Skip to main content
sharethis

ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยบูรพา มีสาระสำคัญอยู่ที่การเปลี่ยนจากมหาวิทยาลัยของรัฐเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาล หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า ม.นอกระบบ พลันที่ร่างฯ ดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ก็มีเสียงคัดค้านจากสมาชิกประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยเรียกร้องให้ทำประชาพิจารณ์ร่างฯ ดังกล่าวก่อน เนื่องจากถือเป็นนโยบายที่จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน

มาตราไหนที่กระทบคุณภาพชีวิตของประชาชนบ้าง ประชาไทพยายามหาคำตอบในเบื้องต้นที่เห็นเด่นชัดเจน 3 มาตรา

มาตรา 5 ให้มหาวิทยาลัยบูรพา…เป็นนิติบุคคล มหาวิทยาลัยบูรพามีฐานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ซึ่งไม่เป็นส่วนราชการ...และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจว่าด้วยงบประมาณและกฎหมายอื่น"

มาตรา 5 เป็นมาตราที่กำหนดสถานะให้กับมหาวิทยาลัยบูรพาซึ่งเดิมซึ่งเป็นมหาวิทยาลัย ของ รัฐ ไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัย ในกำกับ รัฐบาล

ผลกระทบของมาตรานี้เชื่อมโยงไปสู่แหล่งรายได้ของมหาวิทยาลัยซึ่งเคยได้งบประมาณแบบผูกพันจากรัฐเหลือเพียงเงินอุดหนุนซึ่งไม่มีลักษณะผูกพัน ดังนั้น มหาวิทยาลัยนอกระบบจึงต้องปรับกลยุทธ์ในการหารายได้ให้ตัวเอง เช่นการเพิ่มค่าหน่วยกิต หรือการเปิดหลักสูตรพิเศษ อันอาจนำไปสู่ระบบธุรกิจการศึกษาเพื่อให้มหาวิทยาลัยอยู่รอด

ผลกระทบที่จะเกิดกับสังคมก็คือ หากทิศทางของมหาวิทยาลัยมุ่งไปสู่ธุรกิจการศึกษา ก็จะมีหลักสูตร ปริญญาโท ปริญญาเอก หรือหลักสูตรพิเศษซึ่งต้องเสียค่าเล่าเรียนแพงๆ แลกกับปริญญาหรือประกาศนียบัตร

การขึ้นค่าหน่วยกิต ให้ผู้เรียนแบกภาระต้นทุนการศึกษาตามความจริง ก็อาจเป็นการตัดโอกาสสำหรับผู้ที่สถานะทางเศรษฐกิจไม่ดี และถึงแม้รัฐบาลจะมีนโยบายเรื่องกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา นั่นก็เท่ากับว่าผลักให้เยาวชนของชาติต้องเป็นหนี้เพื่อแลกกับความรู้!!!

มาตรา 12 กิจการของมหาวิทยาลัยไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน แต่พนักงานมหาวิทยาลัยและลูกจ้างของมหาวิทยาลัยต้องได้รับความคุ้มครองและประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน

มาตรา 12 เป็นอีกมาตราหนึ่งที่ประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) ได้แสดงความห่วงกังวล เพราะเป็นเรื่องสวัสดิภาพของพนักงานของมหาวิทยาลัยนอกระบบ ซึ่งไม่มีหลักประกัน และจะทำให้ขาดการถ่วงดุลอำนาจของผู้บริหารมหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ นอกจากประเด็นที่ ปอมท. แสดงความกังวลแล้วนั้น จะเห็นได้ว่าจากพระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่มีการรับรองสิทธิในสวัสดิการของพนักงานมหาวิทยาลัยอยู่เลย เพราะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน เท่ากับว่าในทางนิตินัยแล้วพนักงานของมหาวิทยาลัยไม่มีกฎหมายจะบังคับใช้เพื่อคุ้มครองสวัสดิการและสวัสดิภาพของตนเองมาตรานี้ถือว่ากระทบต่อพนักงานของมหาวิทยาลัยโดยตรง

มาตรา 52 รัฐมนตรีมีอำนาจและหน้าที่กำกับและดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจกรของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์...และให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลหรือมติคระรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยเป็นการเฉพาะ ในกรณีที่มีปัญหาข้อขัดแย้งในการดำเนินกิจการของมหาวิทยาลัยซึ่งอาจเกิดความเสียหายต่อส่วนรวม ให้รัฐมนตรีเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา เมื่อคณะรัฐมนตรีวินิจฉัยเป็นประการใดแล้วให้ผู้เกี่ยวข้องมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะรัฐมนตรี

มาตรา 52 เป็นประเด็นที่ ปอมท กมธ.การศึกษาฯและกมธ. พัฒนาสังคมฯ วุฒิสภา มีความกังวลเนื่องจากกำหนดให้อำนาจการเมืองสามารถเข้ามาแทรกแซงการบริหารงานของมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งเป็นการให้อำนาจเกินกว่า พรบ. มหาวิทยาลัยบูรพา พ.ศ. 2533

ทั้งที่สถานะของมหาวิทยาลัยบูรพาตามพรบ. ฉบับเดิมมีสถานะเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ กลับไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจรัฐมนตรีเข้ามาแทรกแซงการบริหารมหาวิทยาลัยดังที่ปรากฏอยู่ในร่างฯ ฉบับที่วุฒิสภากำลังพิจารณา

การกำหนดให้รัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเข้ามามีอำนาจในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดให้ครม. ชี้ขาดความขัดแย้งระหว่างรัฐมนตรี กับผู้บริหารมหาวิทยาลัยนั้น ถือว่าเสี่ยงต่อการที่อำนาจทางการเมืองแทรกแซงพื้นที่ทางวิชาการ และอาจจะทำให้นโยบายของมหาวิทยาลัยถูกบีบบังคับโดยนโยบายทางการเมือง เสี่ยงต่อการขาดเสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสติปัญญาของสังคมโดยรวม

อย่างไรก็ตาม เพียงการพิจารณาจากร่างพรบฯ ฉบับนี้ อาจไม่เพียงพอ เนื่องจากภายใต้แนวคิดเรื่องมหาวิทยาลัยนอกระบบนั้น ปัญหาบางอย่างเห็นได้จากข้อบัญญัติลายลักษณ์อักษร แต่บางปัญหาก็อาจเกิดจากการไม่บัญญัติบางสิ่งที่ควรมีให้เป็นลายลักษณ์อักษร

ประชาไท จะติดตามต่อไปเพื่อทำความเข้าใจถึงผลกระทบที่จะเกิดจากมหาวิทยาลัยนอกระบบ ซึ่งไม่ได้ปรากฏอยู่เพียงในร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยบูรพาเท่านั้น

พิณผกา งามสม
ประชาไทรายงาน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net