Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลังจากการตัดสินใจงดออกอากาศ รายการตอบโจทย์ : ตอน สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ของผู้บริหาร Thai PBS  โดยอ้างว่าไม่ต้องการขยายความขัดแย้งแตกแยกทางความคิดให้ลุกลามบานปลายยิ่งขึ้น ทำให้เกิดคำถามว่า ความรัก ความเทิดทูน ความปรารถนาดีที่ประชาชนมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในปัจจุบันนั้น เอาเข้าจริงสามารถเกิดขึ้นในรูปแบบใดได้บ้าง? ทำไมการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนออย่างเป็นเหตุเป็นผล ที่อภิปรายถกเถียงกันในที่แจ้งบนพื้นที่สาธารณะ จึงสามารถถูกมองเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการล้มเจ้า และการสร้างความขัดแย้งให้ลุกลามบานปลาย ทว่ากลับไม่สามารถถูกมองเป็นส่วนหนึ่งของความรัก ความเทิดทูน และความปรารถนาดี ที่ประชาชนมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

 “รักเท่าชีวิต” คือ บทสนทนาว่าด้วยความรักและเทิดทูนสถาบันกษัตริย์เท่าชีวิต ซึ่งอาจจะช่วยเปิดมุมมองที่น่าสนใจว่า การที่เราจะรักและเทิดทูนสิ่งใดเท่าชีวิต ด้วยหัวใจที่ยอมรับและเผชิญสัจธรรมความจริงอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น จะช่วยให้เกิดท่าทีและบรรยากาศของสติปัญญา การอยู่ร่วมกัน/ทุกข์ร่วมกัน และความอดทนอดกลั้นต่อความเห็นต่างได้อย่างไร?

 

___________________
 

วิจักขณ์: อย่างตอนนี้สลายการชุมนุมสำเร็จเรียบร้อย เสื้อแดงกลับบ้าน เราได้ยินบทเพลง “ขอความสุขคืนกลับมา” มี Big Cleaning Day มีมิวสิควีดีโอผู้คนยิ้มแย้ม เชิญชวนให้คนไทยรักกัน สามัคคีกัน ปรองดองกัน ... แล้วเราจะรักกันได้จริงไหมครับ

 

อ.ประมวล: เวลาได้ยินคนพูดว่า “คนไทยรักกัน” คำเหล่านี้ถูกใช้เพื่อจะให้ไม่ต้องไปสนใจเรื่องของปัจเจก การพูดเหมารวมในเชิงสังคมแบบนี้มันง่ายกว่า …แต่มันไม่ง่ายอย่างที่คิดหรอก ที่จะให้มาคืนดีกัน ... “คืนดีกัน” คือ... (นิ่งนาน)    .... คือ อะไร? (หัวเราะ)  คำว่า “ปรองดอง” จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ตราบใดที่เรายังคิดว่าฝั่งหนึ่งผิด แล้วรู้สึกว่าคิดอย่างนั้น ทำอย่างนั้นมันแย่มากๆ

 

ผมยกตัวอย่างนะ ถ้าสมมติผมรักในหลวง เทิดทูนสถาบันกษัตริย์ แล้วถ้ามีใครสักคนบอกว่าสถาบันกษัตริย์ไม่จำเป็น เป็นค่าใช้จ่ายทางสังคมที่แพงมากที่เราต้องจ่ายเพื่อรักษาสถาบันนี้ไว้ ความรู้สึกของผมคืออะไร? ... นี่ขอโทษ ผมพูดจากประสบการณ์ของผมเองจริงๆ นะครับ ผมก็รู้สึกเหมือนคนทั่วๆ ไป ที่มีความรักและเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ แต่ในขณะเดียวกันผมก็มีเพื่อนรักจำนวนมากที่โดยทัศนะของเขาคือ  มันเป็นค่าใช้จ่ายทางสังคมที่แพงมากที่เราต้องจ่ายเพื่อรักษาสถาบันนี้ไว้  เป็นต้นทุนทางสังคมที่แพง แต่ไม่ได้เกื้อกูลประชาชน

