Skip to main content
sharethis

รายงานสัมภาษณ์พูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ ชาวสวนทุเรียนที่ต้องเผชิญหน้ากับช้างอยู่บ่อยครั้ง อาสาสมัคร เจ้าหน้าที่และภาคประชาสังคมที่ลุกขึ้นมาจัดการ นำเสนอปัญหาช้างบริเวณป่าภาคตะวันออกรวมทั้งเรียกร้องไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

“แต่เดิมเราก็ปลูกนาปลูกฝรั่งแต่พอมีช้างมามันก็กินหมดช้างชอบทางเดินเรียบเรียบอะไรที่มันเกะกะช้างก็ถอนทั้งหมดเช่นต้นไม้ที่เราปลูกก็เลยต้องเลิกปลูกไปหลายอย่าง” ศิริพรเล่าก่อนพาเข้าสวน

ศิริพร วายร้อน เกษตรกรในตำบลกองดิน อำเภอแกลง จังหวัดระยองปลูกทุเรียนและทำยางพารา โดยวันนี้จะพาเราไปซ่อมท่อและดูเส้นทางการเดินของช้าง

ข่าวเกี่ยวกับช้างบริเวณป่าภาคตะวันออกโดยเฉพาะเขาอ่างฤาไนช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา

  • 28 ธ.ค.66 : ระทึก! ช้างป่าพุ่งชนรถคนเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนา เจ็บสาหัส, PPTV Online 
  • 26 ธ.ค.66 : ช้างป่าอ่างฤาไน 4 ตัว เข้าสวนชาวบ้านกลางดึก จ.ปราจีนบุรี, 77 ข่าวเด็ด 
  • 21 ธ.ค. 66 :  อดีต ส.อบต. วอน รบ.จัดการปัญหา ช้างเขาอ่างฤาไน เผยนาทีเผชิญหน้า ก่อนหนีเข้าป่าอ้อย, มติชนออนไลน์ 
  • 21 ธ.ค. 66 : ช้างป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนพุ่งชนจิตอาสาบาดเจ็บกลางดึก, อัมรินทร์ทีวี 
  • 10 ธ.ค. 66 : โขลงช้างป่า บุกไร่อ้อย จ.ปราจีนบุรี, ช่อง 7 
  • 6 ธ.ค. 66 : ช้างป่าสีดอ บุกเข้าโรงเรียนที่อยู่ใกล้บริเวณสถานกักกันช้างป่า เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าอ่างฤาไน, ช่อง 7 
  • 16 ธ.ค. 66 : ช้างป่าเขาอ่างฤาไน วิ่งไล่ทำร้ายลุงเฉียดตาย จ.ปราจีนบุรี, ช่อง 7 
  • 5 ธ.ค.66 : โขลงช้างป่าเขาอ่างฤาไน บุกกินพืชไร่ชาวบ้าน, สำนักข่าวไทย 
  • 11 พ.ย.66 : ช้างป่าคลั่งเตะลุงกรีดยางซี่โครงหักสาหัส แตกโขลงจากเขาอ่างฤาไนมาไกลถึงทับลาน, มติชนออนไลน์ 
  • 1 พ.ย. 66 : ช้างป่ากระทืบ 2 ศพ ชาวบ้าน-เจ้าหน้าที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ-เขาอ่างฤาไน, ไทยรัฐออนไลน์

ภาพชุติพงศ์ พิภพภิญโญ ส.ส.ระยอง พรรคก้าวไกล อภิปราย รายงานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติในวาระเรื่อง ช้างป่าตะวันออก โดยตั้งคำถามถึงปัญหาของมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด และมูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยชี้ประเด็นปัญหาผลกระทบชีวิตชาวภาคตะวันออก สะท้อนปัญหาความขัดแย้งระหว่างสัตว์ป่ากับคนและชุมชน เมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งภายหลังคำอภิปรายปรากฏแฮชแท็ค #ใต้เงาช้าง ติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ ยอด 38k โพสต์ด้วย (อ่านเพิ่มเติมที่ประชาไท)

จากทั้งประเด็นข่าวที่ยังคงเกิดขึ้นในโอกาสนี้จึงขอชวนไปพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ อาสาสมัคร เจ้าหน้าที่และภาคประชาสังคมที่ลุกขึ้นมาจัดการ นำเสนอปัญหารวมทั้งเรียกร้องไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

ท่อแตก

ศิริพร วายร้อนกับพี่ชายของเขาเล่าว่ากำลังซ่อมท่อสำหรับรถน้ำต้นทุเรียนในสวน ทุเรียนเป็นผลไม้ชื่อดังประจำจังหวัดระยองและต้องดูแลตลอดปีทำให้ต้องมีการรดน้ำและงดให้น้ำเพื่อให้ทุเรียนติดดอกออกผลในช่วงหน้าร้อน

