Skip to main content
sharethis


 


อานุภาพ นุ่นสง
สำนักข่าวประชาธรรม


 


 


 


ข่าวคราวความเคลื่อนไหวของชาวบ้าน จ.หนองบัวลำภู ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะเนียงของกรมชลประทานตั้งแต่ปี 2547 ที่มีการขุดลอก ขยายลำน้ำรุกล้ำเข้าไปในที่ดินทำกินของชาวบ้านอย่างกว้างขวางโดยไม่มีการเวนคืนที่ดิน ไม่มีการจ่ายค่าชดเชยแก่ชาวบ้าน จนเกิดปัญหาชาวบ้านต้องสูญเสียที่นา แหล่งทำมาหากิน โครงการนี้แม้จะไม่เป็นข่าวใหญ่โตหวือหวานัก แต่ก็นับว่าปัญหากลุ่มชาวบ้านได้รับผลกระทบเชิงประจักษ์จากโครงการพัฒนาของรัฐเกิดขึ้นอีกแล้ว...


 


ที่สำคัญ จะเห็นว่าเหตุแห่งปัญหาที่เกิดขึ้นจากหน่วยงานรัฐนั้น ล้วนเกิดภายใต้พฤติกรรมเดิมๆ ซ้ำๆ ซากๆ นั่นคือไม่เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วม ไม่มีการชี้แจงรายละเอียดโครงการให้ชุมชนรับรู้อย่างครบถ้วน ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของชุมชน เป็นต้น


 


กรณีผลกระทบจากโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะเนียงก็เช่นเดียวกัน !


 


"ลำพะเนียง" เป็นแม่น้ำสายเล็กๆ สายสำคัญของ จ.หนองบัวลำภู มีต้นกำเนิดบริเวณภูผาเวียง หรือผาเนียง ในเขต อ.นาด้วง และ อ.นากลาง จ.เลย มีความยาวตลอดลำน้ำประมาณ 150 กิโลเมตร และส่วนใหญ่ของสายน้ำอยู่ในเขต จ.หนองบัวลำภู แม้มีความกว้างโดยเฉลี่ยเพียง 7 - 10 เมตร แต่มีน้ำไหลหล่อเลี้ยงผู้คนได้ตลอดทั้งปี ตลอดเส้นทางไหลของลำพะเนียง จะมีลำห้วยสาขาที่เกิดจากเทือกภูที่อยู่รายรอบ แล้วไหลลงสู่ลำพะเนียงกว่า 116 สาย เกิดเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำกว่า 9 แสนไร่ มีพื้นที่รองรับน้ำกว่า 1,549.14 ตร.กม. ซึ่งไหลไปเชื่อมต่อกับลำน้ำพองในเขต อ.โนนสัง จ.ขอนแก่น บริเวณเขื่อนอุบลรัตน์ในปัจจุบัน


สองฝั่งของลำพะเนียง เป็นพื้นที่ทำการเกษตรสำคัญ ทั้งยังเป็นแหล่งหาปลาของชาวบ้านเพราะเป็นลำน้ำที่มีพันธุ์ปลาต่างๆอาศัยชุกชุมมาก นอกจากนี้ชุมชนยังมีระบบการจัดการน้ำจากลำพะเนียงด้วยฝายดิน เป็นการส่งน้ำด้วยเหมืองนาและรางน้ำ ทั้งยังจัดสรรผลประโยชน์ให้กับคนทุกคนอย่างเหมาะสมและเท่าเทียมกันภายใต้แนวคิดการจัดการน้ำที่คำนึงถึงความสำคัญของระบบนิเวศ และใช้ความแตกต่างของระบบนิเวศเป็นเครื่องมือในการจัดการ ดัดแปลงธรรมชาติให้น้อยที่สุดด้วย



นายอำพัน บู่สุข ชาวบ้านตำแย ต.โพธิ์ชัย อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู กล่าวว่า ลำพะเนียงไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของคนภายนอกมากนัก เพราะไม่มีในแผนที่ เป็นเพียงลำน้ำสายเล็กๆ แต่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งเดิมทีชาวบ้านดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข สามารถหาปลา เก็บผักที่อยู่ริมสองฝั่งน้ำได้ง่าย ไม่เป็นพิษเป็นภัย ปลอดสารพิษ ซึ่งชาวบ้านพึ่งพาอาศัยมาโดยตลอด