ขณะที่ผมคุยและฟังเพื่อนพูด ความรู้สึกของผมคืออะไรรู้มั๊ยครับ? ... ความรู้สึกคือ ใช่เลย (หัวเราะ) ในความรู้สึกคือใช่เลย เข้าใจได้เลย เข้าใจในสิ่งที่เพื่อนผมพยายามพูด พยายามสื่อออกมาเลย ...มันมีความรู้สึกอึดอัด คับแค้นใจอะไรบางอย่าง ซึ่งผมอาจไม่ได้รู้สึกเองอย่างนั้น แต่ฟังแล้วผมเข้าใจได้

ผมจำได้ว่าในสมัยที่ผมยังทำงานอยู่สุราษฎร์ฯ แล้วมีพวกสหายที่เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เวลาเขาจะมาประชุมชี้แจง แล้วโน้มน้าวให้เราเป็นแนวร่วม เขาก็จะพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ พูดได้มีอารมณ์ดีมาก เราฟังก็เคลิ้มเหมือนกันนะ ผมยังจำได้สองสามคำ เช่นว่า  “ลองนึกดูซิ แผ่นดินนี้ก็ไม่ใช่ของเรา เขามีเจ้าแผ่นดิน บนฟ้านี้ก็ไม่ใช่ฟ้าเรา เขามีเจ้าฟ้า แล้วพวกเราอยู่กันตรงไหน” (หัวเราะ)   ...ใช่เลย ใช่เลย (หัวเราะ) ในฐานะที่เราเป็นกรรมกรรับจ้าง ทำงาน กินเงินค่าจ้างวันละ 10 บาท 15 บาทเนี่ย ถูกกดขี่ ถูกเอาเปรียบสารพัด อารมณ์นี้ผมเข้าใจได้เลย 

 

วิจักขณ์: แต่การเข้าใจ มีอารมณ์ร่วมแบบนั้น ก็ไม่ได้ทำให้อาจารย์สูญเสียจุดยืนของอาจารย์เอง ซึ่งตรงนี้ดูเหมือนอาจารย์บอกว่า ก็ยังรู้สึกรักและเทิดทูนสถาบันกษัตริย์

 

อ.ประมวล:  ผมมีความรู้สึกของผมเองอีกส่วนหนึ่งว่า ข้อเท็จจริงที่เพื่อนผมพูด ผมไม่ปฏิเสธเลย แต่มันมีความหมายอีกความหมายหนึ่ง ความหมายที่… ขอโทษนะครับ คนแก่บ้านผมเนี่ย ไหว้ในหลวงไม่ต่างอะไรจากไหว้พระนะ หรือลึกๆแล้วอาจมีความรู้สึกลึกยิ่งกว่าพระภิกษุในพุทธศาสนาเสียอีก รูปในหลวงที่อยู่ที่บ้านเนี่ย มันเป็นอะไรที่มีความหมายที่ยิ่งใหญ่มาก ขอโทษ ผมจะรู้สึกไปได้อย่างไรว่าป้าผม แม่ผม ยายผมเหล่านั้น ช่างโง่เง่าเสียเหลือเกิน (หัวเราะ) ไม่ ไม่.. ผมไม่เคยคิดอย่างนั้นเลย ผมรู้สึกว่าเป็นอะไรที่ละเอียด ที่ลึกซึ้งมาก ที่คนแก่ๆที่ผมเคารพรักเหล่านั้นมีความรู้สึกแบบนั้น ไม่ได้เป็นความรู้สึกที่แกล้ง แต่เป็นความรู้สึกจริงๆ ที่ว่า นี่คือเจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดินของพวกเขา

 