“ท่อที่ขุดไว้ก็ขุดไว้ก็ลึก แต่ช้างก็ลงมาเดินในสวนแล้วก็เหยียบท่อแตกเป็นอย่างนี้ทุกปี เป็นหลายจุด ก็ซ่อมไปเรื่อยๆ” ศิริพรกล่าว

เธออธิบายว่าทุเรียนนอกจากต้องดูแลตลอดปี ทุเรียนก็เป็นของโปรดของช้างเพราะช้างจะใช้วิธีดันต้นหรือหักกิ่งเพื่อกินทุเรียนจากต้น ทำให้ต้องคอยลุ้นว่าแต่ละปีจะมีทุเรียนเหลือรอดจากช้างเท่าไร

ภาพท่อที่แตกและขุดขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนท่อตัวใหม่

พวงมณีพันธ์พันธุ์นี้อร่อย

“อย่างที่เห็นกิ่งทุเรียนอันนี้นอนอยู่ ช้างก็ใช้วิธีการดันให้ต้นล้ม ทุเรียนต้นนี้ก็ล้มไปก็ไม่มีรายได้จากทุเรียนต้นนี้” ศิริพรอธิบายว่าทุเรียนต้องใช้เวลาปลูกหนึ่งถึงหกปีจึงจะออกผลแต่เมื่อออกผลแล้วก็โดนช้างดันให้ต้นล้มทำให้ไม่สามารถมั่นใจกับทุเรียนของตัวเองได้ว่าในหนึ่งปีจะเหลือรอดไปขายช่วงหน้าร้อนกี่กิโลกรัม

ภาพต้นทุเรียนพวงมณีถูกล้มโดยช้าง ซึ่งเป็นเป็นอีกสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค

“เราก็ปลูกหมากด้วยแต่หมากบ้างต้นมันก็ถูกถอนออกไปโดยช้าง เขาก็ดันๆให้ล้มเพราะว่ามันเกะกะทางเดินเขา เพราะช้างเขามีขา เขาจะเดินไปไหนก็ได้ เดินไปทั่ว เดินอยู่รอบบ้านรอบสวนเรานี่ล่ะ”

ศิริพรเล่าว่าต้นหมากหนึ่งต้นออกลูกประมาณ 100 ลูกต่อครั้ง ซึ่งเธอสามารถเก็บไปขายได้อย่างน้อยลูกละ 1 บาทและหมากออกตลอดปี ก็เป็นรายได้อย่างหนึ่งที่สามารถหาได้ตลอดปี แต่บางต้นก็จะถูกช้างดันให้ล้มและไม่สามารถคาดคะเนได้ว่าวันไหนช้างจะล้มต้นไม้ต้นไหนในสวนหรือต้นไม้รอบบ้านของเธอได้

ภาพต้นไม้ที่ถูกล้มโดยช้างลมทั้งต้นและรากของต้นไม้ก็ถูกยกขึ้นมาด้วย

“อย่าคิดว่าช้างกินเป็นแค่ทุเรียน เงาะ สับปะรด ช้างกินได้ทุกอย่าง เปลือกไม้ต้นยางพาราช้างก็ลอกเปลือกออกไป ทีนี้ต้นไหนโดนลอกเปลือก เราก็กรีดยางไปขายไม่ได้” ศิริพร กล่าว และเล่าว่านอกจากจะปลูกทุเรียนแล้ว ยังทำสวนยางพาราแต่ก็ไม่สามารถกรีดอย่างได้ตามจำนวนต้นยางพาราที่ลงทุนไว้ได้ เพราะช้างลอกเปลือกต้นออกทำให้กรีดต้นยางไม่ได้หรือบางครั้งหากช้างลอกเยอะมากเกินไปก็จะลอกไปถึงแกนต้นแล้วต้นก็จะยืนต้นตาย 

“ช้างจะออกหากินช่วงกลางคืนถึงช่วงหัวเช้าซึ่งตรงกับเวลาที่เราต้องออกไปกรีดยาง ก็ต้องพาคนไปด้วย ต้องคอยช่วยกันดูว่าระหว่างที่เรากรีดมีช้างอยู่ใกล้ไหม ถ้ามีต้องรีบถอย วันนั้นยางได้แค่ไหนก็แค่นั้นอย่าไปอยู่ใกล้กับช้าง”

ต่อให้มีมาตรการในการประกันรายได้ยางพาราแต่ก็ไม่สามารถช่วยให้การกรีดยางของเกษตรกรรอบบริเวณเขาชะเมาให้สามารถมีรายได้ที่เสมอต้นเสมอปลายได้ เพราะหากออกไปกรีดยางแล้วเจอช้างก็ต้องหยุดแล้วกลับบ้านทันทีเพราะอาจเกิดอันตรายจากช้างได้

