Skip to main content
sharethis

พ.ร.บ.มช.-ลาดกระบัง ผ่าน กมธ.วิสามัญแล้ว คาดผ่านภายใน 20 ธ.ค. นี้


นายวิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าววานนี้ (6 ธ.ค.) ถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัย ว่าที่ประชุมกรรมาธิการวิสามัญได้มีการพจารณาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัย 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีเทคโนโลยพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าทั้ง 2 แห่งได้ผ่านขั้นตอนของ กมธ.วิสามัญฯ เรียบร้อยแล้ว ต่อไปคือการรอการบรรจุเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2-3 คาดว่าไม่น่าจะเสร็จสิ้นเกินวันที่ 20 ธ.ค.นี้


 


รมว.ศธ.กล่าวต่อว่า ในขั้นตอนการพิจารณาของ กมธ.วิสามัญฯ ร่าง กม.ทั้งสองฉบับไม่มีข้อขัดแย้งใด ๆ ส่วนร่าง พ.ร.บ.มช.ขอให้มีการทบทวนเรื่องกรอบระยะเวลาในการบังคับใช้กฎหมาย เช่นหากต้องมีการตัดสินใจว่าจะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือเป็นข้าราชการต่อไป จากเดิมกำหนดให้เพียง 90 วัน เพิ่มเป็น 120 วัน เป็นต้น ทั้งนี้เรื่องกรอบระยะเวลาดังกล่าวใช้เฉพาะของมช.เท่านั้น เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยมีข้อกำหนดที่แตกต่างกันส่วนกรณีที่ก่อนหน้านั้นมีนักศึกษาออกมาเรียกร้องคัดค้านร่าง พ.ร.บ.มช.นั้น ปัญหาดังกล่าวทาง มช.ได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นกันภายในมหาวิทยาลัย โดยได้ข้อสรุปและนำเสนอต่อ กมธ.เรียบร้อยแล้ว


 


ไม่ซีเรียสกลุ่มต้าน พ.ร.บ.จุฬาฯ


รมว.ศธ.กล่าวต่อว่า ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 7 ธ.ค.จะเชิญผู้แปรญัตติทั้ง 6 คน มาชี้แจงต่อ กมธ.โดยประเด็นที่น่าสนใจ เช่นเรื่องการบริหารจัดการทรัยพย์สินของจุฬาฯ และเรื่องอื่น ๆ อีกส่วนความเคลื่อนไหวจากกลุ่มผู้คัดค้านร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ นั้นถือว่าเป็นสิทธิทางกม.ที่จะทำได้


 


"เรื่องคนจุฬาฯ คัดค้านผมไม่ได้มีความรู้สึกอะไร กมธ.พยายามจะทำหน้าที่ให้เสร็จสิ้นในขั้นตอนตามข้อบังคับซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นของการแปรญัตติและเชื่อว่า กมธ.ทุกคนเมื่อได้รับการแต่งตั้งก็ต้องทำหน้าที่ต้องพิจารณาและแก้กฎหมายให้เรียบร้อยต่อไป" รมว.ศธ. กล่าว


 


วิจิตรสัมมนาแผนอุดมศึกษา 15 ปี สานต่อ ม.นอกระบบ


ขณะที่วันนี้ (7 ธ.ค.) นายวิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาเรื่อง กรอบแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2551-2565): การขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติ ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ


 


นายวิจิตร กล่าวในพิธีเปิดว่า แผนอุดมศึกษาระยะที่ 2 ถือเป็นกรอบดำเนินการการอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี เพื่อให้เป็นทิศทางและแนวทางการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติในอนาคต และเป็นแผนที่เชื่อมโยงต่อเนื่องกับแผนอุดมศึกษาระยะแรกที่สิ้นสุดลงในปี 2546 ถือเป็นแผนดำเนินการที่ใช้เวลายาวที่สุดของประเทศ ซึ่งเท่ากับครอบคลุมแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับ 10-12 รวมกันถึง 3 ช่วงแผน


 


เหตุที่การอุดมศึกษาต้องมีแผนระยะยาวเช่นนี้ เนื่องจากธรรมชาติของการอุดมศึกษานั้นกว่าจะเห็นผล จะใช้ระยะเวลายาวนานกว่าแผนปกติ 3 ปีหรือ 4 ปี เช่น ถ้าเราจะผลิตแพทย์ซึ่งใช้เวลา 6 ปี ส่วนที่เป็น Input ของแผนหนึ่งจะกลายเป็น Output ของอีกแผนหนึ่งทันที


 


