Skip to main content
sharethis

งานวิจัยโอนย้าย รพ.สต. ให้ อบจ. พบ 'สวัสดิการ-ความก้าวหน้า' ของบุคลากรอยู่ในระดับปานกลาง แนะควรทบทวนกฎระเบียบที่ไม่สามารถดำเนินการได้ เช่น การเบิกจ่ายต่าง ๆ เพื่อให้บุคลากรได้รับสิทธิประโยชน์ สวัสดิการและความก้าวหน้าไม่ต่ำกว่าเดิม อบจ. ควรสนับสนุนด้านความก้าวหน้าของบุคลากรในการเข้าสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น

ภายหลังมีการออก ประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่อง หลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 19 ต.ค. 2564 แล้วนั้น

Hfocus สื่อที่เกาะติดประเด็นสุขภาพ ได้เคยระบุไว้ว่าจากประกาศดังกล่าวเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงสาธารณสุข พบหลายคนเกิดการตั้งคำถามและมีข้อสงสัยในหลายประเด็น อย่างเช่น ท้องถิ่นขนาดเล็กอย่าง อบต. พร้อมแค่ไหนกับการดูแลประชาชนด้านสาธารณสุข  ถ้าหากตัดสินใจถ่ายโอนไปแล้ว มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง หรือมีข้อคำถามต่าง ๆ อีกมากมายที่ยังคงมีมาเรื่อย ๆ แต่สุดท้ายการถ่ายโอนก็ถูกดำเนินการตามขั้นตอนมาโดยตลอด ถึงแม้ว่าระหว่างทางอาจมีปัญหาเกิดขึ้นบ้างก็ตาม

จากข้อมูล สรุปภาพรวมถ่ายโอนภารกิจ สอน./รพสต. สู่ อปท. (ข้อมูล ณ 8 ก.พ. 2567) พบว่า รพ.สต.ทั้งหมด 9,872 แห่ง ถ่ายโอนแล้ว 4,274 แห่ง (43.29%) ในจำนวนนี้ ถ่ายโอนไป อบจ. 4,193 แห่ง (42.47%) ไม่ถ่ายโอน 5,598 แห่ง (56.71%) บุคลากรถ่ายโอนไป อบจ. 28,990 คน

เปิดงานวิจัย 'สิทธิประโยชน์ สวัสดิการ และความก้าวหน้าของบุคลากรโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาตำบลสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด' 

จากงานวิจัย 'สิทธิประโยชน์ สวัสดิการ และความก้าวหน้าของบุคลากรโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด' ที่ได้เก็บข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้แบบสอบถามออนไลน์ กลุ่มตัวอย่าง คือ บุคลากรของ รพ.สต. ที่ถ่ายโอนเลือกแบบแบบเจาะจงและสุ่มแบบแบ่งชั้นตามสัดส่วนของบุคลากร ได้จำนวน 430 คน เก็บข้อมูลเชิงคุณภาพจากผู้ให้ข้อมูลหลัก ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ ท้องถิ่นจังหวัดและผู้มีอำนาจในการบริหารทรัพยากรบุคคล ผู้ตรวจเขตสุขภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด นายกองค์การบริการส่วนจังหวัด ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและผู้ปฏิบัติงานใน รพ.สต. ที่ถ่ายโอน ผู้แทนจากภาคองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบข้อค้นพบที่สนใจดังนี้

พบ 'สวัสดิการ-ความก้าวหน้า' อยู่ในระดับปานกลาง

จากการศึกษาข้อมูลเชิงปริมาณในภาพรวม พบว่า ระดับความเหมาะสมของสิทธิประโยชน์ สวัสดิการและความก้าวหน้าของบุคลากรโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง สอดคล้องกับการศึกษาเชิงคุณภาพ ดังนี้ 

ในด้านสิทธิประโยชน์ การได้รับสิทธิประโยชน์ของบุคลากร โดยภาพรวมสิทธิประโยชน์ จัดให้ตามคู่มือแนวทางการดำเนินการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และ รพ.สต. แต่เรื่องงบประมาณ บางแห่งจ่ายช้าเนื่องจากไม่ได้ตั้งงบประมาณมาก่อน แต่ได้รับการแก้ไขแล้ว 

การประเมินผลการเลื่อนเงินเดือน ที่ผ่านมาการประเมินโดยกระทรวงสาธารณสุขใช้ผลงานตามตัวชี้วัด แต่การประเมินรอบที่ผ่านมา องค์การบริหารส่วนจังหวัดยังไม่ได้ดำเนินการวางแผนเรื่องการกำหนดตัวชี้วัดในการประเมินผลงาน ทำให้บุคลากรมีความรู้สึกว่าการประเมินไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ระเบียบการเบิกจ่ายเงินที่ไม่เอื้อทำให้ส่งผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์เรื่องค่าตอบแทน เช่น ค่าตอบแทนนอกเวลา 