วิจักขณ์: ผมเข้าใจประเด็นอาจารย์นะครับ คือถ้าเป็นมิติของปัจเจก มันก็พอเข้าใจได้ ใครจะรู้สึกยังไงเราก็เคารพ หรือรู้สึกร่วมไปกับเขา ส่วนเราจะรู้สึกยังไงนั่นก็เป็นความรู้สึกของเรา แต่พอเป็นในมิติทางสังคมแล้วเนี่ย มันก็มีเรื่องกฏกติกาการอยู่ร่วมกัน ความเป็นประชาธิปไตย ไม่เป็นประชาธิปไตย อุดมการณ์ทางการเมือง ที่เป็นพลวัตก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางต่างๆ   มันนอกเหนือไปจากแค่ คนคนนี้รักคนคนนี้ คนคนนี้ไม่รักคนคนนี้ แต่มันมีกฏหมายอาญามาตรา 112 มีค่านิยมทางสังคม ระบบอุปถัมภ์ วัฒนธรรมโหนเจ้า และอะไรที่ตามมาอีกมากมาย  ซึ่งสำหรับคนจำนวนไม่น้อยก็รู้สึกว่าสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ในแบบที่เป็นอยู่ คืออุปสรรคต่อการที่สังคมไทยจะก้าวไปข้างหน้า มีความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่กดทับคนเล็กคนน้อยอยู่ ซึ่งพวกเขาก็ต้องต่อสู้ เคลื่อนไหว เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น  แต่อีกฝ่ายหนึ่ง เขาก็รักของเขาแบบนี้ แถมทุกวันนี้ไม่รักก็ไม่ได้ด้วย
 

อ.ประมวล: อืม.. มันเหมือนฝ่ายหนึ่งก็อยากให้หยุดอยู่ตรงนี้ อีกฝ่ายก็อยากให้เคลื่อนไปตรงโน้น เป็นไปไม่ได้ที่จะอยู่สองที่พร้อมๆ กัน

 

วิจักขณ์: ใช่ครับ ถ้ามันเลื่อนไปตรงโน้น [เลื่อนแก้วน้ำ] คนที่อยากให้มันแช่แข็งอยู่ตรงนี้ก็ย่อมไม่พอใจแล้ว (อ.ประมวล: ใช่ ใช่) มีคนบอกว่ามันเป็นสถานการณ์ที่ไม่มีตรงกลาง ไม่เลือกข้างไม่ได้ ...แล้วแบบนี้จะทำไงครับ
 

 

อ.ประมวล: (นิ่งคิด) …  ผมอาจจะมีคำตอบที่ไม่ชัดเจนนัก แต่เดี๋ยวเราก็คุยกันต่อได้… มันเป็นความรู้สึกของผม ที่ของเนี่ยจะอยู่ตรงนี้ก็ได้ ตรงนั้นก็ได้ ผมไม่ได้มีความรู้สึกว่าของชิ้นนี้ที่ถูกต้องเนี่ย จะต้องอยู่ตรงนี้เท่านั้น ห้ามไปอยู่ที่อื่น
 

....ความคิดของผมมันอาจจะดูคลุมเครือมาก ราวกับว่ากำลังจะมีความขัดแย้งในตัวผมเอง แต่ส่วนตัวผมมีความรู้สึกในใจที่ชัดเจนอยู่อย่างหนึ่ง คือแท้จริงแล้วเนี่ย สถานะของสิ่งที่จะอยู่ตรงไหน มันเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ทั้งนั้น (นิ่งนาน)

ถ้าผมพูดกับสิ่งอื่นมันอาจจะภายนอกไปนะ ประมาณว่า เออ ก็พูดได้สิ มันไม่กระทบกระเทือนอะไรกับผมนี่ เลยจะตั้งอยู่ตรงนี้ก็ได้ ตรงนั้นก็ได้ แต่ขณะที่คนที่เค้านั่งอยู่สองฝั่งนี้สิ ถ้ามันมีสิ่งนี้มาตั้งอยู่เกะกะตรงหน้าเขา เขาก็ต้องอยากเลื่อนมันไปตรงโน้น เพราะฉะนั้นหากเราพูดในเชิงวัตถุ มันก็อาจรู้สึกว่ามีความขัดแย้งอยู่ในสิ่งที่ผมพูด