ภาพเปลือกยางพาราที่ถูกหลอกออกจากต้นยางพารา

ที่นาเก่า

“ที่เราเห็นอยู่เป็นหญ้ารกๆ แต่ก่อนเป็นที่นาเก่า สมัยก่อนเราก็ทำนากันตรงนี้เพราะว่าตรงนี้เราก็ขุดบ่อน้ำไว้ผันน้ำเข้านา มีคูคลองรอบๆ เป็นที่ที่มีน้ำแล้วก็เหมาะกับการทำนามาก แต่ที่เห็นเป็นหลุมก็คือช้างเขาทำทางเดินไว้ให้เดี๋ยวเราก็จะเดินได้อยู่ในทางที่เขาทำไว้ให้เราเดิน”

ศิริพรอธิบายว่าแต่ก่อนบริเวณที่ดินรอบบ้านของเธอไม่ได้มีช้างแต่เพิ่งมามีช้างในภายหลัง ประมาณปี 2540-2547 ซึ่งช้างก็ชอบที่ดินของศิริพรเพราะว่าเป็นที่ที่มีน้ำมีโคลน เพราะเป็นที่ปลูกนา มีข้าวให้กิน จึงต้องเลิกทำนาและปล่อยให้ช้างพักผ่อนอยู่ในที่นาของตัวเองเพราะไม่สามารถทำอะไรช้างได้

รอยเท้าช้างในที่นาเก่าของศิริพร

“เราก็ไม่ต้องถางทาง เพราะช้างถางทางให้เราเดินแล้ว เราก็ได้แค่เดินเข้ามาดูที่ของเรา ทำอะไรไม่ได้แล้ว เต็มที่เราก็ปลูกบัวเพราะว่าปลูกบัวในคลองช้างเด็ดช้างดึงอย่างไรบัวมันก็ไม่ตาย ก็ได้แค่เก็บบัวไปขายในวันพระ ส่วนที่นาก็ปล่อยไปทำอะไรไม่ได้ช้างกินหมด”

ศิริพรเล่าว่าที่นาเก่าที่ช้างเข้ามาพักผ่อนมีประมาณ 20 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินเกษตรกรรมแต่ไม่สามารถทำนาหรือปลูกพืชพันธ์ุเกษตรกรรมอื่นได้เพราะช้างได้ยึดไว้แล้ว

ดอกบัวในคูน้ำในที่นาเก่าของศิริพร

ภาพทางเดินในที่นาเก่าของศิริพรที่ถูกถางโดยช้าง

“ช้างเขาชอบทางเดินเรียบๆ ไม่ให้มีอะไรมาขวางทางอันไหนที่ช้างรู้สึกว่ามันเกะกะเขาก็ถอนออกหมด” ศิริพรกล่าว

ภาพบ่อน้ำที่อดีตใช้เก็บน้ำเพื่อผันน้ำเข้านาแต่ปัจจุบันช้างใช้เล่นน้ำแทนด้านหลังของบ่อน้ำเป็นป่าที่ครอบครัวของศิริพรดูแลไว้และช้างเข้าไปอยู่อาศัย

“ตรงนี้คือบ่อน้ำที่แต่ก่อนเราใช้ผันน้ำเข้านา ด้านหลังก็จะเป็นป่าที่ครอบครัวเราปล่อยไว้ให้มันเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ของมัน ไม่ต้องเข้าไปยุ่ง ก็เลยเป็นที่อยู่อาศัยของช้างเพราะช้างเค้าชอบ” ศิริพรกล่าว

ช้างอาบน้ำ

 ภาพช้างเล่นน้ำ

“มาลุ้นกันว่าช้างออกมาเล่นน้ำที่อ่างเก็บน้ำแล้วจะเดินเข้าสวนบ้านใครต่อ”

ชาวบ้านจากตำบลน้ำเป็นและตำบลกองดิน ซึ่งอยู่รอบๆ อ่างเก็บน้ำเขาจุก เป็นอ่างเก็บน้ำที่ช้างออกมาเล่นน้ำต่างก็พากันออกมาดูช้างและคุยกันว่าวันนี้ช้างจะเข้าบ้านใคร

ประกาศช้างตกมัน

“ชุดอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ.อาสาความปลอดภัยในหมู่บ้าน รักษาความปลอดภัยทุกอย่าง ช้างก็ด้วย” วิชัย แซ่ลี กล่าวแนะนำตัวเองก่อนที่จะเล่าเรื่องการทำงานผลักดันช้างเข้าป่า

แจ้งเตือนผ่านกลุ่มแชทในหมู่บ้าน 

“ทุกวันนี้เราทำกับเจ้าหน้าที่ เขาเรียกชุดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅใน ช่วยเฝ้าระวังเราก็ดักไม่ให้เข้าหมู่บ้าน ถ้าหากินธรรมดาก็ยืนเว้นระยะ 50 เมตร แต่ก่อนใช้ปืนยิงขึ้นฟ้าให้กลัว แต่เดี๋ยวนี้ช้างไม่ค่อยกลัวแล้ว ก็เลยใช้เสียงแทน แต่เป็นช่วงตกมันต้องระวังเฝ้าเป็นพิเศษ เพราะจะมีคนได้รับบาดเจ็บ”

