Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 21 ก.ย.47 ปธ.กรรมการกลางฯ ค้านออกกฎหมายคุมวิจัยจีเอ็มโอ แม้นักวิจัยทดลองไม่ขออนุญาตหลายแห่ง ยืนยันไม่ใช่พืชเสี่ยง ด้าน "เจษฎ์ โทณะวณิก" แนะดันกฎหมายจีเอ็มโอเป็นวาระแห่งชาติ ไม่ต้องไล่ตามเทคโนโลยี

"แม้นักวิจัยหลายแห่งทำการทดลองจีเอ็มโอโดยไม่ได้ขออนุญาตกับคณะกรรมการกลางฯ ตามกรอบข้อตกลงแต่เราก็ไม่ว่ากัน เพราะดูแล้วไม่ใช่พืชที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ที่ม.เกษตร กำแพงแสน ทั้งฝ้ายและมะละกอก็ไม่ได้ขออนุญาตกับคณะกรรมการกลางฯ " ผศ.ดร.บรรพต ณ ป้อมเพชร ประธานคณะกรรมการกลางความปลอดภัยทางชีวภาพ กล่าวในงานเสวนาว่าด้วยเรื่องจีเอ็มโอของชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม

ผศ.ดร.บรรพต กล่าวต่อว่า ตามพ.ร.บ.กักพืช 2507 หากนักวิจัยมีการนำเข้าพืชจีเอ็มโอหรือชิ้นส่วนใดๆ มาจากต่างประเทศจะต้องขออนุญาตกับอธิบดีกรมวิชาการเกษตร แต่หากทำการทดลองในประเทศโดยไม่ได้นำเข้าก็สามารถทำได้เลยไม่ต้องขออนุญาตใดๆ เช่น การวิจัยพริกหรือพืชอื่นๆ ที่กรมวิชาการเกษตรทำอยู่ขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ควรมีการแจ้งคณะกรรมการกลางฯ ตามหลักข้อตกลงร่วม แต่หากใครไม่แจ้ง คณะกรรมการกลางฯ ก็ทำได้เพียงตักเตือน แต่ไม่มีผลทางกฎหมาย

นอกจากนี้ ผศ.ดร.บรรพต ยังกล่าวถึงการไม่เห็นด้วยที่จะออกกฎหมายควบคุมการค้นคว้าวิจัย หลังจากวานนี้ มีการถกเถียงกันในประเด็นการควบคุมที่จะรวมไปถึงระดับการศึกษาวิจัยจีเอ็มโอ ระหว่างระดมความคิดเห็นเพื่อร่างกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพโดยภาคประชาชน

"ถ้าจะออกกฎหมายควบคุมการวิจัย ก็ต้องควบคุมทั้งหมด รวมทั้งการวิจัยด้านสังคมด้วย" ประธานคณะกรรมการกลางความปลอดภัยทางชีวภาพกล่าว

ด้านดร.เจษฎ์ กล่าวว่า สาเหตุที่วุ่นวายกันในวันนี้ เพราะกฎหมายวิ่งไล่ตามเทคโนโลยีไม่ทัน ประเทศไทยไม่ได้ออกกฎหมายรองรับตั้งแต่ที่เทคโนโลยีนี้เริ่มเข้ามา ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือต้องถอยกลับมาสรุปบทเรียน เพื่อนำไปสู่การร่างกฎหมายที่ต้องผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยกำหนดกรอบเวลาชัดเจน และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ส่วนกฎหมายเท่าที่มีอยู่ก็ต้องมีการออกประกาศเพิ่มเติมเพื่อใช้ควบคุมไปพลางๆ

"เทคโนโลยีไม่ได้ดีหรือเสียในตัวเอง อยู่ที่การใช้ กฎหมายไม่ได้จะห้ามการใช้ เพียงแต่ควบคุม กำกับดูแล และบริหารจัดการการใช้เทคโนโลยี และกฎหมายที่ดีควรเป็นกฎหมายที่วางแผนเผื่อไว้ล่วงหน้าเป็น 10-20 ปี โดยรัฐจะต้องตัดสินใจวางนโยบายบนพื้นฐานความรู้ ไม่ใช่ความเห็น ที่พร้อมจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา" ดร.เจษฎ์กล่าว

ดร.เจษฎ์กล่าวว่า นอกจากนี้ยังต้องกฎหมายต้องสร้างบรรทัดฐาน และความเข้าใจที่ชัดเจนในสังคม ทั้งในเรื่องเทคโนโลยี การควบคุมการทดลอง ความจำเป็นในการศึกษา และความเชื่อมโยงกับสิทธิบัตร โดยหากแยก 3-4 เรื่องนี้ได้ จะค่อยๆ คิดหาคำตอบได้

มุทิตา เชื้อชั่ง
ประชาไทรายงาน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net