"หลายสิ่งหลายอย่างของลำพะเนียงได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ อย่างการใช้น้ำนั้นมีการรวมกลุ่มกันทำฝายดินเพื่อกักเก็บน้ำ แรกเริ่มรวมตัวกัน 30-40 คน ร่วมลงขันกันคนละ 400-500 บาท ส่วนแรงงานก็ช่วยกันทำก็สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ สามารถปลูกพืชผักต่างๆ ในฤดูแล้ง ก่อให้เกิดรายได้ ฤดูฝนก็ทำนา ทำมาเรื่อยๆ ชาวบ้านใช้ชีวิตกันอย่างสงบดี" นายอำพัน กล่าว


อย่างไรก็ตาม ช่วงปี 2547 ภายใต้นโยบายแก้ไขปัญหาความยากจนของ พ...ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ลำพะเนียงจึงถูกวางแผนการพัฒนาผนวกเข้ากับโครงการพัฒนาโครงข่ายน้ำในภาคอีสาน หรือโครงการที่จะผันน้ำโขงเข้าสู่เขื่อนอุบลรัตน์ โดยการวางท่อหรือขุดคลองเพื่อผันน้ำโขงผ่านน้ำเลย จ.เลย ส่งต่อมายังลำพะเนียง เป็นทางผ่านไปยังเขื่อนอุบลรัตน์อีกที และอีกแนวหนึ่งคือการผันน้ำโขง-น้ำโมง จ.หนองคาย ส่งต่อมายังลำพะเนียง เพื่อจะผ่านน้ำต่อไปยังเขื่อนอุบลรัตน์เช่นเดียวกัน

ภายใต้แนวคิดดังกล่าว ส่งผลให้เกิดโครงการย่อยคือ โครงการพัฒนาโครงข่ายน้ำ จ.หนองบัวลำภู ในความรับผิดชอบของกรมทรัพยากรน้ำและกรมชลประทาน เพื่อใช้ลำพะเนียงเป็นคลองผันน้ำลงสู่เขื่อนอุบลรัตน์ ในเบื้องต้นโครงการมีแผนดำเนินการในพื้นที่ 5 ตำบล คือ ต.หนองสวรรค์ ต.หนองหว้า ต.โพธิ์ชัย ต.หนองบัว และ ต.บ้านขาม อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู ซึ่งในระยะแรกเป็นการขุดลอกขยายลำน้ำความยาวประมาณ 30 กิโลเมตร จากความกว้างโดยเฉลี่ยของลำน้ำเดิมเพียง 7-10 เมตร ถูกขุดลอกขยายออกจากศูนย์กลางลำน้ำข้างละ 35 เมตร และทำถนนขนาด 6 เมตร เลียบ 2 ฝั่งลำน้ำ ทำให้ลำพะเนียงในแนวที่ขุดลอกขยายความกว้างของลำน้ำออกโดยเฉลี่ยประมาณ 82 เมตร


ช่วงเริ่มต้น แม้ชาวบ้านในพื้นที่จะยินยอมให้ดำเนินการเพราะเข้าใจอย่างคลุมเครือว่าเป็นเพียงการขุดลอกลำน้ำธรรมดาๆ เพื่อให้น้ำไหลสะดวกเท่านั้นเอง เพราะที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานใดมาชี้แจงรายละเอียดโครงการอย่างรอบด้าน ดังนั้นโครงการนี้แม้จะไม่มีการทำประชาพิจารณ์ ไม่มีการสอบถามความคิดเห็น ไร้การมีส่วนร่วม ชาวบ้านก็มิได้วิตกกังวล


 


แต่ดูเหมือนว่า ในการดำเนินการมิได้เป็นแค่การขุดลอกลำน้ำธรรมดาๆ เสียแล้ว เมื่อในการขุดลอกและขยายลำน้ำกลับมีการรุกล้ำไปในที่ดินของชาวบ้านเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญในแผนดำเนินการไม่มีรายละเอียดในการเวนคืนที่ดินและไม่มีแผนการจ่ายค่าชดเชยแก่ชาวบ้าน ! เรื่องเหล่านี้ชาวบ้านไม่เคยรู้มาก่อน


 


