Skip to main content
sharethis

รายงานสัมภาษณ์ 3 นักรณรงค์การทำแท้งปลอดภัย ถึงเหตุผลที่ยังต้องรณรงค์แล้ว รณรงค์อยู่ และรณรงค์ต่อไปกับประเด็น ‘ความเชื่อเรื่องการทำแท้ง’ ผ่านนิทรรศการศิลปะ 'ผีเด็ก' ศาสนา บุญ บาป ฯลฯ

เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มทำทาง ภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนประเด็นยุติการตั้งครรภ์ปลอดภัย จัดงาน Bangkok Abortion ภายใต้ชื่อ ทำแท้งในที่สว่าง ที่ Kinjai contemporary กรุงเทพฯ เพื่อ ยืนยันว่าการทำแท้งเป็นสิทธิสุขภาพ พูดได้โดยไม่ต้องอายและช่วยกันพูดจนกว่าจะมีบริการที่ปลอดภัย และเป็นสิทธิ์ที่ผู้หญิงทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย เพราะการทำแท้งควรเป็นตัวเลือกและเป็นสวัสดิการของผู้หญิงทุกคนที่จะเลือกว่าพร้อมหรือไม่พร้อมที่จะตั้งครรภ์ หากไม่พร้อมตั้งครรภ์การทำแท้งที่ปลอดภัยยังคงเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกสำหรับผู้หญิง

ในงานทำแท้งในที่สว่างมีเสวนาประสบการณ์ทำแท้ง ร้านขายสินค้าเกี่ยวกับเพศ และกิจกรรมเวิร์คช็อปเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ และยังมีห้องนิทรรศการศิลปะ ‘ความเชื่อเรื่องทำแท้ง’ ที่สะท้อนถึงภาพสังคมต่อตัวอ่อนที่ถูกทำแท้งและผู้หญิงที่ทำแท้ง รวมทั้งคำสอน เรื่องเล่า และคำกล่าวของผู้นำศาสนาที่ยังคงมีอิทธิพลในการกำหนดคุณค่าว่าการทำแท้งเป็นสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับ ผ่าน 3 นักรณรงค์การทำแท้งปลอดภัยว่าทำไม ‘ความเชื่อเรื่องการทำแท้ง’ ยังเป็นเรื่องที่ต้องรณรงค์ต่อไป แม้จะถูกกฎหมายแล้วก็ตาม

การตีความในแต่ละคัมภีร์เรื่องการทำแท้ง

ไม่มีพื้นที่คนทำแท้งในศาสนา

“เราไม่ได้ปฏิเสธความเชื่อเรื่องศาสนาโดยสิ้นเชิง เราจะไม่บอกว่าผีเด็กไม่มีอยู่จริง เราให้พื้นที่กับคนที่เชื่อว่าเดี๋ยวลูกมาเกิดใหม่ คนที่เชื่อว่าผีเด็กมีจริง สบายใจแบบนั้นก็ไม่เป็นไร แต่อย่างน้อยคนที่จะกำหนดว่าผีเด็กคืออะไร ความเชื่อทางศาสนามีที่ทางอย่างไรต่อการทำแท้ง ขอให้ขึ้นอยู่กับเจ้าของเหตุการณ์เป็นคนคิด-คนเลือกที่จะเชื่อ ไม่ใช่ศาสนาหรือคนอื่นๆ ในศาสนานั้นๆ” เนี้ยบ ชนฐิตา ไกรศรีกุล หนึ่งในสมาชิกกลุ่มทำทางกล่าว พร้อมอธิบายว่าการที่ศาสนาตีความให้การทำแท้งเป็นโทษที่ร้ายแรงโดยที่ไม่ได้เข้าใจประสบการณ์ ไม่ได้เข้าใจชีวิตและความพร้อมของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม เป็นการทำให้คนทำแท้งในศาสนานั้นๆ รู้สึกว่าตัวเองไม่ถูกต้อนรับหรือไม่เป็นที่ยอมรับในศาสนาที่ตนเองนับถือ

“ถูกปฏิเสธบริการทำแท้ง แม้กฎหมายจะผ่านแล้ว แต่บุคลากรทางการแพทย์ก็ยังเชื่อว่าการทำแท้งเป็นเรื่องผิด สามารถส่งผลกรรมมาถึงตัวเขาด้วย แม้ในกฎหมายอนุญาตให้ทำได้แล้วก็ตาม”

