Skip to main content
sharethis

ปัจจัยเสี่ยงใน - นอกประเทศรุมเร้า
คนใช้จ่ายลดลง - ลงทุนชะลอ

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ รายงานเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือในช่วง 9 เดือน ปี 2547 โดยระบุว่า เศรษฐกิจภาคเหนือขยายตัวได้ดี จากการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะการก่อสร้างและการส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ นอกจากนี้รายจ่ายภาครัฐก็มีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ไตรมาสที่ 3 การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากปัจจัยเสี่ยงทั้งในและต่างประเทศ เช่น ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักธุรกิจที่ลดลง

ภาคเกษตร ผลผลิตพืชสำคัญ ได้แก่ อ้อย ข้าวโพด หอมแดง ลำไย และข้าว เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 ตามแรงจูงใจด้านราคา ทำให้มีการขยายเนื้อที่เพาะปลูกและสภาพอากาศเหมาะสม แม้ว่าราคาพืชผลสำคัญลดลงร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ภาคอุตสาหกรรม การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่อง ตามการผลิตเพื่อส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.0 เป็น 1,207.2 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามอุปสงค์ที่เร่งตัวสูง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกที่มีการแข่งขันฟุตบอลยูโรและกีฬาโอลิมปิก แต่เริ่มชะลอตัวใน 2 เดือนหลัง สินค้าที่เพิ่มขึ้นมากได้แก่ เครื่องตัดต่อวงจรไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์เกี่ยวกับสายตา ตามลำดับ

ภาคบริการ ขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากไม่ได้รับผลกระทบจากโรค SARS เช่นในปีก่อน นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว (Low Season) การจัดประชุม/สัมมนาของภาครัฐและเอกชน และปัจจัยเสริมจากการเข้าชมหมีแพนด้า จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.5 เป็น 2.7 ล้านคน สูงกว่าจำนวน 1.9 ล้านคนในปีก่อน เนื่องจากการเข้ามาแข่งขันของสายการบินราคาถูก (Low Cost Airlines) รวมทั้งการเพิ่มเส้นทางและเที่ยวบินทั้งในประเทศ ระหว่างประเทศและการเช่าเหมาลำ
การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวในอัตราที่ลดลง โดยในช่วงครึ่งปีแรกได้รับผลดีจากอัตราดอกเบี้ยต่ำการส่งเสริมการขายและเงินดาวน์ต่ำ ตลอดจนรายได้เกษตรกรบริเวณภาคเหนือตอนล่างเพิ่มขึ้นจากการขายพืชผลเกษตร แต่ในไตรมาส 3 กิจกรรมทางด้านการใช้จ่ายเริ่มชะลอลง เนื่องจากผลกระทบจากราคาน้ำมัน การชะลอการตัดสินใจซื้อรถยนต์เพื่อรอความชัดเจนเรื่องการปรับลดภาษีสรรพสามิตและรอรถรุ่นใหม่ที่จะออกมาตั้งแต่ปลายไตรมาสที่ 3 ทำให้ยอดจดทะเบียนรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.9 ชะลอลงเทียบกับร้อยละ 40.8 ในช่วงเดียวกันปีก่อน ยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 ชะลอลงมากเทียบกับร้อยละ 39.0 ในช่วงเดียวกันปีก่อน

การลงทุนภาคเอกชน ความสนใจลงทุนก่อสร้างชะลอลง โดยพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.3 จากประเภทพาณิชยกรรม ประเภทที่อยู่อาศัยและประเภทบริการ อย่างไรก็ตามค่าธรรมเนียมขายที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.7 เร่งตัวจากร้อยละ 26.4 ช่วงเดียวกันปีก่อน จากการซื้อขายที่ดินช่วงไตรมาสแรกของธุรกรรมรายใหญ่ที่จังหวัดเชียงใหม่เป็น ขณะที่เงินลงทุนของอุตสาหกรรมจดทะเบียนตั้งใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.4 ส่วนใหญ่จากอุตสาหกรรมประเภทระบบบำบัดน้ำเสีย ด้านเงินลงทุนของโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 73.4 สูงสุดในรอบ 4 ปี โดยเฉพาะการลงทุนผลิตสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ ผลผลิตเกษตร และชิ้นส่วนยานพาหนะ

การคลัง การใช้จ่ายของภาครัฐบาลผ่านคลังจังหวัด/คลังอำเภอในภาคเหนือ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 9.8 เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 6.6 ปีก่อน เป็น 96,733.3 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นมากจากงบประจำร้อยละ 7.3 ในหมวดเงินเดือนและค่าจ้างชั่วคราว ส่วนงบลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 จากหมวดครุภัณฑ์ ทางด้านการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1 เป็น 13,040.5 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นมากจากการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะกว่าเท่าตัว ภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 24.4 และภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 13.8 ส่งผลให้ขาดดุลเงินในงบประมาณ 83,692.8 ล้านบาท เทียบกับ 76,747.6 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันปีก่อน