วิชัย แซ่ลี้ หนึ่งใน ชรบ. อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี เล่าถึงวิธีการรักษาความปลอดภัยของ ชรบ. และอ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรีเป็นอีกหนึ่งเขตในภาคตะวันออกที่ได้รับผลกระทบจากช้าง

ภาพช้างที่หลุดออกจากป่าเป็นประจำ ถ่ายโดย วิชัย แซ่ลี

“หากคนในหมู่บ้านพบเจอช้างเขาจะแจ้งในไลน์หมู่บ้านว่าวันนี้ช้างอยู่ตรงไหน รวมถึงจนท.อุทยานและป่าไม้ด้วย หรือบางทีเราเจอก่อนเราก็แจ้งไป จนท.จะมาผลักดันช้างเข้าป่า ถ้ากำลังคนไม่พอเขาจะขอชรบ.ไปช่วย วิธีการคือเราสร้างเสียงดัง เปิดไฟแสงสว่างแต่ไม่ส่องตาช้าง เส้นทางไล่ก็จะเป็นอ่าง ต.เขากล้วย แก่งห่างแมว อ่างเก็บน้ำคลองประแกด แล้วแต่ถ้าไม่มีอะไรรบกวนช้างก็อยู่หากินในพื้นที่นานๆ”  วิชัยแซ่ลีเล่าถึงการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าอุทยานและเจ้าหน้าที่ป่าไม้

“ช้างเป็นสิ่งที่ไล่ยากที่สุด ถ้าไล่ไม่ไปก็ไม่ไล่ เราก็ต้องไปแทน ไม่อย่างนั้นช้างจะหงุดหงิด มันก็จะวิ่งใส่เรา เช่น มีบ้านหนึ่งลูกช้างเข้าไปรื้อครัว 2 ตัว เละเทะหมด” วิชัยอธิบายว่า การทำงานเข้าป่าจะต้องมีระยะห่างกับช้างหากได้ลองใช้ไฟในการไล่และใช้เสียงดังในการไล่ แล้วช้างไม่ยอมเข้าป่าเจ้าหน้าที่และ ชรบ.จะเป็นฝ่ายถอยออกมาเอง เพราะหากยังทำการผลักดันต่อไปจะเป็นการยั่วยุให้ช้างอารมณ์เสีย หงุดหงิด และอาจเกิดผลกระทบที่แย่ลง เช่น การทำลายข้าวของ หรือการวิ่งเข้าใส่อาสาสมัครและผู้ปฏิบัติงานผลักดันช้างเข้าป่าแทน

“เดี๋ยวนี้ไม่ต้องพกปืนแล้ว ไล่ก็ไป เพราะถ้าไล่ไม่ไป เดี๋ยวนี้แตกฝูง พอเขาหากินในอ่างเสร็จเขาก็แยกกลุ่ม เป็นกลุ่มเล็กลงทำให้มีหลายกลุ่ม ทีนี้ก็ว้าวุ่นเลย จำนวนคนทำงานจริง 5-6 ปริมาณช้างไม่ลด เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว้าวุ่นมากเลย” วิชัยกล่าวทิ้งท้าย

ติดจีพีเอสตามช้าง

ณัฐวุฒิ กองสัมฤทธิ์ ปัจจุบันตำแหน่งบุคคลภายนอกปฏิบัติงานช่วยราชการ 

ณัฐวุฒิ กองสัมฤทธิ์ บุคคลภายนอกปฏิบัติงานช่วยราชการ ตำแหน่ง อนุรักษ์ป้องกัน และรักษาป่า ประจำชุดลาดตระเวน Smart Patrol อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง อีกหนึ่งบุคคลที่ทำหน้าที่ผลักดับช้างกลับเข้าสู่พื้นที่อุทยาน 

“มันเป็นวาระแห่งชาติที่ผ่านมามีการวางโมเดลโดยอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช วางโมเดลป่ารอยต่อ 5 จังหวัด จัดชุดเคลื่อนที่เร็วช้างป่า แต่ผมได้ออกจากชุดนั้น ตอนนี้หน้างานคือสายตรวจ เพื่อช่วยแก้ปัญหาช้างป่าที่มีผลต่อชาวบ้านในพื้นที่” ณัฐวุฒิ กล่าว

ณัฐวุฒิ เล่าว่า ในอดีตช่วงที่ต้องได้ทำงานเต็มที่เร็วช้ากว่าจะปฏิบัติงานกันช่วงเวลา 5 โมงเย็นเป็นต้นไปและสแตนด์บาย 24 ชั่วโมง เพราะช่วง 5 โมงเย็นไปจนถึงช่วงกลางคืนและหัวเช้าจะเป็นช่วงเวลาที่ช้างออกหากิน

“ช้างเวลาที่เขารู้สึกไม่ปลอดภัยเค้าจะยืนตรงต้นไม้แล้วก็นอนใช้เวลานานไม่นานประมาณ 3 ชั่วโมง”

