Skip to main content
sharethis

เปิดแผนรับนิคมจีนรุกคืบ - ชุดข้อมูลที่คนเชียงรายต้องรู้

โครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมเชียงแสนที่กำลังอยู่ในความสนใจของคนเชียงรายและคนทั้งประเทศนั้น เป็นหนึ่งของการเตรียมพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศภายใต้การดำเนินงานของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ด้วยการตัดสินใจเลือกพื้นที่ 3,100 ไร่ใน ต.ศรีดอนมูล อ.เชียงแสนเป็นพื้นที่ก่อสร้าง

ที่ตั้งของโครงการนิคมฯ นี้ห่างจากท่าเรือเชียงแสนปัจจุบันบริเวณใกล้กับที่ว่าการอำเภอในแนวเส้นตรงประมาณ 10 ก.ม. และห่างจากที่ตั้งของท่าเรือเชียงแสนแห่งใหม่ซึ่งกำลังจะเริ่มก่อสร้างบริเวณสบกกประมาณ 18 ก.ม. ในแนวเส้นตรง ขณะที่เมื่อวัดจากแนวถนนสายแม่จัน-เชียงแสน บริเวณบ้านป่าสักน้อยแยกออกไปทางซ้ายมือจะห่างจากแนวถนนใหญ่ประมาณ 5 ก.ม.

พื้นที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายที่มีรากเหง้าและได้วางกรอบพัฒนาองค์รวมให้เป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญ และอาจเทียบชั้นถึงขั้นมรดกโลกได้ หากผลักดันกันจริงจัง กับอีกบทบาทหนึ่งที่ได้รับคือการยกให้เป็นหัวหอกการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วยการนำนิคมอุตสาหกรรมฯ มาลง

ส่งผลให้เกิดขั้วของความคิดที่แตกต่าง

นี่คือการตัดสินใจครั้งสำคัญ ที่เราต้องร่วมกันเปิดเผยและศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน ว่าจะโบกมือลา….ความเป็นมรดกโลก หรือจะสวัสดี..หนีห่าว เปิดเมืองรับมรดกจีน

เพราะ 2 ทิศทางนี้ อย่างไรก็ไม่มีทางเข้ากันเป็นเนื้อเดียวได้

เปิดผลการศึกษาเพื่อจัดตั้ง
นิคมอุตสาหกรรมเชียงแสน

คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2546 อนุมัติงบกลางปี 2546 วงเงิน 3,002 ล้านบาท ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ศึกษาความเหมาะสมการจัดตั้งนิคม/เขตประกอบการอุตสาหกรรมและสถานีขนถ่ายสินค้า (ICD) เชียงแสน ซึ่ง กนอ. จังหวัดเชียงราย สศช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดพื้นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมโดยมีการทบทวนจุดที่ตั้งที่เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการและศักยภาพของพื้นที่หลายครั้งจนได้ข้อยุติ คือ พื้นที่ ต.ศรีดอนมูล อ.เชียงแสน เนื้อที่ 3,162 ไร่ ตลอดจนดำเนินการศึกษาความเหมาะสมการจัดตั้งนิคม/เขตประกอบการอุตสาหกรรมและสถานีขนถ่ายสินค้า (ICD) เชียงแสนเสร็จสิ้นแล้ว ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการเตรียมการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมร่วมกับภาคเอกชนจีน โดยความก้าวหน้าการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย สรุปได้ ดังนี้

ผลการศึกษาเพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม

แนวคิดการพัฒนา กำหนดพัฒนาลักษณะเชิงเศรษฐกิจนิเวศน์ (Eco-Industrial Estate Development) มุ่งเน้นการพัฒนาที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะพัฒนาโครงการ ในพื้นที่ จำนวน 3,136 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ประกอบกิจการ 2,065 ไร่ (ร้อยละ 85.53) ประกอบด้วย พื้นที่อุตสาหกรรมทั่วไป 1,635 ไร่ และพาณิชยกรรม 420 ไร่ ซึ่งภายหลังที่เอกชนเข้าประกอบการจะมีการนำพื้นที่บางส่วนมาขออนุญาตกรมศุลกากรประเทศเป็นเขตปลอดอากรและพื้นสาธารณูปโภคและพื้นที่สีเขียว 1,081 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 34.47 %

