจตนา ตนไม่มีเจตนาใดๆที่จะแสดงความคิดเห็นหรือพูดจาในทางที่เกี่ยวพันกับสถาบันระดับสูงในทางที่ไม่สมควร อย่าว่าแต่การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเลย  โดยไม่ต้องดู เพราะแม้แต่ในใจก็ไม่มี


          


นายจักรภพ กล่าวว่า ตนอยากตั้งข้อสังเกตว่าสัปดาห์นี้จะมีกลุ่มมวลชนหลายกลุ่มประกาศรวมพล โดยเฉพาะในวันที่ 28 มี.ค. นี้ รวมทั้งคนที่เคยมีบทบาทขัดแย้งกันมาก่อน


 


"โดยเฉพาะ สน.พหลโยธินก็เป็นที่น่าสนใจตรงที่ผู้กำกับ สน.พหลโยธิน คือ พ.ต.อ.อาคม จันทนราช ที่เมื่อปีที่แล้วยังเป็นพ.ต.ท.เป็นพนักงานสอบสวนคดี นปก.บุกบ้านสี่เสาร์เทเวศร์ ซึ่งก็ทำให้คิดขึ้นมาได้เหมือนกันว่านายตำรวจคนนี้  ที่เดิมอยู่ สน.บางมดก็บังเอิญไปช่วยราชการอยู่ที่ สน.พหลโยธิน คิดว่าการเคลื่อนไหวดำเนินกิจกรรมทางการเมืองจะไม่มีอิทธิฤทธิ์ทำให้การทำงานของรัฐบาลสะดุด แต่รัฐธรรมนูญนั้นมีผลแน่ ดังนั้นรัฐธรรมนูญถือเป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องตั้งวงในแต่ละสาขาเพื่อร่วมการแก้รัฐธรรมนูญอย่างเป็นระบบและขั้นตอน " นายจักรภพ กล่าว


 


ท้าไทยพีบีเอสแข่งเอ็นบีที จักรภพไม่เกี่ยงมีงบน้อยกว่า


ไทยรัฐ - นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างการพบปะสื่อมวลชน ที่หอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ ภายหลังเป็นประธานเปิดงานแถลงข่าวเปิดสถานีโทรทัศน์ NBT ที่สตูดิโอใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ถนนวิภาวดีรังสิต ถึงการทำงานในอนาคต วานนี้ (24 มี.ค.) ว่า หลังจากปรับปรุงสถานีโทรทัศน์ NBT เรียบร้อยแล้ว จะเข้าไปดูแลงาน บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)  แม้ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จะเป็นบริษัทมหาชน ตนก็จะเข้าไปดูด้านนโยบาย อาทิ เรื่องรายได้ เพราะผลประกอบการเมื่อเดือน ม.ค.ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)  เมื่อหักค่าสัมปทาน สถานีโทรทัศน์ ช่อง 3 อสมท กับ UBC ไปแล้ว พบว่าบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ขาดทุน 27 ล้านบาท ตนจึงอยากจะเข้าไปคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้น


 


รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อประเด็นจะเข้าไปดูแลสถานีโทรทัศน์  TPBS ด้วยหรือไม่ ว่า ยังไม่มีนโยบายเพราะสถานีโทรทัศน์ TPBS มีกฎหมายและภาษีที่ดูแลตัวเอง จึงเหมือนตัดสายสัมพันธ์กับรัฐบาลไปหมด ตนจึงอยากให้ประชาชนตัดสินทีวีสาธารณะด้วยตัวเอง และการที่ยกระดับสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์  เป็น สถานีโทรทัศน์ NBT ถือเป็นสื่อสาธารณะเช่นกัน  ต้องมีการแข่งขันอย่างสร้างสรรค์ เสนอรายการดี ๆ ให้ประชาชนตัดสินอย่าลืมว่าสถานีโทรทัศน์  TPBS มีงบเกือบ 2,000 ล้านบาทต่อปี แต่ สถานีโทรทัศน์ NBT มีงบ 200 ล้านบาทต่อปีแต่ตนก็จะตั้งใจปรับปรุงให้มีการแข่งขันอย่างสร้างสรรค์ของทั้ง 2 ช่อง


 



 







ความมั่นคง


"พูโล" ส่งสารปฏิเสธ เจรจายุติเหตุรุนแรงใต้กับไทย อ้างรบ. "ปลูกฝัง" เงื่อนไขสงครามจบยาก มติชน - สำนักข่าวเอพีรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 มี.ค. นายลุคมัน บี. ลิม่า ผู้นำองค์การปลดปล่อยสหปัตตานี (พูโล) ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อแบ่งแยกดินแดนภาคใต้ของไทยที่อยู่ระหว่างลี้ภัยการเมืองอยู่ในสวีเดน ได้ส่งแถลงการณ์ผ่านทางระบบอี-เมล มายังสำนักข่าว ปฏิเสธที่จะเปิดการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลไทยเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอ้างว่า ทางการได้ 'ปลูกฝัง' เงื่อนไขสงครามขึ้นมาจนทำให้สภาวการณ์ไม่สามารถนำไปสู่การยุติเหตุรุนแรงที่เป็นอยู่ได้


