Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 10 ต.ค.47 "รัฐบาลละเลยไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 50 ที่ระบุให้มีคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคแห่งชาติ ซึ่งต้องเป็นองค์กรอิสระเหมือน ปปช. หรือ กกต. เมื่อรัฐบาลเฉยเมย สื่อก็เฉย คนไทยก็เฉย จึงต้องขอประกาศผ่านเวทีนี้ให้ทั่วโลกทราบว่า ประเทศของผมขณะนี้ไม่มีคนที่จะดูแลผู้บริโภค" นายดำรง พุฒตาล ประธานอนุกรรมการศึกษาและติดตามการคุ้มครองผู้บริโภค กรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภากล่าว

วานนี้ องค์กรผู้บริโภคไทยร่วมกับสหพันธ์ผู้บริโภคสากล จัดงาน "ผู้บริโภคไม่เอาจีเอ็มโอ" เพื่อให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวก่อนการประชุมระดับโลกว่าด้วย การกำหนดกติกาความปลอดภัยด้านอาหารหรือฟู้ดเซฟตี้ (food safety) ระหว่าง 12-14 ต.ค.นี้ ซึ่งรัฐบาลไทย เป็นเจ้าภาพจัดงาน

นายดำรง ในฐานะประธานของงาน และผู้ดำเนินรายการ กล่าวด้วยว่า เรื่องจีเอ็มโอถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญระดับโลก ดูจากการมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปีล่าสุดที่ให้นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมแทนที่จะเป็นเรื่องสงครามเหมือนเคยนั้น บ่งบอกว่าตอนนี้อาวุธที่เราใช้ต่อสู้กันกลายเป็นเรื่องของอาหารและสิ่งแวดล้อม

แอฟริกาไม่รับ "จีเอ็มโอ"

นายอมาดู คาโนเท ผอ.สหพันธ์ผู้บริโภคสากล ภูมิภาคแอฟริกา กล่าวว่า สหรัฐอเมริกามักอ้างว่า
จีเอ็มโอเป็นทางเดียวในการแก้ปัญหาความอดอยาก แต่ในความเป็นจริงเกษตรกรในแอฟริกามีเทคนิควิธีต่างๆ ในการเพาะปลูกและปรับปรุงพันธุ์มากมาย แต่ไม่ได้ถูกโฆษณา และไม่ได้รับการสนับสนุน

"ไม่มีเทคโนโลยีไหนที่จะเป็นกลาง การพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นต่อปัญหาเฉพาะของแต่ละสังคม และวิธีการมองชีวิต สำหรับแอฟริกา เมล็ดพันธุ์ คือสัญลักษณ์ของชีวิต ซึ่งต้องรักษาไว้เพื่ออนาคต เห็นได้จากในอดีตถ้าจะแต่งงานก็ต้องจ่ายค่าสินสอดให้ผู้หญิงเป็นเมล็ดพันธุ์" นายอมาดูกล่าว

นายอมาดูกล่าวด้วยว่า วิธีการต่อสู้เรื่องจีเอ็มโอนั้นใช้วิธีการรณรงค์ใน 4 เรื่อง คือ การตรวจสอบความปลอดภัย ระบบการสืบหาต้นตอการผลิต การติดฉลาก และความรับผิดชอบในกรณีที่มีการปนเปื้อนไปยังแปลงผู้อื่น

นอกจากนี้ยังมีการออกกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพของกลุ่มประเทศแอฟริกามาตั้งแต่ปี 42 แต่ขณะนี้กำลังได้รับแรงกดดันทั้งจากสหรัฐอเมริกาและหน่วยงานผู้บริโภคในประเทศ ซึ่งแย่งชิงกันแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเดิม

นายไมเคิล ฮันเส็น จากสมาคมคุ้มครองผู้บริโภคสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า การทำจีเอ็มโอทั้งพืชและสัตว์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเคมีหรือการผลิตยาของสหรัฐเองก็ยังมีปัญหาที่การควบคุมไม่ดีพอ และยังไม่มีข้อสรุปแน่นอนในผลกระทบที่จะเกิดในอนาคต แม้กระทั่งการเผาทำลายพืชจีเอ็มโอที่ปนเปื้อนในแปลงเกษตรกรก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีการปนเปื้อนตกค้างในดินหรือไม่

ซัด "ฉลากจีเอ็มโอ" ไม่ได้เรื่อง

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ตัวแทนไทย เรียกร้องให้ที่ประชุมฯ ฟู้ดเซฟตี้ คัดค้านการแพร่กระจายและหาทางออกเรื่องพืชจีเอ็มโอ รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการออกกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพและปรับปรุงฉลากอาหารจีเอ็มโอให้คุ้มครองผู้บริโภคได้จริง

น.ส.สารี กล่าวว่า ไทยบังคับใช้เรื่องติดฉลากจีเอ็มโอ ตั้งแต่11 พ.ค.46 แต่ไม่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้จริง เพราะครอบคลุมสินค้าที่ใช้ถั่วเหลืองและข้าวโพดเป็นวัตถุดิบเพียง 22 รายการ ขณะที่มันฝรั่งซึ่งเป็นที่นิยมของเด็กที่ตรวจพบจีเอ็มโอก็ยังไม่ต้องระบุฉลาก อีกทั้งไม่มีสัญลักษณ์บนฉลากหรือข้อมูลที่จะบอกหรือสะท้อนความแตกต่างที่ชัดเจน

มุทิตา เชื้อชั่ง
ประชาไทรายงาน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net