แผนการพัฒนา แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 (ปีที่ 1-2) กำหนดพัฒนา 1,882 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 60 ของการก่อสร้างทั้งหมดโดยมุ่งเน้นการพัฒนาระบบโาครงสร้างพื้นฐานและพื้นที่ลงทุน ระยะที่ 2 (ปี 3-4) ก่อสร้างส่วนที่เหลือทั้งหมดและจะมีการย้ายเข้าพื้นที่ของโรงงานและกิจกรรมต่างๆ ร้อยละ 40 และ 60 ในปีที่ 3 และ 4 โดยพื้นที่โครงการจะถูกพัฒนาหรือขายหมดสิ้นในปีที่ 5

ความเป็นไปได้ทางการเงิน ภาคเอกชนจะลงทุนค่าที่ดินและก่อสร้างโครงการประมาณ 3,949.98 ล้านบาท ผลตอบแทนโครงการ IRR 13.49 NPV มูลค่าปัจจุบันสุทธิ 145.22 ล้านบาท B/C Rate อัตราส่วนระหว่างมูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์และค่าลงทุน 1.04 และระยะเวลาคืนทุน 4.08 ปี

สำหรับประเภทอุตสาหกรรมและนักลงทุนเป้าหมาย แบ่งเป็น 1.อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ การแปรรูปผลผลิตการเกษตร ผลไม้กระป๋อง อัญมณีและเครื่องประดับ ตัดเย็บเสื้อผ้า ประกอบชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรกล อุปกรณ์ทางการเกษตร การบริหารและขนส่ง เครื่องมือทางการแพทย์ ผลิตยาและเวชภัณฑ์และการพิมพ์การทำแฟ้มเอกสารและ 2.อุตสาหกรรมที่ห้าม ได้แก่ การผลิตสารเคมีอันตราย ผลิตเยื่อกระดาษ สิ่งทอขั้นต้น ฟอกหนัง อาหารสัตว์และอาหารกระป๋องที่ใช้วัตถุดิบจากสัตว์ ส่วนนักลงทุนเป้าหมาย เป็นประเทศที่มีความชำนาญการผลิตในอุตสาหกรมเป้าหมาย ได้แก่ จีน สวิสเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เบลเยี่ยม สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ อเมริกาและผู้ประกอบการ SMEs ในไทยที่ผลิตสินค้า OTOP

ด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม/สังคม รายงานระบุว่า การดำเนินโครงการทั้งในระยะก่อสร้างและดำเนินการจะมีผลกระทบต่อสภาพอากาศ น้ำ และระบบนิเวศวิทยาอย่างไม่มีนัยสำคัญ แต่การขยายตัวแรงงานจากการพัฒนาโครงการอาจมีผลต่อการใช้ประโยชน์ที่ดิน ระบบสาธารณูปโภค ตลอจนการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องมีการเตรียมการรองรับ

ด้านการยอมรับของประชาชน จากการประชุมเพื่อนำเสนอผลการศึกษาได้มีการสำรวจความคิดเห็นของชุมชน พบว่า ชุมชนโดยรอบพื้นที่เห็นด้วยกับการเกิดนิคมอุตสาหกรรม ร้อยละ 96 โดยเห็นว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนโดยเฉพะการสร้างงาน ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยกังวลว่าจะทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและผลกระทบสังคมตามมา

ส่วนประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับคือจะเป็นฐานการลงทุนใหม่ของประเทศ เป็นแหล่งงานในท้องถิ่นและจังหวัดใกล้เคียงประมาณ 40,000 คน และชุมชนมีสภาพความเป็นอยุ่ที่ดีขึ้นจากการเพิ่มปริมาณการค้า การลงทุน การผลิตโดยเฉพาะการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมชนบท

