Skip to main content
sharethis

<--break- />

ที่มา: รายงานเช้าทันโลก  FM 96.5 วันที่ 20 กรกฎาคม 2550
โดย  กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

 

สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่ทำประชามติมากที่สุดจริงไหม ?
-จริง ทำปีหนึ่งเป็นร้อยๆ ครั้ง ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น

 

ที่เขาลงประชามติมากๆ แบบนี้ เขาลงเรื่องอะไรบ้าง?
-เรียกว่าตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ถึงเรื่องการแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญ เรื่องเล็กๆ ก็เช่น ที่เมืองเลียน เมืองเล็กๆ ที่คนไม่ค่อยรู้จัก นายกเทศมนตรีอยากให้คนรู้จักจึงไปจ้างศิลปินให้มาทำงานศิลปะในเมืองของตัวเอง โดยเอาผ้ามาห่อต้นไม้ คล้ายๆ โมเดิร์นอาร์ต ทำแล้วปรากฏเป็นข่าวไปทั่วประเทศเพราะเป็นเรื่องแปลก นายกเทศมนตรีก็อยากจะขอบคุณศิลปินก็เลยถ่ายรูปศิลปะไว้ และบอกว่าจะซื้อรูปนี้ไปติดที่ศาลากลาง เงินก้อนนี้ก็ใหญ่พอสมควร ประชาชนในเมืองก็รู้สึกว่าใช้เงินก้อนนี้ด้วยการซื้อรูปคุ้มค่าไหม จะอนุญาตให้นายกเทศมนตรีใช้เงินก้อนนี้ไปกับการซื้อรูปดีหรือเปล่า จึงมีการลงประชามติกัน ผลปรากฏว่า ประชาชนไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่าน่าจะนำเงินนี้ไปทำอะไรที่เป็นสารัตถะกับเมืองมากกว่านี้ เช่น ปรับปรุงห้องสมุด โรงพยาบาล

เรื่องใหญ่ๆ ที่ทำประชามติ ก็เช่น การตัดถนนผ่านเทือกเขาอัลไพน์ ประชาชนบริเวณนั้นเดือดร้อน จึงจะมีการทำประชามติ หรือการทำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซึ่งโรงงานมีอยู่แล้ว แต่หมดสัญญาต้องมีการต่ออายุ ประชาชนในเมืองนั้นรู้สึกว่ามันอันตรายที่จะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในชุมชน และประชาชนก็เห็นว่ามันทำให้เขาขาดรายได้ ถ้าเป็นโรงไฟฟ้าแบบอื่นจะมีการจ้างงานมากกว่า จึงมีการทำประชามติ

ต้องบอกว่าสวิตเซอร์แลนด์ใช้ระบบสหพันธรัฐ ฉะนั้นแต่ละมลรัฐของเขาจะมีรัฐธรรมนูญ กฎ กติกาของตนเอง ถ้าเป็นเรื่องของชุมชนก็จะมีการทำประชามติเฉพาะในเมืองหรือในรัฐนั้นๆ ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประชาชนทั้งประเทศ ก็จะทำประชามติร่วมกัน ด้วยระบบสหพันธรัฐทำให้เปิดโอกาสให้ทำประชามติได้บ่อยครั้ง แยกย่อยออกไป

ใครจะเป็นคนเสนอให้ทำประชามติได้ รัฐธรรมนูญเขากำหนดไว้เหมือนของเราหรือเปล่า?
-เป็นคำถามที่สำคัญ ไม่มีใครอนุญาตใคร แต่เป็นการรวมพลังกันของประชาชน กฎหมายจะกำหนดไว้ว่าต้องใช้ประชาชนจำนวนเท่าไรร่วมลงชื่อ ก็จะมีการรวบรวมรายชื่อกัน เมื่อรวมแล้วตามกติกาของรัฐกำหนด ก็ไม่มีใครปฏิเสธการทำประชามติได้ แต่คำถามคือ ประชาชนจะแอคทีฟขนาดนั้นหรือไม่ ก็ไม่เชิง หลายครั้งปรากฏว่าเป็นพรรคการเมืองที่ริเริ่มรณรงค์การทำประชามติ หรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ หรือเอ็นจีโอ เป็นต้น แต่ก็มีหลายครั้งเหมือนกันที่มาจากประชาชนร่วมลงชื่อกัน

 

