Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 16 ก.ย. 2547 สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเสนอพัฒนามาบตาพุดเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ตั้งหน่วยงานรัฐรับผิดชอบธุรกิจปิโตรเคมีมูลค่ากว่า 500,000 ล้านบาท

คุณหญิงทองทิพย์ รัตนรัต ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเสนอมาบตาพุดเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมปิโตรเคมีคอลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

"เราต้องขยายการผลิตปิโตรเคมีคอลในเขตมาบตาพุดและเขตใกล้เคียงให้เกิดเป็นกลุ่มอุตสหกรรมให้ได้"

คุณหญิงทองทิพย์กล่าวในการนำเสนอแผนแม่บททิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยให้เหตุผลว่าพื้นที่แถบมาบตาพุด จ.ระยองนั้นมีความเหมาะสมที่จะพัฒนาเนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับอยู่แล้ว และเป็นพื้นที่ของโครงการอีสเทิรฺนซีบอร์ด ซึ่งเป็นพื้นฐานของอุตสาหกรรมสายนี้มาแต่ต้นเนื่องจากเป็นแหล่งที่มีการกลั่นแยกก๊าซจากอ่าวไทยซึ่งเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อีกทั้ง เป็นพื้นที่ติดทะเลสะดวกต่อการขนส่ง

นอกจากนี้ยุทธศาสตร์ที่จะทำให้ไทยแข่งขันกับอุตสหกรรมปิโตรเคมีได้คือ ต้อง เพิ่มมูลค่าของก๊าซธรรมชาติ และพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีให้สัมพันธ์กับอุตสาหกรรมระดับปลายน้ำของปิโตรเคมี

คุณหญิงทองทิพย์กล่าวด้วยว่าต้องมีหน่วยงานที่ควรจะตั้งขึ้นเป็นของรัฐภายใต้การกำกับของกระทรวงพลังงานคล้าย ๆ กรมธุรกิจพลังงาน เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐกับเอกชน และระหว่างเอกชนไทยกับตลาดต่างประเทศ

"สิ่งที่รัฐควรมีคือ สำนักยุทธศาสตร์และแผนปิโตรเคมีคอล อุตสาหกรรม อุตสาหกรรมปิโตรเคมีคอลจะมีรายได้กว่า 500,000 ล้านบาท แต่ไม่มีองค์กรที่กำกับดูแลซึ่งเป็นไปไม่ได้ แต่ปัจจุบันไม่มีหน่วยงานดูแล ไม่มีกรกำหนดยุทธศาสตร์ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมนี้"
ทั้งนี้หน่วยงานที่จะถูกจัดตั้งขึ้นต้องไม่ใช้วิธีการกำกับหรือควบคุมเพราะจะทำให้ขาดเสรีภาพในการดำเนินธุรกิจ

การนำเสนอแผนแม่บทดังกล่าวจัดขึ้นโดยสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยโดยใช้เอกสารภาษา
อังกฤษเป็นและการเสนอในเวทีเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อเสนอต่อภาครัฐและนักธุรกิจด้านปิโตรเคมีคอลทั้งไทยและต่างประเทศ

ในช่วงท้ายเปิดโอกาส ผู้เข้าร่วมประชุมตั้งคำถามโดยเขียนใส่กระดาษ ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมรายหนึ่งถามว่ามาบตาพุดจะมีความพร้อมเพียงพอจริงหรือไม่เพราะที่ผ่านมาก็ไม่สามารถกำจัดขยะพิษจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จนกระทั่งต้องนำไปทิ้งที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งคุณหญิงทองทิพย์ไม่ได้ตอบคำถามดังกล่าว โดยกล่าวว่าภาพรวมของประเทศไทยจัดการขยะจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้ แต่ไม่ได้เจาะจงว่ามาบตาพุดจัดการได้หรือไม่

พิณผกา งามสม
ประชาไทรายงาน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net