Skip to main content
sharethis

นอกเหนือจากปัจจัยเสี่ยงในเรื่องของโรคระบาดคือ โรคไข้หวัดนกที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในระยะกว่า 1 ปีที่ผ่านมา จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจบางกลุ่มธุรกิจให้ชะงักการเจริญเติบโตไปในระยะหนึ่ง แต่ปัจจัยเสี่ยงอีกด้านหนึ่งที่น่ามีความเป็นห่วงไม่แพ้กันก็คือ ผลกระทบที่เกิดจากภัยทางธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ภัยแล้ง ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเด็นที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญในการรับมือแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว เพราะหากเกิดผลกระทบขึ้นจะเป็นการกระทบในวงกว้าง ทั้งภาคการผลิตการเกษตร บริการ อุตสาหกรรมฯลฯ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องติดตามข้อมูลเพื่อรายงานสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด และการมีระบบเตือนภัยด้านการเกษตร ซึ่งถือว่ามีความจำเป็นมากสำหรับประเทศไทย

เกาะติดสถานการณ์ภัยแล้ง

นายบรรพต หงษ์ทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งในประเทศไทยขณะนี้ว่า ปริมาตรน้ำใช้การได้ของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ 22,312 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 50 ของความจุใช้การได้ของอ่างเก็บน้ำ โดยอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาตรน้ำน้อย ได้แก่ อ่างเก็บน้ำเขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนลำตะคอง ลำพระเพลิง ทับเสลา และกระเสียว ซึ่งปัจจุบันอ่างเก็บน้ำเขื่อนกระเสียวมีระดับน้ำในอ่างต่ำกว่าธรณีท่อส่งน้ำจำเป็นต้องใช้กาลักน้ำเพื่อส่งน้ำช่วยเหลือการประปาและอุปโภคต่อไป

สำหรับพื้นที่ที่ประสบภัยที่ได้รับรายงายจากกรมส่งเสริมการเกษตร พบว่ามีพื้นที่การเกษตรประสบภัยทั้งสิ้น 49 จังหวัด เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน จำนวน 1,528,645 ราย พื้นที่การเกษตรประสบภัย จำนวน 26,662,653.24 ไร่ คาดว่าจะเสียหาย 18,071,111.99 ไร่ จังหวัดที่มีพื้นที่เสียหายมากที่สุดได้แก่ นครราชสีมา 2,430,759 ไร่ ส่วนจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมี 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุโขทัย เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน 1,119 ราย จำนวนสัตว์ที่ได้รับผลกระทบ 3,889 ตัว

ส่วนการให้ความช่วยเหลือ ขณะนี้กรมชลประทาน สนับสนุนเครื่องสูบน้ำรวม 649 เครื่อง แบ่งเป็นภาคเหนือ 164 เครื่อง กรมส่งเสริมการเกษตรใช้เงินทดรองราชการของจังหวัด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยฝนทิ้งช่วงวงเงิน 343.12 ล้านบาท ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร 1,413,562.50 ไร่ เกษตรกร 149,943 ราย รวม 20 จังหวัด ด้านสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง 7 ศูนย์ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2548 ขึ้นปฏิบัติการ 1 ศูนย์ 3 เที่ยวบิน ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พื้นที่เป้าหมายได้แก่ พื้นที่การเกษตร จ.สตูล ตอนล่าง จ.ตรังและด้านตะวันตก จ.สงขลา สังเกตไม่พบกลุ่มฝนในบริเวณพื้นที่ปฏิบัติการ บางศูนย์ไม่ขึ้นปฏิบัติการเนื่องจากเครื่องบินเข้าซ่อมประจำปี สภาพอากาศไม่เหมาะสมและความชื้นสัมพัทธ์ต่ำกว่าเกณฑ์ ด้านสภาพการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศ ขณะนี้เกษตรกรได้ดำเนินการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งแล้วประมาณ 5.20 ล้านไร่ แบ่งเป็นข้าวนาปรังประมาณ 4.79 ล้านไร่ (พื้นที่เป้าหมาย 5.40 ล้านไร่) เก็บเกี่ยวแล้ว 0.06 ล้านไร่ พืชไร่-ผัก ประมาณ 0.41 ล้านไร่ (เป้าหมาย 0.95 ล้านไร่)

ขณะที่สภาพการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตพื้นที่โครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่และพิษณุโลก เกษตรกรได้ปลูกพืชฤดูแล้งแล้วประมาณ 3.83 ล้านไร่ แบ่งเป็นข้าวนาปรังประมาณ 3.37 ล้านไร่ (พื้นที่เป้าหมาย 2.93 ล้านไร่) พืชไร่-ผัก ประมาณ 0.04 ล้านไร่ สภาพการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในพื้นที่โครงการแม่กลอง เกษตรกรได้ปลูกพืชฤดูแล้งแล้ว ประมาณ 0.1 ล้านไร่ แบ่งเป็นข้าวนาปรัง 0.08 ล้านไร่ พืชไร่-ผัก ประมาณ 0.02 ล้านไร่