ตัวอย่างของสวิตเซอร์แลนด์ มีผลเสีย หรือราคาค่าใช้จ่ายที่สังคมต้องจ่ายให้กับการลงประชามติหรือเปล่า?
-ถ้าพูดถึงต้นทุนที่เป็นนามธรรม ซึ่งนับเป็นจุดอ่อนอันหนึ่งของการทำประชามติก็คือ ความล่าช้า ตัวอย่างง่ายๆ สตรีชาวสวิตเซอร์แลนด์เพิ่งมีสิทธิเลือกตั้งเมื่อปี 1972 หรือ 1974 จำไม่ได้แน่ชัด ซึ่งถือว่าช้ามากๆ สตรีคนไทยเลือกตั้งกันตั้งแต่ 1932 ทั้งนี้เพราะรัฐธรรมนูญดั้งเดิมของสวิตเซอร์แลนด์ที่มีมาตั้งแต่ปี 1800 กว่าๆ ระบุว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นผู้ชายเท่านั้น ทีนี้การจะแก้ไข รัฐธรรมนูญกำหนดว่าต้องทำโดยการลงประชามติ มีการทำประชามติหลายครั้งและคนที่ไปใช้สิทธิลงประชามติแต่ละครั้งก็เป็นผู้ชาย ก็ปรากฏว่าไม่ผ่านเสียที ผู้หญิงจึงมีสิทธิเลือกตั้งช้ามาก เพราะกว่าที่จะทำให้คนส่วนมากเห็นว่า ผู้หญิงควรได้ใช้สิทธิด้วยก็ลำบาก แพ้ทุกที และแพ้ด้วยความต่างของคะแนนไม่มาก

ต้นทุนอีกอย่างหนึ่ง คือการทำประชามตินั้นเป็นการตัดสินด้วยเสียงข้างมาก หลายครั้งได้ละเลยเสียงข้างน้อย และหลายครั้งก็พบว่าเสียงข้างมากไม่ได้ตัดสินใจได้ถูกนัก ไปเบียดเบียนเสียงข้างน้อยด้วยซ้ำ มีกรณีตัวอย่างว่า ในสวิตเซอร์แลนด์มีชุมชนต่างๆ มากมายและมีความหลากลายทางวัฒนธรรมสูง หนึ่งในนั้นมีชาวยิวอยู่ด้วย เป็นเสียงข้างน้อย คนก็เห็นว่าชาวยิวมีวัฒนธรรมที่แปลก ต้องฆ่าสัตว์เอง ปรุงอาหารเอง มีพิธีกรรมแปลกๆ ก็มีการทำประชามติที่ทำให้คนยิวทำพิธีกรรมเหล่านี้ไม่ได้ เมื่อลงประชามติคนยิวก็ต้องแพ้เพราะคนน้อยกว่า

 

แล้วประเทศสวิตฯเขามีกลไกอะไรที่จะป้องกันไม่ให้กลายเป็นเสียงข้างมากลากไปอย่างไม่สมเหตุสมผลหรือไม่?
-ที่เขาทำได้อย่างมากที่สุดก็คือ ให้ข้อมูลแก่ประชาชนให้มากที่สุดในการตัดสินใจ คงเป็นกระบวนการเดียวที่ทำได้ การจะให้ตัดสินใจได้อย่างมีเหตุมีผลที่สุด รู้ว่าผลที่จะตามมาคืออะไร จึงมีการกำหนดเวลาให้ข้อมูลประชาชนอย่างเพียงพอ ทั่วถึง และเปิดโอกาสให้องค์กรต่างๆ กลไกต่างๆ ในสังคมได้แสดงบทบาทได้เต็มที่ ไม่มีการเป่านกหวีดว่า คนนั้นพูดมากไปแล้ว คนนี้ห้ามพูด

 

นอกเหนือจากการให้ข้อมูลอย่างเต็มที่ทุกฝ่ายแล้ว มีองค์ประกอบอะไรอีกไหม?
-น่าจะเป็นเรื่องของกระบวนการที่ชัดเจน มีการระบุว่า ต้องใช้ระยะเวลาเท่าไรในการรวบรวมรายชื่อมาเสนอให้ทำประชามติ เพราะต้องโฆษณาว่าจะทำประชามติเรื่องอะไร เพื่ออะไร เป็นกระบวนการให้ความรู้ประชาชนไปในตัวด้วย ก่อนที่จะรณรงค์ใหญ่เพื่อรับหรือไม่รับกันอีกครั้งหนึ่ง เช่น กำหนดให้เวลา 6 เดือนเพื่อทำประชามติเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นต้น แล้วหลังจากนั้นก็ระบุเลยว่า รัฐต้องวางตัวเป็นกลาง ต้องให้เอกสาร ข้อมูลอย่างรอบด้าน และอย่างน้อย 6 อาทิตย์ก่อนลงประชามติ ต้องลงสาระหลักๆ ของเรื่องที่จะต้องลงประชามติในสื่อหลักไม่เกิน 3 สัปดาห์ก่อนลงประชามติ ถ้าลงกระชั้นเกินไป หรือห่างเกินไปคนจะลืม

