Skip to main content
sharethis

ศักดิ์ณรงค์ หาญกล้า
สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


 


ในช่วงสัปดาห์ที่เพิ่งจะผ่านพ้นไป หลายคนไม่รู้ว่า กลุ่ม "คนหาปลาเลี้ยงปากท้องคนไทย" กลุ่มใหญ่ ซึ่งเรียกตัวเองว่า "สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้" ได้เดินทางไกลจากชายฝั่งทะเลใต้มาสู่เมือง ณ ศูนย์กลางการบริหารประเทศอย่างทำเนียบรัฐบาล หรือรัฐสภา พวกเขาได้บอกเล่าให้สังคมไทยรับรู้ว่า ท้องถิ่นของพวกเขากำลังถูกทำลาย ชีวิตของพวกเขากำลังเปลี่ยนไปจากการพัฒนาที่มี "ทุน" เป็นตัวตั้ง


 


นอกจากแถลงการณ์และเอกสารข้อเสนอแนะที่ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ 13 จังหวัดได้ช่วยกันจัดทำเสนอต่อรัฐบาลแล้ว อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นครั้งแรกที่เสียงของพวกเขาเหล่านี้ มี "พื้นที่" ให้ปรากฏตัวในเมืองใหญ่
 
"แต่เดิมนั้น ตามวิถีชาวบ้านแบบเราๆ มีการเพาะเลี้ยงกันอยู่แล้วตามฤดูกาล แล้วก็อยู่กันแบบพี่กับน้อง แบบน้ากับหลาน เรามีชุมชนที่อยู่บนคลองกับชุมชนที่อยู่บนฝั่ง ซึ่งเป็นชาวสวนยางขนาดเล็ก แล้วชาวสวนยางขนาดเล็กก็ลงมาเลี้ยงปลาอยู่ริมคลอง ฝากลูกฝากหลาน ฝากน้องช่วยกันเลี้ยง ช่วยกันดูแลรักษา" ลุงเหลด เมงไซ ตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านจากจังหวัดสตูล เริ่มต้นสะท้อนภาพของท้องถิ่นสตูล


 


ลุงเหลดกล่าวต่อว่า แต่พอมีนโยบายของรัฐบาลว่าจะมีการออกโฉนดทะเลให้ และสามารถนำไปขึ้นเงินกับสถาบันการเงินได้เพื่อเป็นทุนในการเพาะเลี้ยง ปัญหาก็เกิดขึ้นกับชุมชน ระบบพี่ระบบน้อง ระบบน้าระบบหลาน กำลังพังทลาย เกิดการแก่งแย่งกันกับผู้ที่มีการเพราะเลี้ยงอยู่เดิม โดยคนข้างบนบอกว่า เขาจะเพาะเลี้ยงด้วย


 


ส่วนคนที่อยู่ข้างล่างริมชายคลอง เขาก็บอกว่านี่คือที่หลังบ้านของเขา ทั้งๆ ที่มันเป็นของพระเจ้าประทานมาให้เราช่วยกันดูแล ช่วยกันรักษา แต่พอโครงการรัฐบาลเข้ามามีผลประโยชน์ พูดง่ายๆ คือ เมื่อเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ความเป็นพี่ความเป็นน้องก็สลาย นี่คือผลกระทบของโครงการรัฐบาลที่สู่ชุมชน โดยที่ชุมชนไม่ได้ทันตั้งรับ


 


ลุงเหลดยังเล่าถึงอีกรูปธรรมของปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนประมงพื้นบ้านจังหวัดสตูลว่า คือโครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา โดยพื้นที่ที่จะสร้างท่าเรือนั้นเป็นที่ของชาวบ้านลอยอวนกุ้ง ลอยอวนปู ลอยอวนปลา หากินกันอยู่ แต่ถ้าเกิดการทำท่าเทียบเรือน้ำลึก เกิดการถมทะเล แล้วชาวบ้านจะทำมาหากินกันอย่างไร


 


"ส่วนอีกประเด็นหนึ่งคือเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะลงไปสู่เกาะตะรุเตา ขนาดฤดูมรสุม ชาวบ้านจะเข้าไปหลบมรสุม เขาไม่เข้าไปหลบ ไม่ให้เข้าไปพัก มีการไล่ยิง แต่เขากลับจัดทำพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษให้นายทุนต่างชาติเข้ามาครอบครอง ทำไมรัฐบาลถึงทำแบบนี้ได้? แล้วไหนบอกว่าประชาชนคือเจ้าของประเทศ มันเป็นเจ้าของประเทศกันยังไง ในเมื่อเจ้าของประเทศไม่ได้ใช้ แล้วไอ้คนต่างชาติไม่รู้มาจากไหน มาใช้ประเทศเรา" ลุงเหลดตั้งคำถาม


 


ด้านลุงอูสัน แหละฮีม ชาวประมงพื้นบ้านจากลุ่มทะเลสาบสงขลา จังหวัดพัทลุง ก็ได้บอกเล่าว่า ชุมชนรอบทะเลสาบสงขลามี 2 หมื่นกว่าครัวเรือน ที่หากินอยู่กับการประมง เมื่อก่อนนี้ ชาวประมงจังหวัดพัทลุง ชาวประมงจังหวัดสงขลา ชาวประมงจังหวัดนครศรีธรรมราชทำมาหากิน อยู่กันอย่างสบาย มีความสุข แต่ปัจจุบันวิถีชีวิตพวกเขาเปลี่ยนไป หลังทะเลสาบสงขลาถูกปิดกั้นสองทาง คือทางปากระวะ และทางปากน้ำสงขลา ที่หนักก็คือเมื่อไม่กี่ปีมานี้ มีการสร้างเขื่อนคั่นคลื่นที่วางแนวปิดปากน้ำไปกว่าครึ่งของปากน้ำประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ทะเลสาบสงขลาถูกปิดตาย พันธุ์สัตว์น้ำที่เคยมีหายไปหมด เรียกว่า การสร้างแนวกั้นเหล่านี้ทำลายระบบนิเวศของทะเลสาบสงขลา หลังจากนั้นมา ทะเลสาบสงขลาก็เกือบจะไม่มีพันธุ์สัตว์น้ำให้ชาวประมงจับเลย