นอกจากนี้ในด้านสวัสดิการ โดยภาพรวมบุคลากรได้รับสวัสดิการภายหลังการถ่ายโอนยังคงเหมือนเดิม ไม่มีความแตกต่างกันมาก ยกเว้นเรื่องเบี้ยกันดาร ส่วนเรื่องความก้าวหน้า แม้จะมีการสนับสนุนให้บุคลากรมีความก้าวหน้าในสายอาชีพตามขั้นตอนการวางแผนเส้นทางความก้าวหน้าในวิชาชีพ สนับสนุนให้บุคลากรที่มีคุณสมบัติได้ดำรงตำแหน่งชำนาญพิเศษ แต่บางสายงานไม่สามารถเติบโตได้ในงานของตนเอง เช่น ทันตาภิบาล ให้โอกาสในการอบรมสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขา รวมทั้งบุคลากรที่ถ่ายโอนยังได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 

และในประเด็นสวัสดิการและความก้าวหน้าของบุคลากร รพ.สต. สังกัด อบจ. นั้น จากการวิเคราะห์เอกสาร พบว่าไม่มีความแตกต่างของแนวทางการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนให้บุคลากรได้รับสิทธิประโยชน์ สวัสดิการและความก้าวหน้าดังเดิม 

แนะท้องถิ่นควรทบทวนกฎระเบียบที่ไม่สามารถดำเนินการได้

ในด้านปัญหา อุปสรรค ข้อเสนอแนะสิทธิประโยชน์ สวัสดิการและความก้าวหน้าของบุคลากร รพ.สต. สังกัด อบจ.พบว่า บางพื้นที่สามารถดำเนินการเรื่องสิทธิประโยชน์ได้ แต่ยังไม่ชัดเจนเรื่อง ระเบียบของพนักงานกระทรวงสาธารณสุขที่จะหมดสัญญา ปี 2568 ความก้าวหน้าของบุคลากรประเภทลูกจ้างและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) ที่ไม่มีช่องทางปรับเลื่อนระดับ 

สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายสิทธิประโยชน์ สวัสดิการและความก้าวหน้าของบุคลากร รพ.สต. สังกัด อบจ. ในงานศึกษาชิ้นนี้สรุปประเด็นดังนี้ 

(1) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ควรจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ใช้กระบวนสื่อสารให้กับบุคลากร สร้างความเข้าใจสิทธิประโยชน์เดิม เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีการดำเนินงานที่แตกต่างกัน รวมถึงเป็นแนวทางการดำเนินงานสำหรับพื้นที่ใหม่ที่กำลังจะถ่ายโอน 

(2) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ควรทบทวนกฎระเบียบที่ไม่สามารถดำเนินการได้ เช่น การเบิกจ่ายต่างๆ จากท้องถิ่น เพื่อให้บุคลากรได้รับสิทธิประโยชน์ สวัสดิการและความก้าวหน้าไม่ต่ำกว่าเดิม ระเบียบต่างๆ ที่เอื้อต่อการปฏิบัติงาน รวมทั้งระเบียบการจ้างงานพนักงานกระทรวง ลูกจ้างชั่วคราว รวมทั้งการจัดรูปแบบการจัดการบุคลากรตามขนาดและความแตกต่างของท้องถิ่นและทบทวนค่าตอบแทนสำหรับบุคลากรที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เฉพาะห่างไกลและทุรกันดาร กลไกและแนวทางการจ่ายค่าตอบแทนการปฏิบัติงานล่วงเวลาของเจ้าหน้าที่ได้รับค่าตอบแทนล่วงเวลา 

(3) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมแนวทางการจ้างบุคลากรทุกประเภทของ รพ.สต. ที่ถ่ายโอนให้แก่ อบจ. ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับภารกิจเพื่อให้สามารถขึ้นค่าตอบแทนให้แก่ลูกจ้างเงินบำรุงฯ ได้ ส่งผลเรื่องขวัญกำลังใจของบุคลากร 

(4) อบจ. ควรสนับสนุนด้านความก้าวหน้าของบุคลากรในการเข้าสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น เช่น ชำนาญการพิเศษ การเปลี่ยนสายงานและจัดทำคู่มือ/ขั้นตอน ระเบียบ/แนวปฏิบัติ โดยประกาศให้ทราบอย่างทั่วกัน 3.5 สถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุขหรือสถาบันการศึกษาอื่นๆ ควรดำเนินการเชิงรุกในการทำหนังสือบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (Memorandum of Understanding, MOU) กับ อบจ. เพื่อร่วมมือในการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพที่สอดรับกับการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ 4. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นควรเร่งรัดเรื่องโครงสร้างอัตรากำลังของ รพ.สต. รวมทั้งการบริหารอัตรากำลัง เพื่อให้รองรับและสอดคล้องกับความรับผิดชอบงานของ รพ.สต. ถ่ายโอนที่มีภารกิจมากขึ้น ตามบริบทสุขภาพพื้นที่

(5) คณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นในระดับพื้นที่ ดำเนินการจัดการเรื่องมาตรฐานกลางการบริหารงานบุคคล การปรับปรุงโครงสร้างและกรอบอัตรากำลัง หลักเกณฑ์ความก้าวหน้าในสายอาชีพ เงินค่าตอบแทน สวัสดิการ กำหนดโครงสร้างกรอบอัตรากำลัง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net