Skip to main content
sharethis

หากโครงการชลประทานขนาดใหญ่ในภาคอีสาน คือความหวังดีที่รัฐต้องการจะหยิบยื่นให้กับประชาชน เพื่อขยายพื้นที่ชลประทาน เพื่อให้เกษตรกรได้ลืมตาอ้าปาก เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม หรือเพื่อพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม จะเพื่อผลประโยชน์อันใดก็ตาม ประชาชนควรจะได้รับรู้ถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับชีวิตของพวกเขา เพื่อร่วมคิดร่วมตัดสินใจ


 


การปิดบัง เก็บงำ หรือซ่อนเร้น เพื่อให้โครงการได้เริ่มต้นและดำเนินการอยู่บนความทุกยากลำบากของประชาชน เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น แต่ภาครัฐเองได้กลายเป็นผู้ปิดบังซ่อนเร้นความจริง และอาศัยช่องว่างหลีกเลี่ยงกฎหมาย ดังเช่นที่เกิดกับ "ลำพะเนียง" หนึ่งในชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ของโครงข่ายน้ำบนแผ่นดินอีสานที่ค่อยๆ ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง ท่ามกลางคำถามที่ว่า "ผลประโยชน์นี้เพื่อใคร? "


 


00000


 


ลงพื้นที่ลำพะเนียง...


 


"ไม่รู้ว่าเขาจะมาทำถนนใส่ที่นาเรา"


 


"ไม่คิดเลยว่าที่ดินจะหายไปหมด"


 


"ทุกอย่างไม่ได้ทำอย่างที่เค้าพูด"


 


คำพูดที่ได้ยินซ้ำๆ จากชาวบ้าน จ.หนองบัวลำพู ผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากการขุดลอกลำพะเนียง ลำน้ำสายเล็กๆ ที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป ในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาโครงข่ายน้ำ (Water Grid) ภาคอีสาน เพื่อผันน้ำโขงเข้าสู่เขื่อนอุบลรัตน์


"ชลประทานระบบท่อ" หรือ "โครงข่ายน้ำ" หรือ "Water Grid" คำนี้ผุดขึ้นมาในช่วงปี 2546-2547 ก่อนจะหมดยุคทักษิณ 1 โดยชูว่าเป็นแผนการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาภัยแล้งในระยะยาวได้ และหากจะทำโครงการชลประทานระบบท่อจะต้องทำโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กเพื่อกักเก็บน้ำ และผันน้ำจากลุ่มน้ำของประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ลาว กัมพูชา และพม่า มายังประเทศไทยไปพร้อมๆ กัน


ด้วยเป้าประสงค์ของการเป็นเส้นทางรองรับน้ำจำนวนมหาศาล จึงต้องทำการขุดลอกลำพะเนียงให้ขยายขึ้น ทำให้มันใหญ่ขึ้น ทำให้มันตรงขึ้น และทำให้น้ำไหลเร็วขึ้น... ภายใต้ "โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะเนียง" จ.หนองบัวลำพู ที่ถูกวางแผนให้ผนวกเข้ากับ "โครงการพัฒนาโครงข่ายน้ำ"


 


แต่สิ่งเหล่านี้มีใครบอกเล่าให้คนในพื้นที่ได้รับรู้....


 


ชาวบ้านเล่าถึงเรื่องน่าเศร้าที่เกิดขึ้นกับขุดลอกลำพะเนียง ลำน้ำความยาว 150 กม.ที่ไม่มีปรากฏในแผนที่เนื่องด้วยขนาดที่เล็ก แต่มีน้ำไหลหล่อเลี้ยงผู้คนได้ตลอดทั้งปี ว่า ตั้งแต่เริ่มมีโครงการขุดลอกฯ เมื่อปี 2546 กรมชลประทานและผู้นำชุมชนได้นำเอกสารมาให้เซ็นโดยบอกว่าจะมีการขุดลอกลำน้ำให้ชาวบ้านเซ็นอนุญาต โดยอ้างว่าเพื่อให้ทางน้ำไหลสะดวก เป็นการป้องกันปัญหาน้ำท่วม ซึ่งชาวบ้านเห็นว่าเป็นเรื่องดี ก็เลยเซ็นให้ไป


 