ดังนั้น การอุดมศึกษาจึงคิดสั้นๆ ไม่ได้ แต่ปัญหาคือ เราจะคิดยาวได้แค่ไหน เพราะหากเราคิดตามหลักวิชาการ จะรู้ว่าหากแผนยิ่งยาวเท่าไร จะยิ่งขาดความแม่นยำมากขึ้นเท่านั้น เนื่องจากสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว


 


รมว.ศธ.ให้ข้อคิดในการทำแผนว่า เราต้องมองการอุดมศึกษาคิดอย่างเป็นระบบ ให้รู้ว่าตัวเราจะอยู่ส่วนใดของระบบ เพื่อให้การอุดมศึกษาเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างแท้จริง สิ่งที่สำคัญคือ หากเรามีแผนที่ดีแล้ว เท่ากับว่า เราทำเสร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง เพราะถ้าเรามีแผนดีๆ ที่ชัดเจน สามารถอธิบายกับผู้คนได้ว่า เราจะทำอะไร เพื่ออะไร และจะเกิดประโยชน์อะไร ก็จะทำให้การสนับสนุนด้านต่างๆ ตามมา ซึ่งปรัชญาการทำงานของตน คือ "เอางานเป็นตัวตั้ง เอาเงินเป็นตัวตาม" แม้หลายคนจะคิดว่า ถ้าไม่มีเงินจะคิดไปทำไมให้โง่ แต่ตนคิดว่าคิดโง่ๆ ก็ไม่เป็นไร ให้คิดไป ในที่สุดถ้าความคิดเราดี มีประโยชน์ อธิบายได้ ปฏิบัติได้ คุ้มค่าที่จะลงทุน ความสนับสนุนด้านต่างๆ จากฝ่ายสนับสนุนก็ตามมาเอง


 


ในส่วนของข้อวิตกของหลายคนที่บอกว่า ระยะเวลาของรัฐบาลนี้เหลือเวลาอีก 2 เดือนกว่า จะมีผลต่อการดำเนินการตามแผนนี้หรือไม่ หากรัฐบาลใหม่เข้ามาแล้วไม่ทำต่อเนื่อง ซึ่งเรื่องนี้ รมว.ศธ.เชื่อมั่นว่า ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลต่อไป ก็น่าจะพร้อมให้การสนับสนุนต่อไป เพราะสิ่งดีๆ ทีมีประโยชน์ออกมาจากผู้คนในแวดวงอุดมศึกษา หากไม่สนับสนุนแล้วจะไปสนับสนุนอะไร อย่างไรก็ตาม การที่จะให้แผนดีๆ นี้มีหลักประกันที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ ตนจะนำเรื่องนี้นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเห็นชอบในหลักการไว้ เพราะมติ ครม.เป็นเสมือนกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติตาม แต่หากใครจะไม่ปฏิบัติก็ต้องแก้มติ ครม.นี้เสียก่อน และการที่จะไปแก้มติ ครม.ก็ต้องมีเหตุผลเสียก่อนว่าทำไมจึงไม่ต้องการทำตามมติ ครม.นั้นๆ


 


รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้าการประชุมครั้งนี้ คณะทำงานการจัดทำแผนนี้ได้มาเล่าให้ฟัง เพราะที่ผ่านมาตนไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนนี้ ซึ่งเป็นความตั้งใจที่จะไม่เข้าไปมีส่วนร่วม เพื่อต้องการให้แผนระยาวนี้เป็นการระดมความคิดโดยไม่ให้มีเรื่องราวทางการเมืองเข้ามาแทรกแซง ซึ่งจากการรับฟังครั้งแรกจากเลขาธิการ กกอ.และคณะ ก็รู้สึกพอใจ ชื่นชมแผนระยะยาว ที่มีบทวิเคราะห์ ข้อเสนอที่ชัดเจน เชื่อมโยงอย่างมีเหตุมีผล แต่เพื่อความรอบคอบให้เกิดผลในการปฏิบัติยิ่งขึ้น จึงเสนอให้มีการประชุมสัมมนาในครั้งนี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายที่จะนำแผนนี้ไปปฏิบัติได้มาร่วมพิจารณา เพราะถ้า "แผนดีแต่ปฏิบัติไม่ได้" แผนนั้นก็จะอยู่แต่ในกระดาษ ไม่ได้อยู่ในการกระทำ แต่เราต้องการนำแผนจากแผ่นกระดาษมาสู่การกระทำ จึงต้องนำบุคลากรจากมหาวิทยาลัยทุกแห่งกว่า 600 คนมาร่วมประชุมสัมมนาครั้งนี้


 