 


นายลุคมัน ระบุไว้ในแถลงการณ์ดังกล่าวว่า 'เราต้องการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นผ่านวิธีการสันติ ด้วยกรรมวิธีที่ศิวิไลซ์ โดยปราศจากการนองเลือดและการทำลายล้างชีวิต แต่การเจรจาสันติภาพไม่อาจเกิดขึ้นได้ภายใต้สภาวการณ์ที่เต็มไปด้วยเงื่อนไขของสงคราม มีปฏิบัติการการรุกทางทหารและการเข้าไปยึดครองพื้นที่' นอกจากนั้นผู้นำขบวนการพูโลยังชี้ด้วยว่า การเจรจาดังกล่าวหากเกิดขึ้นก็ควรจะดำเนินไปโดยมีตัวกลางหรือผู้ไกล่เกลี่ยในระดับนานาชาติร่วมอยู่ด้วย


 


ถ้อยแถลงครั้งนี้มีขึ้นต่อเนื่องจากการยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลชุดใหม่ก่อนหน้านี้ ซึ่งนายลุคมัน เรียกร้องให้รัฐบาลถอนกำลังทหารออกมาและยอมรับรองอำนาจอธิปไตยของจังหวัดในภาคใต้ อันเป็นการตอกย้ำท่าทีที่ยึดถือมายาวนาน แต่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กล่าวเมื่อเดือนที่ผ่านมาระบุว่า ปฏิเสธข้อเรียกร้องโดยระบุว่าเป็นการเสี่ยงอันตรายเกินไปที่จะดำเนินการดังกล่าว และยังคงยืนกรานใช้แนวนโยบายแข็งกร้าวตามแนวทางของรัฐบาลชุดเดิมของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเอพีระบุว่าถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าช่วยกระพือให้ความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ทวีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา


 


เอพีตั้งข้อสังเกตว่า พูโล เป็นเพียงหนึ่งในองค์กรจัดตั้งหลายกลุ่มที่เคลื่อนไหวเพื่อแยกตัวเป็นอิสระออกจากการปกครองของไทยมาเป็นเวลายาวนาน และไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ถ้อยแถลงของนายลุคมันเป็นแนวทางเดียวกันกับแนวทางของกลุ่มที่เคลื่อนไหวก่อความไม่สงบอยู่ในเวลานี้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม พูโลเป็นเพียงกลุ่มเดียวที่ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ทางภาคใต้ของไทยตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา


 








คุณภาพชีวิต


สธ.ยันไข้หัดแมวไม่ติดคน


เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ - วานนี้ (24 มี.ค.) นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงเหตุการณ์ แมวในหมู่บ้านชะไว ต.ชะไว อ.ไชโย จ.อ่างทอง ตายเป็นจำนวนมาก ว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า มีแมวป่วยตาย 50-60 ตัว ด้วยอาการซึม อาเจียน ถ่ายเป็นเลือด และเสียชีวิตในเวลา 2-3 วัน โดยเป็นแมวในบ้านเดียวกันจำนวนหลายหลังคาเรือน บางบ้านมีจำนวนถึง 18 ตัว สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอ่างทองสันนิษฐานจากอาการเบื้องต้นว่า คล้ายหวัดแมว จึงเก็บซากแมวจำนวน 1 ตัว แมวป่วย 1 ตัว ส่งตรวจที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติแล้ว


 


อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดที่ทำให้แมวป่วยและตาย จึงขอให้ประชาชนระมัดระวัง ในการกำจัดซากแมวตายให้ถูกวิธี โดยการฝังและใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดบริเวณที่แมวตาย ดูแลแมวที่กำลังป่วยอย่างถูกวิธี ทำความสะอาดบริเวณบ้าน เก็บขยะสิ่งของ แยกเด็กเล็กให้อยู่บนบ้าน โดยเฉพาะเด็ก ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง ในช่วงนี้ขอให้อยู่ห่างจากแมวที่ป่วย ไม่ควรอุ้มแมวเล่นหรือเอาแมวไปนอนด้วย


 


ด้าน สัตวแพทย์หญิงอภิรมย์ พวงหัตถ์ นายสัตวแพทย์ 8 กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับแมวตายที่ จ.อ่างทอง น่าเกิดจากโรคไข้หัดแมวมากกว่าไข้หวัดแมว เพราะหากเป็นไข้หวัดแมวจะมีอาการปากอักเสบ น้ำมูก น้ำตาไหล และเหงือกอักเสบ แต่หากเป็นไข้หัดจะมีอาการท้องเสีย มีอุจระเป็นมูกเลือดร่วมด้วย ดังนั้นกรณีนี้คาดว่าน่าจะเป็นโรคไข้หัดแมว เพราะแมวป่วยและตายอย่างรวดเร็ว แต่ทั้งนี้คงต้องรอผลจากห้องปฏิบัติการที่จะออกมาในวันพรุ่งนี้ ขอให้ประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนก เพราะไม่ติดต่อจากแมวมาสู่คน เนื่องจากเป็นเชื้อคนละสายพันธุ์