ณัฐวุฒิ เล่าว่าจะเคลื่อนที่เร็วเมื่อมีประชาชนหรือชาวบ้านในพื้นที่แจ้งมาว่าพบเจอช้าง เคลื่อนที่เร็วก็จะออกไปผลักดันช้าง ซึ่งเจ้าหน้าที่ชุดนี้จะได้รับการฝึกอบรมในการดูอารมณ์ช้างแล้วก็ปฏิบัติกับช้างเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อทีมงาน และไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนและพื้นที่บริเวณรอบข้าง 

“แต่การผลักดันช้างก็เป็นการลดความเสียหายให้ได้มากที่สุดแต่จะไม่เกิดเลยเป็นไปไม่ได้” ณัฐวุฒิ เล่าว่า ช้างเป็นสัตว์ใหญ่และมีวัฒนาการที่ดีมาก เช่น การเรียนรู้ว่าฤดูกาลไหนจะมีผลไม้ออกและเป็นผลไม้อะไร ในบริเวณไหน นอกจากนั้นแล้วช้าง ยังมีพัฒนาการด้านการกิน โดยการที่ช้างลอกเปลือกต้นไม้ เช่น ต้นทุเรียน ต้นยางพารา ซึ่ง ณัฐวุฒิ ยังเล่าว่าเขาได้ลองลงพื้นที่และชิมบริเวณที่ทางลอกเปลือกต้นไม้ออกไปและพบว่ามันเป็นท่อนำเลี้ยงของต้นไม้และมีรสหวาน เป็นตัวอย่างพัฒนาการของช้าง

“ช่วงก่อนหน้านี้ที่ผมยังปฏิบัติงานอยู่ในหน้างานเก่า ผมจะติดตามช้างชื่อเจ้ามะม่วง” ณัฐวุฒิเล่าว่ามะม่วงเป็นช้างที่ไม่ค่อยดุมีการติดปลอกคอติดตามตัวเรียบร้อยแล้ว 

“พฤติกรรมบางอย่างของช้างเปลี่ยนไปเพราะการกระทำของมนุษย์เช่นการที่บางคนชอบทำคอนเทนต์ลงในโซเชียล อย่างเจ้ามะม่วงจะเป็นช้างที่ชอบเดินเข้าบ้านคนไปเปิดหม้อหุงข้าว” ณัฐวุฒิ อธิบายว่าเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากมนุษย์ทำให้ช้างรู้จักอาหารที่เราทำสุกไว้แล้ว ดังนั้นช้างจะรู้จักข้าวที่หุงแล้วและเครื่องปรุงต่างๆ เลยทำให้ช้างไม่ออกไปหาแร่ธาตุในโป่งตามป่าเหมือนอดีต เพราะพอรู้จักการเข้าบ้านคน ก็ทำให้ช้างสบายกว่าก็เลยไม่เข้าป่า รื้อค้นบ้าน

“ลองติดตามดูในคอนเทนต์โซเชียลมีเดียจะมีกลุ่มคนบางประเภทที่ชอบซื้อข้าวซื้ออาหารไปให้ช้างเพื่อทำคอนเทนต์และเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้พฤติกรรมของช้างเปลี่ยนไป” ณัฐวุฒิ กล่าว

ณัฐวุฒิ กองสัมฤทธิ์ เมื่อครั้งตอนเป็นชุดเคลื่อนที่เร็วช้างป่า

“ความกดดันและความเครียดเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ช้างทำร้ายมนุษย์เพราะช้างเป็นสัตว์กินพืชไม่ใช่สัตว์กินเนื้อ” ณัฐวุฒิ กล่าว และเล่าว่าบางครั้งการใช้พลุจุดไล่ช้างทำให้ช้างอารมณ์เสียจากที่แรกและเดินไปหาที่ใหม่และเป็นบ้านคนหลังที่สองแล้วถูกกระตุ้นอีกก็ทำให้เกิดความเครียดทำให้ช้างมีพฤติกรรมก้าวร้าว 

“เคสที่ผลักดันช้างเข้าป่ายากสำหรับตัวผมไม่มี แต่สิ่งที่ทำให้ยากคือปัจจัยหรือสิ่งเร้า เช่น คนดู กองเชียร์ นั่นเป็นครั้งล่าสุดที่ผมผลักดันทางเข้าป่าและกระดูกเท้าเกิดรอยร้าว” ณัฐวุฒิ เล่าว่าวันที่ 23-26 มิถุนายน 2566 บริเวณที่เกิดเหตุคือ ข้างการไฟฟ้าอำเภอแกลง จังหวัดระยอง พื้นที่บริเวณนั้นเป็นพื้นที่ที่มีน้ำเพราะเป็นนากุ้งเก่า

