Skip to main content
sharethis

อรรคพล สาตุ้ม

 

 

ดร. ประมวล เพ็งจันทร์

 

ในสถานการณ์ปัจจุบัน ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ได้ทำให้สังคมได้สร้างคำว่า "สมานฉันท์" ขึ้นมา และเกิดคลื่นระลอกหลากหลายที่พร่ำบ่นถึงแต่คำคำนี้ ไม่ว่าจะเป็นดารานักร้องในโทรทัศน์ หรือคุณครูฝึกนักศึกษาวิชาทหารในค่ายฝึก และอีกหลากหลายบุคคลในหลายแห่งหน

 

วันนี้ประชาไทขอนำเสนอ ถ้อยคิดของคำว่า "สมานฉันท์" จาก ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ นักปรัชญาคนสำคัญคนหนึ่งในสังคมไทยปัจจุบัน มาดูกันว่า ดร. ประมวล เพ็งจันทร์ จะให้คำจำกัดความว่าอย่างไร ..

 

0 0 0

 

อาจารย์เคยพูดถึงประเด็น ความซ่อนเร้นในความขัดแย้งให้แก่พระสงฆ์ไทยกับศาสนาอิสลาม ที่อาจจะนำไปสู่ปัญหา เนื่องจากพระสงฆ์ ตกเป็นเครื่องมือของรัฐไทย จะเป็นไปได้ไหมที่สันติภาพจะเกิดขึ้นในสถานการณ์ข้างหน้า ?

 

เราต้องยอมรับข้อเท็จจริงก่อนประการหนึ่ง คือคณะสงฆ์ถูกสร้างโดยรัฐ เราพูดถึงคณะสงฆ์ของรัฐก็คือคณะสงฆ์ที่ถูกสร้างโดยรัฐและเป็นสมบัติของรัฐอยู่แล้ว ถ้าเป็นเครื่องมือก็เป็นเครื่องมือของรัฐอยู่แล้ว  

 

ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องตีโพยตีพาย เรื่องว่าผิด ถูก เพราะคณะสงฆ์ที่ดำรงอยู่ได้เป็นองค์กร มีกฎหมาย พระราชบัญญัติ การปกครองสงฆ์ที่ว่านี้ องค์กรสงฆ์ ถ้าคิดเชิงรายละเอียดว่าเป็นประเด็นโดยเนื้อหาสาระ ของพุทธศาสนาหรือไม่? ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

 

แต่พูดเรื่องนี้ไม่ได้บอกว่าเป็นเรื่องผิดถูก แต่เพียงเพื่อจะบอกสถานะของความเป็นจริง ต้องการบอกว่าคณะสงฆ์ไทยเป็นองค์กรที่ถูกสถาปนาหรือเป็นสิ่งที่ถูกรัฐสร้างอยู่แล้ว

 

ทำไมพระพุทธศาสนา ถูกใช้ผ่านสื่อ เพื่อเน้นอุดมการณ์ หรือหลักการ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ?

เวลาเราสถาปนารัฐไทย  สถาบันที่เรากำหนดขึ้นที่เป็นสถาบันศาสนาด้วย และเป็นศาสนาพุทธ เพราะเราเคยพูดถึงเสมอว่าสัญลักษณ์ของสีธงชาติ สีของศาสนาหมายถึงพุทธศาสนา เราพยายามทำให้เกิดความรู้สึกว่า ความเป็นไทยกับความเป็นพุทธ มันอันเดียวกัน หรือจะเรียกว่ารัฐไทยอิงอยู่ในรัฐพุทธ หรือรัฐไทยอิงกับพุทธ ผมก็ไม่รู้

 