ทั้งนี้กลยุทธ์ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะดำเนินการ 3 ด้านคือ การสร้างความร่วมมือระหว่างไทยและจีน โดยจัดให้มีคณะทำงานร่วมไทย-จีน และศึกษาดูงานในประเทศจีน การเตรียมความพร้อมสำหรับพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชียงแสน และการมีส่วนร่วมของประชาชน

การดำเนินการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม คณะกรรมการ กนอ.มีมติอนุมัติในหลักการให้ กนอ.ร่วมดำเนินงานกับ บริษัท ไทย - จีน พัฒนาการค้า จำกัด เมื่อวันที่ 26 พ.ค.2547 และบริษัทไทย - จีน พัฒนาการค้า จำกัด มีกำหนดจะลงนาสัญญาร่วมดำเนินงานจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมกับ กนอ.ภายในธันวาคม 2547

ติงทบทวนอุตสาหกรรมเป้าหมายไม่สะอาดจริง
อย่างไรก็ตามรายงานความคืบหน้าดังกล่าวที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจชายแดนครั้งที่ 3 / 2547 เมื่อวันพุธที่ 13 ตุลาคม 2547 ที่ห้องประชุมเดช สนิทวงศ์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีนายสมเจตน์ เตรคุพ รองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯเป็นประธาน ผู้เข้าประชุมร่วมกว่า 60 คนได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมคือ

ประเด็นการพิจารณาแผนการลงทุนจีน เห็นควรให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยประสานบริษัทไทย - จีน พัฒนาการค้า จำกัด เพื่อให้ทราบความชัดเจนของกิจกรรมการลงทุนตามแผนการลงทุนของจีน เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของกิจกรรมตลอดจนกำหนดแนวทางสนับสนุนเพื่อให้เกิดการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม

การกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ให้ข้อสังเกตว่าอุตสาหกรรมเป้าหมายบางประเภทว่าอาจก่อให้เกิดผลการะทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งเป็นสารเคมีไม่ใช่สารอินทรีย์อาจก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมได้จึงเห็นควรให้การนิคมอุตสาหกรรม
แห่งประเทศไทยทบทวนการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเข้าลงทุนให้เป็นไปอย่างเหมาะสม

การสำรวจความคิดเห็นประชาชน ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับผลการสำรวจการยอมรับของประชาชนที่ระบุว่าประชาชนในพื้นที่เห็นด้วยกับการเกิดนิคมอุตสาหกรรม ร้อยละ 96 นั้น อาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเนื่องจากในการประชุมโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับพื้นที่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจชายแดนจ.เชียงราย ในวันที่ 12 ตุลาคม 2547 พบว่า ประชาชนในพื้นที่ยังสับสนกับข้อมูลและมีบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม

ประเด็นนี้ผู้แทนมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่มีต่อการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจชายแดนนั้น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ตอบว่าทราบว่าจะมีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจแต่ยังไม่มีความเข้าในโครงการและความคืบหน้าอย่างแท้จริง ซึ่งการดำเนินการของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงในโครงการสร้างกลไกการมีส่วนร่วมประชาชนซึ่งกำหนดจะมีการจัดประชุมสัมมนาในพื้นที่จะเป็นช่องทางในการเข้าถึงและสร้างความเข้าใจของประชาชนมากขึ้น

ประเด็นของผลกระทบกิจกรรมการลงทุนต่อพื้นที่อนุรักษ์ กิจกรรมต่อเนื่องอันเนื่องมาจากการลงทุนอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่อนุรักษ์ เช่น การผ่านเข้าออกของรถบรรทุกอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่โบราณสถานซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการพิจารณาวางแผนเพื่อรองรับ

ส่วนการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ผู้แทนการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมว่าเอกชนที่จะรวมดำเนินการจัดตั้งอุตสาหกรมกับการนิคมอุตสาหกรรมจะต้องจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาอนุมัติก่อน หากไม่ผ่านการอนุมัติของ สผ.ก็ไม่สามารถจัดตั้งได้