นางสุนทร ตรีเดช ชาวบ้าน ต.หนองสวรรค์ อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู กล่าวว่า เมื่อปี 2546 ทางราชการเข้ามาติดต่อผู้ใหญ่บ้าน โดยแจ้งว่าจะมีการขุดลอกลำพะเนียงและมีการทำเขื่อนเพื่อป้องกันน้ำท่วมตัวเมืองหนองบัวลำภู โดยบอกว่าจะทำตัวฝายบริเวณฝายดินเดิมในเขตที่ดินของนางสุนทร ซึ่งตนเองคิดว่าโครงการน่าจะดีมีประโยชน์กบส่วนรวม เพราะเคยเห็นว่าฝายดินที่เคยทำมาแต่ก่อน ได้ผลดีมีประโยชน์ต่อชาวบ้าน จึงยินยอมให้มีการดำเนินการ แต่ในการดำเนินการจริงพบว่ามีการรุกล้ำที่ดินของตนเป็นจำนวนมาก กระทั่งปัจจุบันตนเสียที่ดินไปแล้ว 3 ไร่ เหลือที่ดินเพียง 1 งาน ซึ่งเป็นที่ดินที่มีโฉนด ซึ่งยังไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ


 


นางหนูปาน ธรรมประเสริฐ ชาวบ้านหนองหว้าใหญ่ ต.หนองหว้า อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู กล่าวว่า ตนไม่ได้ทำนามานานกว่า 2 ปีแล้ว เหตุที่ไม่ได้ทำเพราะผู้รับเหมาเข้ามาขุดลอกลำพะเนียงแล้วนำดินที่ขุดขึ้นมากองไว้ในพื้นที่นาของตนเป็นแนวยาว ที่ผ่านมาตนไปวัดที่นาจากเดิมมี 5 ไร่กว่า แต่ตอนนี้เหลือแค่ 2 ไร่เศษ ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงขุดกินพื้นที่นาของตนมากมายขนาดนี้


 


นางหนูปาน กล่าวต่อว่า หลังที่นาถูกขุดถมเป็นคันคลอง ตนได้สอบถามผู้รับเหมาและถามถึงเงินชดเชย เขาก็บอกว่าอยากได้ให้ไปร้องขอจากชลประทานเอาเอง เขาเป็นแค่ผู้รับเหมา ตนมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการรังแกประชาชนที่นามีน้อยอยู่แล้ว รัฐบาลยังมาแย่งที่นาทำกินไปอีก ขณะที่ในหนังสือบอกว่าให้ชาวบ้านสละที่ดินเพื่อร่วมกันพัฒนาท้องถิ่น โดยแจ้งว่าจะขุดเข้าเขตที่ดินตามแนวคลองไม่เกิน 15 เมตร แต่เมื่อผู้รับเหมาขุดจริงกลับกินที่ดินลึกถึง 32 เมตร แล้วต่อไปจะทำนาได้หาข้าวไว้กินพอได้อย่างไร ค่าชดเชยก็ไม่ได้สักบาท ที่ดินบริเวณนี้ราคาประเมินสูงราว 2 แสนบาทต่อไร่


 


เท่านั้นยังไม่พอ ผลจากการดำเนินการโครงการพัฒนาโครงข่ายน้ำ จ.หนองบัวลำภู นอกไปจากการขุดลอกลำพะเนียงแล้ว ปัจจุบันยังมีการสร้างฝายขนาดใหญ่ โดยกรมทรัพยากรน้ำเป็นผู้สร้าง ซึ่งมีความกว้างของสันฝายกว่า 50 เมตร ซึ่งได้ทำลายฝายดินดั้งเดิมของชุมชนไปกว่า 4 แห่ง อีกทั้งหลังการขุดลอกและสร้างฝายขนาดใหญ่พบว่า ลำน้ำมีขนาดกว้างและลึกมาก ขณะที่ในฤดูแล้งน้ำแห้งขอดท้องน้ำอยู่ต่ำกว่าระดับคันตลิ่งอย่างมาก ทำให้ชาวบ้านมีปัญหาในการสูบน้ำไปใช้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้นับเป็นปัญหาใหม่ของชุมชนลุ่มน้ำลำพะเนียงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน


 


