Skip to main content
sharethis


ประชาไท—15 ธ.ค. 2548 ระบบเตือนภัยซึนามิเป็นภัยเสียเอง หลังเจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคกดปุ่มสัญญาณผิด เมื่อเวลา 12.30 น. วานนี้ (14 ธ.ค.) ชาวบ้าน 3 จังหวัดอันดามันหนีตายโกลาหล และมีบางส่วนได้รับบาดเจ็บและทรัพย์สินเสียหาย ล่าสุด ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติออกมารับผิด แต่ไม่รับประกันว่าจะไม่เกิดซ้ำ ด้านบริษัทติดตั้งสัญญาณเตือนภัยออกมายอมรับผิดและขอชดใช้ค่าเสียหายทุกกรณี

 


นายปลอดประสพ สุรัสวดี ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และมิสเตอร์จิม แฮนเนส หัวหน้าวิศวกรบริษัท เรย์แดนท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด แถลงข่าวขอโทษประชาชนกรณีเกิดเหตุสัญญาณเตือนภัยซึนามิริมชายฝั่งอันดามัน 39 แห่ง ดังฉุกเฉิน โดยนายปลอดประสพ กล่าวว่า ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติยังไม่ได้ทำการตรวจรับอุปกรณ์เตือนภัยต้นเหตุ ส่วนความผิดพลาดนั้นเกิดจากเจ้าหน้าที่เทคนิคกดปุ่มผิด แทนที่จะกดปุ่มทดสอบระบบ กลับไปกดปุ่มสัญญาณเตือนภัย พร้อมกล่าวว่า จะระวังไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้อีก แต่ไม่รับประกันว่าจะไม่เกิดเรื่องดังกล่าวซ้ำ เพราะเป็นเรื่องเทคนิคอาจจะมีความผิดพลาดได้ อย่างไรก็ตามจะทบทวนการทำงานต่อไป


 


ด้านมิสเตอร์จิม แฮนแนส กล่าวว่า บริษัทยินดีรับผิดชอบประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุบัติเหตุดังกล่าว เพราะได้ยินมาว่ามีทั้งรถชนและการเบียดเสียดกัน


 


สำหรับความเสียหายที่เกิดกับ 3 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากระบบเตือนภัยดังไม่ถูกเวลา ได้แก่ ภูเก็ต  กระบี่ และพังงา ซึ่งหลังจากสัญญาณเตือนภัยดังขึ้นประมาณ 12.30 น. ของวานนี้ นักท่องเที่ยวและชาวบ้านที่อยู่ชายฝั่งได้หนีตายกันโกลาหล บ้างเบียดเสียดกันจนได้รับบาดเจ็บ ส่วนในจังหวัดภูเก็ตเกิดเหตุรถยนต์ชนกัน 4-5 คัน อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านที่อยู่ในเหตุการณ์โกลาหลต่างยืนยันว่า เหตุเช่นนี้ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะกระทบกระเทือนจิตใจผู้คน โดยเฉพาะผู้ที่เคยประสบภัยจากซึนามิเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2547


 


"ทุกคนต่างพากันตกใจ เพราะเคยประสบกับเหตุการณ์คลื่นยักษ์ซึนามิมาแล้ว" นางรอนี่ กล่าวให้สัมภาษณ์เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ โดยนางรอนี่ระบุว่า การวิ่งหนีครั้งนี้ทำให้รู้ว่าระบบความปลอดภัยยังไม่พร้อม โดยเฉพาะเรื่องเส้นทางหนีภัย ยังไม่เคยมีเจ้าหน้าที่มาชี้แจงให้ประชาชนทราบ จึงอยากให้เจ้าหน้าที่มาชี้แจง รวมทั้งหากมีการซ้อมก็ควรประกาศแจ้งให้ประชาชนได้รับทราบก่อน เพื่อจะได้ไม่ตื่นตกใจ


 


ทั้งนี้เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจได้รายงานความรู้สึกของผู้อยู่ในเหตุการณ์คนอื่นๆ ซึ่งเห็นสอดคล้องกัน  เช่นที่จังหวัดพังงา นายอุ่นจิตร วังนรา ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านน้ำเค็มจังหวัดพังงา เปิดเผยว่า สัญญาณเตือนภัยดังขึ้นในช่วงที่นักเรียนกำลังพักกลางวัน โดยมีเสียงเตือนทุกภาษา ระบุให้ประชาชนรีบอพยพไปอยู่ในจุดปลอดภัย ทำให้เกิดความวุ่นวาย เพราะมีประชาชนจำนวนมากมารวมตัวกันที่โรงเรียนแห่งนี้ จนเกิดเหตุรถยนต์ชนกัน 3-4 คัน เนื่องจากต่างรีบหนีเพื่อเอาชีวิตรอด


 


ส่วนนักเรียนเกิดความรู้สึกหวาดผวาอย่างมาก เพราะทุกคนเคยพบกับเหตุการณ์ความสูญเสียจากคลื่นยักษ์ซึนามิเมื่อปีที่แล้วมา ดังนั้นจึงอยากให้มีการชี้แจงว่าเกิดเหตุการณ์นี้ได้อย่างไร


 


"ความผิดพลาดลักษณะนี้ถือว่าไม่ใช่เรื่องดีกับคนที่ผ่านประสบการณ์เฉียดตาย รวมทั้งสูญเสียทรัพย์สิน ครอบครัว ฉะนั้นการทำระบบ จึงควรต้องทำอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันความผิดพลาดให้มากที่สุด ไม่ให้กระทบภาวะทางจิตใจคนที่สูญเสีย" นายอุ่นจิตร กล่าว


    


นายวโรจน์ โฮ่สกุล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 บ้านบางสัก ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา กล่าวว่า ได้สอบถามไปยังหน่วยงานราชการในเรื่องที่เกิดขึ้น ได้รับคำตอบว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่ในพื้นที่รู้มาก่อนว่า ส่วนกลางจะมีการทดลองระบบ ความผิดพลาดทำให้ชาวบ้านจำนวนมากรีบหนีออกจากจุดเสี่ยง และได้รับบาดเจ็บหลายคน


 


"การทำงานแบบนี้ถือว่าผิดพลาดอย่างมาก เพราะชีวิตของคนอันดามันที่ต้องแขวนไว้กับผู้ควบคุมสัญญาณเพียงคนเดียว หากให้สัญญาณพลาดมันก็หมายถึงชีวิตของคนที่นี่ ฉะนั้นผู้เกี่ยวข้องระดับสูงต้องตรวจสอบและหาคนรับผิดชอบเรื่องนี้" นายวโรจน์ กล่าว


 กลับหน้าแรกประชาไท

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net