Skip to main content
sharethis


นายพลวิรันโต (Wiranto) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในปี 1998


 


อรอนงค์ ทิพย์พิมล


 


สองประโยคที่ผู้เขียนยกมาเป็นคำพูดของผู้นำคนสำคัญในประเทศไทยและอินโดนีเซียต่อเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญยิ่งสองเหตุการณ์ในประเทศทั้งสอง ประโยคแรกคงไม่ต้องอธิบายมากว่าคนกล่าวคือ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของไทย นายสมัคร สุนทรเวช ที่ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่ถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาว่า มีคนเสียชีวิตแค่คนเดียวในเหตุการณ์ดังกล่าว 


 


ส่วนประโยคหลังเป็นคำกล่าวของนายพลวิรันโต (Wiranto) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในปี 1998 ที่กล่าวว่า "เนื่องจากไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน ดังนั้นไม่เชื่อว่ามีการข่มขืนเกิดขึ้นจริง" ในเหตุการณ์จลาจลในกรุงจาการ์ตาและเมืองใหญ่ๆ ในช่วงวันที่ 13-15 พฤษภาคม 1998 ก่อนที่อดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตจะประกาศลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 21 พฤษภาคม 1998 ไม่กี่วัน


 


เหตุการณ์จลาจลดังกล่าวระเบิดขึ้นเมื่อมีการยิงนักศึกษามหาวิทยาลัยตรีศักติ (Universitas Trisakti) เสียชีวิต 4 คน เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 1998 ในระหว่างการเดินขบวนของกลุ่มนักศึกษากลับเข้ามหาวิทยาลัยหลังจากล้มเหลวในการเจรจาต่อรองกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กลุ่มนักศึกษาต้องการเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อกดดันให้ซูฮาร์โตลาออก แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้เดินทางผ่านไปได้ (เนื่องจากกฎหมายในยุคนั้น กำหนดว่านักศึกษาสามารถทำการชุมนุมได้เฉพาะในเขตรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น หากฝ่าฝืนเดินขบวนออกไปจะเป็นการผิดกฎหมายและจะถูกดำเนินคดี แต่อย่างไรก็ตามมีความพยายามที่จะเดินขบวนอยู่หลายครั้งในหลายที่ และทุกครั้งมักจะจบลงด้วยการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ) กลุ่มนักศึกษาก็ตัดสินใจเดินทางกลับเข้ามหาวิทยาลัย ในช่วงระหว่างนั้นได้มีกลุ่มติดอาวุธไม่ทราบที่มาใช้อาวุธปืนยิ่งใส่กลุ่มนักศึกษาเป็นเหตุให้นักศึกษาเสียชีวิตในที่เกิดเหตุทันที 4 ราย


 


การชุมนุมประท้วงและเรียกร้องให้ซูฮาร์โตลาออกนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1997 และดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปี 1998 จุดเริ่มต้นของการปะท้วงคือการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในอินโดนีเซีย และรัฐบาลไม่สามารถจัดการรับมือกับวิกฤตนั้นได้ ประกอบกับมีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1997 และซูฮาร์โตก็ได้รับการรับรองจากสภาให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่ออีกหนึ่งสมัยท่ามกลางเสียงคัดค้านจากนักศึกษา นักวิชาการและประชาชนจำนวนมากที่เห็นว่าซูฮาร์โตหมดความชอบธรรมในการบริหารบ้านเมืองอีกต่อไป จากข้อกล่าวหาในเรื่องคอรัปชั่น, การเอื้อพวกพ้อง และการใช้อำนาจเผด็จการเป็นฐานในการค้ำจุนบัลลังก์


 


หลังจากสังหารนักศึกษาทั้งสี่แล้ว การจลาจลแบบไร้การควบคุมและปราบปรามก็เกิดขึ้นทั่วเมืองหลวงและตามเมืองใหญ่ๆ มีการปล้นสดมภ์ร้านค้าและทำลายทรัพย์สินซึ่งส่วนมากเป็นของพ่อค้าและนักธุรกิจเชื้อสายจีน มีการทำร้าย ฆ่า และข่มขืนผู้หญิงโดยเฉพาะหญิงชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีนเป็นจำนวนมาก ความรุนแรงของเหตุการณ์และภาพที่มีคนถ่ายไว้ได้ ได้ถูกเผยแพร่โดยเฉพาะทางอินเตอร์เน็ตไปทั่วโลก ซึ่งก่อให้เกิดความช็อคต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีนที่ถูกทำร้าย ข่มขืนและฆ่าตายอย่างทารุณ


