Skip to main content
sharethis

ปัญหาสารพิษที่แพร่กระจายกลายเป็นที่จับตาอีกครั้ง เมื่อเกิดกรณีของโรงเผาขยะในพื้นที่บ้านหนองกอกหมู่ 6 ต.สันมหาพน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ พบการลักลอบเผาขยะติดเชื้อ

ถังพลาสติกขนาด 50 ลิตร เกือบ 10 ถัง ที่เมื่อเปิดดูพบว่าภายในบรรจุขยะติดเชื้อ และอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้แล้วจำนวนมาก

"ขยะส่วนใหญ่จะเป็นขยะติดเชื้อและอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้แล้ว รวมทั้งเศษเนื้อมนุษย์ซึ่งน่าจะเป็นโรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่" นายจอร์น หมู่จ่า อายุ 38 ปี คนงานในโรงเผาขยะกล่าว

หลังตกเป็นข่าว นาย สุวัฒน์ ตันติพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ได้มีคำสั่งให้ปิดโรงเผาขยะดังกล่าว จากนั้นในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2547 ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลมหาพนเกือบ 100 คน โดยมีนายคำปัน ถาวร กำนัน ต.สันมหาพนและนางพิลัย กันทาสี ประธาน อสม.ต.มหาพน เป็นคนนำยื่นหนังสือเรียกร้องให้ทางอำเภอชี้แจง และตรวจสอบโรงเผาขยะติดเชื้อดังกล่าว

จนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้ใดที่ออกมารับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นอบต.เทศบาล หรือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เคยออกมาอ้างว่าโรงเผาขยะพิษดังกล่าวเป็นโครงการทดลอง ก็ออกมาปัดรับความผิดชอบ
นางพิไล ประธาน อสม.ตำบลมหาพน กล่าวว่า โรงเผาขยะติดเชื้อนั้นตั้งอยู่ที่หมู่ 6 ซึ่งอยู่ในเขตรับผิดชอบของเทศบาลสันมหาพน

จากบันทึกของกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม หมายเลข สธ 62204/105 ลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2547 และเผยแพร่ผ่านสื่อไประบุว่า สถานที่ดังกล่าวนั้น เป็นโครงการวิจัยอุณหภาพ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด จิระเมธวิศวกรรมเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ทั้งนี้คณะฯ ได้เริ่มทำการสร้างขึ้นตั้งแต่เดือน มีนาคม 2547 และเริ่มดำเนินการเผาเมื่อพฤษภาคม 2547 โดยจะทำการเผาขยะติดเชื้อทุกวันศุกร์ แต่

แต่จากนั้นไม่นานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ออกมา โต้การนำเสนอของสื่อมวลชนว่า ไม่ตรงกับความเป็นจริง และได้ชี้แจงว่า "หน่วยวิจัยอุณหภาพ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ได้มีโครงการวิจัยเพื่อปรับปรุงเตาเผาขยะจริง แต่ในระยะนี้เป็นเพียงการศึกษาข้อมูลยังไม่มีการสร้างเตาเผาจริง เตาเผาดังกล่าวจึงไม่ใช่ของหน่วยวิจัยระบบทางอุณหภาพ และทาง นายปรีชามาระกะ หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดจิระเมธวิศวกรรมได้มีหนังสือชี้แจงมายังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าเตาเผาที่มีการร้องเรียนนั้น ว่าขณะนี้ยังสร้างเตาเผาไม่เสร็จ ส่วนเตาเผา ขนาด 200 กิโลกรัม/ชั่วโมงนั้น ทางหจก.จิระเมธ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง"

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วโรงเผาขยะดังกล่าวใครจะเป็นผู้ที่รับผิดชอบ ในการดำเนินการแก้ไขเพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ ตำบลมหาพน

ขยะติดเชื้อนั้นเป็นปัญหาที่คั่งค้างมานานในเรื่องระบบการจัดการ แม้ว่าโดยทั่วไปจะมีการแยกขยะแห้งขยะเปียก แต่ก็ไม่เคยมีการแยกขยะอันตรายออกจากขยะทั่วไป เช่น ขยะติดเชื้อ ขยะปนเปื้อนสารเคมี ซึ่งเป็นสิ่งที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยของคน รวมทั้งระบบการจัดการของโรงพยาบาล ที่บางโรงพยาบาลก็มีเครื่องมือเพื่อทำลายขยะติดเชื้อเหล่านี้ ส่วนโรงพยาบาลที่ไม่มีก็จะมีการจ้างบริษัทเอกชนเพื่อเข้ามาเป็นผู้จัดการขยะติดเชื้อ และในบางครั้งขยะติดเชื้อก็เล็ดลอดปลอมปนมากับขยะทั่วไป โดยเฉพาะจากคลินิคข้างบ้านที่มีอยู่ทั่วไปเต็มเมือง