ก.เกษตรฯ เร่งพัฒนาระบบเตือนภัย
คาดสิ้นปี 48 เคลื่อนได้เต็มรูปแบบ

นายภิรมย์ ศรีจันทร์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ก่อให้เกิดความสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและมลภาวะ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวมีผลให้ความเสียหายเกิดขึ้นจากธรรมชาติ เช่น อุทกภัย ภัยแล้ง และทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรกรรมส่วนใหญ่ของประเทศ

ดังนั้น ระบบเตือนภัยด้านการเกษตรจึงถูกกำหนดขึ้นเป็นภารกิจภายใต้ยุทธศาสตร์การเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการ เพื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการเตือนภัยด้านการเกษตรที่แยกเป็น 3 สาขา คือ ภัยธรรมชาติ ภัยด้านโรคระบาด และภัยทางเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งกระทรวงเกษตรฯได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และมีความชัดเจนในปี 2547 ที่ผ่านมา ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเตือนภัยด้านการเกษตรขึ้น โดยมีเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเป็นประธาน และอธิบดีกรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นคณะกรรมการฯ รวมถึงตั้งศูนย์เตือนภัยด้านการเกษตร เพื่อเป็นศูนย์กลางในการจัดเตรียมข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้อยู่ในรูปของข้อมูลเชิงตัวเลข ทั้งในรูปแบบของระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) และระบบฐานข้อมูล (MIS) หรือข้อมูลอื่นๆ ที่จำเป็นในการกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัย ระดับการเตือนภัยทั้งตามช่วงเวลา หรือเหตุการณ์ปกติที่จะเกิดขึ้นในทุกรอบปี และช่วงเหตุการณ์ผิดปกติและประเมินความเสียหายการแจ้งเตือนภัย

แต่ขณะนี้ระบบดังกล่าวยังประสบปัญหาในเรื่องของการรายงานผลมายังส่วนกลางได้อย่างรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ จึงทำให้การเตือนภัยการเกษตรล่วงหน้ายังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร แต่จากการแนวทางการดำเนินการใหม่ และจัดระดมความคิดเห็นผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันก็จะเป็นการทำให้กลไกการรายงานของแต่ละพื้นที่เป็นไปอย่างถูกต้อง แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ด้านนายมณฑล เจียมเจริญ ผอำนวยการศูนย์สารสนเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้ปัญหาสำคัญที่ทำให้ระบบการเตือนภัยด้านการเกษตรยังเห็นผลไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากยังประสบปัญหาในเรื่องของระบบเครือข่ายเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการให้แต่ละหน่วยงานในพื้นที่ สามารถใช้ระบบการรายงานเข้ามายังส่วนกลางได้อย่างครอบคลุมและมีความรวดเร็ว เพื่อรายงานผลเสนอต่อผู้บริหารรับทราบในการกำหนดนโยบายในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาภัยต่างๆ อย่างทันต่อเหตุการณ์

อย่างไรก็ตาม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้จัดสรรงบประมาณในการดำเนินการระบบเตือนภัยแล้วจำนวน 10 ล้านบาท ที่เป็นงบดำเนินการในเบื้องต้น ซึ่งหากจะทำให้ระบบดังกล่าวมีความครอบคลุมในทุกพื้นที่ สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายจากทุกหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภัยพิบัติด้านต่าง ๆ ต้องใช้ประมาณถึง 100 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้ประชุมและมีมติในการนำโครงการจัดทำระบบเตือนภัยด้านการเกษตรอย่างครบวงจร เพื่อเสนอต่อที่ประชุม ครม. พิจารณาอนุมัติงบประมาณดำเนินการ

ทั้งนี้ คาดว่าปลายปี 2548 ระบบนี้จะมีความชัดเจนเป็นรูปธรรมและสามารถแจ้งเตือนภัยด้านการเกษตรได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยจะสามารถลดมูลค่าความเสียหายทางด้านผลผลิตทางการเกษตรของประเทศได้กว่า 50 % จากมูลค่าความเสียหายทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ภัยด้านโรคระบาด และภัยทางเศรษฐกิจการเกษตร สร้างความเสียหายกว่าหมื่นล้านบาท/ปี เช่น สถานการณ์ภัยแล้งที่ต่อเนื่องจากกันยายนที่ผ่านถึงขณะนี้พบว่า พื้นที่การเกษตรเสียหายสิ้นเชิงกว่า 8 ล้านไร่ โดยเฉพาะข้าวนาปีในพื้นที่ภาคอีสานที่เสียหายค่อนข้างมาก ดังนั้น จึงถือว่าระบบเตือนภัยด้านการเกษตรสามารถใช้ได้อย่างเต็มรูปแบบ ก็จะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างมากที่จะแจ้งเตือนสถานการณ์ภัยต่าง ๆ อย่างล่วงหน้าในการเตรียมแผนรับมือ และป้องกันก่อนที่ความเสียหายจะทวีมากขึ้นกว่านี้.

****************

ประชาไทรายงาน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net