 


หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปไม่นาน ในดือนมิถุนายน 1998 มีการรายงานว่ามีการข่มขืนเกิดขึ้นในเหตุการณ์พฤษภาคมโดยกลุ่มองค์กรเอกชนหลายกลุ่ม เช่นกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า Tim Relawan Kemanusiaan (ทีมอาสาสมัครเพื่อมนุษยธรรม) ซึ่งตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นมาโดยเฉพาะ และประสานงานโดย Ita F. Nadia จากศูนย์กัลยาณมิตร (Kalyanamitra) เพื่อให้ความช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกข่มขืนทั้งทางด้านร่างกาย ฟื้นฟูสภาพจิตใจ และให้ความช่วยเหลือในด้านกฎหมาย


 


ต่อมาวันที่ 9 กรกฎาคม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติออกมาแถลงว่าควรมีการไต่สวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว และได้แสดงความกังวลต่อท่าทีของรัฐบาลที่เฉื่อยชาและเคลือบแคลงสงสัยต่อเหตุการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลยอมรับว่าเหตุการณ์รุนแรงดังกล่าวเกิดขึ้นจริง และรัฐบาลต้องออกมาขอโทษต่อเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายที่โดนทำร้ายในฐานะที่รัฐไม่สามารถปกป้องพลเมืองของรัฐได้


 


วันที่ 10 กรกฎาคม เนื่องจากแรงกดดันจากหลายฝ่าย รัฐบาลจึงได้แถลงยอมรับว่ามีการข่มขืนโดยแก๊งค์อันธพาลจริง และได้ประณามการกระทำดังกล่าว พร้อมกับตั้งคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้หญิงขึ้น


วันที่ 12 กรกฎาคม กลุ่ม Kowani ซึ่งเป็นกลุ่มผู้หญิงที่ได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มผู้หญิงของยุคระเบียบใหม่ เนื่องจากว่าเป็นกลุ่มที่ให้การสนับสนุนซูฮาร์โตในยุคที่เพิ่งขึ้นสู่อำนาจในตอนต้นระเบียบใหม่ และตลอดระยะเวลาของยุคซูฮาร์โต กลุ่ม Kowani นี้ก็ดำเนินตามนโยบายของรัฐด้วยความแข็งขันตลอดมา ก็ออกมาประณามการข่มขืนที่เกิดขึ้นเช่นกัน แม้ว่าจะถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ช้าเกินไปก็ตาม


 


วันที่ 13 กรกฎาคม กลุ่ม Tim Relawan Kemanusiaan ได้แถลงว่ามีผู้หญิงที่ถูกข่มขืนในเหตุการณ์จลาจลดังกล่าว 168 คน โดยเกิดในกรุงจาการ์ตา 152 ราย ซึ่งเป็นการข่มขืนที่เกิดขึ้นเหมือนเป็นการจงใจใช้ความรุนแรงและเป็นการกระทำแบบเป็นระบบมีการวางแผนไว้ก่อน ผู้ก่อเหตุมักเป็นกลุ่ม ซึ่งไม่ใช่คนในท้องถิ่น และมีการกระทำทารุณกรรมต่อเหยื่ออย่างโหดเหี้ยม โดยมีหลักฐานคือภาพถ่ายจำนวนมาก


 


ในตอนแรกแถลงการณ์ดังกล่าวไม่ได้รับการตอบสนองจากผู้มีอำนาจรัฐ ฝ่ายตำรวจปฏิเสธว่าไม่น่าจะมีการข่มขืนเกิดขึ้น เนื่องจากว่าไม่มีรายงานมาถึง และไม่มีใครมาแจ้งความดำเนินคดีเลย  ซึ่งท่าทีของตำรวจ, ทหาร และรัฐมนตรีด้านกิจการสตรี Tutty Alawiyah เป็นไปในทางเดียวกัน คือไม่เชื่อว่ามีเหตุการณ์ข่มขืนเกิดขึ้น