สิ่งที่ตามมาคือ บริษัทที่รับเหมากำจัดขยะติดเชื้อหรือขยะพิษนั้น มีระบบการทำลายที่มีประสิทธิภาพและถูกต้องตามวิธีการหรือไม่ และที่สำคัญคือเขานำขยะอันตรายเหล่านั้นไปทำลายจริงเปล่า ด้วยเหตุว่าการทำลายขยะอันตรายนั้นต้องใช้ต้นทุนมาก บริษัทที่รับเหมาจึงมักใช้วิธีอื่นๆ ที่มีการใช้ต้นทุนต่ำในการกำจัด เช่นการใช้ยางรถยนต์เผาทำลายโดยไม่ต้องใส่โรงเผาเป็นต้น เพื่อผลกำไรสูงสุด

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆเท่านั้นที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนในสังคมบ้านเรา แต่ยังมีสิ่งที่เรามองข้ามอยู่นั่นคือ สารเคมีที่แพร่กระจายมาตามท่อระบายน้ำ ซึ่งมีที่มาจาก ห้องทดลองที่มีอยู่ตามสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยทั่วเมืองเชียงใหม่

แม้ว่าสถาบันวิจัย หรือบางจุดของห้องทดลองของมหาวิทยาลัยหลายแห่งจะมีระบบบำบัดน้ำเสีย แต่ก็ไม่สามารถที่จะลดความอันตรายของสารพิษบางตัวได้เพราะระบบบำบัดไม่สามารถทำลายสารพิษเหล่านั้นได้ เพียงแค่ทำให้เจือจางลงบ้างเท่านั้น

"พอผมทำการทดลองเสร็จ สารเคมีต่างๆที่ทำการทดลองผมก็เททิ้งตามท่อระบายในห้องแล็ป" นี่คือคำพูดของแหล่งข่าวซึ่งเป็นนักวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ จากการตรวจสอบพบว่า ห้องทดลองดังกล่าวไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย เป็นการปล่อยน้ำที่มีสารเคมีปนเปื้อนอยู่อย่างเข้มข้นลงสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะโดยตรง

ซึ่งในระบบชลประทานเพื่อผลิตน้ำประปาของเมืองเชียงใหม่นั้น มาจาก คลองชลประทาน และแม่น้ำปิง สารเคมีที่ได้ระบายมาจากห้องทดลองของสถาบันวิจัย หรือมหาวิทยาลัยต่างๆ ใครจะยืนยันได้ว่าสารเคมีที่ว่าจะไม่กระจายปะปนกับแหล่งน้ำเหล่านี้ ?

แม้ว่าการประปาส่วนภูมิภาคจะมีการตรวจสอบน้ำประปาอยู่เสมอ แต่ก็ไม่สามารถที่จะรับประกันได้ว่าไม่มีสารเคมีที่ปนเปื้อนมาในระดับที่เจือจาง เราไม่รู้ว่าสารพิษต่างได้สะสมในร่างกายเราเท่าใดแล้ว ในวันนี้สารพิษที่สะสมอาจยังไม่แสดงอาการแต่ไม่แน่ว่ามันจะปรากฏขึ้น

เมื่อแยกลักษณะของการกระจายของสารพิษนั้น เราจะพบอยู่ 2 ลักษณะ.กรณีแรกคือ ที่มีลักษณะเป็นขยะ แหล่งที่เป็นตัวสร้างขยะเหล่านี้ก็มีเช่น โรงพยาบาล คลีนิค โรงพยาบาลรักษาสัตว์ คลินิคสัตว์ โรงงาน กรณีที่สองคือกรณีที่มีการปนเปื้อนสารพิษมาในน้ำ การปนเปื้อนของสารพิษที่มาในน้ำ เช่น โรงพยาบาล ห้องทดลองของบสถาบันวิจัยและของสถานการศึกษาต่างๆ และโรงงานอุตสาหกรรม

เทคโนโลยี นั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากชีวิตคนในปัจจุบันได้ แต่มันก็ได้ละทิ้งสิ่งอันตรายไว้อย่างมากหลาย ซึ่งเราต้องเท่าทันอันตรายจากเทคโนโลยีเหมือนกับที่เราเท่าทันความก้าวหน้าของมัน จึงจะสามารถดำรงชีวิตได้อย่างไม่อิดโรยในโลกปัจจุบัน

โครงการความร่วมมือด้านข่าวภูมิภาค
พลเมืองเหนือ-ประชาไท

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net