“เราผลักดันช้างสองตัว มีตัวใหญ่เป็นพี่เลี้ยงและมีตัวเล็กที่บาดเจ็บอยู่ เราก็ผลักดันเขาตามเส้นทางที่เราวางแผนไว้ มีหญ้า มีน้ำให้ช้าง แต่มันมีสิ่งเร้าอยู่ฝั่งตรงข้ามของบ่อน้ำ มีคนอยู่เยอะกว่าฝั่งเรา ช้างก็เลยเดินกลับมาทางฝั่งเรา พอช้างเริ่มใจเย็น ก็เป็นเวลาประมาณ 6 โมงเย็นมีชาวบ้านฉายไฟเข้าตาช้าง ช้างก็เลยเกิดความเครียดแล้วก็วิ่งไล่ ตามกฎหมายแล้วอาวุธที่เราสามารถใช้ในการผลักดันได้ก็คือการใช้ปืนยิงลงพื้นดินเท่านั้น แต่รอบนี้ช้างก็ยังวิ่งไล่อยู่เกิน 200 เมตร ซึ่งปกติจะไม่เกิน 200 เมตร แต่ครั้งนี้วิ่งถึงประมาณ 300 เมตร วิ่งตามไม่หยุดและเป็นนากุ้งเก่า ช้างเขาไม่สะดุดหรอกแต่เป็นผมเองที่สะดุด เป็นการผลักดันดันช้างที่ทำให้ผมเกิดอุบัติเหตุ กระดูกร้าวครับ”

ณัฐวุฒิ เล่าว่าได้ใช้ประกันชีวิตที่ตัวเองทำไว้ส่วนตัวในการดูแลตัวเองเป็นคนพิการให้ตัวเองเพราะยังไม่ใช่ข้าราชการที่ถูกบรรจุอยู่ในระบบจึงยังไม่มีสวัสดิการ แม้จะปฏิบัติงานเป็นอาสาสมัครให้กับทางราชการก็ตาม

ข้อเสนอจาก ณัฐวุฒิ กองสัมฤทธิ์ เป็นข้อเสนอเพื่อให้การทำงานผลักดันช้างมีประสิทธิภาพและเกิดความปลอดภัยต่อทั้งคนและสัตว์ 

  1. สิ่งขาดแคลนและทำให้เจ้าหน้าต้องใช้เงินส่วนตัวคือ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานหน้างานได้รับค่าตอบแทนที่น้อยและไม่เพียงพอ อยากให้สนับสนุนงบประมาณในการดูแลให้เจ้าหน้าที่มีเงินในการดูแลตัวเองจากหน้างานนี้ และอุปกรณ์ในการติดตามตัวช้างและผลักดันช้างเข้าพื้นที่ป่า
  2. สวัสดิการชดเชยค่ารักษาเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครที่เข้ามาช่วยผลักดันช้างเข้าป่า อยากให้ครอบคลุมถึงอาสาสมัคร บาดเจ็บจนถึงการเสียชีวิต
  3. มีการจัดอบรมผลักดันช้างให้อาสาอย่างถูกต้อง
  4. อนุญาตให้ใช้ยาทำหมันช้าง เพื่อควบคุมปริมาณช้างในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด

รัฐซ้อนซ่อนช้าง

ตาล วรรณกูล ผู้ประสานงาน ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ช้างป่าตะวันออก

ตาล วรรณกุล เล่าถึงปรากฏการณ์เรื่องช้างว่าตั้งแต่ปี 2561 เกิดปรากฎการณ์แทรกแซงจาก 2 กลุ่มหลักๆ

  1. มูลนิธิป่า 5 รอยต่อห้าจังหวัดภาคตะวันออก โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานกรรมการมูลนิธิ 
  2. มูลนิธิด้านช้างป่าที่ไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้ โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการชั้นสูงเข้ามาเป็นกรรมการ

“การดำเนินงานของทั้ง 2 มูลนิธิมีอำนาจมากเกินไป หากจะอ้างว่าสรรพกำลังของหน่วยงาน บูรณาการปัญหาช้างป่า โดยนำคนที่ทำงานราชการชั้นสูงและมีอำนาจมาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร” ผู้ประสานงาน ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ช้างป่าตะวันออก กล่าวและอธิบายว่าทั้ง 2 มูลนิธิสามารถเรียกหน่วยงานรัฐมาทำงานในพื้นที่ เช่น กระทวงพัฒนาสังคม (พม.) เข้ามาทำโครงการสร้างอาชีพอื่นๆ ในพื้นที่ 5 จังหวัด เช่น การทำน้ำผึ้ง การทอผ้า หรืออาชีพอื่นๆ ที่ไม่ใช่เกษตรกรรมตามที่คนในพื้นที่ทำกันมาโดยตลอด ซึ่งเมื่องบประมาณในแต่ละปีถูกดึงมาใช้จากกระทวงต่างๆ และหน่วยงานของรัฐมาทำกิจกรรมในพื้นที่ เมื่องบประมาณหมด กิจกรรมก็ไม่ได้ดำเนินการต่อ 

“การจัดการช้างป่าทำโดยรัฐที่เป็นรัฐบาลจริงๆ ไม่ใช่อำนาจซ้อนจากมูลนิธิที่มีผู้มีอำนาจนั่งเป็นกรรมการ รัฐบาลมีอำนาจทำได้ แต่เงื่อนไขยิบย่อยตามรัฐธรรมนูญ 2560 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทำให้ยากต่อการดำเนินงาน”

