Skip to main content
sharethis

ประชาไท-13 ต.ค. 47 "จากนี้ต้องจับตาโครงการต่างๆของรัฐซึ่งคาดว่าน่าจะมีอยู่ในใจหลายเรื่องที่จะปล่อยออกมา หลัง จากออกระเบียบการรับฟังความคิดเห็นฯไว้รองรับ เพราะรัฐบาลทำเพื่อผลประโยชน์พวกพ้องชัดเจนจนทำให้อดมองในแง่ลบไม่ได้" นางภินันท์ โชติรสเศรณี -ประธานกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ กล่าวถึงกรณีที่ประชุมครม.มีมติให้ยกเลิกระเบียบสำนักนายก รัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยวิธีการประชาพิจารณ์ พ.ศ.2539 และให้ใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่า ด้วยการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการหรือกิจกรรม ที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชน พ.ศ. ....แทน

นางภินันท์กล่าวว่า เหตุผลที่รัฐล้มวิธีประชาพิจารณ์โดยอ้างว่าทำให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านนั้น เกิดขึ้นเนื่องจากรัฐบาลไม่ได้ทำตามกติกาอย่างแท้จริง "เพราะการประชาพิจารณ์คือ การนำข้อมูลและเหตุผลของแต่ละฝ่ายมาตีแผ่กัน แล้วเอามาขึ้นตาชั่ง แต่ที่ผ่านมารัฐข้ามขั้นตอนเพราะไม่เชื่อมั่นว่าจะทำให้รัฐได้เปรียบ"

"ประชาพิจารณ์คือการทำสงครามในห้อง แต่รัฐต่างหากที่เป็นผู้สร้างความขัดแย้ง เช่นคณะ กรรม การรับฟังประชาพิจารณ์ก็มาจากรัฐแต่งตั้งทั้งๆที่ควรจะเป็นคนที่ทุกฝ่ายยอมรับ ไม่ใช่รู้ผลตั้งแต่ยังไม่จัด" ประธานกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ กล่าว

นางภินันท์ กล่าวว่าที่ผ่านมาการทำประชาพิจารณ์รัฐบาลไม่เคยทำตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ เช่นกรณีท่อก๊าซไทย-พม่า ผลประชาพิจารณ์ออกมาชัดเจนว่าชุมชนไม่ยอมรับถึงแม้จะมีผลไม่มากนัก แต่ก็ทำให้รัฐบาลพูดได้ไม่เต็มที่ในการเดินหน้าโครงการ

"การมีข้อยกเว้นไว้ว่าโครงการเร่งด่วนเพื่อรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ประเทศชาติไม่ต้องรับฟังความคิดเห็นนั้นไม่เห็นด้วย เพราะหากเป็นโครงการขนาดใหญ่ควรรับฟังความคิดเห็น โดยเฉพาะโครงการเส้นทางลัดฯ ก็ไม่มีความชัดเจนในคำจำกัดความของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รัฐมองว่าตัดผ่านทะเลไม่ต้องเวนคืนที่ไม่มีผู้ได้รับผลกระทบ ไม่เคยมองว่าชาวประมงเขาทำมาหากินอยู่เดือดร้อน" นายสุรจิต ชิรเวทย์ ประธานหอการค้าสมุทรสงครามระบุ

นายสุรจิต กล่าวว่า กรณีโครงการเส้นทางลัดสู่ภาคใต้หรือถนนเลียบอ่าวสมุทรสงคราม-แหลมผักเบี้ย-ชะอำ นั้นปัจจุบันก็ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องขั้นตอน เพราะการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมยังไม่เสร็จแต่มีการตั้งงบประมาณการออกแบบไว้แล้ว
นายวสันต์ พานิช อนุกรรมการด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ กล่าวว่าระเบียบการรับฟังความคิดเห็นฯเป็นเหมือนข้อยกเว้นรัฐธรรมนูญ มาตรา 59 ว่าด้วยสิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานราชการและสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ก่อนที่จะอนุญาตหรือดำเนินการโครงการที่อาจจะมีผลกระทบ

"ขั้นตอนจากนี้คือคนที่อยู่ในพื้นที่โครงการที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการออกระเบียบดังกล่าว ต้องไปฟ้องร้องศาลปกครอง ในส่วนอนุกรรมการด้านกฎหมายฯจะมีการนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมในเดือนนี้เพื่อเสนอต่อรัฐบาลต่อไป" อนุกรรมการด้านกฎหมายฯ กล่าว

ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว
ประชาไทรายงาน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net