และที่น่าน้ำตาตกไปกว่านั้นคือเฒ่าผู้แก่หลายคนที่ไม่ได้รับรู้เรื่องราว ก็มีการใช้วิธีเอาเอกสารไปให้เซ็นถึงในวัด บางคนกำลังนั่งฟังเทศน์มีคนมาสะกิดหลังให้เซ็นเอกสารก็หันมาเซ็น โดยไม่รู้เลยว่าเรื่องจะมาลงเอยด้วยความสูญเสียดังเช่นวันนี้


 


เมื่อแรก ชาวบ้านคิดว่าเป็นแค่การขุดลอกลำน้ำธรรมดา จึงไม่มีการชี้แจงและไม่ได้มีการเรียกร้องคำชี้แจงรายละเอียดใดๆ แต่การขุดลอกตามโครงการดังกล่าวซึ่งเริ่มตั้งต้นในช่วงตอนกลางของลำน้ำ ได้ทำให้ลำพะเนียงที่มีความกว้างเพียง 7-10 เมตร ถูกขุดขยายเพิ่มขึ้นจนกว้างกว่า 70 เมตร อีกทั้งยังถมคันดินทำถนนขนาด 6 เมตร เลียบ 2 ฝั่งลำน้ำ ซึ่งที่ดินเหล่านี้มีเอกสารสิทธิ์ และเป็นที่ดินทำกินของชาวบ้าน


 



 


 


 


 เกือบทั้งหมดของชาวบ้านในพื้นที่ 5 ตำบล ใน อ.เมืองหนองบัวลำพู ไล่ตั้งแต่ ต.หนองสวรรค์ ต.หนองบัว ต.โพธิ์ชัย ต.หนองว้า จนถึง ต.บ้านขาม ที่อยู่ในระยะทางกว่า 30 กิโลเมตรที่มีการขุดลอก ต้องสูญเสียที่นากลายเป็นถนน เป็นลำห้วยใหญ่ โดยไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ เพราะในแผนงบประมาณโครงการไม่มีการตั้งงบสำหรับเป็นค่าชดเชยแก่ชาวบ้าน


 


ทั้งที่ชาวบ้านบางรายเสียหายหนักถึงขนาดไม่เหลือที่ทำกิน บ้างเหลือที่ดินอยู่แต่ก็เล็กน้อยจนไม่สามารทำกินอะไรได้ นี่คือความเจ็บปวดอย่างเหลือแสน เพียงแค่การลงลายมือด้วยความรู้ไม่เท่าทัน


 


"ตอนเขามาขุด เขาบอกว่ามีแต่งบประมาณในการขุดลอก งบประมาณในการชดเชยค่าเสียหายไม่มี ให้พี่น้องเสียสละ"  พ่ออำพัน บู่สุข ชาวนาจากบ้านตำแย ปัจจุบันเป็นรองประธานกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลำพะเนียงบอกเล่าถึงเหตุการณ์ในอดีตด้วยความรู้สึกที่ยากจะบรรยาย


 


"ใช้งบประมาณแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์"


 


ริมลำพะเนียง ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติสองฝั่งของลำน้ำ ถูกแทนที่ด้วยคันดินสูงที่ทอดตัวเป็นแนวยาว ซึ่งตามการชี้แจงจากกรมชลฯ คันดินนี้จะช่วยเป็นผนังกันน้ำที่เอ่อล้นจากลำพะเนียงในช่วงฤดูน้ำหลากไม่ให้ท่วมพื้นที่การเกษตร และจะใช้เป็นทางลำเลียงขนส่งผลผลิตทางการเกษตร อีกทั้งจะก่อสร้างอาคารรับน้ำเพื่อควบคุมการปิดเปิดร่องน้ำสำหรับระบายน้ำท้วมขัง  ซึ่งถึงวันนี้ประโยชน์ที่ว่าชาวบ้านยังไม่เห็น ทั้งที่โครงการใช่งบประมาณไปกว่า 719 ล้านบาท (ปี 2546 อนุมัติงบ 301 ล้านบาท แต่ไม่แล้วเสร็จ จึงได้มีการอนุมัติงบประมาณเพิ่มขึ้นอีก 418 ล้านบาท เมื่อ ปี 2547)


 