หลังจากนั้น ถ้าจะมีการปรับแต่งแผนก็สามารถทำได้ และเมื่อแผนนี้ได้ข้อสรุปชัดเจนแล้ว ก็จะพยายามผลักดันให้ ครม.พิจารณาได้ภายในเดือนธันวาคม 2550 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่แก่ชาวอุดมศึกษาทั้งปวง


 


รมว.ศธ.ยังได้ฝากข้อสังเกต 2 ประการในการทำแผน คือ บางเรื่องที่อยู่แผนอุดมศึกษาระยะที่ 1 ซึ่งสิ้นสุดไปแล้วนั้น ถ้าเรื่องใดยังจำเป็นต้องดำเนินการต่อไป ก็ให้เน้นเรื่องนั้นอย่างต่อเนื่องและชัดเจนด้วย เช่น การสร้างความเข้มแข็งให้มหาวิทยาลัยของรัฐ โดยเฉพาะการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ซึ่งต้องเน้นไปที่ความพร้อมและความสมัครใจของแต่ละมหาวิทยาลัย เพราะการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (Public Autonomous University) จะทำให้มีอิสระ ความคล่องตัว เสรีภาพทางวิชาการสูง จากตัวอย่างที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมหาวิทยาลัยทั้ง 3 แห่งที่ได้ออกนอกระบบไปแล้วปีกว่าๆ ก็พบว่า ปลอดจากระบบราชการและมีการก้าวไปสู่ความเป็นสากลอย่างเต็มที่ โดยมีการคัดสรรคณาจารย์จากทั่วโลก เมื่อออกนอกระบบไปแล้วได้ผลดีมาก


 


ยันมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นออกนอกระบบไม่มีปัญหา


เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว มหาวิทยาลัยของรัฐ 87 แห่งออกนอกระบบพร้อมกันทั้งหมด และคนที่คิดการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบก็คือคนที่เคยค้านการออกนอกระบบมาก่อน คือ อธิการบดีมหาวิทยาลัยโตเกียว ซึ่งเมื่อมาดำรงตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการฯ ของญี่ปุ่น ก็เห็นว่า แม้มหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นซึ่งรัฐอุดหนุนเต็มที่แล้ว ก็ยังสู้มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ยุโรปบางประเทศ หรือออสเตรเลียไม่ได้ จึงได้เดินทางไปประเทศเหล่านั้น ที่คิดว่าเก่งกว่าประเทศญี่ปุ่น ซึ่งพบว่าจุดอ่อนของมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น คือ เสรีภาพทางวิชาการน้อยไปและมีความเป็นราชการจัดเช่นเดียวกัน และปัจจุบันตนได้สอบถามมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น ก็พบว่าเมื่อออกนอกระบบแล้วไม่มีปัญหาอะไร


 


เรื่องนี้ถือเป็นแนวโน้มของมหาวิทยาลัยทั่วโลกที่ต้องการพัฒนาให้มหาวิทยาลัยมีความเป็นอิสระ คล่องตัว แต่จะเรียกชื่อในการออกนอกระบบเป็นอย่างไรไม่สำคัญ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงต้องการเห็นเรื่องนี้รองรับนโยบายต่อเนื่องนี้ไว้ในแผนระยะที่ 2 ต่อไปด้วย เพื่อให้มหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมและความสมัครใจที่จะออกนอกระบบต่อไป


 


ไม่เข้าใจบางพรรคขวาง ม.นอกระบบ


ทั้งนี้ ตนไม่สบายใจที่เห็นว่ามีพรรคการเมืองบางพรรคประกาศนโยบายว่า จะไม่ให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบโดยเด็ดขาด ซึ่งไม่เข้าใจว่าหมายความว่าอย่างไร


 


นอกจากนี้ ประเด็นในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยทั่วประเทศที่เปิดสอนถึงระดับปริญญากว่า 255 แห่ง น่าจะมีนโยบายอะไรที่เฉียบขาดพอสมควรว่า ในแง่ของรัฐไม่ควรจะตั้งสถาบันอุดมศึกษาเพิ่มอีก แต่ควรหันไปเน้นทำนุบำรุงสถาบันอุดมศึกษาที่มีอยู่ เพื่อให้สามารถขยายสาขาที่มีความต้องการสูง เกิดการพัฒนาไปสู่คุณภาพทีสูงขึ้น มีการขยายการวิจัยและการบริการทางวิชาการไปสู่สังคมฐานความรู้ เพราะเรื่อง "คุณภาพ" จะเป็นกุญแจสำคัญของการอุดมศึกษา โดย "ประสิทธิภาพ" จะเป็นสิ่งสำคัญที่จะใช้วัดความเป็นสถาบันอุดมศึกษา และในที่สุดสิ่งที่เป็น "ประสิทธิผล" จะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญด้วย


 