เนี้ยบอธิบายว่าการเข้าถึงบริการทำแท้งถูกกฎหมายแล้วก็ตาม แต่คัมภีร์ในแต่ละศาสนาตีความให้การทำแท้งเป็นเรื่องที่ผิดไม่เพียงส่งผลกระทบด้านจิตใจต่อผู้ทำแท้งเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้ผู้ท้องไม่พร้อมมีความเสี่ยงถูกปฏิเสธบริการจากสถานพยาบาลด้วย เห็นได้จากมีผู้ที่ต้องการได้รับบริการทำแท้งถูกกฎหมายในโรงพยาบาลของรัฐหลายแห่งถูกปฏิเสธการทำแท้งเพราะเจ้าหน้าอย่าง หมอ พยาบาล ก็ยังคงมีความคิดความเชื่อตามหลักศาสนา ว่าตนอาจเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำผิดศีลธรรม และตัดสินใจไม่ให้บริการอย่างเด็ดขาด แม้ว่าทำแท้งจะถูกกฎหมายแล้วก็ตาม

“ศาสนาตีความการทำแท้งให้เป็นความผิดร้ายแรง ส่งผลให้ผู้หญิงเข้าถึงบริการการทำแท้งถูกกฎหมายได้ยากและทำให้ตัวเลือกในการตัดสินใจของชีวิตผู้หญิงที่ไม่พร้อมที่จะตั้งครรภ์ถูกลิดรอนสิทธิ์ตัดสินใจออกไป”

ภาพบรรยากาศเตรียมงานห้องความเชื่อเรื่องการทำแท้ง และโซนคุยเรื่อง ‘ผีเด็ก’

“ศาสนาและศีลธรรมที่กำหนดว่าการทำแท้งเป็นเรื่องผิด กระทบให้คนไม่กล้าใช้สิทธิในการตัดสินใจบนเนื้อตัวร่างกายของตัวเองว่าพร้อมหรือไม่พร้อมที่จะมีลูก เพราะหากคุณเลือกที่จะทำแท้งคุณก็จะเป็นคนบาป ในทางศาสนาคัมภีร์ต่างๆ ในตีความให้การทำแท้งกลายเป็นความผิดโดยไม่ได้เข้าใจบริบทหรือสถานการณ์ที่ผู้หญิงต้องเจอว่าอะไรทำให้เขาต้องตัดสินใจทำแท้ง” เนี้ยบ กล่าว พร้อมอธิบายว่าการที่ศาสนามองว่าการทำแท้งกลายเป็นเรื่องความผิดที่ร้ายแรงเพราะเป็นการ ”ฆ่าชีวิตคน” ทำให้หลายคนตัดสินใจทำแท้งต้องรู้สึกผิดกับการตัดสินใจ ทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิ์บนเนื้อตัวร่างกายของผู้ตั้งครรภ์ไม่พร้อมได้อย่างอิสระ  โดยเราจะเห็นตัวอย่างได้จากตามวัดหลายแห่งที่มีการซื้อของใช้เด็กมาประกอบพิธีกรรม เพื่อชดใช้บาปจากการทำแท้ง 

“มันเลยเกิดเป็นพุทธพาณิชย์ที่ทำให้รู้สึกผิดไปตลอดชีวิตและวนเวียนจ่ายเงินให้วัดไปจนกว่าจะหายรู้สึกผิด”

เนี้ยบอธิบายว่าในหลายกรณีที่ศาสนาได้เข้ามาตัดสินตีความคัมภีร์ต่างๆว่าการทำแท้งเป็นเรื่องที่ผิดต้องชดใช้ เพราะเป็นการฆ่าอีกหนึ่งชีวิต และยิ่งในฐานะที่เป็นผู้หญิงในสังคมศีลธรรมผู้หญิงได้ถูกกำหนดให้ต้องเป็นแม่ เป็นภรรยา การทำแท้งจึงยิ่งเป็นสิ่งที่มีความผิดมากขึ้นไปอีก เลยเกิดเป็นพิธีกรรมให้ผู้หญิงต้องรู้สึกผิดและวนเวียนทำบุญหรือพิธีกรรมทางศาสนาเรื่อยๆความรู้สึกเศร้า ความรู้สึกผิดบาป ไม่หายไปจากใจพวกเขา แต่ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้ผู้หญิงทำแท้งรู้สึกผิด เป็นการหาผลประโยชน์ผ่านความรู้สึกผิดของผู้หญิงทำแท้งของศาสนา ไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้หญิงที่ทำพิธีกรรมเหล่านี้เพราะความทุกข์ของเธอยังอยู่แต่ศาสนาเองกลับได้เงินจากพิธีกรรมเช่นนี้ไปเรื่อยๆ