พี่นกเอี้ยง สุชาดา ช่วยเงิน ชาวบ้านคนหนึ่งที่ต้องสูญเสียที่ดินไปกับการขุดขยายคลอง 3 ไร่ จากที่นาเดิม 11 ไร่ กล่าวว่า บริเวณสองฝังลำน้ำที่ถูกถมให้สูงขึ้นตามโครงการที่ว่าจะทำให้เป็นถนนนั้นความจริงไม่สามารถใช้สัญจร เพราะยังมีเจ้าของที่บางรายไม่ยอมให้ขุดขยาย นอกจากนั้นยังสร้างความเดือดร้อน เพราะในบางรายถูกผู้รับหมานำกองดินและเศษต้นไม้ที่ขุดขึ้นมาทิ้งไว้บนที่นาโดยไม่มีการเกลี่ยดินหรือปรับแต่งให้เรียบร้อย ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนเพราะไม่สามารถทำกินในที่นาได้ เมื่อร้องขอก็มีการทำแบบขอไปที ทำให้ชาวบ้านต้องเสียเงินเพื่อจ้างคนมาเกลี่ยแต่งดินเอง บางรายก็ขายดินพวกนี้ไปเพราะไม่รู้จะเอามาใช้ทำอะไร


 


สิ่งที่ชาวบ้านเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันขณะนี้ คือ คันดินที่สูงมากนี้ทำให้ไม่สามารถพาวัว ควาย ข้ามลงไปกินน้ำได้อีกต่อไป เมื่อถึงฤดูน้ำหลากน้ำจากลำพะเนียงที่แต่ก่อนเคยเอ่อเข้านาก็เข้าไม่ได้ เพราะคันคลองที่ถูกถมจนสูง การเอาน้ำเข้านาจึงจำต้องพึงเครื่องสูบน้ำ ทำให้การเพิ่มต้นทุนในการปลูกข้าวขึ้นไปอีก นอกจากนี้น้ำในนาที่แต่ก่อนเคยท่วมอย่างมาก็ไม่เกิน 1 อาทิตย์ ตอนนี้น้ำกลับท่วมยาวถึง 2-3 อาทิตย์ เพราะน้ำจากระบายลงลำพะเนียงไม่ได้เนื่องจากติดคันคลอง


 



พะเนียงที่ขุดขยายโดยมีคันดินสองข้างทางเป็นแนวยาว ในขณะที่ส่วนคอคอดคือฝายทดน้ำเดิมที่กำลังถูกกัดเซาะโดยกระแสน้ำ และในระยะการก่อสร้างที่ผ่านมาได้ทำลานฝายดั้งเดิมของชุมชนไปแล้วไม่น้อยกว่า 4 แห่ง


 


แม่สุนทร ตรีเดช ชาวบ้านหนองปลาขาว ต.หนองสวรรค์ เล่าว่า ตอนนี้ที่นาของแกเองก็ประสบปัญหาการขุดขยายไปแพ้กับคนอื่นๆ เพราะต้องเสียพื้นที่ไปอีกกว่า 6 ไร่ และอาจต้องเสียมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการกัดเซาะของน้ำที่ไหลแรงผ่านลำห้วยที่คดเคียว นอกจากนี้คันดินริมฝั่งน้ำที่สูงมากก็ทำให้การทำนาครั้งล่าสุด ต้องเสียค่าน้ำมันในการใช้รถไถนาสูบน้ำไปกว่า 10,000 บาท


 


"นาฉันติดลำพะเนียงมีแต่ความเสียหาย ไม่เหมือนคนอยู่ไกล เค้าไม่รู้ ไม่เป็นปัญหา อยากให้เขาเห็นความเดือนร้อนของลำพะเนียง" แม่สุนทรบอกเล่าความรูสึก


 


นอกไปจากการขุดลอกลำพะเนียงแล้ว ตามโครงการยังมีการสร้างฝายยกระดับน้ำโดยกรมทรัพยากรน้ำ เพื่อรองรับการขยายลำพะเนียงที่ดำเนินการโดยกรมชลฯ และแม่สุนทรก็เป็นหนึ่งในผู้บริจาคที่กว่า 6 ไร่ สำหรับสร้างฝาย ตั้งแต่ครั้งเริ่มต้นโครงการเมื่อปี 2546 ด้วยความหวังว่าการวางระบบชลประทานในพื้นที่จะช่วยให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการเกษตรตลอดทั้งปี แต่การดำเนินงานที่ไม่สอดรับกัน ทำให้ฝายที่มีความกว้างของสันฝายกว่า 50 เมตร ตื่นเกินกว่าระดับน้ำท้องน้ำของโครงการขุดลอกลำพะเนียงทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในการเก็บกักน้ำได้จริง