 


ท่ามกลางการออกมาแถลงว่ามีการข่มขืนผู้หญิงในเหตุการณ์จลาจลดังกล่าวจากองค์กรต่างๆ ผู้นำกองทัพอินโดนีเซียและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม นายพลวิรันโตได้ออกมาแถลงว่าเนื่องจากไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน ดังนั้นเขาไม่เชื่อว่ามีการข่มขืนเกิดขึ้นจริง ท่าทีของวิรันโตยิ่งทำให้กลุ่มต่างๆ เพิ่มความสงสัยว่าทหารจะมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยกับการข่มขืนดังกล่าว


 


กลุ่มองค์กรเอกชนต้องพยายามที่จะอธิบายว่าการที่เหยื่อไม่กล้าไปแจ้งความนั้น เนื่องจากว่าผู้หญิงที่ถูกทำร้ายอยู่ในสภาพที่ชอกช้ำ และอับอายเกินกว่าจะไปแจ้งความ นอกจากนี้ยังมีผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อจากเหตุการณ์ดังกล่าวจำนวนมากยังได้หนีออกนอกประเทศไปพร้อมกับครอบครัว ในการอพยพออกนอกประเทศของชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีนจำนวนมากจากเหตุการณ์จลาจลดังกล่าว จำนวนตัวเลขผู้ที่อพยพออกนอกประเทศในช่วงเวลานั้นประมาณ 70,800 คน


 


วันที่ 15 กรกฎาคม ตัวแทนกลุ่ม Masyarakat Anti Kekerasan terhadap Perempuan (ประชาชนต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิง) เข้าพบประธานาธิบดีฮาบีบี ซึ่งประธานาธิบดีได้แสดงความเสียใจต่อการข่มขืนที่เกิดขึ้นและสัญญาว่ารัฐบาลจะเพิ่มความคุ้มครองสตรีให้มากขึ้นกว่าเดิม


 


แม้ว่าจะมีคำสัญญาจากประธานาธิบดี แต่กลุ่มสตรีต่างๆ ก็ยังไม่หยุดการเคลื่อนไหวที่จะกดดันรัฐบาลให้รีบเร่งดำเนินการไต่สวนหาข้อเท็จจริงต่อไป ในวันที่ 17 กรกฎาคม กลุ่มผู้หญิงจำนวนเป็นร้อยคนจากกลุ่ม Koalisi Perempuan Indonesia untuk Keadilan dan Demokrasi (แนวร่วมผู้หญิงอินโดนีเซียเพื่อความยุติธรรมและประชาธิปไตย) ไปเดินขบวนที่หน้ากระทรวงกลาโหม เรียกร้องให้ทหารอธิบายและแสดงความรับผิดชอบต่อเหยื่อที่ถูกข่มขืน กลุ่มผู้ประท้วงได้ถือป้ายที่มีข้อความว่า "ถ้าคุณทำร้ายผู้หญิงหนึ่งคน เท่ากับว่าคุณทำร้ายผู้หญิงทั้งหมด" "เราต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ" "อินโดนีเซีย, สาธารณรัฐแห่งความกลัว,  สาธารณรัฐแห่งความสยองขวัญ, สาธารณรัฐแห่งการข่มขืน"


 


เรื่องราวเกี่ยวกับการข่มขืนได้ถูกแพร่กระจายไปทั่วโลกในรูปแบบที่สร้างความสะเทือนอารมณ์แก่ผู้รับสาร ผ่านสื่อต่างๆ ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลอินโดนีเซียและเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการไต่สวนกรณีดังกล่าว จากกลุ่มคนเชื้อสายจีนทั่วโลก เช่น สิงคโปร์, ไต้หวัน, มาเลเซีย, ฮ่องกง, ฟิลิปปินส์, อเมริกา และจีนแผ่นดินใหญ่


 