ดังนั้น รัฐบาลน่าจะทุ่มเทให้สถาบันอุดมศึกษาที่มีอยู่แล้วสมฐานะของการเป็นสถาบันอุดมศึกษา ทั้งในเชิงการให้การศึกษา การวิจัย การบริการ ในขณะเดียวกัน ก็ควรให้เอกชนทราบนโยบายของรัฐที่จะไม่สร้างมหาวิทยาลัยเพิ่ม เพื่อให้เอกชนมาร่วมรับภาระและกล้าจะลงทุนจัดการศึกษา และยังช่วยลดความซ้ำซ้อนในการจัดการศึกษาต่อไปด้วย


 


กลุ่มต้านในจุฬาฯ หมดที่พึ่ง หันกราบไหว้อนุสาวรีย์สองรัชกาล


ขณะที่เมื่อวานนี้ (6 ธ.ค.) ด้านกลุ่มคณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษา ที่คัดค้านการนำจุฬาฯ ออกนอกระบบ นำโดย นพ.ตุลย์ สิทธิ สมวงศ์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้เดินทางมาชุมนุมบริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์ 2 รัชกาล เพื่อแสดงพลังคัดค้านมหาวิทยาลัยนอกระบบโดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้กล่าวปฏิญาณตนที่จะเดินหน้าคัดค้านเรื่องดังกล่าวถึงที่สุด เนื่องจากจุฬาฯ เป็นสถาบันพระราชทานให้แก่ปวงชนชาวไทยได้ใช้เป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียน ไม่สมควรที่จะนำไปแปรรูปเนื่องจากจะทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในหลายเรื่อง


 


นพ.ตุลย์ กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ สนช.ไม่รับพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ ในวาระ 2-3 เพราะร่างดังกล่าวมีความขัดแย้งภายในประชาคมสูงและผู้บริหารได้เสนอกฎหมายโดยไม่ฟังความเห็นจากประชาคมอย่างกว้างขวางเพียงพอ และไม่มีการแจ้งรายละเอียดให้ประชาคมได้ทราบ ทั้งนี้คาดว่าในสัปดาห์หน้าจะรวบรวมรายชื่อผู้ไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าวได้เสร็จสิ้นก่อนเสนอให้ สนช.และรัฐบาลพิจารณาต่อไป


 


เรียบเรียงจาก: เว็บไซต์ผู้จัดการ และไทยโพสต์


 


ข่าวประชาไทย้อนหลัง


สนช.ผ่านวาระแรกดัน "ลาดกระบัง-มช." ออกนอกระบบ, ประชาไท, 22 พ.ย. 2550


สุรยุทธ์เมินพบนศ.มช.ยื่นหนังสือระงับ พ.ร.บ.ม.นอกระบบ, ประชาไท, 23 พ.ย. 2550


นศ.มช.ตั้งเวทีอภิปราย ถาม-ตอบ พ.ร.บ. ม.นอกระบบ ผู้บริหารยันไม่เกี่ยวขึ้นค่าเทอม, ประชาไท, 24 พ.ย. 2550


สภา อ.จุฬาฯ พิพากษา ม.นอกระบบวันนี้ - ส่วนพุธนี้คิวผู้บริหาร มช.เปิดเวทีชี้แจง, ประชาไท, 27 พ.ย. 2550


นศ.มช.เดินสายตามหอพักกระตุ้นการรับรู้เรื่อง ม.นอกระบบ, ประชาไท, 28 พ.ย. 2550


นิสิต ม.นเรศวร ประท้วงมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเงียบกริบ ไม่มีประชาพิจารณ์, ประชาไท, 28 พ.ย. 2550


ผู้บริหาร มช. เตรียมเชิญ "ชัยอนันต์ สมุทวนิช" แจงเรื่อง ม.นอกระบบ, ประชาไท, 29 พ.ย. 50


บทความ: สรุปบทเรียนการต่อสู้คัดค้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบที่ผ่านมา, โดยเก่งกิจ กิติเรียงลาภ, ประชาไท, 29 พ.ย. 2550


"คุณตอบไม่ตรงคำถามเรา หรือเราถามไม่ตรงคำตอบคุณ" เสียง นศ. มช. ถึงเวทีผู้บริหาร เรื่อง ม.นอกระบบ, ประชาไท, 30 พ.ย. 2550


อ่านเอกสารที่ ศธ 0515(1) 9658 อ่านความคิดผลักดัน มช.ออกนอกระบบของ นายกสภา มช.และคณะ, ประชาไท, 3 ธ.ค. 2550


ชัยอนันต์ขึ้นเหนือกล่อม 4 ข้อดี ม.นอกระบบ, ประชาไท, 6 ธ.ค. 50

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net