 



 




แม่สุนทรกำลังอธิบายสภาพที่นาที่ได้รับผลกระทบและฝายขนาดใหญ่ที่แกร่วมบริจาคที่ดินในการก่อสร้างโดยไม่ได้เรียกร้องค่าเวนคืน แม้ถึงวันนี้ฝายที่มีอยู่จะไม่ได้ก่อให้เกิประโยชน์ใดๆ


 


ดังนั้น คงไม่แปลกหากจะบอกว่า "ใช้งบประมาณแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์" คือคำอธิบายอย่างเป็นรูปธรรมของโครงการที่ชาวบ้านรับรู้


 


 "คดีความ" กับปัญหา "ค่าชดเชย" ที่ยังไม่มีข้อยุติ


 


จากความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น พ่ออำพัน เล่าว่าชาวบ้านได้รวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องไปยังหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ ทั้ง กรมชลประทาน นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด รวมถึงสำนักนายกฯ และผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ชาวบ้านไม่รู้ว่าจะไปพูดจากับใครให้ชดเชยในส่วนนี้ได้ จึงต้องนำเรื่องไปฟ้องศาลปกครอง และเข้าไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


 


"กรณีลำพะเนียงเป็นความเจ็บปวดที่ชาวบ้านถูกหลอกให้เซ็น ชาวบ้านนึกว่าจะมาขุดลอกให้ดีขึ้นเท่าที่มีอยู่เดิม เขาจึงเซ็นยินยอม ชาวบ้านที่นี่ไม่มีเอ็นจีโอ สู้แบบชาวบ้าน ฟ้องศาลปกครองทีละคนสองคน กรรมการสิทธิและสภาทนายก็จัดทีมทนายลงไป ใช้ทนายเยอะมาก กรณีนี้เป็นตัวอย่างว่าชาวบ้านควรจะสู้ตั้งแต่ประชาพิจารณ์ และถ้าจะฟ้อง 200 กว่าคนต้องฟ้องเป็นคดีเดียว แต่เนื่องจากชาวบ้านไม่รู้เกมจึงสู้เป็นคนๆ ไป กลายเป็น 148 คดี ต้องใช้ทนายมหาศาล ใช้เวลามากมาย" สุนี ไชยรส กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านที่เป็นผลจากการโกหกคำโตของหน่วยงานรัฐ


 


ตั้งแต่ปี 2548-2550 ชาวบ้านที่ต้องสูญเสียที่นาไปกับโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะเนียงไปโดยไม่ได้รับค่าชดเชย ได้ทยอยไปฟ้องร้องศาลปกครองเป็นคดีความกว่า 148 คดี ล่าสุดศาลมีคำพิพากษาแล้ว 23 คดี สรุปได้ว่า กรมชลประทานมิได้ทำการเวนคืนที่ดินชาวบ้านตามกฎหมาย ชาวบ้านไม่ได้มีเจตนายกที่ดินให้แก่กรมชลประทาน และกรมชลประทานต้องจ่ายค่าชดเชยในที่ดินให้แก่ชาวบ้านโดยเฉลี่ย ไม่เกิน ตร.ว.ละ 150 บาทแล้วแต่กรณี ตามการตีราคาของสำนักงานที่ดินจังหวัด


 


เมื่อคำนวณราคาที่ดินตามคำตัดสินของศาล จะพบว่าชาวบ้านจะได้รับเงินชดเชยสูงสุด 60,000 บาทต่อไร่ ซึ่งไม่ได้เป็นราคาที่สูงเลย อีกทั้งในความเป็นจริงที่ดินชาวบ้านหลายรายมีราคาประเมินอยู่เพียงแค่ครึ่งหนึ่ง คือ ตร.ว.ละ 75 บาท หรือไร่ละ 30,000 บาท เท่านั้น


 