ในขณะเดียวกัน ปฏิกิริยาในแง่ลบต่อรัฐบาลและประเทศอินโดนีเซีย ได้ไปกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาในกลุ่มมุสลิมบางกลุ่มภายในประเทศอินโดนีเซียเอง กลุ่มมุสลิมบางกลุ่มมองว่าข่าวที่แพร่ออกไปนั้นมีการเสริมเติมแต่งเกินความเป็นจริง และสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้ทำลายเฉพาะชื่อเสียงของประเทศเท่านั้น แต่ทำให้ภาพลักษณ์ของศาสนาอิสลามพลอยด่างพร้อยไปด้วย และกล่าวว่าการแต่งแต้มข่าวให้เกิดความจริงนี้เป็นการสมคบคิดกันทำลายอิสลาม กลุ่มอิสลามหัวรุนแรงที่ชื่อว่า Komite Indonesia untuk Solidaritas Dunia Islam (คณะกรรมการอินโดนีเซียเพื่อความเป็นปึกแผ่นของโลกอิสลาม) ได้ออกมาปฏิเสธไม่ยอมรับข่าวที่แพร่กระจายเกี่ยวกับการข่มขืน โดยอ้างว่าเป็นเพียงแผนที่ต้องการทำลายอิสลามและชาติอินโดนีเซียซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม


 


ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มผู้นำองค์กรอิสลามจำนวนหนึ่งได้ร่วมกันก่อตั้ง Liga Penegak Kebenaran dan Keadilan (สันนิบาตผู้ยึดมั่นความจริงและความยุติธรรม) เพื่อต่อต้านการกระทำของกลุ่มองค์กรเอกชน ที่พวกเขามองว่ากำลังทำลายชาติ ด้วยการเผยแพร่ "ข่าวลือ" เกี่ยวกับการข่มขืนเดือนพฤษภาคม


 


ส่วนผู้นำอิสลามอีกจำนวนหนึ่งเห็นว่าวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือต้องมีการไต่สวนด้วยกระบวนการทางกฎหมายและได้เสนอเรื่องนี้ต่อประธานาธิบดีในวันที่ 21 กรกฎาคม เนื่องจากว่ามีการเผยแพร่ข่าวโดย New York Times ซึ่งได้รายงานว่า "ผู้ก่อการข่มขืนได้พูดว่า "แกต้องถูกข่มขืน เพราะแกเป็นคนจีนและไม่ใช่มุสลิม"" ซึ่งก่อให้เกิดความกังวลใจในกลุ่มผู้นำอิสลามเป็นอย่างมาก และเห็นว่ารัฐต้องจัดการค้นหาข้อเท็จจริงอย่างเร็วที่สุด


 


ต่อมาวันที่ 23 กรกฎาคม รัฐบาลได้แต่งตั้ง Tim Gabungan Pencari Fakta (คณะไต่สวนหาข้อเท็จจริง) โดยมีตัวแทนจากรัฐบาล, ทหาร และกลุ่มองค์กรเอกชน ทั้งสิ้นจำนวน 19 คน เพื่อสืบสวนการจลาจลเดือนพฤษภาคม รวมถึงการข่มขืนที่เกิดขึ้นในเมืองจาการ์ตา, โซโล (Solo-ชวา), เมดาน (Medan-สุมาตรา), ลัมปุง (Lampung-สุมาตรา), สุราบายา (Surabaya-ชวา) และปาเล็มบัง (Palembang-สุมาตรา)  โดยมีกำหนดเวลาสามเดือนในการทำงานหาข้อเท็จจริง


 


ในช่วงเวลานั้น ในสังคมอินโดนีเซียก็มีการถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนระหว่างผู้นำคนสำคัญๆ และในกลุ่มประชาชนทั่วไปว่าเหตุกาณ์ข่มขืนเกิดขึ้นจริงหรือไม่จริง กลายเป็นประเด็นใหญ่ในสังคมอินโดนีเซีย


 


