Skip to main content
sharethis

กรุงเทพฯ-16 ก.ย. 47 น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ได้มอบหมายให้สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยไปจัดทำแผนแม่บทปิโตรเคมีระยะที่ 3 เพื่อดูไปในระยะ 10-15 ปีข้างหน้าว่า ประเทศไทยควรจะมีการก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีระดับใดเกิดขึ้นบ้างเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่

ปัจจุบันประเทศไทยมีการลงทุนด้านปิโตรเคมีมูลประมาณ 600,000 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนของภาครัฐครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งเป็นการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งสามารถสร้างเม็ดเงินได้ร้อยละ 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)

น.พ.พรหมินทร์ กล่าวว่า ในส่วนของภาครัฐพร้อมสนับสนุนด้านสาธารณูปโภคต่าง ๆ และปิโตรเคมี
คอมเพล็กซ์แห่งใหม่ เบื้องต้น จะเกิดขึ้นในโครงการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก(อีสเทิร์นซีบอร์ด)เพราะมีสาธารณูปโภครองรับไว้แล้ว ส่วนในพื้นที่ภาคใต้ที่อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น เนื่องจากปริมาณก๊าซยังไม่เพียงพอหรือหากจำเป็นจะต้องก่อสร้าง จะเกิดขึ้นประมาณอีก 10 ปีข้างหน้า โดยจะต้องให้ประชาชนยอมรับเป็นสิ่งสำคัญ

นายพรชัย รุจิประภา รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในแผนแม่บทฯ ดังกล่าว ได้มีการพิจารณาถึงวัฏจักรขาขึ้นของปิโตรเคมีในรอบหน้า คือ ปี 2554 ซึ่งเบื้องต้นอาจจะต้องลงทุนประมาณ 33 โครงการ โดยมีผลการศึกษารองรับแล้วว่า มีผลตอบแทนที่ดี

ทั้งนี้คาดว่าแผนระยะ 15 ปี (พ.ศ.2547-2561)จะใช้เม็ดเงินลงทุนประมาณ 400,000 ล้านบาท โดยโครงการที่อาจจะลงทุนเพิ่มในอนาคตคือ การผลิตเม็ดพลาสติก LDPE , EG, MMA, ABSPS ซึ่งจะมีการลงทุนทั้งสายโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์ ซึ่งเมื่อผลการศึกษาเสร็จสิ้นแล้ว ปตท.จำเป็นจะต้องลงทุนโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ 6 เพื่อรองรับความต้องการก๊าซธรรมชาติมาผลิตปิโตรเคมีดังกล่าว

ประชาไท รายงาน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net