 


พศ.กุมขมับพบจำนวนพระ - เณรลดฮวบ


ไทยรัฐ - นายอำนาจ บัวศิริ ผอ.สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) บรรยายพิเศษสถานการณ์พระภิกษุสามเณรในประเทศไทยว่า การดำเนินงานของพระวินยาธิการเมื่อพบพระสงฆ์ที่ประพฤติไม่เหมาะสม จำเป็นจะต้องได้รับการสนับสนุนจากท้องถิ่นด้วย โดยตนหารือกับทางสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด (พศจ.) หลายแห่งแล้วว่า จะมีการบันทึกข้อตกลงกับทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกแห่ง และสถานีตำรวจภูธรในแต่ละจังหวัด เพื่อสนับสนุนการทำงานของพระวินยาธิการ  โดยสำรวจพระสงฆ์ ที่มีอาจารไม่สมควรแก่สมณวิสัยในปี 2550 พบมีพระที่มีอาจารไม่สมควรแก่สมณวิสัย 290ราย 


 


นายอำนาจกล่าวต่อว่า สถานการณ์จำนวนพระภิกษุสามเณรในประเทศในภาพรวมมีความน่าเป็นห่วงมาก เพราะจากผลการวิจัยของนายชาญณรงค์ บุญหนุน จากภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เรื่องแนวโน้มจำนวนและคุณภาพของพระสงฆ์ในชนบทของประเทศไทย เมื่อปลายปี 2550 ซึ่งผลการวิจัยระบุว่า มีจำนวนพระสงฆ์ทั่วประเทศเพียง 125,000 รูป และมีสามเณรเพียงประมาณ 60,000 รูปเท่านั้น ซึ่งผิดจากข้อมูลที่สำนักงานพระพุทธศาสนาฯสำรวจไว้ว่า มีจำนวนพระภิกษุสามเณรรวม 313,267 รูป ทั้งนี้ผลวิจัยระบุด้วยว่า สาเหตุที่มีจำนวนพระภิกษุสามเณรน้อยลงนั้น เพราะเกิดมาจากประชาชนนิยมศึกษาทางโลก


 


"ผลวิจัยยังพบว่าบางวัดมีพระสงฆ์อยู่ 20 รูป แต่มีพระที่เป็นพระจริงๆ ไม่ใช่พระที่บวชระยะสั้นเพียง 4 รูปเท่านั้น และที่เชื่อกันว่าประเทศไทยมีพระภิกษุสามเณรกว่า 300,000 รูปนั้น ไม่เป็นความจริง โดยสาเหตุหลักของการที่มีคนบวชน้อยลงมาจากคนนิยมเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มากกว่าโรงเรียนพระปริยัติธรรม อีกทั้งสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ยังทำให้คนนิยมบวชระยะสั้นแบบ 3 วัน 7 วัน" ผอ.สำนักเลขาธิการมหาเถรฯ กล่าว


 







ต่างประเทศ



"แนวร่วมภูฏาน" กวาดที่นั่งส.ส. ชนะคู่แข่งถล่มทลาย


ไทยรัฐ - สำนักข่าวต่างประเทศรายงานวันนี้ (25 มี.ค.) ว่า การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศภูฏานในการเปลี่ยนประเทศภูฏานให้เป็นประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ ยุติระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยาวนานถึง 100 ปี ปิดฉากลงเมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา 


 


รายงานระบุว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ มีผู้ออกมาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงสูงถึงร้อยละ 79 จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 318,000 คน โดยเฉพาะที่กรุงทิมพู มีผู้ออกมาต่อแถวลงคะแนนกันอย่างยาวเหยียดในช่วงที่ใกล้จะปิดหีบ เมื่อเวลา 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือตรงกับ 18.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย


 


รานงานระบุต่อว่า การเลือกตั้งทั่วไปหนนี้ เป็นการแข่งขันกันระหว่าง 2 พรรคการเมือง ที่มีนโยบายคล้ายๆ กัน คือ มุ่งหวังให้เศรษฐกิจขยายตัว รวมถึงการสร้างถนนและระบบโครงสร้างพื้นฐานอื่น และการสานต่อพระราชประสงค์ขององค์กษัตริย์ ที่ต้องการเน้นหนักในเรื่องความสุขของประชาชนมากกว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ


 


รายงานระบุด้วยว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งภูฏาน เปิดเผยผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ว่า พรรคแนวร่วมภูฏาน หรือ ดีทีพี ที่มีความใกล้ชิดกับราชวงศ์มากที่สุด ชนะการเลือกตั้งที่จัดขึ้น กวาดที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรไปได้ถึง 44 ที่นั่ง จากทั้งหมด 47 ที่นั่ง ถือว่าเป็นชัยชนะอย่างถล่มทลาย ทำให้ 3 ที่นั่งที่เหลือในสภาผู้แทนราษฎร ตกเป็นของพรรคประชาธิปไตยประชาชน หรือ พีดีพี คาดว่าจะมีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในเช้าวันอังคารนี้

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net