Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หากมองในมุมประวัติศาสตร์ทางความคิด เราจะพบว่ามีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ยุคแสงสว่างทางปัญญา” (the Enlightenment) หรือยุคสมัยแห่งการใช้เหตุผลควบคู่กับการยืนยัน “เสรีภาพ” ในการใช้เหตุผลวิพากณ์วิจารณ์เรื่องสาธารณะได้ทุกเรื่อง เพื่อปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตปัจเจกบุคคล โครงสร้างสังคม การเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา และอื่นๆ ให้มีความเป็นธรรมและก้าวหน้ามากขึ้น 

การใช้เหตุผลและเสรีภาพเพื่อการมีชีวิตที่ดีขึ้นของปัจเจกบุคคล และความเป็นธรรมทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจและอื่นๆ จึงเป็นรากฐานของวิถีชีวิต สังคม เศรษฐกิจ การเมืองแบบสมัยใหม่ 

พูดอีกอย่างคือ การใช้เหตุผลและเสรีภาพคือสิ่งที่แสดงถึง “ความเป็นสมัยใหม่” (modernity) หรือความเป็นวิถีของยุคสมัยใหม่ที่ตรงข้าม และขัดแย้งกับวิถีแบบ “ยุคก่อนสมัยใหม่” (premodern) อันเป็นวิถีที่ใช้พลังอำนาจของ “ศรัทธา” (faith) ทำทางชีวิตส่วนบุคคล สังคม การเมือง เศรษฐกิจ และอื่นๆ 

ศรัทธาในพระเจ้า ศาสนาต่างๆ กระทั่งความเชื่อทางไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ เป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ในหลายๆ ด้าน แต่ประวัติศาสตร์สอนเราซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า เมื่อมนุษย์ยอมให้ศรัทธาเช่นนั้นมีพลังอำนาจครอบงำทางการเมือง มักจะนำไปสู่ “ยุคมืด” ทางความคิดและสติปัญญา เห็นได้จากประวัติศาสตร์ที่มนุษย์แบ่งแยกชนชั้น กดขี่ข่มเหง ทำสงครามเข่นฆ่ากันในนามศรัทธาในความดีสูงสุดของศาสนาต่างๆ (หรืออุดมการณ์ทางการเมืองต่างๆ) มาตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนาน

สภาวะของพลังอำนาจศรัทธาแบบยุคก่อนสมัยใหม่ที่ทรงอิทธิพลมากอย่างหนึ่งคือ พลังอำนาจทางการเมืองในนามของศาสนา พระเจ้า หรือธรรมะที่ครอบงำเหนือ “เสรีภาพแห่งมโนธรรม” (freedom of conscience) หรือเสรีภาพทางความคิดเห็นของปัจเจกบุคคล 

พูดอย่างครอบคลุมคือ อำนาจที่กดทับมนุษย์ไม่ให้มีอิสระที่จะใช้มโนธรรมของตนเองตัดสินว่าอะไรผิด อะไรถูก ควรทำ ไม่ควรทำ อะไรคือคุณค่าความหมายของชีวิต หรือเป้าหมายของชีวิตที่ดี อะไรคือความยุติธรรมทางสังคม การเมือง และอื่นๆ มันคืออำนาจที่ครอบงำกดทับ “ความเป็นมนุษย์” ของเราไม่ให้ปรากฏหรือแสดงออกมาได้อย่างเสรี 

ไม่ใช่ว่ามนุษย์ไร้ความสามารถที่จะใช้มโนธรรม ความคิดเห็น และเหตุผลของตนเอง แต่เป็นเพราะอำนาจแห่งศรัทธาที่มีศาลศาสนาหรือ “ศาลไต่สวนศรัทธา” (Inquisition) และอำนาจเทวสิทธิ์ (divine rights) ของระบบกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ครอบงำและกดปราบบรรดาผู้ใต้ปกครองไม่ให้สามารถใช้เสรีภาพแห่งมโนธรรม หรือความคิดเห็นไปในทางที่ตั้งคำถาม วิจารณ์ โต้แย้งศรัทธา หรือคุณค่าความดีงามที่กำหนดไว้แล้วโดยศาสนจักรและชนชั้นปกครอง

อิมมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant) นักปรัชญาคนสำคัญในยุคแสงสว่างทางปัญญาจึงเสนอว่า “จงกล้าคิด! (Sapere aude!) จงกล้าที่จะใช้ความเข้าใจของตนเอง” เพราะที่จริงแล้วเราทุกคนต่างมีความคิดและความเข้าใจของตนเองอยู่แล้ว แต่เราถูกครอบงำจากอำนาจศรัทธาแบบศาสนา และอำนาจของชนชั้นปกครองให้สักแต่เชื่อตามและทำตามสิ่งที่พวกเขาต้องการ ยิ่งกว่านั้นตัวเราเองก็สร้างพันธนาการขึ้นมาผูกมัดตัวเองให้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของศาสนา ประเพณี ค่านิยมทางสังคม อำนาจศาสนจักร อำนาจรัฐเผด็จการ และอื่นๆ ด้วยการทำตัวให้เชื่อง เชื่อฟัง สยบยอมหรือศรัทธาคลั่งไคล้ กระทั่งอวยความเชื่อต่างๆ ที่ถูกปลูกฝังครอบงำต่อๆ กันมา จนมองไม่เห็น หรือลืมมองหาความสามารถในการคิด การใช้ความเข้าใจของตนเองในฐานะของ “ปัจเจกบุคคลผู้มีอิสรภาพเป็นของตนเอง” (autonomy) ในการใช้เหตุผลและเสรีภาพกำหนดคุณค่า ความหมาย เป้าหมายชีวิตของตนเอง และมีสิทธิ์เท่าเทียมในการบัญญัติกฎศีลธรรมและกฎทางสังคมการเมืองขึ้นมาใช้ร่วมกันบนพื้นฐานของการเคารพความเป็นมนุษย์ผู้มีเหตุผล เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีในตัวเองของเราทุกคน

การเกิดแสงสว่างทางปัญญาที่ทำให้เราเป็นอิสระจากอำนาจครอบงำแบบยุคก่อนสมัยใหม่ และจากการพันธนาการตัวเองเข้ากับอำนาจครอบงำเหล่านั้น ด้วยการทำตัวให้เห็น “เด็กดี” ที่เชื่อง เชื่อฟัง สยบยอม อวย หรือกระทั่งทำตัวเป็น “ข้ารับใช้” ของอำนาจครอบงำเหล่านั้นด้วยการ “ล่าแม่มด” คนคิดต่างหรือคนที่ไม่ศรัทธาเชื่อฟังแบบตน คือการเกิดกระแสความคิดแบบคานท์ที่เสนอว่าการมองเห็นคุณค่าพื้นฐานของความเป็นนุษย์ของตนเองว่าเราคือ “ตัวตนอิสระ” (independent self) จากอิทธิพลครอบงำทุกอย่าง 

แต่ไม่ใช่ตัวตนอิสระที่ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ หรือระบบโครงสร้างทางสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ศาสนา วัฒนธรรมและอื่นๆ เป็นตัวตนอิสระในความหมายว่า เราสามารถมีเสรีภาพจากการครอบงำของอิทธิพลความเชื่อหรืออำนาจใดๆ และไม่ทำตัวเป็นผู้ครอบงำคนอื่นๆ ความเป็นอิสระดังกล่าวจึง “เปิดกว้าง” ให้กับความเป็นไปได้ที่เราทุกคนจะสามารถใช้เหตุผลและเสรีภาพบัญญัติกฎศีลธรรม กฎทางสังคมการเมือง และอื่นๆ ขึ้นมาใช้ร่วมกันบนพื้นฐานของการเคารพความเป็นคนเท่ากันของเราทุกคน

พูดอีกอย่างคือ การมองว่า “ตัวตนที่แท้จริง” (real self) ของเราคือ “ตัวตนอิสระ” ไม่ใช่มุมมองที่นำไปสู่การแยกตัวเองจากคนอื่นๆ หรือสังคม แต่เป็นความคิดพื้นฐานที่เปิดกว้างให้กับ “ความเป็นไปได้” ที่เราทุกคนจะสามารถใช้ความคิด ความเข้าใจ และเหตุผลของตนเองอย่างเป็นอิสระจากอำนาจครอบงำใดๆ เพื่อใช้เสรีภาพในการบัญญัติกฎศีลธรรมและกติกาทางสังคมและการเมืองขึ้นมาใช้ร่วมกันบนพื้นฐานของการเคารพ “ความเป็นคนเท่ากัน” ได้จริง ไม่ใช่สักแต่ว่าต้องเชื่อฟัง และทำตามการชี้นำ ครอบงำ และบงการจากอำนาจศาสนจักร อำนาจรัฐเผด็จการรูปแบบใดๆ หรือสักแต่ทำตามความเชื่อทางศาสนา และจารีตประเพณีที่ถือสืบๆ กันมาเท่านั้น

การมองเห็นคุณค่าพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ของตนเองและคนอื่นว่าทุกคนคือ “ตัวตนอิสระ” จากการครอบงำใดๆ เท่าเทียมกัน ก็คือการเปลี่ยนศรัทธาแบบยุคก่อนสมัยใหม่ (อันเป็นศรัทธาที่ครอบงำ) มาเป็น “ศรัทธาในความเป็นมนุษย์ที่มีเสรีภาพเป็นของตนเอง” หรือเปลี่ยนศรัทธาในศาสนา พระเจ้า ธรรมะ มาเป็น “ศรัทธาในมุษยชาติ” หรือศรัทธาในความเป็นมนุษย์ของทุกคนไม่ว่าเขาจะมีเชื้อชาติ เพศ สีผิว ภาษา วัฒนธรรมใดๆ มีศาสนาหรือไม่มีศาสนาก็ตาม เพราะคุณค่าหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณลักษณะภายนอก หรือสถานภาพเหล่านั้น แต่อยู่ที่ทุกคนมีตัวตนอิสระที่มีคุณค่าหรือศักดิ์ศรีในตัวเองเสมอกัน และการที่เราทุกคนมีตัวตนอิสระเป็นธรรมชาติพื้นฐานนี่เอง จึงทำให้เราสามารถใช้ความเป็นมนุษย์ผู้มีเหตุผลที่เสรีและเสมอภาค (free and equal rational being) ในการบัญญัติกฎศีลธรรม กฎทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และอื่นๆ ขึ้นมาใช้ร่วมกันอย่างเป็นธรรมได้ 

