Skip to main content
sharethis

'กัณวีร์' แนะรัฐบาลไทย ทำตามกฎหมายมนุษยธรรม หากต้องรับทหารพม่าหนีทัพ และหากทหารพม่าไม่ประสงค์กลับประเทศต้นทาง ต้องไม่ผลักดันกลับ ชมนายกฯ มีนโยบายตั้งคณะทำงานรับมือ หวังสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง

 

11 เม.ย. 2567 ทีมสื่อพรรคเป็นธรรม รายงานวันนี้ (11 เม.ย.) กัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ลงพื้นที่ด่านพรมแดนแม่สอด 1 อ.แม่สอด จ.ตาก ติดตามสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา หลังมีปฏิบัติการยึดฐานทัพพม่ารอบเมืองเมียวดีของกองกำลังผสม 3 ฝ่าย ประกอบด้วย กองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) กองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) 

เมื่อช่วงเช้านี้ KNU ได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่าสามารถเข้าไปในค่ายทหาร 275 หรือค่ายผาซอง ได้แล้ว โดยที่มีรายงานด้วยว่าทหารพม่าได้มีการเคลื่อนย้ายออกจากฐานในเวลากลางคืน และมาอยู่สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 

รายงานล่าสุดมีการประสานขอให้ทหารเมียนมาที่หนีทัพจากการยึดกองพัน 275 โดยให้เปลี่ยนเป็นพลเรือนเข้ามาในไทยนั้น และทหารกลุ่มนี้อยู่ที่สะพานมิตรภาพไทยเมียนมา แห่งที่ 2 ฝั่งเมืองเมียวดีแล้ว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

กัณวีร์ กล่าวว่า กรณีเป็นทหารแตกทัพ แต่ยังไม่ถูกคุมตัวเป็นเชลย หนีการประหัตประหารมาขอความช่วยเหลือ รัฐบาลไทยในฐานะประเทศเป็นกลางสามารถให้ความช่วยเหลือได้ แต่ต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส ไม่สามารถอ้ำๆ อึ้งๆ ได้อีกต่อไป เราเป็นประเทศเป็นกลาง และยึดหลักมนุษยธรรมในการดูแล กฎหมายระหว่างประเทศที่ว่าด้วยมนุษยธรรมจะต้องบังคับใช้ทันที ผู้ที่ขอหนีตายเข้ามาในประเทศไทยจะต้องได้รับการดูแลตามหลักมนุษยธรรม เราสามารถส่งพวกเขากลับพื้นที่ต้นกำเนิดได้ แต่จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ หากจะให้เราช่วยเหลือเราจะต้องประสานงานกับเนปิดอให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้มีข้อครหาว่าไทยก้าวก่ายแทรกแซง หรือถูกกล่าวหาว่าไทยสนับสนุนทหารเมียนมา โดยการดูแลสนับสนุนด้านมนุษยธรรมจำเป็นต้องยึดหลักสี่ 1.ฮิวแมนนิตี้ ดูแลผู้ได้รับผลกระทบเป็นหลัก 2.ไม่เอนเอียง 3.เป็นกลาง และ 4.มีศักยภาพในการทำงาน

"ไทยจำเป็นต้องแจ้งเนปิดอให้รับทราบ หากทหารเมียนมามีความประสงค์จะเดินทางกลับ เราต้องช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมโดยไม่เลือกข้าง เพื่อให้ประเทศไทยมีความชัดเจนโปร่งใส เพื่อไม่ให้มีใครวิพากษ์วิจารณ์เราได้โดยเฉพาะเวทีต่างประเทศ ตามระเบียบปฏิบัติทหารเมียนมาต้องขอเข้ามาในฐานะพลเรือน ไม่มีอาวุธ ไม่มียูนิฟอร์ม และหากเนปิดอบอกว่าต้องส่งทหารกลุ่มนี้กลับ แต่ทหารไม่อยากกลับ ก็จะเข้าสู่กฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ตามหลักการถ้าเจ้าตัวไม่สมัครใจเดินทางกลับ ส่งกลับไปประเทศต้นกำเนิดแล้วถูกจำคุกหรือประหารชีวิต เราไม่สามารถส่งเขากลับไปเผชิญความตายได้" กัณวีร์ กล่าว

กัณวีร์ ย้ำว่า ตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ หรือ IHL มีระเบียบในการดูแลเชลยศึก กระบวนการดูแลเชลยในชเวโก๊กโก่ เป็นไปตามอนุสัญญาเจนีวา ในทางปฏิบัติการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานเกิดขึ้นอยู่แล้วในภาวะสงคราม รัฐบาลไทยควรจะมีคอนเน็กชัน และประเมินสถานการณ์อย่างครอบคลุม

ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานรับมือสถานการณ์เมียนมานั้น กัณวีร์ เชื่อว่าท่านคงมีข้อมูลในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว ชื่นชมว่านโยบายที่ออกมาเป็นนโยบายที่ดี เป็นกระบวนการที่ครอบคลุมมีการทำงานด้านมนุษยธรรม ความมั่นคง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดูแลทุกมิติ แต่เมื่อมีแนวนโยบายแล้วต้องนำสู่การปฏิบัติให้ได้ เพราะหากมีแค่แนวนโยบายและไม่มีแผนปฏิบัติก็ไร้ค่า จึงอยากเห็นแผนในการดูแลผู้ลี้ภัย แผนดูความสัมพันธ์ระหว่างกองกำลังที่มีการปะทะกัน แผนการพูดคุยกับทุกภาคส่วน เรื่องเหล่านี้จะต้องถูกกางบนโต๊ะคณะทำงานที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้นมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net