Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 10.30 น.วันนี้ (22 พ.ย.) มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มี พล.อ.จรัล กุลละวณิชย์ รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่ 1 เป็นประธาน โดยได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับจำนวน 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พ.ศ.... และร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ส่วนร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยนเรศวร นั้นนายวิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขอเลื่อนออกไป


 


นายวิจิตรชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า ควรปรับปรุงการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม โดยส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยของรัฐพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการแต่อยู่ในกำกับของรัฐ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการที่เป็นอิสระและมีความคล่องตัวสามารถจัดการการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาจะต้องคำนึงถึงความเป็นอิสระและความเป็นเลิศทางวิชาการ


 


ด้านนายวันชัย ศิริชนะ สนช.และอดีตปลัดทบวงมหาวิทยาลัย อภิปรายสนับสนุน ว่า ขณะนี้มีมหาวิทยาลัยออกนอกระบบจำนวน 4 แห่ง ซึ่งตนขอสนับสนุนมหาวิทยาลัยอีก 2 แห่งที่เสนอเข้ามา เพราะเห็นว่าการที่มหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้นเพื่อให้มหาวิทยาลัยได้มีการพัฒนาไปตามความต้องการของมหาวิทยาลัย อีกทั้งขณะนี้รัฐมีนโยบายลดการบรรจุอัตราข้าราชการ แล้วให้รับบุคลากรเป็นพนักงานของรัฐแทน ซึ่งมหาวิทยาลัยเองก็ต้องทำตามนโยบายขอรัฐบาล ทำให้จำนวนข้าราชการลดลง พนักงานของรัฐเพิ่มขึ้น อาจมีปัญหาทางด้านการบริหาร หากมหาวิทยาลัยไม่ออกนอกระบบก็จะไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ดังนั้น การให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบจะทำให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ทำให้การบริหารงานของมหาวิทยาลัยคล่องตัว และเพิ่มประสิทธิภาพ


 


ในที่สุดที่ประชุม ได้มีมติรับหลักการวาระ 1 ร่าง พ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พ.ศ.... ด้วยคะแนน 35 เสียง และร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่ ด้วยคะแนน 36 เสียง และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญแต่ละฉบับจำนวน 15 คน แปรญัตติภายใน 7 วัน


 


ส่วนบรรยากาศภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น วานนี้ (21  พ.ย.)  ได้มีนักศึกษาจำนวนหนึ่งที่ทราบข่าวว่าจะมีการประชุมของ สนช. เพื่อรับหลักการ "พรบ.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ...." ได้รวมตัวกัน ณ อาคารกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (อ.มช.) เพื่อแจ้งเรื่องนี้ให้นักศึกษาทราบและมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นกับ ร่าง พรบ. ดังกล่าว โดยมีนักศึกษารอฟังเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสถานที่ดังกล่าวกำลังใช้จัดกิจกรรม "ถนนคนชิม"


 


โดยนักศึกษากลุ่มดังกล่าว ได้ทำการติดป้ายผ้าประกาศว่า "รู้หรือยัง มช. ของเรา... ออกนอกระบบ แล้วนะ" และเตรียมให้ตัวแทนนักศึกษาขึ้นมาแจ้งเรื่องนี้ให้กับนักศึกษาทราบ แต่ รศ. นายแพทย์อำนาจ อยู่สุข รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เข้ามาขอพบและพูดคุยกับตัวแทนนักศึกษาผู้จัดกิจกรรม


 


รศ.น.พ.อำนาจ อยู่สุข ได้เข้ามาชี้แจงว่า เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องไม่นิ่ง คือแค่ผ่านร่างฯ ขออย่าเพิ่งเคลื่อนไหวอะไรกัน รอให้เรื่องนิ่งก่อน ค่อยทำ ซึ่งการชี้แจงของรองอธิการบดีรายนี้ใช้เวลานาน จึงทำให้นักศึกษาที่รวมกันอยู่ในอาคารกิจกรรมนักศึกษาเริ่มทยอยกลับ ไม่ทันที่ตัวแทนนักศึกษาจะได้ขึ้นมากล่าวชี้แจงแต่อย่างใด


 


นส.ปัทมาพร บัวแดง ตัวแทนนักศึกษาที่ถูกเรียกไปชี้แจง กล่าวว่า ผู้บริหารท่านดังกล่าวบอกว่า รอก่อน ไม่ให้จัดกิจกรรม เพราะข้อมูลไม่นิ่ง ตนถามกลับไปว่า พรบ.นี้ ยังไม่นิ่งหรือ แล้วที่ สนช. จะออกกฎหมายมาแล้วล่ะ ผู้บริหารท่านนี้ตอบว่า การออก พรบ. มีหลายขั้นตอน และกฎหมายยังไม่ผ่านตอนนี้ วันสองวันยังเป็นไปไม่ได้หรอก


 


นายเพลิงสุริยเทพ รามางกูร นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ ซึ่งร่วมฟังคำชี้แจงของ รศ.น.พ.อำนาจ แสดงความเห็นเกี่ยวกับการที่มหาวิทยาลัยจะออกนอกระบบว่า "ถ้าออกแล้วดี ก็เป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง แต่ถ้ามันกระทบสิทธิ ผมไม่ยอมแน่ๆ ถ้าพวกคุณออกแล้ว ถ้าพวกเรามีสิทธิอะไรต่างๆ ดีมาก เราก็จะไม่ว่าอะไร แต่เราไม่เห็นด้วยแน่ถ้าสิ่งที่คุณทำเป็นสิ่งที่เลวร้าย ขัดกับสามัญสำนึกของมนุษย์ และไหลตามกระแสของทุนนิยมที่เลวร้ายมากซึ่งขัดกับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ผมจึงยอมไม่ได้ที่จะให้คนมาทำร้ายแบบเชือดนิ่มๆ"


 



 


 


ขณะเดียวกัน ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการเปิดให้นักศึกษา อาจารย์ และบุคลากร แสดงความคิดเห็นร่าง พรบ.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผ่านทางเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยนำ ร่าง พรบ. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฉบับที่ผ่านกฤษฎีกาและรัฐบาลจะนำเสนอ สนช. กับ พรบ. ของมหาวิทยาลัยบูรพา ที่ผ่านความเห็นชอบจาก สนช. ทำเป็นตารางเปรียบเทียบกันให้ดาวโหลด โดยหัวข้อดังกล่าวตั้งเอาไว้โดย admin ตั้งแต่วันที่ 12 พ.ย. 50 อย่างไรก็ตามมีผู้เข้าไปอ่านเมื่อเวลา 19.00 น. ของวันที่ 22 พ.ย. มีเพียง 264 คนเท่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net