ดังนั้นหากยึดกรอบกระบวนการดำเนินงานที่ ดร.วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผอ.ฝ่ายยุทธศาสตร์และพัฒนาธุรกิจ กนอ.ระบุในเดือนตุลาคม 2547 เป็นช่วงของการศึกษาความเหมาะสม จากนั้นจะเป็นการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) และรอการอนุมัติ ประกาศเขตนิคมอุตสาหกรรม ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ช่วงของการพัฒนาโครงการราวเดือนมีนาคม2548-มีนาคม2550 และเปิดใช้ เมษายน 2550

สิ่งที่น่าจับตาในห้วงเวลาต่อไปนี้คือการร่างทีโออาร์เพื่อกำหนดกรอบการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมว่าหน้าตาจะออกมาเป็นเช่นใด

นิคม + ท่องเที่ยว เนื้อเดียวกันได้หรือ ?
ดร.วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผอ.ฝ่ายยุทธศาสตร์และพัฒนาธุรกิจ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ยืนยันกับชาวเชียงรายว่า กนอ.มีแนวคิดจะทำให้นิคมฯแห่งใหม่ที่เชียงแสนเป็นนิคมฯตัวอย่างที่สามารถอยู่ร่วมกับการท่องเที่ยวได้ ขณะที่การศึกษาความเหมาะสมของพื้นที่พยายามจะให้นิคมฯแห่งนี้มีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่า 30% ทั้งนี้จะไม่ให้กระทบกระเทือนกับชาวบ้านใกล้เคียง

แต่ความเป็นไปได้ของกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องของนิคมอุตสาหกรรมกับการท่องเที่ยวเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือ

ในการศึกษาความเหมาะสมการจัดตั้งนิคม/เขตประกอบการอุตสาหกรรมมีการให้ศึกษาเพื่อสร้างสถานีขนถ่ายสินค้า (ICD) เชียงแสนด้วย สิ่งที่ชาวบ้านกังวลคือโครงข่ายถนนเชื่อมสถานีขนถ่ายสินค้าและถนนหลักเข้าสู่นิคมฯ ซึ่งกนอ. ระบุว่าจะตัดถนนสายใหม่ไม่ใช้ร่วมกันกับชาวบ้านที่ใช้กันอยู่เดิม เพราะจะต้องใช้ขนส่งวัตถุดิบและสินค้าเชื่อมต่อกับท่าเรือแห่งใหม่ และลงไปสู่ตลาดในภาคกลาง

ประเด็นอยู่ที่อำเภอเชียงแสนแห่งนี้คือมรดกสำคัญที่ส่งต่อจากประวัติศาสตร์สู่ฐานเศรษฐกิจปัจจุบันคือการท่องเที่ยว จากพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ และเมืองโบราณเชียงแสน

หลักฐานโบราณคดีระบุว่าอาณาเขตดั้งเดิมของเวียงเชียงแสนกินอาณาบริเวณครอบคลุมที่ราบลุ่มเชียงแสนทั้งหมด มีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับเมืองกายสามเท้า ทิศใต้ติดต่อกับเมืองเชียงราย ที่ตำบลแม่เติม ทิศตะวันออกติดต่อกับเมืองเชียงของที่ตำบลเชียงชี ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดต่อกับแดนฮ่อที่ตำบลเมืองหลวง และทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดต่อกับเมืองฝาง ที่กิ่วคอสุนัข หรือกิ่วสไต ซึ่งหมายรวมถึงเขตตำบลศรีดอนมูลด้วย