ปัญหานี้ไม่ใช่ว่าผมไม่เคยตั้งคำถามกับตัวเองมาก่อนนะ ลึกๆ ผมเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า “จริงๆ ผมยังอยากมีชีวิตอยู่มั๊ย?”  เพราะตอนนี้ผมมีความรู้สึกว่าผมพร้อมจะตายแล้วก็ได้ แน่นอนว่าถ้าผมบอกว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว นั่นเป็นความคิดที่แย่มาก ประมาณว่าชีวิตนี้มันแย่ ทำไมต้องอยู่ในเสียทรัพยากร ตายเสียดีกว่า... ผมใช้เวลาใคร่ครวญกับเรื่องนี้มาก ผมอยู่กับอารมณ์แบบนี้เวลาผมอยู่คนเดียว ในจุดบางจุดของชีวิต ที่มีลักษณะล่อแหลมสุ่มเสี่ยง ถึงขนาดที่ว่าผมจะตายก็ได้ แล้วผมก็ถามตัวเองว่า ผมยังอยากมีชีวิตอยู่ต่อไปมั๊ย? ก็ไม่ถึงกับว่าผมอยากจะมีชีวิตอยู่... แต่คำถามว่า แล้วผมอยากตายเหรอ? ก็ไม่ใช่ ...ประเด็นนี้มันทำให้ผมได้คำตอบบางอย่าง จากการใคร่ครวญความหมายของการมีชีวิตอยู่ ชีวิตในขั้นสุดท้าย ที่ในภาษาอินเดียเรียกว่า สันยาสี ที่นี้ชีวิตสันยาสีนั้น มีคำที่ถูกเขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า “ไม่ได้อยากมีชีวิตอยู่ จนต้องกลัวตาย และก็ไม่ได้อยากที่จะตาย จนรังเกียจการมีชีวิตอยู่” เมื่อใคร่ครวญถึงตรงนี้ มันทำให้ผมร้องอ๋อ ...”อ๋อ” แล้วความรู้สึกของผมมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ
 

ทีนี้ที่ผมพูดเรื่องชีวิตผม ก็เพื่อจะบอกว่า จริงๆ แล้วคำถามนี้มันเกี่ยวกับชีวิตผมอยู่นะ ไม่ใช่ว่าแก้วนี้จะเลื่อนไปไหนก็ได้ ทิชชูนี่จะไปอยู่ตรงไหนก็ได้ นั่นมันแค่เรื่องวัตถุภายนอก มันง่ายที่จะตอบ แต่นี่คือเรื่องชีวิตผมจริงๆ เมื่อเป็นเรื่องชีวิตผมจริงๆ แล้วผมเกิดความรู้สึกแบบนี้ได้ มันทำให้ผมเชื่อมโยงไปในทางสังคม อ๋อ ในทางสังคม... มันก็เป็นเช่นนี้แหละ มันก็เป็นเช่นนี้แหละ
 

สมมตินะครับ ผมอาจรักเทิดทูนในหลวงเสียเหลือเกิน แต่ถ้าสถาบันนี้ไม่เป็นที่ปรารถนาของคนซึ่งเป็นเพื่อนผม หากคนที่อยู่ในสังคมนี้เขาไม่ปรารถนาเสียแล้ว สถาบันนี้ก็อยู่ไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อสถาบันนี้อยู่ไม่ได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าผมจะต้องไปตีโพยตีพาย สงสารยายผม หรือโกรธแทนยายผมจนไม่เป็นอันทำอะไร ผมก็เห็นใจยายเท่านั้นเอง

 

วิจักขณ์: อันนี้ไม่ได้หมายความว่าอาจารย์จะต่อสู้เพื่อปกป้องสิ่งที่อาจารย์รักและเทิดทูนไม่ได้ใช่ไหมครับ?

