Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

น้ำเทิน -นากาย ผืนป่าที่คนไทยไม่รู้จัก

เมืองลาวไม่เหมือนเมืองไทย
"อย่าเอาความคิดแบบคนไทยมากำหนดวิธีการนำเสนอเรื่องน้ำเทิน 2"

แหล่งข่าวที่กำลังจะถูกเปิดเผยตัวกล่าวกับดิฉัน เมื่อถูกถามถึงตัวแทนฝ่ายลาวที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเขื่อนน้ำเทิน 2

หลังได้รับคำสั่งจาก บ.ก. (ที่ใจดีที่สุดในโลก) ให้รับหน้าที่ติดตามข่าวโครงการเขื่อนน้ำเทิน 2 อย่างไม่ทันตั้งตัว นักข่าวหน้าใหม่อย่างดิฉันก็มีเพียงข้อมูลจากเอ็นจีโอไทยอย่าง เทอร์รา และเอ็นจีโอระหว่างประเทศ "กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF)" กับข้อมูลจากรัฐบาลลาวที่ได้มาในการทำข่าวการประชุมที่กรุงเทพฯ

เขื่อนขนาด 4,000 ตารางกิโลเมตรจะถูกสร้างขึ้นในพื้นที่ป่า น้ำเทิน - นากาย เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 1,070 เมกกะวัตต์ ส่งมาขายยังประเทศไทย

การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจบลงแล้ว ธนาคารโลกกำลังตัดสินใจค้ำประกันเงินลงทุนให้โครงการนี้ แต่ก็เปิดเวทีให้ผู้เกี่ยวข้องได้แสดงความคิดเห็นไปแล้ว 3 ครั้ง ที่กรุงเทพฯ โตเกียว และวอชิงตันดีซี วันที่ 24 กันยายนนี้ เวทีแสดงความคิดเห็นจะถูกจัดเป็นครั้งสุดท้ายที่เวียงจันทน์

ดิฉันต้องนำเสนอข่าวนี้และ ดิฉันต้องไปเวียงจันทน์ !

ไปลาวทั้งทีต้องให้คุ้มค่าการลงทุนกันหน่อย หนังสือพิมพ์เล็ก ๆ อย่างประชาไทจะให้นักข่าวเดินทางไปเวียงจันทน์เพื่อเสนอข่าว 1 ชิ้น ! (ฝันไปแล้วไอ้น้อง -ดิฉันบอกกับตัวเอง)

จะมีเอ็นจีโอในลาวที่ทำข้อมูลอีกด้านหนึ่งไหมนะ จะมีใครเข้าไปสำรวจพื้นที่ในเขตอนุรักษ์ป่า น้ำเทิน - นากายบ้างไหม มีตัวแทนของประชาชนลาวที่จะแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ไหม

ดิฉันหอบคำถามเหล่านี้ไปหาบุคคลที่น่าจะให้คำตอบได้ หลังจากได้คำตอบว่า "ไม่มี" ด้วยเหตุผลเดียวกันหลายครั้งจากหลายคน และครั้งนี้....

"ถ้าจะทำข่าวเรื่องนี้ก็ลืมวิธีคิดแบบไทย ๆ ไปได้เลย" ศรัณย์ บุญประเสริฐ หรือสันต์ นักเขียนสารคดีผู้ย่ำเยือนแดนลาวมานับสิบครั้งกล่าว พร้อมอธิบายว่า เพราะสังคมลาวไม่เหมือนเมืองไทย ในลาวมีเอ็นจีโอก็จริงอยู่แต่เป็นการทำงานในลักษณะเกื้อหนุนกลไกของรัฐ (อันที่จริง เอ็นจีโอแบบนี้ ในเมืองไทยก็มีนะ-ประเด็นนี้ดิฉันแอบคิดเองในใจ) และคงหานักวิชาการที่จะพูดในลักษณะตรงข้ามกับรัฐบาลได้ยาก ถึงแม้จะคิดก็คงไม่อยากพูด และชาวบ้านของลาวก็ไม่มีข้อมูล,ความรู้หรือทักษะที่จะแสดงความเห็นหรือยืนยันสิทธิของตนเอง

"พี่สันต์" กล่าวย้ำข้อมูลและความคิดเห็นเดียวกันหลังจากที่ดิฉันได้รับคำตอบเดียวกันนี้ตลอด 1 สัปดาห์ก่อนหน้า…… ลาวไม่เหมือนไทย"

น้ำเทิน- นากาย ผืนป่าที่ไม่มีใครรู้จัก
นักเขียนสารคดีผู้มั่นใจว่ารู้จักประเทศลาวมากพอตัว ยอมรับว่าไม่เคยเข้าไปถึงเขตอนุรักษ์ป่าน้ำเทิน - นากาย และไม่รู้จักผืนป่าแห่งนี่ดีพอที่จะให้ข้อมูลได้

ข้อมูลนี้ทำให้ดิฉันใจชื้นขึ้นเป็นกอง (นึกว่าเราไม่รู้อยู่คนเดียวมาตั้งนาน) ถ้าขนาดนักเขียนสารคดีที่เดินทางแบบถึงลูกถึงคนกระทั่งเคยซมซานกลับประเทศไทยมานอนซมเพราะเชื้อโรคในพื้นที่ยังไม่รู้จักป่าน้ำเทิน - นากาย ถ้าเช่นนั้น ก็ไม่แปลก ถ้าคนไทยทั่ว ๆ ไปจะไม่รู้ (รวมถึงตัวดิฉันเองด้วย)

"เรากำลังแตะต้องโลกที่เราไม่รู้จัก สำหรับพี่แล้ว มันเหมือนกับเราจะสร้างเขื่อนกลางป่าอะเมซอน…. ทรัพยากรเป็นของโลก ป่าน้ำเทิน - นากายเป็นป่าที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย และไม่ใช่หน้าที่ของคนลาวที่มีทางเลือกไม่มากนักที่จะปกป้องป่าผืนนี้ แต่เป็นจิตสำนึกของไทยต่างหากที่จะไปใช้ทรัพยากรในเขตประเทศลาว"

ความเห็นของพี่สันต์ทำให้ดิฉันเกิดดวงตาเห็นธรรม เราไม่รู้จัก แต่เรากำลังจะทำให้มันเปลี่ยน ไม่แปลกถ้าข่าวเกี่ยวกับโครงการสร้างเขื่อนในผืนป่าที่คนไทยไม่รู้จักจะไม่มีใครอ่าน ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าในอนาคตคนไทยจะใช้ไฟจากเขื่อนน้ำเทิน 2 แต่ไม่มีใครรู้เรื่องราวของป่าน้ำเทิน - นากาย

เรากำลังทำลายสิ่งที่เรายังไม่มีโอกาสได้รู้จัก !!!

(โปรดติดตามตอนต่อไป น้ำเทิน - นากาย รู้ไม่มาก ยากจะเข้าถึง )

พิณผกา งามสม
ประชาไทรายงาน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net