ทั้งนี้ ราคาประเมินที่ดินในภูมิภาคส่วนใหญ่ จะกำหนดหน่วยราคาของที่ดินตามทำเลที่ตั้ง หากเป็นที่ดินที่อยู่ที่ติดถนน  ซอยหรือทางสาธารณะ ก็จะมีราคาสูงลดหลั่นกันลงมา ยิ่งถ้าหากที่ดินในโซนที่ได้กำหนดให้เป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาเป็นที่ดินจัดสรรเพื่อการค้าหากำไรเอาไว้ก็จะยิ่งมีราคาสูงขึ้น แต่สำหรับชาวบ้านสิ่งพวกเขาสูญเสียคือผืนดินติดลำน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์และเป็นสินทรัพย์ที่มีค่ายิ่งในการทำการเกษตร ยิ่งเมื่อเทียบกับการที่สูญเสียที่ดินทำกินที่ตกทอดมาตั้งแต่ปู่ย่าตายยาย และความมั่นคงของครอบครัว การตีราคาที่ดินเช่นนี้คงยากที่จะประเมินคุณค่าที่แท้จริงได้


 



ผืนดินเพื่อการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำหล่อเหลียงจากลำพะเนียง


 


ซ้ำร้าย คดีที่ตัดสินแล้วทั้งหมดชาวบ้านยังไม่ได้ค่าชดเชย เพราะได้ถูกอุทธรณ์และอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด โดยส่วนหนึ่งเป็นการอุทธรณ์ของชาวบ้านเนื่องจากค่าชดเชยไม่เป็นธรรมกับความเสียหาย... และอีกส่วนหนึ่งเป็นการอุทธรณ์โดยกรมชลประทานในทุกคดี เพื่อขอให้ศาลยกฟ้องหรือขอลดค่าชดเชยให้ต่ำลงเฉลี่ย ตร.ว.ละ 50 บาท หรือต่ำกว่านั้น โดยอ้างว่าชาวบ้านยินยอมยกที่ดินให้และโครงการพัฒนาลำพะเนียงเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม


 


ในพื้นที่ตอนนี้แม้ว่าจะมีชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่งยืนยันไม่ให้ขุดลำพะเนียงในเขตที่ดินกรรมสิทธิ์ของตนเอง  ดังเช่นกรณีของ พ่อวิเชียร ศรีจันทร์นนท์ ที่ได้พยายามปกป้องผืนที่ดินด้วยชีวิต ด้วยการกระโดดเข้าขวางพร้อมยกอาวุธปืนขึ้นขู่ผู้รับเหมาซึ่งขับรถแบ็กโฮมาเข้ามาเตรียมจะขุดดินในที่ของตัวเองทั้งที่ไม่ได้เซ็นเอกสารยินยอมให้ขุดลอก แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน ทำให้ที่ดินของพ่อวิเชียรเหลือรอดมาได้ แต่ที่ดินที่ไม่ได้รับการขุดลอกตามโครงการในระยะแรกก็เป็นส่วนน้อยมาก และท้องน้ำอีกราว 120 กม.ที่ยังไม่ได้รับการขุดลอกก็ไม่รู้ได้ว่าชาวบ้านในพื้นที่จะต่อสู้เพื่อรักษาไว้ได้อีกนานเท่าไหร่ เพราะหลายภาคส่วนต่างพยายามเร่งให้เดินหน้าโครงการต่อไป


 


ทั้งที่ปัญหาเก่าที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นค่าชดเชยที่ชาวบ้านยังไม่ได้รับ ปัญหาน้ำท่วมขังที่นาเพราะไม่มีทางระบายน้ำลงลำพะเนียง ปัญหาการนำน้ำจากลำพะเนียงมาใช้ในการเกษตร และรวมถึงระบบนิเวศที่ถูกทำลายไป 


 


จาก "ลำพะเนียง" ถึง "ห้วยโมง" จิ๊กซอร์ชิ้นเล็กๆ ของโครงการขนาดใหญ่


 


ถึงวันนี้ แน่ชัดแล้วว่ากรณีของ "ลำพะเนียง" ไม่ได้เป็นเพียงการขุดลอกเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมดังที่กรมชลฯ อ้างถึง หากแต่เป็นการขุดขยายคลองเพื่อรองรับปริมาณน้ำมหาศาลจากการผันน้ำโขงเข้ามาและส่งน้ำต่อไปยังเขื่อนอุบลรัตน์ จากที่นายกสมัคร สุนทรเวชได้ออกมาเน้นย้ำถึงโครงการผันน้ำฯ 2 โครงการหลัก คือ 1.โครงการผันน้ำโขงจากเขื่อนน้ำงึมประเทศลาว มายังอ่างเก็บน้ำห้วยหลวงมาลงที่เขื่อนลำปาว และ2.โครงการผันน้ำจากแม่น้ำโขงที่ จ.เลย ผ่านลำพะเนียงมาลงที่เขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งไม่ว่าจะมีการกำหนดเส้นทางที่แน่ชัดเช่นไร ก็จะยังคงจะมีลำพะเนียงเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ


 


สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี นักวิชาการที่ติดตามโครงการผันน้ำในภาคอีสาน  ฉายภาพความเชื่อมโยงของโครงการผันน้ำโขงและการผันน้ำผ่านลำพะเนียงโดยกล่าวว่า ลำพะเนียงถือเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่มีภาพใหญ่ คือ  "โครงการผันน้ำโขงจากที่เดิมโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะเนียงถูกวางแผนให้ผนวกเข้ากับโครงการพัฒนาโครงข่ายน้ำ และต่อมาถูกผนวกเข้ากับโครงการอุโมงค์ผันน้ำในภาคอีสาน โดยมีการวางแผนผันน้ำโขงมาเติมเขื่อนอุบลรัตน์ใน 2 แนวคือ แนวผันน้ำโขง-น้ำเลย-ลำพะเนียง และแนวผันน้ำโขง-น้ำโมง-ลำพะเนียง


 


อย่างไรก็ตาม เส้นทางลำพะเนียงเชื่อมต่อกับห้วยโมงห้วยโมง เป็นทางน้ำที่นักวิชาการ เอ็นจีโอ ตลอดจนกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ต่างจับตามอง เพราะโครงการขุดลอกในลำน้ำทั้งสองดำเนินการด้วยคำลวงไม่ต่างกัน คือไม่มีการชี้แจงรายละเอียดของโครงการ ไม่มีการปรึกษาพูดคุยถึงความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น และไม่มีการจ่ายค่าชดเชยใดๆ


 



 



อาจารย์สันติภาพกำลังอธิบายเส้นทางการผันน้ำจากห้วยโมงสู่ลำพะเนียง


และภาพของลำน้ำห้วยโมงที่ถูกขุดขยายไม่ต่างจากลำพะเนียง


 


ทั้งนี้ ช่วงหนึ่งของการสำรวจพื้นที่ลำน้ำห้วยโมงในพื้นที่ ต.ท่าบ่อ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย เราได้พูดคุยกับหญิงชาวบ้านที่บังเอิญเดินผ่านมา และสิ่งที่ได้รับรู้คือ เธอต้องสูญเสียที่ดินติดห้วยโมงไปกว่า 7 ไร่ จากทั้งหมด 15 ไร่ โดยไม่ได้รับค่าเวนคืน ด้วยความหวังที่จะได้ใช้น้ำในหน้าแล้ง แต่เมื่อมีการดำเนินงานกลับไม่มีน้ำแต่มีคันดินสูงกว่า 2 เมตรขึ้นมากันระหว่างลำน้ำและที่นา ทำให้ในทุกวันนี้เธอต้องลงทุนขุดบ่อและสูบน้ำขึ้นมาใช้


 


แม้ว่าระหว่างลำพะเนียงและห้วยโมงจะมีภูเขาขั้นกลาง ซึ่งการเชื่อมลำน้ำสองสายอาจต้องทำอุโมงค์เจาะภูเขา แต่สันติภาพ ก็เชื่อว่านี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริง โดยให้เหตุผลว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการคิดค้นวิทยาต่างๆ ในการพยายามผันน้ำโขงมาใช้เป็นลำดับ จากโครงการโขง-ชี-มูล ที่เคยเป็นระบบเปิดคลองส่งน้ำ คลองเมน คลองหลัก คลองซอยคลองย่อย  เมื่อมีความเป็นไปได้ทางวิศวกรรมมันก็พัฒนาให้เป็น "ชลประทานระบบท่อ" หรือ "โครงข่ายน้ำ" จนมาถึงระบบการจัดการส่งน้ำแบบ "ไฮโดรชิล" หรือการผันแม่น้ำโขงผ่านอุโมงค์ (Tunnel) ตามความคาดหวังของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน


 