นอกจากนั้น อำเภอเชียงแสนยังมีเขตที่ได้รับประกาศเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลก โดยจังหวัดนำร่องในการดำเนินโครงการ Implementation of Ramsar Covention, Management and Protection of wetland Area จากรัฐบาลประเทศเดนมาร์ก โดยกำหนดให้พื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงกาย อำเภอเชียงแสน เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ตามอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุมน้ำ (Ramsar)ขนาดพื้นที่ 2712.5 ไร่โดยได้กำหนดให้มีการบริหารการจัดการ การอนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำดังกล่าวอย่างชาญฉลาดและยั่งยืน ซึ่งบริเวณดังกล่าวอยู่ตรงกันข้ามกับพื้นที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมโดยมีถนนสาย แม่จัน-เชียงแสนคั่น และอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองเชียงแสนปัจจุบัน

ถนนสายใหม่รองรับนิคมฯ และสถานีขนถ่ายสินค้า คือเส้นทางใด ? เพราะหากตัดเลี่ยงเมืองโบราณลงมาทางทิศใต้ก็จะติดเขตพื้นที่jชุมน้ำโลก แต่หากจะตัดเชื่อมในแนวตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นไปบรรจบกับท่าเรือแห่งที่สองทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ก็ต้องผ่านซากเมืองโบราณ
ซึ่งยังไม่มีการกำหนดไว้ในข้อศึกษาความเหมาะสมของโครงการนี้

นอกจากนั้นเมื่อพิจารณารายละเอียดการใช้พื้นที่โครงการ 3,162 ไร่แบ่งเป็นพื้นที่ขายด้านอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และสาธารณูปโภค แต่ไม่มีการจัดสรรพื้นที่เพื่อเป็นทีอยู่อาศัย ขณะที่ในรายงานอีกข้อหนึ่งระบุว่าจะต้องใช้แรงงานถึง 40,000 คน นั่นหมายความว่าพื้นที่รายรอบ 3,100 ไร่แห่งนี้จะต้องกลายเป็นแหล่งชุมชนใหม่รองรับแรงงานเหล่านี้ด้วย

คน 40,000 คนจะมาเป็นประชากรวัยแรงงานที่เมื่อเทียบกับประชากรของอำเภอเชียงแสนที่มีอยู่กว่า 50,000 คน หรือประชาชนใน 9 หมู่บ้านของตำบลศรีดอนมูลที่มี 8,500 คนเท่านั้น ปัญหาสังคมที่ตามมาคืออะไร จำเป็นจะต้องศึกษา ยังไม่รวมถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมจีนที่จะติดตามมาปักหลักใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่นี้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้นพื้นที่รายรอบที่ตั้งโครงการ ซึ่งปัจจุบันคือพื้นที่หมู่บ้าน ชุมชน ที่นาและพื้นที่เกษตร เมื่อต้องถมที่ทำนิคมจะเกิดการเปลี่ยนแปลงระบบน้ำใช้อย่างไร เกษตรกรโดยรอบยังต้องการคำตอบ รวมทั้งปัญหาน้ำทิ้งจากนิคมอุตสาหกรรม

ในแง่ของการพัฒนาเมือง จังหวัดเชียงรายวางตำแหน่งอำเภอเชียงแสนไว้ว่าเป็นเมืองท่องเที่ยว เพราะนอกจากจะมีสามเหลี่ยมทองคำอันลือลั่น หอฝิ่นอันอลังการ์และเมืองโบราณเชียงแสนแล้ว เชียงรายยังกำลังสร้าง พระพุทธรูปองค์ใหญ่และกระเช้าไฟฟ้า 4 แผ่นดินไว้ที่นี่ นี่คือเส้นทางท่องเที่ยวสำคัญจากถนนสายแม่จัน-เชียงแสน และจากสามเหลี่ยมทองคำเลียบแม่น้ำโขงไปยังแม่สาย ต่อไปได้

เมื่อมีนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้น จุดขายของเชียงแสนจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาองค์รวมของจังหวัดเชียงรายหรือไม่

ข้อมูลที่ครอบคลุม การแสดงออกทางความคิดที่หลากหลายและมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ล้วนจำเป็นและสำคัญทั้งสิ้น

โครงการความร่วมมือด้านข่าวภูมิภาค
พลเมืองเหนือ-ประชาไท

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net