การค้าต่างประเทศ มูลค่าส่งออกผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.0 เป็น 1,629 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยการส่งออกผ่านด่านศุลกากรนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.0 เป็น 1,207.2 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามอุปสงค์ต่างประเทศที่มีเพิ่มขึ้น ส่วนการส่งออกผ่านด่านศุลกากรท่าอากาศยานเชียงใหม่ ลดลงร้อยละ 0.2 เหลือ 110.3 ล้านดอลลาร์ สรอ. การส่งออกผ่านด่านศุลกากรชายแดนเพิ่มขึ้นร้อยละ 67.5 เป็น 311.9 ล้านบาท จากการส่งออกไปพม่าเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว การส่งออกไปลาวเพิ่มขึ้นร้อยละ 70.5 ขณะที่การส่งออกไปจีนตอนใต้ลดลงร้อยละ 43.9 เนื่องจากสินค้าประเภทผักและผลไม้ เปลี่ยนไปขนส่งทางทะเลมากขึ้น

มูลค่านำเข้าผ่านด่านศุลกากรเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.6 เป็น 1,022.5 ล้านดอลลาร์ สรอ. เป็นการนำเข้าผ่านด่านนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.8 เป็น 957.0 ล้านดอลลาร์ สรอ. การนำเข้าผ่านด่านศุลกากรชายแดนเพิ่มขึ้นร้อยละ 76.0 เป็น 52.2 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามการนำเข้าสินค้าจากพม่าที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จากการนำเข้าโค-กระบือและสินค้าประมง ขณะที่การนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 47.2 จากการนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น และการนำเข้าจากลาวเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.0 จากการนำเข้าลิกไนต์และผลิตภัณฑ์ไม้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ดุลการค้า ผ่านด่านศุลกากร เกินดุล 606.8 ล้านดอลลาร์ สรอ. สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่เกินดุล 409.0 ล้านดอลลาร์ สรอ.

ระดับราคา ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเร่งตัวร้อยละ 2.6 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 ในช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากข่าวการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกที่ส่งผลกระทบด้านราคาเนื้อสุกร ปลาและสัตว์น้ำเพื่อทดแทนการบริโภคเนื้อไก่ และไข่ ส่งผลให้ราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 เร่งตัวจากร้อยละ 3.8 ในช่วงเดียวกันปีก่อน

การจ้างงาน จากข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ของสำนักงานสถิติแห่งชาติเดือนสิงหาคม 2547 พบว่ากำลังแรงงานรวมของภาคเหนือมีจำนวน 6.9 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 6.8 ล้านคน หรือเท่ากับร้อยละ 98.5 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากร้อยละ 98.8 ระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจากการจ้างงานในภาคเกษตรลดลง โดยส่วนหนึ่งเคลื่อนย้ายไปทำงานนอกภาคเกษตร ทำให้การจ้างงานนอกภาคเกษตรสูงกว่าระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 15.5 ตามความต้องการจ้างงานของภาคบริการ ภาคก่อสร้าง สถานศึกษา ภาคการค้า และภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดีภาวะการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.5 สูงกว่าร้อยละ 1.2 เดือนเดียวกันปีก่อนเล็กน้อย

การเงิน ยอดคงค้างเงินฝากของสาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคเหนือ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2547 ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.5 เป็น 292,795 ล้านบาท เงินฝากในจังหวัดนครสวรรค์ ลำปาง และเชียงราย ลดลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากมีการถอนเงินฝากเพื่อซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่ออกจำหน่ายในเดือนสิงหาคม แต่เงินฝากที่จังหวัดลำพูนเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากมีเงินโอนของลูกค้าชำระเงินให้แก่บริษัทในนิคมฯ เงินให้สินเชื่อขยายตัวร้อยละ 9.0 เป็น 208,937 ล้านบาท ชะลอลงจากร้อยละ 9.6 ระยะเดียวกันปีก่อน โดยสินเชื่อยังมีการขยายตัวมากบริเวณภาคเหนือตอนล่าง จากการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปพืชผลเกษตร เช่น โรงสีข้าว โรงงานแปรรูปขิงดองส่งออกที่จังหวัดนครสวรรค์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร ส่วนสินเชื่อบริเวณภาคเหนือตอนบนเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้สินเชื่อของธุรกิจส่งออกลำไยและ SMEs ประเภทอุตสาหกรรมแปรรูปผักผลไม้ และบางส่วนเพื่อซื้ออาคารเพื่อการขยายธุรกิจ สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ระดับร้อยละ 71.4 สูงกว่าร้อยละ 68.4 ระยะเดียวกันปีก่อน.
****************

โครงการความร่วมมือด้านข่าวภูมิภาค พลเมืองเหนือ-ประชาไท

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net