อีกทั้งเมื่อโครงการขุดขยายลำน้ำได้มีการดำเนินงานไปก่อนหน้าแล้ว เหลือเพียงโครงการที่จะเชื่อมส่งน้ำระหว่างลำน้ำทั้งสองเข้าด้วยกัน ทำให้โครงการดังกล่าวดำเนินการได้ง่ายกว่าการทำโครงการทั้งหมดในครั้งเดียว โดยไม่ต้องมีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือแจกแจงราบละเอียดของโครงการให้ประชาชนได้รับทราบเพื่อร่วมตัดสินใจตามกระบวนการทางกฎหมายที่ระบุไว้สำหรับการทำโครงการขนาดใหญ่



 


ผันน้ำเพื่อใคร?


 


ในอีกแง่มุมหนึ่ง สำหรับสันติภาพแล้ว โครงการผันน้ำฯ เท่ากับเป็นการเปลี่ยนลำพะเนียงให้เป็นคลองป้อนอุตสาหกรรม เพราะเขาเชื่อว่าน้ำปริมาณมากซึ่งถูกผันมายังลำพะเนียงที่ถูกขุดขยายแล้ว จะส่งน้ำผ่านไปยังเขื่อนอุบลรัตน์ เพื่อส่งน้ำไปยังพื้นที่ต่างๆ ภาคอีสาน  โดยจะมีการดึงน้ำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นทั่วภาคอีสาน เช่น  อุตสาหกรรมเหมืองแร่โปรแตช  อย่างน้อยใน 4 จังหวัดคือ มหาสารคาม ชัยภูมิ นครราชสีมาและขอนแก่น และนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งอุตสาหกรรมเกษตรของบริษัทเกษตรกรรมขนาดใหญ่ ตลอดแนวผันน้ำ


 


สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าผลประโยชน์ส่วนใหญ่ไม่ตกอยู่ที่คนลำพะเนียง และที่สำคัญคือรัฐบาลพูดความจริงไม่หมดเกี่ยวกับอุโมงค์ผันน้ำ


 


00000


หากรัฐอยากแสดงความจริงใจที่จะให้เกษตรกรในภาคอีสานได้รับน้ำเพื่อทำการผลิตให้หลุดพ้นจากความยากจนอย่างแท้จริง ก็ต้องเปิดเผยข้อมูลโครงการใหญ่ทั้งหมดให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้รับรู้ ให้มีการร่วมแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยน วิพากษ์วิจารณ์ ร่วมกันศึกษาผลกระทบของโครงการอย่างรอบด้าน และหาแนวทางการแก้ปัญหาที่สะท้อนถึงความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง


ไม่ใช่การซ้ำเติมทุกข์ของชาวบ้านด้วยการประติดประต่อโครงการแบบแยกส่วน ไปเรื่อยๆ เหมือนเล่นจิ๊กซอร์อย่างที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน


ดังที่ ศ.เสน่ห์ จามริก ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้พูดไว้ว่าความสูญเสียที่คนลำพะเนียงได้พยายามเรียกร้องหาความเป็นธรรมอยู่ในขณะนี้ ไม่ได้เป็นเพียงสูญเสียของคนบุคคล หรือครอบครัว เท่านั้น แต่เป็นความสูญเสียของประเทศ เพราะลำพะเนียงเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการน้ำที่มีปัญหาของรัฐที่จะส่งผลกระเทือนในวงกว้าง ประชาชนจึงมีสิทธิเรียกร้องไม่เฉพาะค่าชดเชย หรือเพียงการปกป้องลำพะเนียง แต่ต้องสิทธิร่วมในการตัดสินใจกำหนดอนาคตของตัวเอง ตามสิทธิชุมชนที่รัฐจะต้องตระหนักถึง



รูป008


ศ.เสน่ห์ จามริก กล่าวปาฐกถาในงาน "สืบชะตาลำพะเนียง" ในระหว่างลงพื้นที่ดูสภาพปัญหาของคนลำพะเนียง


 


00000


 


...................................................................


อ่านประกอบ


1.       โครงการผันน้ำและเขื่อนกั้นน้ำโขง โครงการเพื่อประชาชน?


2.       ข่าวประชาธรรม : ขุดลอก "ลำพะเนียง" ความล้มเหลวซ้ำซากในการจัดการน้ำ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net