ภาพอธิบายความเชื่อและการทำแท้งของกลุ่มทำทาง

การขายเรื่องเล่าผีเด็กและเรตติ้ง

“ไปออกรายการและบันทึกสิ่งนั้นลงในโลกออนไลน์เปิดวนไปวนมาผู้หญิงคนนั้นต้องรู้สึกผิดไปอีกกี่ครั้ง”

เนี้ยบเล่าว่าผู้หญิงเป็นเหยื่อบนเรื่องเล่าที่สามารถหาผลประโยชน์ผ่านความผิดศีลธรรม บาปทางศาสนา เป็นคนบาปในชั่วชีวิต เรื่องเล่าการทำแท้งของผู้หญิงจึงถูกทำให้กลายเป็นหนึ่งในเรื่องที่น่ากลัวและเป็น “บาปที่ต้องชดใช้ไปตลอดชีวิต” ผู้หญิงถูกทำให้ต้องจมอยู่กับความรู้สึกเช่นนั้น แต่รายการที่นำเรื่องนี้ไปเล่าและถูกบันทึกลงในโลกออนไลน์ซึ่งจะถูกเล่าอีกนับครั้งไม่ถ้วน และผู้หญิงเหล่านั้นได้อะไรกลับมา นอกจากความรู้สึกผิดบาป ส่วนรายการที่นำไปเล่าก็ได้รับรายได้เรตติ้งจากยอดผู้ชม ซึ่งแน่นอนว่าศาสนาก็ยังคงเกี่ยวข้องในการครอบงำไม่ให้ผู้หญิงได้มีสิทธิ์ที่จะทำแท้งโดยไม่รู้สึกผิดได้

หากศาสนาเป็นพื้นที่อุ้มหัวใจของผู้หญิงได้

“เรารู้สึกว่าวันนึงเมื่อสุขภาพของเราพร้อมร่างกายเราแข็งแรงดีเราเชื่อว่าลูกของเรายังอยู่กับเราอยู่รอบตัวเรา” ตุ๊กตา นิศารัตน์ จงวิศาล หนึ่งในสมาชิกกลุ่มทำทางที่ร่วมรณรงค์การทำแท้งปลอดมาตลอดหลายปี กล่าว

ตุ๊กตาศาลเจ้าผีเด็กที่ออกแบบโดย ตุ๊กตา  จากความเชื่อของคนจีน โดยพื้นเพเธอมีความเชื่อเรื่องการไหว้ศาลเทพเจ้าจีน จึงเป็นส่วนหนึ่งทำให้ออกแบบงานศิลปะชิ้นนี้ให้มีเทพองค์เล็กๆเป็นเทพเจ้าองค์ประธาน และบริวารเป็นรูปตัวใหญ่กว่า คอยดูแลเทพอีกที ตามรูปแบบศาลเจ้าจีน

“ถ้าศาสนาโอบอุ้มคนทำแท้ง มีพื้นที่ในศาสนาและทำแท้งได้ มันไม่เป็นไร ปลอบประโลมจิตใจคนได้" ตุ๊กตา กล่าว

ตุ๊กตา อธิบายผลงานศิลปะ Interactive art  โดยเธอให้ความหมายว่า “เป็นงานศิลปะที่สามารถจับเล่น สัมผัสได้ มีส่วนร่วมได้” ผู้เข้าร่วมจะตีความผ่านการที่ได้มามองลองสัมผัส จับตุ๊กตาเทพบริวาร เป็นทารกส่งเสียงได้ กดได้จริง และอาร์ตทอยของพี่แว่น เจ้าของร้าน ทิพย์ดีไซน์ คอลเลคชั่นเกี่ยวกับเด็ก ก็ได้นำมาใช้จัดแสดงเป็นตุ๊กตาผีน้อยที่มาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใหม่แทน เธอเชื่อว่าผีเด็กของเธอยังรออยู่และจะกลับมาเกิดอีกครั้งในวันที่เธอพร้อม และเธอมองว่านี่เป็นศิลปะที่แล้วแต่คนจะใช้ความรู้สึกสัมผัสและตีความกับมัน ลองจับดูได้ ผู้เข้าร่วมสามารถใช้เวลาประสบการณ์กับงานชิ้นนี้ได้ว่า ‘ผีเด็ก’ เป็นอย่างไรในความรู้สึกของพวกเขา

“ ในรายการต่างๆเขามักจะพูดถึงการทำแท้งว่าจะต้องมีผีเด็กเกาะติดทำร้ายเราหรือทำให้เราต้อง