แต่ที่แน่ๆ เป้าหมายที่สำคัญ เวลาที่เขาอ้างถึงศาสนาก็เพื่อรักษาความมั่นคงในความเชื่อของรัฐไทย  ไม่ได้หมายความว่าจะรักษารัฐไทยไว้เพื่อความมั่นคงของพุทธศาสนา ซึ่งตรงนี้ต่างจากพม่า รัฐพม่าหรือประเทศพม่า เขาจะพูดถึงความหมายว่ารัฐพม่าเป็นองค์ประกอบที่จะรักษาพุทธศาสนาไว้ได้ จึงจำเป็นที่จะรักษาชาติพม่าหรือรัฐพม่าไว้ เพื่อเป็นที่วางที่ตั้งของพุทธศาสนา

 

นักปราชญ์ หรือพระชาวพม่าเปรียบเทียบไว้ที่นี้ว่า รัฐพม่าเป็นห้างร้าน พุทธศาสนาเปรียบเสมือนเป็นองค์เจดีย์  รัฐเป็นห้างร้านเพื่อทำความสะอาดองค์เจดีย์ให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง  แต่เมื่อใดที่จำเป็นต้องเลือกระหว่างห้างร้านกับตัวเจดีย์ไม่มีทางที่จะทุบเจดีย์ทิ้งเพื่อรักษาห้างร้างไว้ ซึ่งความคิดนี้กลับตาลปัตรกับไทย มีความคิดว่าต้องรักษารัฐไทยไว้โดยใช้พุทธศาสนาเป็นห้างร้าน

 

ในสถานการณ์ของปัจจุบัน คิดยังไงกับพระนักเทศน์ของพุทธสามารถปรับตัวกับสังคมได้ เข้ากับสื่อได้ แต่ศาสนาอื่นไม่ค่อยมี ?

 

ตรงนี้ไม่ต้องถึงอิสลามก็ได้ พูดในแง่พุทธ บรรดาพระที่ได้รับการยอมรับ ที่มีปรากฏในสื่อเป็นพระที่ถูกคัดสรรแล้วให้เทศน์ตามคติหรือครรลองรัฐ ไม่มีหรอกที่นิมนต์พระที่จะเทศน์หลักพุทธศาสนาแบบเป็นปรปักษ์กับความเชื่อเรื่องรัฐ

 

ผมขอยกตัวอย่างหนึ่งไม่ได้พูดว่ามีผิดหรือมีถูก เช่น เนื่องในวโรกาสที่เฉลิมฉลองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์ครบหกสิบปี คงไม่มีหรอกมั้งที่พระนักเทศน์มาเทศน์ทำให้เสื่อมเสียความรู้สึกกับพระเกียรติยศของพระองค์ท่าน แต่คงเพื่อบอกพระองค์ท่านเป็นความหมายสิ่งที่ดี โดยใช้หลักธรรมมาพูดอธิบาย นัยยะความหมายก็เพื่อเสริมสร้างพระเกียรติยศ

 

ในที่นี้ไม่พูดถึงผิด ถูก แต่พูดถึงความหมายว่าไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงศาสนิกชนอื่นที่จะมีโอกาสมากล่าวถึงหลักศาสนาของตนเพื่อความกระจ่าง  เพราะประเด็นของมันคือสื่อถูกใช้เพื่อตอบสนองต่อรัฐ

 

อาจารย์คิดว่ามีทางที่คนไทยอาจจะสมานฉันท์กันได้หรือไม่ ? หรือการสมานฉันท์เป็นแค่มายาคติ ?  

 

ความสมานฉันท์ที่เราพูดในความหมายของคนพุทธนี้หมายความว่ายังไง?  ผมไม่รู้ว่าเขาคิดอย่างไร? แต่ถ้าในความหมายของผม นั่นคือความหมายที่ว่าเราต้องสร้างความสำนึกรู้สึกว่าเราเสมอเหมือนเท่ากัน ... ทีนี้ในคำว่า "เสมอเหมือนเท่ากัน" เราต้องไม่ใช้มาตรฐานของใครคนใดคนหนึ่งมาเป็นตัวกำหนด

 

แต่ตรงนี้สังคมไทยยอมรับไม่ได้ว่าเป็นเช่นนี้ เช่น ถ้าเราบอกว่าเราจะสามานฉันท์แต่ต้องมีเงื่อนไขว่าคนที่จะสมานฉันท์กับเราต้องมีความสำนึกแบบนี้นะ ไอ้ความสำนึกแบบที่ว่าเนี่ยมันเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา สมมติว่าถ้าบอกว่าคุณกับผมมาสมานฉันท์กันนะ แต่คุณต้องยอมรับว่าผมเหนือกว่าคุณนะ ... อ้าว! แล้วมันจะสมานฉันท์กันยังไง !

