Skip to main content
sharethis

ดำริของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะผลักดันให้ โครงการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน ผ่านความเห็นชอบของรัฐบาลทักษิณ 10 ภายในการประชุมครม.นอกสถานที่ กลางเดือน ต.ค.ศกนี้ ซึ่ง 2 ใน 4 โครงการที่นายสมศักดิ์ลงทุนถึงขั้นพาปลัดกระทรวงฯ บุกเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อการันตีโครงการฯ วันนี้ ก็คือ

"โครงการสนับสนุนการเลี้ยงโคเนื้อ 1 ล้านตัว" หรือโครงการวัวเอื้ออาทร และโครงการจัดตั้งโรงงานผลิตนมผงมูลค่า 1,900 ล้านบาท" ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี ชุดที่ 4 ที่มีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ไปตั้งแต่เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว

โคเอื้ออาทรใคร?

โครงการเลี้ยงโคเนื้อ 1 ล้านตัวมูลค่ากว่า 1.2 หมื่นล้านบาท โด่งดังขึ้นมาเมื่อนายสมศักดิ์เสนอโครงการฯ โดยพยายามผลักดันให้นำเข้าโคจากประเทศออสเตรเลีย นัยว่า เป็นการช่วยเกษตรกรไทยผู้เลี้ยงโค

ข้อเสนอดังกล่าว ถูกตั้งคำถามจากจากนักวิชาการและผู้เลี้ยงโคเนื้อในประเทศไทยว่า ทำไมรัฐถึงคิดจะซื้อของแพง ทั้งที่มีของที่เหมาะสมอยู่แล้วภายในประเทศทั้งราคาถูกกว่าถึง 2 เท่าตัว

ท้ายที่สุด รมว.เกษตรฯ ยอมถอยโดยรับจะจัดซื้อโคเนื้อจากในประเทศเป็นหลัก ภายใต้กำหนดเกณฑ์ให้โคต้องมีน้ำหนัก 200 กิโลกรัม และราคาตัวละ 10,000 บาท

รูปแบบเป็นโครงการที่ให้เกษตรกรกู้โคเนื้อไปเลี้ยง เมื่อครบกำหนดเวลา หากเกษตรกรต้องการคืนโคแก่โครงการ ต้องจ่ายดอกเบี้ยเป็นน้ำหนักโคเนื้อให้แก่โครงการในอัตรา 7%

กล่าวคือ สมมติว่าเริ่มแรกเกษตรกรยืมวัวไปเลี้ยงน้ำหนัก 100 กก. ถ้าครบกำหนด 1 ปีต้องการคืนต้องคืนวัวน้ำหนัก 107 กิโลกรัม ส่วนน้ำหนักที่เกินกว่านั้นทางโครงการจะจ่ายเป็นเงินส่วนต่าง ตามราคาตลาด

ส่วนการบริหารจัดการโครงการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอให้จะจัดตั้งเป็นบริษัทร่วมทุนเข้ามาดำเนินการ โดยมีผู้แทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมปศุสัตว์ และภาคเอกชนที่แต่งตั้งขึ้นร่วมเป็นผู้บริหารงาน มีทุนจดทะเบียนจำนวน 12,000 ล้านบาท

แหล่งที่มาของเงินทุนมาจากเงินงบประมาณของรัฐบาล 2,000 ล้านบาท และเงินกู้จากสถาบันการเงินของรัฐ ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 4% อีก 10,000 ล้านบาท ในส่วนของเงินงบประมาณ 2,000 ล้านบาทนั้น กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ถือหุ้น 51% คิดเป็นเงิน 1,020 ล้านบาท ที่เหลือกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้น 49% คิดเป็นเงิน 980 ล้านบาท

โรงนมผง เพื่อเด็กและเกษตรโคนม?

ตามแผนที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ชุดเดียวกันกับที่พิจารณา" โคเอื้ออาทร" ระบุว่า เป็นโรงงานผลิตนมผงมูลค่า 1,900 ล้านบาท แยกเป็นเงินทุนก่อสร้างโรงงาน 2 แห่ง 1,500 ล้านบาทและเงินทุนหมุนเวียน 400 ล้านบาท และเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชนเช่นเดียวกันกับโครงการแรก

วัตถุประสงค์โครงการฯ เพื่อผลิตนมผงเลี้ยงทารกและนมผงเลี้ยงเด็ก เพื่อผลิตนมผงขาดมันเนยเพื่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพื่อผลิตภัณฑ์นมอื่นๆ เพื่อเป็นแหล่งรองรับและแก้ปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาด และเพื่อผลิตทดแทนการนำเข้านมผงนอกโควตา โดยคาดว่าจะสร้างรายได้หลายพันล้านบาท

ส่วนงบลงทุนจากเงินภาษีนำเข้านมผงขาดมันเนยนอกโควตา นำรายได้ส่วนนี้มาลงทุนเป็นระยะเวลา 5 ปี และการนำเงินจากการเก็บภาษีนำเข้านมผงขาดมันเนยนอกโควตาเป็นทุนจดทะเบียนดำเนินการดังนี้ ปี 2547 จำนวน 800 ล้านบาท ปี 2548 จำนวน 900 ล้านบาท ปี 2549 จำนวน 200 ล้านบาท

ขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม กลับเห็นว่า ปัญหาเรื่องความสามารถในการแข่งขันเป็นปัญหาใหญ่ ในห้วงเวลาที่รัฐบาลกำลังเจรจาเสรีการค้า(เอฟทีเอ) โดยเฉพาะกับนิวซีแลนด์ ซึ่งมีการเลี้ยงโคนมเช่นเดียวกับไทย

ท้ายที่สุด ยังไม่มีคำตอบชัดๆ ว่า เกษตรกรหรือใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริงจากทั้ง 2 โครงการนี้

ประชาไทรายงาน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net