ชดใช้เขาที่เราทำแท้ง อยากให้เขาลองตีความดูว่าน่า ‘ผีเด็ก’ น่ากลัวแบบที่รายการพวกแบบนั้นพูดไหม” ตุ๊กตาอธิบายเสริมว่างานชิ้นนี้เปิดให้ผู้เข้าชมใช้เวลากับประสบการณ์ ซึ่งแล้วแต่คนจะตีความเป็น ‘ผีเด็ก’ แบบที่ผู้เข้าชมกำหนดตามที่รู้สึกกับผลงาน 

“ในอนาคตอาจจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงทำแท้งที่จะพูดคุยกับตุ๊กตาที่เป็น ‘ผีเด็กในแบบที่เราเชื่อ’ อาจจะเป็นพื้นที่ที่ทำให้เขาสบายใจ อบอุ่นจิตใจเขา เป็นอีกหนึ่งความเชื่อที่พึ่งพาทางใจได้หรือเปล่า ก็ขอให้งานนี้เป็นการทดลองดู” ตุ๊กตาอธิบาย

“เชื่อว่ามีหลายคนที่ยังรู้สึกได้ว่าวันหนึ่งลูกของเราจะกลับมาเกิดและศาลที่พี่ทำอาจจะช่วยให้เขาสบายใจและเชื่อมโยงตัวเองกับการคิดถึงลูกได้ โดยที่ไม่ต้องรู้สึกสงสารการจากไปของลูก อนาคตอาจจะมีศาลเจ้าแบบนี้กระจายอยู่ทั่วประเทศก็ได้ไม่รู้ เพื่อให้เราสบายใจว่าเมื่อพร้อมเขาจะกลับมาอยู่กับเรา” ตุ๊กตากล่าวทิ้งท้าย

“เราไม่ได้บอกว่าศาสนางมงาย แต่ศาสนาควรเป็นพื้นที่เชิงบวก โอบอุ้มจิตใจเขา และจะเชื่ออะไรก็ไม่เป็นไร แต่โปรดเคารพการตัดสินใจของผู้หญิงในการทำแท้ง” เนี้ยบ กล่าว และอธิบายเพิ่มว่า ความเชื่อเป็นเสรีภาพของทุกคนว่าจะเชื่อแบบไหนก็ได้ แต่ความเชื่อต้องไม่เบียดบังสิทธิ์มนุษยชน และเคารพการตัดสินด้วย

จะบุญหรือบาปโยมก็พิจารณาเถิด

หลวงพี่ชาย วรธรรมโม (นามสมมติ) พระสงฆ์ที่เข้าร่วมงานนี้และสนับสนุนสิทธิ์การทำแท้งของผู้หญิง

“คือการจะเกิดเป็นหนึ่งชีวิต และเลี้ยงเขา มันไม่ใช่แค่ 9 เดือน มันคือตลอดชีวิต โยมก็พิจารณาดูว่าพร้อมหรือไม่ หากไม่พร้อมแล้วฝืนไปมันจะดีต่อลูกจริงๆหรือ”

หลวงพี่ชาย กล่าวว่าการที่จะมีลูกต้องอาศัยความพร้อมหลายอย่าง ทั้งระยะเวลาในการตั้งท้องเก้าเดือน หลังจากคลอด ต้องลางานเพื่อออกมาดูแลลูก ให้นมบุตร และยังต้องอาศัยทั้งเวลาให้ความอบอุ่น ความพร้อมของใจและความรู้ทางปัญญาในการเลี้ยงดู ความมั่นคงในอาชีพ ความสัมพันธ์ เพื่อเลี้ยงดูเขาจนเขาเติบใหญ่และสามารถออกไปใช้ชีวิตได้ ดังนั้นจึงไม่ใช่แค่เก้าเดือนที่จะพิจารณาว่าเราต้องรับผิดชอบ แต่มันคือตลอดชีวิตของเด็กคนหนึ่ง

“การท้องเกิดเป็นหนึ่งชีวิตมันไม่ได้อาศัยแค่ผู้หญิง มันมีผู้ชายด้วยเรื่องนี้ เราก็ต้องพิจารณา” หลวงพี่ชาย กล่าวและอธิบายว่าการที่ผู้หญิงตั้งครรภ์ไม่ได้อาศัยแค่ผู้หญิงฝ่ายเดียว แต่มีผู้ชายในการทำปฏิสนธิข้างในผู้หญิงและเกิดเป็นการตั้งครรภ์ขึ้นมา ดังนั้นเราต้องพิจารณาดูความสัมพันธ์ระหว่างเราและผู้ชายว่าเราพร้อมที่จะร่วมกันใช้ชีวิตดูแลเด็กคนนี้ไปตลอดเส้นทางนี้ด้วยกันหรือไม่ 

หากมันไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่ดีหรือไม่ใช่ความตั้งใจก็ไม่ใช่ความผิดของผู้หญิงและจริงๆผู้ชายจะต้องมีบทบาทในการร่วมรับผิดชอบด้วย

“หากโยมฝืนเลี้ยงเขาแล้วเขาไม่ได้รับการดูแลที่ควรจะดีตามที่มันควรจะเป็น เพราะโยมไม่พร้อม โยมจะรู้สึกผิดหรือไม่ ระหว่างกับการทำแท้งแล้วรอในตอนที่โยมพร้อมแล้วค่อยมีเขา อันไหนทำให้โยมสบายใจกว่ากัน”

หลวงพี่ชายอธิบายว่าการที่ตัดสินใจแล้วไม่สบายใจเพราะสังคมกดให้ผู้หญิงทำแท้งเป็นบาปนั้นไม่ใช่เส้นทางที่ถูกต้องศาสนา ศาสนาควรต้องทำให้ผู้คนรู้สึกสบายใจและเคารพการตัดสินใจของตนเอง

“จะบุญจะบาปมันอยู่ที่การตัดสินใจของโยม มันจึงขึ้นอยู่กับความสบายใจของตัวโยมนั่นเอง” หลวงพี่ชายกล่าว

ทำไมศาสนาจึงตีความให้ทำแท้งแล้วบาป

“ส่วนตัวผมคิดว่าเราไม่ได้ใช้ปัญญาในการศึกษาธรรมะ ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับพระธรรมคำสอนของศาสนาว่าแท้จริงแล้วบุญ บาป มันคืออะไรแต่เอามาใช้อย่างตื้นเขินเกินไปมากกว่า” หลวงพี่ชายกล่าว และอธิบายว่าในทางศาสนาพุทธในไทยเองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการศึกษาพระไตรปิฎกและพระธรรมคำสอนอย่างลึกซึ้งไปมากกว่าแค่ทำความเข้าใจเพียงมิติเดียวของพระธรรมคำสอนไม่กี่ข้อ หลวงพี่ชายยกตัวอย่างว่า การทำแท้งเป็นเรื่องที่ผิดบาปเพราะผิดศีล5 ข้อที่1 ‘การคร่าชีวิต’

ซึ่งศาสนาพุทธในไทยมองการทำแท้งเพียงมิติเดียว คือทำแท้งเป็นการคร่าชีวิตไป 1 ชีวิต 

โดยไม่ได้เข้าใจบริบทของผู้หญิงว่าเขาพร้อมหรือไม่พร้อม หรือไม่ได้รับฟังสถานการณ์ที่เขาต้องไปเจอมาที่ทำให้เขาต้องตัดสินใจทำแท้ง “เราไม่ได้ใช้หลักธรรมในการช่วยให้ผู้ที่ศรัทธาในศาสนาได้พิจารณาการตัดสินใจของตัวเองมากพอ พื้นที่ศาสนาส่วนมากจึงไม่เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้หญิงทำแท้ง”

หลวงพี่ชายให้ความเห็นว่าศาสนาควรเป็นพื้นที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงความสบายใจ เคารพการตัดสินใจของตนเองและผู้อื่น แต่เครื่องมือทางศาสนาสามารถช่วยโอบอุ้มหัวใจ ทำให้เขาสบายใจกับการตัดสินใจ และมีชีวิตการต่อไปข้างหน้าได้ 

“การให้เขาได้ใช้ สติ สมาธิ ปัญญา พิจารณาสิ่งที่เขากำลังเผชิญอยู่ เช่น ความพร้อมในการเลี้ยงดูลูก เขาพร้อมหรือไม่ เขาเจออะไรมา หากเขาไม่พร้อมเราควรช่วยให้เขาเข้าถึงตัวเอง เข้าใจตัวเองว่าต้องการตัดสินใจแบบใด โดยที่เราไม่ต้องเข้าไปแทรกแซงความคิดเขา ทุกคนมีปัญญาในการเคารพความต้องการและตัดสินใจด้วยตัวเองได้” หลวงพี่ชาย กล่าว และเล่าถึงคำว่า บุญ บาป ว่าอาจเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันใหม่ในสังคมพุทธศาสนาเพื่อไม่ให้เกิดการลิดรอนสิทธิ์และการกดทับต่อประชาชนทั้งเรื่องการทำแท้งและเรื่องอื่นๆ เช่นกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net