และที่น่าสนใจมาก เพราะในบรรยากาศการลงประชามติของสังคมไทยยังไม่เกิดขึ้นเลย คือการกำหนดว่าต้องมีการทำประชาพิจารณ์ในทุกเขตเลือกตั้ง ไม่ใช่ทำเฉพาะในเมืองหลวง ไม่เกิน 8 สัปดาห์ก่อนที่จะมีการลงประชามติ

 

อาจารย์ขยายความเรื่องประชาพิจารณ์หน่อยว่าในสวิตเซอร์แลนด์เขาทำกันอย่างไร เพราะบ้านเราดูเหมือนเรื่องนี้จะมีตัวอย่างไม่ดีนัก
-บ้านเราระยะหลังๆ เท่าที่เห็น ต้องขออนุญาตชมอาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เห็นความพยายามของอาจารย์อยู่

ประชาพิจารณ์คือการเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่าย หรือสามหรือสี่ฝ่ายก็ได้ มานั่งถกกันเลยว่าของคุณดีอย่างไร ของเขาไม่ดีอย่างไร และเปิดโอกาสให้ประชาชนในชุมชนนั้นๆ มาตั้งคำถาม และเห็นว่าอาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง พยายามทำอยู่ด้วยในส่วนของการนำผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญมาตอบคำถามประชาชน แต่ของไทยเรารู้สึกว่า คนที่มีความรู้ที่ถูกเลือกมา จะเป็นนักการเมือง อดีต ส.ส. ส.ว. หรือ ส.ส.ร.เป็นหลัก จริงๆ แล้วควรจะมีนักวิชาการ ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย แต่หมายถึงผู้มีความรู้ในเรื่องนั้น ปราชญ์ชาวบ้านก็ได้ นักเทคนิค ผู้มีผลกระทบ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนั้นๆ ฯลฯ

 

เขามีองค์กรที่เป็นกลางมาดูแล หรือจัดกระบวนการประชามติไหม?
-รัฐเป็นคนจัดการ แต่ว่าการเลือกตั้งในประเทศตะวันตกหลายประเทศรวมทั้งสวิตเซอร์แลนด์ด้วย จะมีอาสาสมัคร ซึ่งจะสมดุลกันระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายสนับสนุน มาปกป้องผลประโยชน์ของแต่ละฝ่าย ไม่ได้เป็นรัฐเสียทีเดียว อย่างอเมริกา จะมีตัวแทนจากรีพลับริกันและเดโมแครตมาเป็นเจ้าหน้าที่ประจำหน่วย ก็ตรวจสอบถ่วงดุลกันเองด้วย

 

กติกา คะแนน การลงเสียงว่าต้องมาเท่าไร เหล่านี้มีการกำหนดชัดเจนไหม?
-กำหนดชัดเจน ตามมาตรฐานสากลก็คือ เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่แน่ๆ เนื่องจากการทำประชามติเป็นเรื่องสำคัญ เป็นการตัดสินใจขั้นสุดท้ายที่จะยึดถือและมีผลผูกพันทุกคน ฉะนั้น จึงต้องยึดถือเสียงข้างมาก ไม่ใช่เฉพาะของผู้มาใช้สิทธิ แต่ต้องเป็นเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง นี่เฉพาะในกรณีเรื่องใหญ่ๆ แต่ต้องยอมรับว่า สวิตเซอร์แลนด์ทำบ่อยครั้ง ก็มีผลเสียอีกอันหนึ่งคือเรื่องค่าใช้จ่ายในการจัดทำประชามติแต่ละครั้ง บวกกับความเบื่อหน่ายของประชาชน ถ้าถือว่าความเบื่อหน่ายเป็นต้นทุนด้วย

 

อาจารย์กำลังจะบอกว่า การจัดลงประชามติมากๆ ไม่ได้ช่วยให้คนเป็นแอคทีฟซิทิเซ้นท์ แต่จะทำให้คนเบื่อหน่าย?
-มันมี 2 กลุ่ม ถ้าจัดมากๆ คนก็จะรู้สึกไม่ใช่เรื่องตื่นเต้น เหมือนในบ้านเรา แต่ดิฉันก็ว่าบ้านเราคนก็ไม่ได้ตื่นเต้น แต่คนไม่รู้ ส่วนสวิตเซอร์แลนด์เขาทำกันบ่อยก็อาจทำให้คนเบื่อหน่ายได้ ยกเว้นประเด็นใหญ่ๆ ซึ่งมันก็ต้องอยู่ที่กระบวนการให้ความรู้ ประชาสัมพันธ์ด้วย

