Skip to main content
sharethis





หมายเหตุ: บทความแปลชุด "สื่อในเอเซีย" แปลและเรียบเรียงโดย สุภัตรา ภูมิประภาส นี้เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการสื่อเพื่อบริบทสิทธิมนุษยชน ของเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน www.midnightuniv.org ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่หวังผลกำไร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาตัวอย่างและกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนจากประเทศชายขอบทั่วโลก มาเป็นตัวแบบในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อเผชิญกับปัญหาสิทธิมนุษยชน (สิทธิชุมชน) ในประเทศไทย


 


 


 


เสรีภาพสื่อกัมพูชา : เสรีภาพฉาบฉวย 1>


โดย อุม สาริน 2>


 


 


 


ประเทศกัมพูชามีกฎหมายที่ประกันเสรีภาพสื่อ  แต่ความเป็นจริงนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง  บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อเสรีภาพสื่อมักถูกอ้างอย่างย้อนแย้งในการจำกัดเสรีภาพนี้ว่า การใช้เสรีภาพนี้ต้องไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ต้องไม่กระทบต่อจารีตอันดีงามของสังคม  และต้องไม่ละเมิดกฎหมายมหาชน กฎระเบียบ และความมั่นคงแห่งรัฐ


 


ในประเทศกัมพูชา  การหมิ่นประมาทถือเป็นประเด็นอ่อนไหว และบรรดาผู้มีอิทธิพลทั้งหลายใช้คำนี้มาจัดการกับนักข่าวและฟ้องร้องดำเนินคดีในศาล  ตามประมวลกฎหมายอาญาของกัมพูชา  บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำการหมิ่นประมาทมีโทษจำคุกสูงสุดหนึ่งปี และโทษปรับ 10 ล้านเรียล (ประมาณ 2,600 เหรียญสหรัฐ)


 


ปี พ.ศ. 2549 นักข่าว 3 คนต้องโทษจำคุกระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2548 ถึงมกราคม พ.ศ. 2549 เพราะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลกรณีเกี่ยวกับการทำข้อตกลงชายแดนกับประเทศเวียดนาม  ภายหลังที่ได้รับการประกันตัวเมื่อวันที่ 18 มกราคม  นายกรัฐมนตรีฮุนเซ็นกล่าวว่านักข่าวทั้งสามคนยังคงต้องต่อสู้คดี  อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีได้ถอนฟ้องนักข่าวทั้งสามในเวลาต่อมาภายหลังที่พวกเขาขอโทษ


 


ความเคลื่อนไหวที่น่าประหลาดใจเกิดขึ้นเมื่อนายกรัฐมนตรีฮุนเซ็นประกาศต่อสาธารณชนในวันที่  14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ว่าจะสนับสนุนกิจกรรมใดๆที่เป็นเสรีภาพในการแสดงออกในกัมพูชา รวมถึงการยกเลิกโทษทางอาญาในคดีหมิ่นประมาท  นายกรัฐมนตรีฮุนเซ็นมีคำสั่งให้คณะนักกฎหมายเตรียมการร่างประมวลกฎหมายอาญาใหม่และเปลี่ยนโทษสำหรับคดีหมิ่นประมาทจากโทษอาญาเป็นโทษทางแพ่งซึ่งมีโทษปรับเท่านั้น  ท้ายสุด เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 สมาชิกรัฐสภากัมพูชาลงคะแนนเสียงให้ยกเลิกโทษจำคุกในคดีหมิ่นประมาท  อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์นานาชาติตั้งข้อสังเกตว่าการแก้ไขโทษหมิ่นประมาทดังกล่าวนี้ยังไม่เพียงพอ และยังมีช่องทางอีกมากมายที่จะมีการใช้วิธีสั่งให้มีการจ่ายค่าปรับจำนวนสูงเพื่อที่จะปิดปากสื่อ


 


ทั้งๆที่มีการเคลื่อนไหวที่ดูเหมือนว่าเป็นเชิงบวกที่ยกเลิกโทษอาญาในคดีหมิ่นประมาท รัฐบาลกัมพูชายังคงใช้อาวุธชนิดอื่นๆเพื่อคุกคามสื่อ คือกฎหมาย "ข้อมูลเท็จ" ที่สามารถลงโทษผู้เผยแพร่ข้อมูลด้วยโทษจำคุกระหว่าง 6 เดือน ถึง 3 ปี  หรือมีโทษปรับเป็นเงินหนึ่งล้านเรียล ถึง 10 ล้านเรียล (ประมาณ 250 - 2,500 เหรียญสหรัฐ)  หรือลงโทษทั้งจำและปรับ  นักข่าวที่ถูกฟ้องหมิ่นประมาทในคดีแพ่งยังคงต้องเผชิญกับการคุกคามนี้ถ้าพวกเขาไม่สามารถจ่ายค่าปรับจำนวนสูงนี้ได้


 


การยกเลิกโทษอาญาในคดีหมิ่นประมาทในกัมพูชาเมื่อปี พ.ศ. 2549 นั้นได้รับการแซ่สร้องสรรเสริญจากชุมชนนานาชาติ  แต่นั่นคือการฉาบหน้าครั้งใหญ่ของคดีหมื่นประมาทในกัมพูชา


 