อย่างไรก็ตาม จากปัญหาที่เกิดขึ้นชาวบ้านจึงร้องเรียนไปหลายส่วน ทั้งนายกรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการ จ.หนองบัวลำภู ส..ในพื้นที่ กรมชลประทาน แต่ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาจัดการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง จนในที่สุดช่วงปี 2548 ชาวบ้านตัดสินใจรวมตัวเข้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครอง โดยมีการฟ้องร้องทั้งหมด 148 คดี ซึ่งในเดือน พ.. 2551 นี้ มีการตัดสินแล้ว 21 คดี โดยสรุปแล้วศาลพิพากษาว่า "กรมชลประทานไม่ได้ทำการเวนคืนที่ดินชาวบ้าน ตามกฎหมายและต้องจ่ายค่าชดเชยในที่ดินที่เสียไปให้แก่ชาวบ้านโดยเฉลี่ยตารางวา ละ 100 -150 บาท"


 


คดีที่ตัดสินทั้งหมดปัจจุบันอยู่ในชั้นอุทธรณ์ อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการร้องอุทธรณ์คดีโดยชาวบ้านผู้เดือดร้อน เนื่องจากไม่ได้รับค่าชดเชยที่เป็นธรรมกับความเสียหาย และอีกด้านหนึ่งเป็นการร้องอุทธรณ์โดยกรมชลประทาน ในทุกคดีเพื่อขอให้ศาลยกฟ้องหรือขอลดค่าชดเชยให้ต่ำลง เฉลี่ยตารางวาละ 50 บาท หรือต่ำกว่านั้นอีกโดยอ้างว่าชาวบ้านได้ยินยอมยกที่ดินให้ และโครงการพัฒนาลำพะเนียงเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ


 


นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 29 มี..2551 ที่ผ่านมา นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ได้ลงพื้นที่เพื่อดูสภาพลำพะเนียงภายหลังการขุดลอก พร้อมทั้งรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นกับชุมชนในพื้นที่ โดยนายจักรภพ ยอมรับว่า ลำพะเนียงมีปัญหาจากการพัฒนาตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะเนียงของกรมประทาน ที่ผ่านมากรมชลประทานดำเนินการโดยไม่สอบถามความคิดเห็นของชาวบ้าน ชาวบ้านไม่รับรู้และรับทราบข้อมูล และไม่มีการพูดถึงเรื่องค่าชดเชย ซึ่งปัญหาดังกล่าวตนยืนยันว่าจะต้องได้รับการแก้ไขแน่นอน 


 


นายวิเชียร ศรีจันทร์นนท์ แกนนำกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง กล่าวว่า ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาลำพะเนียงที่ผ่านมา เป็นบทเรียนของรัฐที่ดำเนินโครงการโดยขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน ชาวบ้านไม่ได้รับข้อมูลที่แท้จริงว่าการขุดขยายลำพะเนียงทำไปเพื่ออะไร จุดประสงค์ที่แท้จริงของโครงการก็ยังถูกปกปิดไว้


 


นอกจากนี้นายวิเชียร กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนไม่เชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะทำเพื่อชาวนาและเกิดประโยชน์กับเกษตรกรจริงอย่างที่โฆษณากัน อีกทั้งโครงการดังกล่าวเป็นเพียงการขายฝันให้กับชาวบ้าน ซึ่งจะสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นระหว่างชาวบ้านด้วยกันเอง คือระหว่างชาวบ้านที่มีนาอยู่ที่โคกและหลงเชื่อคำโฆษณาขายฝันของรัฐบาล กับชาวบ้านที่มีนาอยู่ติดลำน้ำโดยที่ผ่านมาต่างได้รับผลกระทบและความเสียหายอย่างมหาศาลจากการขุดขยายลำน้ำ ความขัดแย้งนี้จะนำไปสู่ความแตกแยกของชุมชน ซึ่งปัญหานี้เริ่มจะก่อตัวขึ้นแล้วในปัจจุบัน


 


...กรณีที่เกิดขึ้น จากเดิมจะเห็นว่าชุมชนที่อยู่ในเขตลุ่มลำพะเนียงต่างดำเนินวิถีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข สามารถพึ่งพาอาศัย"ลำพะเนียง"อย่างสมดุลภายใต้แนวคิดการจัดการน้ำที่คำนึงถึงความสำคัญของระบบนิเวศ และใช้ความแตกต่างของระบบนิเวศเป็นเครื่องมือในการจัดการ ดัดแปลงธรรมชาติให้น้อยที่สุด แต่สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น กล่าวได้ว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาก็คือนโยบายที่อ้างว่าเพื่อการพัฒนาของรัฐนั่นเอง.


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net