 

แล้วในเชิงการติดตามนโยบาย มันทำให้พลเมืองติดตามนโยบายของรัฐมากขึ้นหรือเปล่า?
-ถ้าจะตอบคำถามนี้ได้ คงต้องไปทำวิจัย เพราะไม่แน่ใจว่าพลวัตของเขาเป็นอย่างไร แต่อาจจะบอกได้ว่าบรรยากาศของสวิตเซอร์แลนด์ มีพรรคการเมืองเป็น 1,000 พรรค แล้วพรรคการเมืองก็เป็นกลไกที่จะเข้าไปอยู่ในทุกอณูของสังคม เป็นตัวกระตุ้น ถ้าสังคมมีตัวกระตุ้นเยอะๆ มันก็ช่วยได้เยอะ

 

การที่อาจารย์ทำวิจัยเรื่องประชามติในสวิตเซอร์แลนด์ แล้วมาดูในบ้านเรา อาจารย์เห็นอะไร มีข้อเสนอแนะอะไร?
-ตอนนี้เป็นความกังวลใจอย่างมากต่อกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้น สิ่งที่ผู้มีอำนาจหรือรัฐต้องพึงระวังอย่างมากคือ คุณต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้แสดงความเห็น ตอนนี้รัฐกำลังเป็นกรรมการเป่านกหวีดห้ามคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญนี้

นอกเหนือจากนั้นประชาชนยังไม่รู้เลยว่าจะมีการทำประชามติ มีโพลล์บางสำนักบอกว่า 80% ยังไม่รู้ แล้วเหลือเวลาอีกไม่ถึง 30 วัน มันเป็นไปไม่ได้แล้ว ในตะวันตกเขาประชาสัมพันธ์กันอย่างน้อย 8 อาทิตย์ นี่ยังไม่ได้พูดถึงสาระ และคุณต้องมั่นใจว่าประชาชนไปทำประชามติแล้วเขาได้อะไร นี่ยังไม่รู้สาระของรัฐธรรมนูญเลยว่าจะดีจะเลวอย่างไร

ขอบอกเลยว่านี่จะเป็นการทำประชามติครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลกที่จะทำประชามติกับร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ พูดอย่างนี้ก็มี ส.ส.ร.ท่านหนึ่งบอกว่า ทำไมจะไม่เคยมี พม่าเคยทำ มันก็น่าขำที่เอาไปเปรียบเทียบกับพม่า แล้วรัฐธรรมนูญของพม่าฉบับนั้นก็ยังไม่นำมาใช้ ไม่เคยมีประเทศไหนทำประชามติกับรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะอย่างที่บอกมันเป็นเรื่องสำคัญ คุณต้องเข้าใจมันดีพอที่จะตัดสินใจ แล้ววันที่ 19 สิงคม ประชาชนจะไปตัดสินใจบนพื้นฐานของอะไร มันก็จะกลายเป็นว่ารัฐธรรมนูญนี้มาจากเผด็จการหรือไม่ 

และที่ร้ายกาจมาก ต้องขอตำหนิเลยก็คือ การโฆษณาว่าร่วมลงประชามติ เพื่อให้เมืองไทยมีการเลือกตั้ง ไม่ถูกต้อง กำลังให้ภาพที่ผิด ใช้คำว่า "หลอกลวง" เลยดีกว่า เพราะไม่ว่าร่างนี้จะผ่านหรือไม่ มันก็ต้องมีเลือกตั้ง และควรจะปล่อยให้ทุกฝ่ายออกมาให้ข้อมูลมากกว่านี้ ที่อยากเสนอก็คือ สังคมไทยเป็นสังคมของการฟังและดูทีวี ลงหนังสือพิมพ์คนไม่อ่านเท่าไรหรอก ถ้าคุณจริงใจให้คนไปใช้สิทธิอย่างรู้จริง ต้องปรับกลยุทธ์แล้ว

ช่วงเวลาที่จะถึง ยังพอทำอะไรอย่างที่อาจารย์เสนอทันไหม ?
-ถ้าจะให้ประชาชนเข้าใจจริงๆ คิดว่าไม่ทัน แต่มันอยู่ที่ว่าคุณจริงใจแค่ไหน ทันไหมคงไม่ทันแน่ แต่มันไม่สำคัญไม่ใช่หรือ เพราะเขาอยากให้คนไปลงเท่านั้น และเอาเฉพาะเสียงข้างมากของคนที่ไปใช้สิทธิ

ฉะนั้น มันไม่มีความหมาย มันเป็นแค่การไปลงแบบพิธีกรรม ไม่ได้มีนัยว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในร่างรัฐธรรมนูญให้มันดีขึ้นกว่านี้

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net