Skip to main content
sharethis

งานแสดงสินค้าของขวัญ และงานแสดงสินค้าของใช้ในบ้าน (Bangkok International Gift Fair & Bangkok International Houseware Fair : BIG & BIH October 2004) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2547 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จากที่สัมผัสด้วยสายตา ดูเหมือนว่าจะจัดได้ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ปีที่ผ่าน ๆ มา สมกับเป็นงานแสดงสินค้านานาชาติระดับภูมิภาคอย่างแท้จริง โดยในปีนี้ มีผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงานประมาณ 1,000 บริษัท จำนวนกว่า 2,520 คูหา ในจำนวนนี้เป็นบริษัทต่างชาติ 26 บริษัท จาก 14 ประเทศ มีนักธุรกิจจากทั่วโลกเดินทางเข้ามาร่วมชมงานกว่า 35,000 คน

จากข้อมูลสถิติของกรมส่งเสริมการส่งออกระบุว่า ในช่วง 3 ไตรมาสของปีนี้ ไทยส่งออกสินค้าของขวัญ ซึ่งประกอบด้วย ของขวัญ ของที่ระลึก ของตกแต่งบ้านและงานหัตถกรรม ดอกไม้และต้นไม้ประดิษฐ์ ของเล่น เคหะสิ่งทอ เครื่องเขียน และอุปกรณ์สำนักงาน เครื่องประดับตกแต่งในเทศกาลคริสต์มาส สินค้าโอท็อป และ อื่น ๆ รวมมูลค่าประมาณ 12,000 ล้านบาท โดยมีตลาดหลักได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศสและเยอรมนี และคาดว่าการส่งออกทั้งปีจะสูงกว่านี้ และเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ส่วนสินค้าของใช้ในบ้าน ซึ่งประกอบด้วย เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารในครัวและบ้านเรือน มีมูลค่าการส่งออกในช่วง 3 ไตรมาสปีนี้ประมาณ 14,000 ล้านบาท มีตลาดหลักคือ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น ฝรั่งเศสและอิตาลี

สินค้าคุณภาพชั้นเยี่ยมจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ถูกจัดวางเรียงรายอย่างโดดเด่นสวยงามเพื่ออวดสายตาชาวโลก รวมถึงสินค้าของขวัญและของใช้ในบ้านจากทางภาคเหนือที่ผู้ประกอบการทั้งเอสเอ็มอีและโอท็อปจำนวน 125 ราย ที่เตะตาผู้ซื้อ ผู้นำเข้า และคนทั่วไปที่เดินผ่านไปมาต้องหยุดชมอย่างสนใจ

เจ้าตำรับเซรามิกที่ออกไปผงาดในตลาดโลกจนติดลมบนอย่าง "เชลียง" นำสินค้าดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์ของเชลียงมาให้ได้ยลกันแบบไม่ผิดหวัง ทั้งของใช้บนโต๊ะอาหาร ของตกแต่งบ้าน ฯลฯ สีสันลวดลายบนพื้นเซรามิกออกแบบตามเทรนด์ของตลาดโลก และสอดคล้องกับรสนิยมของผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มประเทศ คณะของท่าน "วัฒนา เมืองสุข" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แวะเยี่ยมชมเซรามิกฝีมือจาวเหนือเมืองเชียงใหม่อยู่จนพักใหญ่ แถมตบท้ายได้ออร์เดอร์เล็ก ๆ น้อย ๆ จากท่านอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก "จันทรา บูรณฤกษ์" ที่อุดหนุนไปพอหอมปากหอมคอ รวมทั้งเทรดเดอร์อีกหลายรายที่จ่อคิวออร์เดอร์กันอีกหลายล็อตใหญ่

เห็นสาวน้อยหน้าตาสดใส 2 คน ยืนยิ้มจริงใจสวมชุดเสื้อผ้าที่ตัดเย็บจากกระดาษสาสีสันสวยงามอยู่ด้านหน้าบู้ธ "สยามพรหมประทาน" ผู้ประกอบการผลิตกระดาษสาส่งออกรายใหญ่ของภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ "พุฒิพร จีวิพันธ์พงษ์" ทายาทของสยามพรหมประทาน บอกว่า สยามพรหมประทานเป็นโรงงานผลิตกระดาษสาอยู่ในอำเภอสันกำแพง ซึ่งกระบวนการมีทั้งทอด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัยและทอด้วยมือที่เป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมของเชียงใหม่ ปัจจุบันมีคนงานในโรงงานประมาณ 230 คน และเป็นโรงงานที่ได้รับ มอก.18000 ในด้านสิ่งแวดล้อม แบ่งสัดส่วนการจำหน่ายเป็นตลาดต่างประเทศประมาณ 70 % ในกลุ่มประเทศยุโรป สหรัฐอเมริกา เอเชีย ส่วนที่เหลือผลิตป้อนให้กับผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้ากระดาษาสาภายในประเทศ ในปีที่ผ่านมาสามารถทำยอดจำหน่ายสินค้าได้ประมาณ 80 ล้านบาท และคาดว่าปีนี้จะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 5 %

เธอบอกว่า ปัจจุบันกระดาษสาสามารถผลิตออกมาดาษดื่น แต่สิ่งสำคัญที่ต้องพัฒนาอยู่ตลอดเวลาและต่อเนื่องก็คือ การออกแบบและลวดลาย หากมองถึงคู่แข่งขณะนี้ คงหนีไม่พ้นอินเดียที่นำเรื่องเทคนิคการผลิตต่าง ๆ เข้ามาใช้ ซึ่งไทยจำเป็นต้องตามให้ทันและหนีให้ไกล รวมทั้งเรื่องแบบและลวดลายบนกระดาษ ปัจจุบันเราอาจเทียบกระดาษสาญี่ปุ่นไม่ได้ แต่ในเรื่องของต้นทุนการผลิตแล้ว ไทยยังคงได้เปรียบที่มีต้นทุนที่ต่ำกว่ามาก ซึ่งการพัฒนาแบบและลายบนกระดาษสา ไทยก็จำเป็นต้องเร่งพัฒนาอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน

สำหรับการออกบู้ธงาน BIG & BIH 2004 ครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่สยามพรหมประทานจะได้นำสินค้าที่มีคุณภาพมาแสดงศักยภาพให้ชาวโลกได้เห็น ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่ง ที่จะทำให้ผู้ซื้อและผู้นำเข้าได้รู้จักกระดาษสาของสยามพรหมประทานได้กว้างมากขึ้น

บู้ธ "ไผ่กวนอิม" ดูจะเป็นสินค้าที่แปลกและแตกต่างจากสินค้าประเภทอื่น ๆ ในงาน BIG & BIH ปีนี้ แต่ในความเป็นจริง สินค้าประเภทนี้ เป็นอีกเซ้กเม้นท์ของตลาดของขวัญ ของใช้และของตกแต่งบ้าน ที่มิอาจมองข้ามได้ เพราะกำลังก้าวสู่การส่งออกแบบที่ต้องจับตาเลยทีเดียว

"คุณแนน" ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ภูกามยาว ลักกี้ แบมบู จำกัด เล่าว่า ไผ่กวนอิม ถือเป็นสินค้าแนวประดับตกแต่งภายในบ้าน ที่ตลาดเริ่มหันมาให้ความสนใจมากในขณะนี้ และมีศักยภาพสามารถขยายสู่ตลาดส่งออกได้ ซึ่งหลังจากทางบริษัทนำไผ่กวนอิมออกสู่ตลาดได้เพียงไม่กี่เดือน ก็ได้รับการตอบรับจากตลาดค่อนข้างดีมาก เพราะนอกจากความสวยงามแล้ว ไผ่กวนอิมยังช่วยเรื่องการถ่ายเทอากาศภายในบ้านได้ รวมถึงการตกแต่งบ้านในปัจจุบันจะมีเรื่องฮวงจุ้ยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งไผ่กวนอิม ถือเป็นต้นไม้มงคลตามหลักฮวงจุ้ย

"จากต้นไผ่กวนอิมธรรมดา ๆ เราก็นำมาดัดแปลงเป็นงานแฮนเมด ที่จะเน้นตกแต่งรูปทรงให้สวยงามแตกต่าง มีทั้งดัดสปริงและดัดพุ่ม ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าได้เป็น 100 % ราคาต่ำสุดอยู่ที่ 15 บาท และสูงสุดประมาณ 1,000 บาท"

คุณแนน บอกว่า ขณะนี้ตลาดต่างประเทศก็เริ่มให้ความสนใจสินค้าประเภทนี้มากขึ้น อาทิ อินเดีย อิตาลี สวิสเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น ซึ่งทางบริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมขยายการส่งออก คาดว่าจะสามารถเข้าไปแชร์ส่วนแบ่งตลาดสินค้าตกแต่งบ้านประเภทเดียวกันได้ราว 25 % และขณะนี้กำลังเร่งปลูกต้นไผ่กวนอิมเพื่อรองรับความต้องของตลาด โดยมีพื้นที่ปลูกกว่า 100 ไร่ อยู่ที่กิ่งอำเภอภูกามยาว จังหวัดพะเยา ส่วนสถานที่จำหน่ายขณะนี้ตั้งอยู่ที่ตลาดคำเที่ยง จังหวัดเชียงใหม่

ด้าน "ธวัชชัย บุญญาภิบาลวงศ์" เจ้าของธูปหอมล้านนา ที่อยู่ระหว่างการเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ MAI เขาก็ไม่พลาดที่จะนำสินค้ามาอวดโฉมในงาน BIG & BIH ปีนี้ เดินผ่านไปเห็นเป็นต้องตะลึง เพราะนอกจากจะจัดบู้ธสินค้าได้แตะตาโดนใจแล้ว เขายังขนสินค้ามาเพียบไม่ต่ำกว่า 300 รายการ ใคร ๆ ผ่านไปผ่านมาก็อดไม่ได้ที่ต้องแวะเข้ามาชม โดยเฉพาะผู้ซื้อจากต่างประเทศก็แห่แหนกันมาออร์เดอร์กันจนแน่นร้านเลยทีเดียว

"งานนี้เรานัดเจรจาการค้ากับหลายประเทศทั้ง ออสเตรเลีย อิสราเอล ประเทศในกลุ่มยุโรปหลายประเทศ คาดว่ายอดขายเฉพาะงาน BIG คราวนี้ไม่น่าต่ำกว่า 50 ล้านบาท" ธวัชชัย กล่าว

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสินค้าของขวัญ ของใช้ของตกแต่งบ้านของภาคเหนือ ที่มีคุณภาพและมีพัฒนาการที่ดีขึ้นทุก ๆ ปี เพราะปัจจุบันใคร ๆ ก็ต่างยอมรับสินค้าของไทยมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวเหนือ ที่มีดีไซน์เป็นเอกลักษณ์ และสามารถมัดใจตลาดโลกได้แล้วในเวลานี้.

**หมายเหตุ** ขอบคุณศูนย์ส่งเสริมการส่งออกภาคเหนือ ที่อำนวยความสะดวกตลอดการเดินทางเพื่อศึกษาดูงานครั้งนี้

โครงการความร่วมมือด้านข่าวภูมิภาค พลเมืองเหนือ-ประชาไท

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net