 

ความหมายที่ผมพูดไม่ได้บอกว่าความคิดในปัจจุบันนี้ผิดนะครับ จริงๆ แล้วเรามีสิ่งที่เป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างวัฒนธรรมภาคใต้ที่ยาวนาน เราทำให้ประหนึ่งว่าประชาชนชาวปักษ์ใต้มาพึ่งพาอาศัยแผ่นดินไทย ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว มันไม่ใช่เรื่องเรื่องการพึ่งพาอาศัย แต่เป็นเรื่องที่เขาตั้งถิ่นฐาน มีความเชื่อ ทัศนคติของเขา  แต่เราต่างหากที่พยายามต้องการให้เขาเปลี่ยนแปลง พยายามทำให้เขายอมรับสิ่งที่เราสถาปนากันขึ้น

 

แต่บังเอิญเขาไม่ยอมรับในสิ่งที่เราต้องการ ดังนั้นประเด็นเหล่านี้ ถ้าเราจะสมานฉันท์ เราต้องเคลียร์กันให้ได้อย่างที่ควรจะเป็นโดยเราไม่เอาตัวตนเราเป็นตัวกำกับ แต่เรามาคุยกันที่เรียกว่ามีความเสมอกัน และดูว่าเป้าหมายที่เราพูดถึง คือการอยู่ร่วมกันและการอยู่ร่วมกันโดยมีความสุขทั้งสองฝ่าย ที่ต้องอยู่ด้วยบนความเท่าเทียม ไม่ใช่ฉันเหยียบตีนคุณแล้วคุณจะมีความสุขอยู่ หรือคุณต้องยอมให้ฉันเหยียบตีนคุณ

 

ในปัจจุบันนี้คำพูดว่า "สมานฉันท์" มีความเคลือบแฝงหลายอย่างอยู่ในทางศาสนา ที่สำคัญจิตของเราคิดว่าศาสนาเราดีกว่า เมื่อเราเป็นชาวพุทธก็ต้องคิดว่าชาวพุทธดีกว่า ในขณะเดียวกันถ้าผมเปลี่ยนเป็นชาวมุสลิม ชาวมุสลิมก็อาจคิดว่ามุสลิมถูกและดีกว่า ถ้าต่างฝ่ายต่างก็คิดว่าดีกว่า ก็ตกลงกันไม่ได้

 

ถ้าวันหนึ่งเราจะมาสมานฉันท์ การนับถือศาสนาเป็นความดีที่ต้องเคารพซึ่งกันและกัน ในฐานะที่เราเคารพซึ่งกันและกันได้ก็จะเคารพต่อกันและกันได้ แต่อารมณ์ความรู้สึกของคนไม่ยอมไป  อารมณ์มันพูดยาก เหมือนที่เราพูดว่าเราไม่กินเนื้อสุนัข แต่พอเรารู้ว่าเนื้อที่เรากินลงไปแล้วเป็นเนื้อสุนัขแล้ว  เราทำใจไม่ได้ และอยากอ้วก ไม่ใช่เพราะเรามีสารเคมีในร่างกายหรอกแต่มันเป็นอารมณ์ความรู้สึก เมื่อเรามีความรู้สึกเป็นสิ่งที่คลี่คลายได้ยาก เมื่อเราต้องใช้เวลาหาวิธีคลี่คลาย ไม่ใช่ให้เวลาเป็นตัวบีบ มันเหมือนกับเราขันเกลียวที่เราต้องขันหลายๆ รอบ เพราะถ้าเราดึงไม่ออก เกลียวมันหมายถึงวิธีขันให้คลาย แต่ถ้าขันผิดวิธี มันไม่ออก มันปีนเกลียว สุดท้ายสิ่งที่ง่ายกลายเป็นยาก เพราะฉะนั้นเราพูดถึงการคลายมิติวัฒนธรรม ที่ขันเกลียวทางวัฒนธรรม มันต้องอาศัยการมีจังหวะเวลา ไม่สามารถทำได้โดยใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ

 

ถ้าความรุนแรงปะทะกัน ถึงที่สุดก็ไม่อาจให้อภัยกันได้?

 

ถ้าให้ผมพูดจากหลักศาสนา แน่นอนว่าเราต้องมีศรัทธา แน่นอนว่านี่เป็นความกำกวม ผมจะอธิบายอะไรเล็กน้อย

 

ถ้าศาสนาที่มีพระผู้เป็นเจ้าเราก็ต้องศรัทธาพระเป็นเจ้า โดยเราต้องมีความศรัทธาที่มากพอที่เราจะมีพลังเพื่อจะทำให้เราเกิดความรู้สึกสำนึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นแม้เลวร้าย แต่เป็นพระประสงค์ของพระเจ้า --- นี่คือกรณีของพี่น้องชาวมุสลิม เพราะฉะนั้นตัวศรัทธานี้จะสั่นคลอนไม่ได้  เพราะถ้าสั่นคลอนเมื่อใดแล้วอาจจะเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจในความหมายที่ปรากฏ  ไม่รู้ว่าจะตีความอย่างไร?

 

กลับมาที่ประเด็นชาวพุทธ ชาวพุทธก็ต้องมีศรัทธา ผมเข้าใจว่าชาวพุทธต้องศรัทธาในหลักที่เรียกว่า "นิพพาน"

 

หลักนิพานคือการเชื่อว่าชีวิตที่ดีงาม มันมีความหมายว่าเราจะไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ไม่ปล่อยให้ความโลภ โกรธ หลง เข้ามากำกับความหมายของชีวิตเรา

 

เมื่อตะกี้ผมพูดถึงตัวอย่างพระสงฆ์ แต่ผมไม่ยากพูดเลย เพราะจะมองท่านในแง่ลบ แต่ลองนึกสิครับ การที่มีคนหนึ่ง บวชเข้ามาเป็นพระสงฆ์มีเป้าหมายการทำพระนิพานให้แจ้ง แต่การทำพระนิพพานให้แจ้งโดยท่านมีความโลภ โกรธ หลง และท่านจะเบียดเบียนทำให้มันถึงตายไปเลย เท่ากับปล่อยให้มันเป็นความโกรธ ท่านทำให้พระนิพพานไม่แจ่มแจ้ง และหม่นหมอง

  

ผมพูดเพียงเท่านี้เพื่อจะบอกถึงเราต้องมีศรัทธา ไม่ว่าในหลักศาสนาใดๆ ศรัทธาในความหมายของความเป็นมนุษย์มันเป็นองค์ภาวะที่พวกเราแต่ละคนๆ มาร่วมกันแชร์ความเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นเราจะไม่ปล่อยให้ความเป็นมนุษย์ของเราไปทำลายความเป็นมนุษย์คนอื่นทันทีที่มีมนุษย์คนหนึ่งทำให้เราเสียหาย คืออย่าสูญเสียความเชื่อความเป็นมนุษย์ที่เป็นองค์รวม เป็นมนุษยภาพที่ยิ่งใหญ่ การมีชีวิตอยู่แม้จะต้องลำบากก็มีความหมาย แม้บางครั้งจะเจ็บปวดก็ยังมีความหมาย ที่ตรงนี้คือที่พูดในภาษาศาสนา ที่เราจะต้องไม่สูญเสียในความเชื่อมั่นศรัทธาในความเป็นมนุษย์นี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net