ตาล อธิบายถึงความซับซ้อนในการแก้ปัญหาช้างป่า โดยมีเงื่อนไขระบุไว้ในกฎหมายว่า ในการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพนอกถิ่นที่อยู่อาศัยจะต้องไม่กระทบคนหรือชุมชน 

“องค์กรหรือมูลนิธิที่เข้ามาก็มีวิสัยทัศน์ว่า การอยู่ร่วมกับช้างอย่างปลอดภัย ซึ่งตรงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเป็นช่วงที่เขียนยุทธศาสตร์ชาติเสร็จเรียบร้อยแล้ว” ตาล กล่าวและระบุว่า การจัดการช้างป่าภาคตะวันออกมีความซับซ้อนในทางกฎหมาย และมีองค์กรภาครัฐ และมูลนิธิที่มีวิสัยทัศน์เรื่องการอยู่ร่วมกับช้างป่าอย่างปลอดภัยเข้ามาทำงานในพื้นที่ป่าภาคตะวันออก โดยดำเนินงานและโครงการต่างๆ ให้ชุมชนและประชาชนอยู่ร่วมกับช้าง ซึ่งช้างก็เข้าไปอยู่ในพื้นที่ปลูกเกษตรกรรมของประชาชน 

“5-6 ปีมานี้ยอดผู้เสียชีวิตจากช้างป่าปี 2561 ทั้งหมด 11 คน และในปี 2565 อยู่ที่ 25 คน มันเป็นความย้อนแย้งของการทำงานโดยหน่วยงานรัฐและมูลนิธิต่างๆ ในพื้นที่นี้ว่า ช้างอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างปลอดภัย สงบสุข มันเป็นเพียงการเลี้ยงไข้เอาไว้หรือไม่” ตาล กล่าว พร้อมระบุถึงปัญหาช้างป่าภาคตะวันออกว่าเป็นการแก้ปัญหาเพื่อเลี้ยงปัญหา ไม่ได้ทำให้ปัญหาช้างกับชุมชนหายไปได้ โดยการแทรกแซงของมูลนิธิทั้งสองแห่ง รวมถึงหน่วยงานรัฐที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับทั้ง 2 มูลนิธินี้ว่าเป็นการแทรกแซงเพื่อสร้างผลงานและใช้งบประมาณไปโดยไม่ได้แก้ปัญหาได้จริงหรือไม่

ช้างป่าและรัฐซ้อนรัฐ

ตาล ได้เสนอมุมมองต่อการแก้ปัญหาช้างว่ามีอยู่สองมิติ 

  1. เชิงพื้นที่ เช่น การออกปฏิบัติการผลักดันช้างเข้าป่า การจัดการพื้นที่เพื่อเป็นที่รองรับที่เหมาะสมต่อประชากรช้างป่าหรือ Carrying capacity รวมถึงการจัดการชุมชน การทำรั้วและแนวกำแพงต่างๆ 
  2. เชิงโครงสร้าง มองผ่านการกระจายอำนาจ ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการพื้นที่ด้วยการที่ส่วนกลางถ่ายโอนอำนาจบางอย่างลงมาเพื่อให้พื้นที่สามารถจัดการของพื้นที่เอง เป็นการแก้แบบกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีอำนาจออกแบบชีวิตตนเองได้ 

ผู้ประสานงาน ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ช้างป่าตะวันออก กล่าวเสริมอีกว่าหากมองผ่านกฎหมาย พ.ร.บ.สภาตำบลก็จะพบว่าการที่ท้องถิ่นจะดำเนินการอะไรก็ต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน 

“ปัจจุบันประชามติถือเป็นเพียงสวนหนึ่งของการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่เป็นแค่พิธีกรรม” ตาลกล่าวและอธิบายว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนในการออกแบบพื้นที่ต้องมีขั้นตอน เพื่อให้เกิดการออกแบบท้องถิ่นด้วยประชาชนจริงๆ ไม่ใช่แค่เพียงพิธีกรรม

  1. ร่วมคิด และออกแบบวิธีการแก้ปัญหาในพื้นที่โดยมีส่วนร่วมกับประชาชนในท้องถิ่น
  2. ร่วมวางแผน ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมจกปรชาชนในพื้นที่ว่าจะแก้ปัญหาเรื่องในพื้นที่ตนเองอย่างไร
  3. ตัดสินใจอย่างมีส่วนร่วมกับประชาชน เพื่อให้เกิดการปฎิบัติงานในพื้นที่
  4. ประชาชนมีส่วนร่วมการปฏิบัติงานหรือดำเนินงานใดๆ ปกติการผลักดันช้างก็มีความร่วมมือของประชาชนอยู่แล้ว แต่ที่ผ่ามาก็เป็นเพียงพิธีกรรม
  5. การมีส่วนร่วมเรื่องการได้รับผลประโยชน์ทั้งเชิงลบ เชิงบวก กับประชาชน
  6. การตรวจสอบต่างๆ ก็ต้องเกิดการมีส่วนวร่วมให้ประชาชนสามารถประเมินผล ตรวจสอบแผนการจนถึงสิ้นสุดการดำเนินงานในขั้นตอนต่างๆได้จนจบ 
  7. ประชาชนมีส่วนร่วมในการประเมินผลเพื่อจะได้ออกแบบกันต่อไปในการแก้ปัฐหาในท้องถิ่น

“ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาเรื่องช้าง ประชาชนมีส่วนร่วมด้วยการไปเป็นอาสาสมัคร แต่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการคิด ออกแบบ วางแผนร่วมกับเจ้าหน้าที่ มีบทบาทเพียงแค่ปฏิบัติงานในพื้นที่บ้านตนเองอย่างเดียว” ตาล กล่าว และอธิบายถึงการออกปฏิบัติการผลักดันช้างป่าเข้าพื้นที่ป่าในภาคตะวันออกว่า การคิด วางแผนก่อนออกปฏิบัติงานไม่ได้มีส่วนร่วมจากประชาชน และงบประมาณก็ไม่ได้ถูกออกแบบผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ จึงไม่ใช่การกระจายอำนาจ

“การตรวจสอบ ถ่วงดุลหน่วยงานราชการที่ประชาชนต้องทำงานร่วมด้วย ทุกวันนี้ประชาชนก็ไม่ได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบ หรือ การทำพื้นที่แนวกันชนระหว่างเขตชุมกับเขตป่าอนุรักษ์ (Buffer zone) ระหว่างพื้นที่ป่าอนุรักษ์กับป่าชุมชน  ประชาชนก็ไม่ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบ” ผู้ประสานงาน ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ช้างป่าตะวันออก กล่าว พร้อมยกตัวอย่างถึงการกระจุกอำนาจไว้ในมือของรัฐ ทำให้ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการจรวจสอบการทำงานและการออกแบบพื้นที่ของชุมชน ซึ่งหากช้างป่าจะออกจากเขตป่าอุทยาน จะมีการทำพื้นที่แหล่งอาหารหรือ Buffer zone เพื่อชะลอช้างไม่ให้เข้าไปใกล้ชุมชน 

“ทั้งหมดที่ผ่านมาการมีส่วนร่วมกับประชาชนล้วนเป็นพิธีกรรม โดยเฉพาะ Buffer  zone โดยการจัดงานอีเว้นท์ขึ้นมาและชวนคนเข้ามาช่วยปลูกต้นไม้ คำถามคือพื้นที่ Buffer zone เกิดขึ้นมาจากการการออกแบบร่วมกับประชาชนตรงไหน แบบการพาคนไปปลูกต้นไม้เช่นนี้ ไม่ใช่ออกแบบร่วมกับประชาชน” ตาล กล่าวและยกตัวอย่างพื้นที่ที่จัดทำ Buffer zone

ภาพรายงานพื้นที่ที่มีการปลูกพืชอาหารให้ช้างป่า จากโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานประจำเดือนเมษายน ณ วันที่ 9 พ.ค.2564

“ตัวอย่างพื้นที่ Buffer zone สระวราวุธกับสระจตุพร ในพื้นที่ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา อยู่ในเขตป่าสงวน มีการปลูกพื้นที่แหล่งอาหาร 2 แห่ง รวมประมาณ 339 ไร่ แต่กระบวนการมีส่วนวร่วมก็ไม่ได้เกิดขึ้น เป็นเพียงพิธีกรรม เช่น จัดอีเว้นท์พัฒนาแหล่งน้ำให้ช้าง ปลูกพืชอาหารให้ช้าง ประชาชนก็มีส่วนร่วมแค่ลงมือทำ แล้วก็ถ่ายรูปเป็นผลงานว่ามีส่วนร่วมกับประชาชน แค่นั้น”

ผู้ประสานงาน ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ช้างป่าตะวันออก อธิบายว่าการบริหารจัดการช้างป่า ต้องจัดการที่อำนาจ ให้ประชาชนต้องมีอำนาจในการตรวจสอบ ไม่ใช่คิดทุกอย่างจากหอคอยงาช้างแล้วสั่งการลงมาให้พื้นที่ทำ เพระหากไม่กระจายอำนาจให้ประชาชนบริหารท้องถิ่นตัวเองได้ 

“ปัญหาเรื่องช้างป่าจะไม่มีวันแก้ได้สำเร็จ เพราะคนออกแบบไม่ได้อยู่กับปัญหา มันจึงต้องเป็นอำนาจของประชาชนในการคิดออกแบบแก้ปัญหา บริหารพื้นที่ตนเอง และตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจรัฐได้ 

..การกระจายให้ท้องถิ่น ให้ประชาชนมามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาช้างป่าให้มากที่สุด” ตาล กล่าวทิ้งท้าย

เอกสารอ้างอิงเพิ่มเติม : 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net