วันที่ 3 พฤศจิกายน คณะค้นหาข้อเท็จจริง ได้รายงานผลการไต่สวนว่ามีผู้หญิงอย่างน้อย 52 รายถูกข่มขืนจริงซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายจีน จากกลุ่มผู้ก่อการที่กระทำเป็นแก๊งค์และเป็นระบบ ซึ่งรายงานนี้ไปเชื่อมโยงกับกลุ่มทหารและบทบาทของพันเอกปราโบโว (Prabowo) บุตรเขยของซูฮาร์โตและดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองกำลังพิเศษในขณะนั้น ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์จลาจลและการข่มขืนที่เกิดขึ้น


 


การข่มขืนเดือนพฤษภาคม 1998 ได้กระตุ้นให้เกิดการถกเถียงอย่างกว้างขวางในสังคมอินโดนีเซียเกี่ยวกับประเด็นการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับผู้หญิง ตลอดจนการเหยียดเชื้อชาติในสังคมอินโดนีเซีย ซึ่งกรณีนี้ทำให้คนเริ่มตระหนักถึงการให้การศึกษาและเปลี่ยนทัศนคติต่อผู้หญิงและประเด็นเรื่องเชื้อชาติ


 


แต่อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องน่าประหลาดใจมากที่ทัศนคติต่อผู้หญิงจากประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในขณะนั้นคือ Dr. Baharuddin Lopa เขาแสดงความเห็นว่าเป็นเรื่องยากมากที่จะนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ และเขาได้เสนอทางเลือกให้แก่สังคมในการป้องกันตัวเองว่า "พ่อแม่จำเป็นต้องห้ามลูกสาวแต่งกายล่อแหลม" กลายเป็นว่าผู้หญิงเป็นฝ่ายผิดที่แต่งกายล่อแหลม ทำให้ผู้ชายเกิดอารมณ์ทางเพศเมื่อพบเห็นเข้าจนนำไปสู่การข่มขืนในที่สุด


 


นอกจากนี้ยังมีทัศนะจาก Eddy Noor ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางสังคม ได้ออกมากล่าวว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะให้ยอมรับว่ามีการข่มขืนเกิดขึ้นจริง เพราะมันไร้เหตุผลที่จะเชื่อว่าอวัยวะเพศชายสามารถแข็งตัวได้ในช่วงเวลาสับสนอลหม่านวุ่นวายดังเช่นในเหตุการณ์จลาจลเดือนพฤษภาคม ซึ่งสะท้อนวิธีคิดของเขาว่า เขาคิดว่าการข่มขืนเป็นเรื่องของความต้องการทางเพศอย่างเดียวเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นทัศนะของ Eddy Noor ได้รับการสนับสนุนจากศาสตราจารย์ด้านกฎหมาย Sofyan Aman ซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย Brawijaya เมืองมาลัง ชวาตะวันออก ที่เห็นว่ามันเป็นไปไม่ได้ทั้งในทางวิทยาศาสตร์และความเป็นเหตุเป็นผลที่ผู้ชายจะสามารถมีความต้องการทางเพศได้ในขณะที่เกิดการจลาจล และเห็นว่าคนที่เผยแพร่เรื่องการข่มขืนควรจะถูกสอบสวนเนื่องจากได้ทำลายชื่อเสียงของประเทศ


 


จวบจนกระทั่งปัจจุบันประเด็นเรื่องการข่มขืนผู้หญิงในเหตุการณ์จลาจลเดือนพฤษภาคม 1998 เกิดขึ้นจริงหรือไม่ ยังเป็นที่ถกเถียงเสมอในสังคมอินโดนีเซียเมื่อมีคนหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมากล่าวถึง


 


ทั้งหมดที่กล่าวมาคือตัวอย่างของปัญหาเรื่องความจริง, ความทรงจำและการแก้ปัญหาแบบอินโดๆ และเป็นแค่หนึ่งในหลายๆ เหตุการณ์ทางการเมืองอินโดนีเซียที่ยังมีข้อถกเถียงเรื่องความจำและความจริงและการจัดการกับความจริงโดยรัฐ ที่ยังไม่มีข้อสรุปง่ายๆ เป็นที่น่าสนใจและศึกษาต่อว่าสงครามความทรงจำที่เกิดขึ้นมันได้สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไหนในประเทศอินโดนีเซีย (และไทย)