ประมวล: ผมเข้าใจว่า พอถึงจุดๆ หนึ่ง คือความหมายที่เมื่อตะกี๊เราพูดถึงคำว่า “ปล่อยวาง” และคำว่า “ปล่อยวาง” นี้ คือประเด็นที่ผมกำลังพยายามอธิบาย คำว่าปล่อยวางไม่ได้หมายความว่าเพิกเฉยนะครับ แต่หมายความว่า “ไม่กลัว” ที่จะเกิดสิ่งนั้นขึ้น เพราะจริงๆ แล้วเนี่ย สถาบันกษัตริย์มีความหมายไม่ต่างอะไรจากชีวิตผมเลย ถึงผมจะหวงแหนมันซักแค่ไหน มันก็จบ และชีวิตผมเนี่ย เมื่อจบ มันก็คือจบ...

 

วิจักขณ์: ซึ่งเมื่อผ่านการใคร่ครวญถึงความตายและการมีชีวิตอยู่ ก็ทำให้เราเข้าใจว่า...สิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราหวงแหนเท่าชีวิต ก็ไม่ต่างกันเลย โลกใบนี้ สังคมที่เราอยู่ คนที่เรารัก ชีวิตที่เราหวงแหน... คือถึงจุดหนึ่งมันจะอยู่กับเราก็ได้ จะไม่อยู่กับเราก็ได้ (ประมวล: ใช่ ใช่)  เราได้ปล่อยความกลัว วางความกลัวไป จะมีอยู่ก็ได้ จะไม่อยู่ก็ได้

ประมวล: ก็เหมือนที่ผมพูดเรื่องชีวิต หากแปรคำเหล่านั้นมาใคร่ครวญถึงเรื่องสถาบันกษัตริย์ ผมไม่ได้เทิดทูนสถาบันกษัตริย์ จนผมต้องไปเกลียด ไปโกรธคนสักกลุ่มหนึ่งที่บอกว่าสถาบันนี้ไม่มีประโยชน์ แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็ไม่อาจจะไปพูดได้ว่ายายผมช่างงมงาย ตกยุคตกสมัยแล้ว ผมเข้าใจว่าความรู้สึกที่เรากำลังพูดถึงเนี่ย มันเป็นความรู้สึกที่มีทั้งเรื่องปัจเจก เรื่องสังคม เรื่องอะไรอยู่ในนี้หมดเลย มันไม่ได้แยกจากกันเลย เพราะถ้าเรามีท่าทีในเชิงปัจเจกเป็นอย่างนี้ เราก็จะมีท่าทีแบบนี้กับสถาบันทางสังคม กับโครงสร้างทางสังคม

 

ในความรู้สึกของผม สถาบันทางสังคมเนี่ย ถ้าเราจะกลัว... มันก็น่ากลัวจริงๆ นะ (หัวเราะ) ยิ่งมีภาษาวิชาการมาอธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผล แล้วเราก็คิดตาม คิดว่าน่ากลัว มันก็น่ากลัวจริงๆ ด้วยสถานะและโครงสร้างทางอำนาจของมัน ถ้าเราไปหวั่นวิตกและติดพันกับผลของสิ่งที่มันเคยมี ไม่ต่างกับที่เราหวั่นวิตกกับสุขภาพของเรา อย่างผมอายุปูนนี้ ก็เป็นไปไม่ได้แล้ว ที่ผมจะมีสุขภาพดีเหมือนกับสมัยที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นจึงอย่าไปกลัว คำว่าไม่กลัว หมายความว่าพร้อมจะรับได้ แล้วก็มีความรู้สึกที่ดีต่อสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ถ้าวันพรุ่งนี้จะไม่มีสถาบันกษัตริย์
 

 

10 มิถุนายน 2553

ณ ห้องอาหาร โรงแรมศรีกรุง

[จากหนังสือ “ธรรมนัว: พุทธธรรมท่ามกลางความขัดแย้งทางสังคมและการเมือง” , สนพ. ปลากระโดด, เมษายน 2556]

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net