Skip to main content
sharethis

จดหมายเปิดผนึกถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
ขอเรียกร้องให้ขอโทษประชาชนและญาติพี่น้องผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ที่อำเภอตากใบ

การที่ ฯพณฯ แถลงยอมรับว่าการเสียชีวิตของผู้ที่ถูกจับกุมหลังการสลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส จำนวน ๗๘ คนเป็นความผิดพลาดในการขนย้ายของเจ้าหน้าที่ ที่ให้ผู้ถูกจับกุมนอนคว่ำหน้าทับกันหลายชั้น โดยให้มีการตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางมาสอบข้อเท็จจริงเพื่อจะได้จัดการลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องต่อการเสียชีวิตที่เกิดขึ้น และให้มีการจ่ายค่าชดเชยให้กับญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิตนั้น ถึงแม้จะเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้บ้าง
แต่ยังมีประเด็นสำคัญบางประการที่ ฯพณฯ ยังไม่ได้กล่าวถึง และยังไม่ได้แสดงความรับผิด ชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัญหาที่เกิดจากนโยบายของรัฐบาล ข้าพเจ้าทั้งหลาย ซึ่งเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ดังรายนามข้างท้าย ไม่อาจเพิกเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ จึงได้ร่วมกันลงชื่อเสนอความเห็นต่อ ฯพณฯ ดังต่อไปนี้

ประการที่หนึ่ง การเสียชีวิตของผู้ชุมนุมจำนวน ๗ คนจากการสลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบในวันที่ ๒๕ ตุลาคม ยังเป็นที่ถกเถียงกันได้ว่า มาตรการที่ใช้สลายการชุมนุมมีความเหมาะสมหรือไม่ ในการให้เจ้าหน้าที่ทหารที่ไม่ได้ถูกฝึกมาในการควบคุมฝูงชนเป็นผู้สลายการชุมนุม ซึ่งมักจะนำมาสู่การเสียชีวิตดังที่เราได้เห็นจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่เสมอมา
แต่สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญยิ่งกว่านั้นคือ การเสียชีวิตของผู้ถูกจับกุมจำนวนถึง ๗๘ คนจากปฏิบัติการขนย้ายของเจ้าหน้าที่ ซึ่งมิใช่เกิดจากเหตุสุดวิสัย หากเป็นการเสียชีวิตโดยถูกมัดมือไพล่หลังภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ให้ผู้ถูกจับกุมนอนคว่ำหน้าทับกันหลายๆ ชั้นในการขนย้าย ทั้งๆ ที่เมื่อรถคันแรกๆ ไปถึงค่ายทหารได้มีการรับทราบกันแล้วว่า มีการเสียชีวิตเกิดขึ้นจากวิธีการขนย้าย แต่มิได้มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการขนย้ายแต่ประการใด
การเสียชีวิตที่เกิดขึ้นจึงมิใช่อุบัติเหตุ หากเป็นความผิดของเจ้าหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ ฯพณฯ ยังมิได้ตอบคำถามต่อสังคมไทยและนานาชาติเลยว่า ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของคน ๗๘ คน
ถึงแม้ ฯพณฯ จะได้แสดงความเสียใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมาแล้ว แต่ในการหาตัวผู้รับผิดชอบสั่งการ เพื่อแถลงออกมาให้ประชาชนรับทราบในเบื้องต้นนั้น สามารถดำเนินการได้ทันที ส่วนในเรื่องความรับผิดของผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องว่าจะมีการดำเนินการลงโทษอย่างไรจึงค่อยรอผลการสอบสวนของคณะกรรมการฯ

ประการที่สอง ปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถึงแม้ว่าจะมีรากเหง้าความเป็นมาเป็นเวลานานแล้ว แต่การใช้ความรุนแรงต่อกันจนถึงขั้นมีผู้เสียชีวิตมากมายอย่างต่อเนื่องทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐรวมเป็นจำนวนหลายร้อยคน เพิ่งจะมาเกิดขึ้นและลุกลามรุนแรงนับแต่ปี ๒๕๔๕ นี้เอง เมื่อรัฐบาลได้แก้ปัญหาโดยมุ่งเน้นการปราบปรามด้วยกำลังและความรุนแรง
จากกรณีกรือเซะจนถึงเหตุการณ์ที่อำเภอตากใบน่าจะสะท้อนให้รัฐบาลได้เห็นแล้วว่า แนวทางการแก้ปัญหาโดยการใช้กำลังเข้าปราบปรามเป็นสิ่งที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะมีแต่จะยิ่งก่อให้เกิดการตอบโต้กันด้วยความรุนแรง การเข่นฆ่า และนำมาซึ่งความเกลียดชังของคนไทยด้วยกันแต่ต่างศาสนามากยิ่งขึ้นไปอีก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้ความคิดและขบวนการแบ่งแยกดินแดนขยายตัวมากขึ้น ทั้งๆ ที่แต่เดิมถึงจะมีอยู่จริงแต่เป็นความคิดของคนจำนวนน้อยเท่านั้น
ข้าพเจ้าจึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับนโยบายการใช้กำลังและความรุนแรงในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และขอเรียกร้องให้รัฐบาล เปลี่ยนแปลงนโยบาย โดยใช้การเมืองนำหน้าในการแก้ไขความขัดแย้ง และเปิดเวทีให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา ซึ่งจะเป็นหนทางเดียวที่จะแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในระยะยาวได้อย่างแท้จริง

ประการสุดท้าย ข้าพเจ้าทั้งหลายเห็นว่า ฯพณฯ สมควรที่จะต้องพิจารณาความผิดพลาดของตัวเอง และแสดงความรับผิดชอบด้วย เพราะในฐานะผู้มีอำนาจสั่งการสูงสุด ฯพณฯ มิอาจที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบโดยเฉพาะอย่างยิ่งในนโยบายที่ผิดพลาดได้
ซึ่งความรับผิดชอบขั้นต่ำที่สุดคือ การขอโทษประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนชาวมุสลิมและญาติพี่น้องของผู้ที่เสียชีวิต การยอมรับความผิดพลาดและขอโทษประชาชน จะเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการเยียวยาในทางจิตใจให้แก่ประชาชน และจะทำให้บรรยากาศความแตกแยกเกลียดชังของคนต่างศาสนาในชาติเดียวกัน ซึ่งกำลังรุนแรงมากยิ่งขึ้นในขณะนี้เริ่มต้นคลี่คลายไปในทางที่ดีได้ ทั้งจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดในเบื้องต้นที่จะกอบกู้ภาพพจน์ของประเทศไทยซึ่งเสียหายอย่างรุนแรงกลับคืนมาได้อีกครั้ง

๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๗

ประชาไทรายงาน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net