 


ในปี 2004 มีการเลือกตั้งทั่วไปและเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงโดยประชาชนครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประเทศอินโดนีเซีย นายพลวิรันโตได้เป็นตัวแทนจากพรรคกอลคาร์ (Golkar) ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีด้วย แต่ผู้ที่รับชัยชนะคือนายพลซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน (Susilo Bambang Yudhoyono) เป็นเรื่องตลกกึ่งเศร้าที่คนซึ่งถือได้ว่า "มือเปื้อนเลือด" อย่างวิรันโตยังสามารถได้รับการสนับสนุนให้ลงชิงตำแหน่งที่สำคัญดังกล่าว และยังมีกลุ่มมวลชนที่ชื่นชอบเขาอยู่มากมาย


 


เมื่อได้ฟังข่าวการให้สัมภาษณ์ของสมัคร สุนทรเวช ว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีคนเสียชีวิตแค่คนเดียว ทำให้ผู้เขียนคิดถึงเหตุการณ์คล้ายๆ กันในอินโดนีเซียขึ้นมา ต่างกันตรงที่ว่าในอินโดนีเซียยังมีการตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงและได้มีการยอมรับอย่างเป็นทางการว่าเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง แม้ว่าจะยังไม่สามารถเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ก็ตาม และรายงานของคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงได้กลายเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญซึ่งได้ถูกอ้างอิงและนำไปอภิปรายโต้เถียงกันเสมอเมื่อมีการพูดถึงเหตุการณ์จลาจลเดือนพฤษภาคม 1998 ในอินโดนีเซีย


 


แต่สำหรับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นั้น สิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนไฟไหม้ฟาง ทั้งกลุ่มนักการเมืองและนักวิชาการที่พร้อมใจกันตีปี๊บต่อท่าทีของสมัครในวันแรกๆ ของเหตุการณ์ แล้วเรื่องก็เงียบหายไป อีกสิบปีข้างหน้า เราก็อาจจะยังคงได้ยินว่า "ควรมีการชำระประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 กันเถอะ"


 


หมายเหตุ: ตอนแรกผู้เขียนคิดจะใส่ภาพประกอบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อยืนยันว่าสิ่งที่ผู้นำกองทัพอินโดนีเซียกล่าวว่าไม่มีการข่มขืนเกิดขึ้นนั้นมันไม่จริง แต่รู้สึกว่าภาพที่มีโหดร้ายเกินไป และเกรงว่าจะเป็นการข่มขืนผู้หญิงเหล่านั้นซ้ำสอง จึงตัดสินใจไม่มีรูปประกอบสำหรับบทความนี้ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ในเว็บไซด์ที่ให้บริการค้นหาข้อมูลได้ทั่วไป 


 


 


 


ข้อมูลประกอบการเขียนบทความ


Elizabeth Fuller Collins, "Indonesia: A Violent Culture?", Asian Survey, Vol. 42, No. 4, The Legacy of Violence in Indonesia. (Jul.-Aug., 2002), pp. 582-604.


 


Jemma Purdey, "Problematizing the Place of Victims in Reformasi Indonesia: A Contested Truth about the May 1998 Violence", Asian Survey, Vol. 42, No. 4, The Legacy of Violence in Indonesia. (Jul.-Aug., 2002), pp. 605-622.


 


Leo Suryadinata, "Chinese Politics in Post-Suharto"s Indonesia: Beyond the Ethnic Approach?", Asian Survey, Vol. 41, No. 3, (May-Jun., 2001), pp. 502-524.   


 


Lowe Dittmer, "The Legacy of Violence in Indonesia", Asian Survey, Vol. 42, No. 4, The Legacy of Violence in Indonesia. (Jul.-Aug., 2002), pp. 541-544.


 


Susan Blackburn, "Gender Violence and the Indonesian Political Transition", in Asian Studies Review, Vol. 23, No. 4 December 1999, pp. 432-448.


 


Susan Blackburn. Women and the State in Modern Indonesia. Cambridge, U.K.: Cambridge University Press, 2004.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net