 


"เรื่องทางน้ำ รัฐบาลสองชุดที่ผ่านมาได้แค่สำรวจ และได้ใช้งบประมาณไปแล้วประมาณ 20 กว่าล้านบาท ถ้าเอางบประมาณในส่วนนั้นมาใช้ประโยชน์อย่างอื่นจะดีกว่าไหม และถ้าจะมีการศึกษาจริงๆ ก็น่าจะลงไปศึกษาในพื้นที่ ศึกษากับพวกชาวบ้านเลย ลงไปอยู่กับชาวบ้านเลย ไม่ใช่ไปนั่งศึกษาอยู่ในห้องแอร์" ลุงอูสัน กล่าว


 


ป้าจุไร ราชพล จากจังหวัดภูเก็ต หนึ่งในจังหวัดที่มีโครงการพัฒนาต่างๆ ลงไปมากที่สุดจังหวัดหนึ่ง ได้เล่าว่า บ้านของป้าก็มีความเดือดร้อนต่างๆ มากมาย  หลายสิบปีผ่านมา มีการต่อสู้อะไรต่อมิอะไรมา ฟ้าก็โปร่ง ฟ้าก็ใส แต่พอฟ้าโปร่งฟ้าใส มีกินอุดมสมบูรณ์ได้ไม่นาน ก็มีโรคใหม่เข้ามา ก็คือโรคท่าเรือมารีน่า ตอนนี้ชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดภูเก็ตได้รับผลกระทบมากมาย เพราะเมื่อท่าเรือมารีน่าเกิดขึ้นแล้วก็จะเป็นที่จอดเรือ 160 ลำ แล้วไอ้ที่เรือจอด 160 ลำนั้นก็เป็นที่ทำมาหากินของชาวบ้าน ที่ตกเบ็ด วางอวนกุ้ง อวนปลา  ซึ่งการมาของท่าเรือทำให้ชาวบ้านไม่สามารถหากินได้อีก


 


"โครงการทั้งหลายบริเวณชายฝั่งจังหวัดภูเก็ตเป็นโครงการทุนข้ามชาติ ผลประโยชน์ก็ตกกับทุนข้ามชาติและนายทุนใหญ่ๆ ในระดับจังหวัด ระดับประเทศ แต่ว่าผลกระทบส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับประมงพื้นบ้าน ประมงชายฝั่ง พวกเราได้รับความเดือดร้อน ใช้ชีวิตไม่ได้ตามปกติ" ป้าจุไร ระบาย


 


เหล่านี้สะท้อนเพียงความจริงส่วนหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเท่านั้น ลุงยาการียา อีซอ จากปัตตานี กล่าวว่า ปัญหาโดยรวมทั้งหมด ทางสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ได้นำเสนอในหนังสือที่ยื่นผ่านตัวแทนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว ลุงยาการีคาดหวังว่ารัฐบาลชุดนี้จะเป็นที่พึ่งให้กับชาวบ้าน และปัญหาของชาวบ้านจะได้รับการแก้ไข


 


"เราขอให้รัฐบาลทบทวนในโครงการพัฒนาใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาท่าเทียบเรือ การขุดลอกคลอง การสร้างเขื่อนกั้นทราย ส่วนใหญ่มันจะไปกระทบสิ่งแวดล้อมซึ่งจะส่งผลต่อไปยังประชาชนที่ต้องอาศัยพึ่งพิงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรเหล่านั้น ถ้าปัญหาตรงนี้แก้ไขไม่ได้ ทรัพยากรเริ่มหมดลงน้อยลง และบางสิ่งเริ่มสูญพันธ์ไปแล้ว ทีนี้ปัญหาต่างๆ ก็จะตามมามากมาย และมันไม่ใช่แค่ในพื้นที่เท่านั้น แต่จะกระทบไปยังส่วนอื่นๆ ทั้งประเทศด้วย เรียกว่า นี่คือปัญหาของคนทั้งประเทศก็ว่าได้" ลุงยาการี กล่าว


 


อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นหนึ่งในการเคลื่อนไหวของ "เสียงที่สังคมส่วนใหญ่ไม่ใคร่ได้ยิน" ซึ่งเกิดขึ้นอย่างมากมายและหลากหลายในยุคปฏิรูปนี้ เสียงของชาวประมงกลุ่มนี้ ฟังอย่างผิวเผินอาจะเหมือนเพียงเสียงที่บอกเล่าปัญหาในระดับปัจเจกหรือชุมชนเท่านั้น แต่หากเราเชื่อเช่นกันว่า "ไม่มีใครไม่เคยกินปลา" ปัญหาของชาวประมงพื้นบ้านและข้อเสนอต่างๆ ที่พวกเหล่านี้มี ก็สมควรที่จะได้รับความใส่ใจ ทั้งจากรัฐบาลและคนไทยทั้งสังคมมิใช่หรือ?


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net