รายงานประจำปีของกระทรวงข้อมูลข่าวสารระบุรายละเอียดว่า ในกัมพูชามีหนังสือพิมพ์จำนวน 341 ฉบับ  นิตยสาร 119 ฉบับ  วารสาร 30 ฉบับ  และสถานีวิทยุ 22 แห่ง  สื่อของกัมพูชามักจะถูกอธิบายว่ามีเสรีภาพมากที่สุดในภูมิภาค  เพราะการเติบโตเฟื่องฟูของสื่อสิ่งพิมพ์ และไม่มีการเซ็นเซอร์โดยหน่วยงานรัฐ  แต่ถ้าเรามองไกลออกไปจากปริมาณของหนังสือพิมพ์และนิตยสาร  


เราพบว่าสื่อทั้งหมดถูกควบคุมอย่างใกล้ชิดและมีความโน้มเอียงเข้าข้างพรรคการเมือง  สื่อเกือบทั้งหมดในกัมพูชามีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง โดยสื่อส่วนใหญ่จะเลือกอยู่ข้างพรรคประชาชนกัมพูชาของรัฐบาล (Cambodia"s People Party - CPP)  สถานการณ์ของแต่ละสื่อแตกต่างกันไป  โทรทัศน์ทั้งหมดถูกควบคุมโดยรัฐบาลหรือพรรคซีพีพีที่เป็นเจ้าของสถานี  สถานีวิทยุสองสามแห่งมีความสัมพันธ์กับพรรคฝ่ายค้าน  ขณะที่หนังสือพิมพ์ทุกฉบับทำตัวเป็นกระบอกเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ  ยกเว้นสื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นภาษาต่างประเทศ


 


นักข่าวกัมพูชาจำนวนมากมีความหวาดกลัวในความปลอดภัยของชีวิต  ในปี พ.ศ. 2550 จากการสำรวจโดยองค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศชื่อ LICADHO โดยการสัมภาษณ์นักข่าว 150 คน พบว่านักข่าวจำนวนร้อยละ 65 หวาดกลัวว่าจะถูกทำร้ายร่างกาย  นักข่าวจำนวนร้อยละ 62 หวาดกลัวว่าจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี  นักข่าวจำนวนมากกว่าร้อยละ 54 กล่าวว่าพวกเขาเคยถูกข่มขู่ว่าจะถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกฟ้องร้องดำเนินคดี


 


อย่างน้อยที่สุด นักข่าว 9 คน ทั้งหมดเป็นนักข่าวของหนังสือพิมพ์ถูกฆาตกรรม โดยเป็นที่เชื่อกันว่าเป็นผลมาจากการปฏิบัติงานของพวกเขานับตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2536 (1993)  ยังไม่มีฆาตกรคนใดในคดีเหล่านี้ถูกนำตัวมาดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรม  และนี่คือสาส์นที่มีพลังของการลอยนวลของผู้ที่มุ่งทำร้ายนักข่าวที่เป็นเป้าหมาย


 


ตามที่สมาคมเพื่อการคุ้มครองนักข่าวกัมพูชา (Cambodian Association for the Protection of Journalist) บันทึกไว้ในปี พ.ศ. 2550 การประทุษร้ายต่อนักข่าวนั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วงเมื่อเทียบกับกรณีที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2549  มี 15 เหตุการณ์ที่นักข่าวถูกข่มขู่  มีคดีฟ้องร้องดำเนินคดีนักข่าวจำนวน 9 คดี  มีการออกคำเตือนนักข่าว 3 กรณี  และมีนักข่าว 8 คนถูกจับกุม


 


หลังการยกเลิกโทษอาญาในคดีหมิ่นประมาทเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2549  ข้อกล่าวหาที่ถูกนำมาใช้มากที่สุดในการจัดการกับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อในกัมพูชา (ซึ่งโทษจำขังยังคงมีอยู่) คือ เรื่องการเผยแพร่ ข้อมูลเท็จ ภายใต้มาตรา 62 ของกฎหมาย UNTAC (United Nation Transitional Authority in Cambodia)  ภายใต้บทบัญญัตินี้ ระบุโทษต่อการกระทำของนักข่าวที่สื่อข้อความ "เท็จ, ปลอม, หลอกลวง หรือโดยไม่มีความจริงแก่บุคคลที่สาม" โดยกระทำไป "ด้วยเจตนาร้าย" และการกระทำนั้น "กระทบต่อความสงบสุขของสังคม"


 


 


 


 


 


.......................................


งานที่เกี่ยวข้อง


มองสื่อนอก: บทนำ ว่าด้วย "การหมิ่นประมาท: การสร้างเวทีระดับภูมิภาคเพื่อสนับสนุนเสรีภาพสื่อ"


มองสื่อนอก #1: บทเรียนการต่อสู้ของสภาการ นสพ.แห่งอินโดนีเซีย ว่าด้วยโทษหมิ่นประมาททางอาญากับสื่อ


มองสื่อนอก #2: สถานการณ์สื่อในอินโดนีเซีย: "แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ยาว?"


มองสื่อนอก #3: สื่อฟิลิปปินส์ กับ ความรุนแรงหลากชนิด


มองสื่อนอก #4: สื่อ กับกฎหมายหมิ่นประมาทในติมอร์ตะวันออก


มองสื่อนอก #5: เสรีภาพสื่อกัมพูชา : เสรีภาพฉาบฉวย


 


 


 


 


 


เชิงอรรถ


1> บทความนำเสนอที่การสัมมนานานาชาติ International Seminar on Defamation: Building a Regional Advocacy Platform ระหว่างวันที่ 9-10 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ที่เมืองจ็อกจาการ์ต้า (Yogyakarta) ประเทศอินโดนิเซีย


2> Um Sarin เป็นประธานสมาคมเพื่อปกป้องนักข่าวกัมพูชา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net