ดังนั้น การมีเสรีภาพในความหมายแบบคานท์ จึงหมายถึงการมีอิสรภาพในการใช้ความคิดและเหตุผลของตนเองบัญญัติกฎขึ้นมาใช้กับชีวิตของตนเองและใช้ร่วมกันกับคนอื่นบนพื้นฐานของการเคารพความเป็นคนเท่ากันของเราทุกคน ถ้าเราสักแต่เชื่อง เชื่อฟัง และทำตามกฎที่ศาสนา ความเชื่อ จารีตประเพณี หรืออำนาจศาสนจักรและชนชั้นปกครองบัญญัติให้ต้องทำตามโดยปราศจากการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบว่ากฎต่างๆ เหล่านั้นเคารพความเป็นมนุษย์ที่มีเสรีภาพและศักดิ์ศรีในตัวเองของเราหรือไม่ ย่อมไม่ใช่การมีเสรีภาพ   

ที่ว่ามาเป็นเพียง “แค่ตัวอย่างหนึ่ง” ของความคิดเชิงปรัชญาแบบยุคแสงสว่างทางปัญญาที่เป็นรากฐานของการใช้เหตุผลและเสรีภาพในยุคสมัยใหม่ แน่นอนว่า ความคิดเช่นนี้ไม่ใช่ความจริงสัมบูรณ์ (absolute truth) ที่โต้แย้งไม่ได้ เพราะมีความคิดอื่นๆ มากมายที่โต้แย้งความคิดสายคานท์ และยังมีความคิดแบบหลังสมัยใหม่นิยม (postmodernism) ที่โต้แย้งหรือชี้ให้เห็นปัญหาของความคิดแบบสมัยใหม่ แต่สิ่งที่เรายากจะปฏิเสธ คือ เราจะปฏิเสธหรือหักล้างความคิดพื้นฐานที่ว่าเราควรมองตัวเองและทุกคนว่ามี “ความเป็นคนเท่ากัน” ในความหมายที่ทุกคนต่างก็เป็นเจ้าของอิสรภาพในการใช้เหตุผลและเสรีภาพเพื่อให้คุณค่า ความหมาย และเป้าหมายของชีวิต และมีสิทธิเท่าเทียมในการบัญญัติกฎศีลธรรม และกฎต่างๆ ทางสังคมการเมืองขึ้นมาใช้ร่วมกันได้อย่างไร 

ผมคิดว่าคนที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องให้แก้ไข หรือยกเลิกมาตรา 112 และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ก็คือคนที่ต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้เราทุกคนสามารถที่จะมี “ความเป็นมนุษย์” แบบยุคสมัยใหม่ได้จริง นั่นคือ มีความเป็นมนุษย์ที่มีเหตุผล เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีในตัวเองได้จริง มีอำนาจอธิปไตย และสิทธิเท่าเทียมในการบัญญัติกฎต่างๆ ขึ้นมาใช้ร่วมกันได้จริง หรือมีเสรีภาพที่จะอภิปรายถกเถียงและลงมติกันได้ว่ากฎกติกาแบบไหนที่จะให้หลักกระกันสิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียมทางสังคม เศรษฐกิจ อำนาจต่อรองทางการเมือง ความเท่าเทียมทางเพศ ศาสนา วัฒนธรรม และอื่นๆ ได้จริง 

การต่อสู้เรียกร้องดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องของอุดมคติหรือยึดอุดมการณ์ทางการเมืองที่สูงส่งหรือ “สุดโต่ง” เกินความเป็นจริง เป็นเพียงการเรียกร้องคุณค่าของความเป็นคน และความเป็นธรรมทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจที่เป็นเรื่องของความเป็นจริง หรือเรื่อง “ปกติธรรมดา” ที่ทุกคนมีสิทธิชอบธรรมในการต่อสู้เรียกร้องกันอยู่ทั่วไปในยุคสมัยใหม่ หรือในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ 

การใช้ 112 ปิดปาก กดปราบ และขังคุกประชาชนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยต่างหาก คือ “ความผิดปกติของยุคสมัย” หรือเป็น “ความป่วยไข้ของยุคสมัย” ในสังคมไทย เพราะสะท้อนถึงสภาวะที่ระบบการเมืองการปกครอง ศาสนา และวัฒนธรรมทางความคิด ความเชื่อของสังคมไทยยังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลครอบงำและกดทับของพลังอำนาจศรัทธาใน “สถานะเป็นที่เคารพสักการะที่ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้” ของกษัตริย์ อันเป็นสถานะที่ประกอบสร้างขึ้นจากความเชื่อทางศาสนาแบบยุคก่อนสมัยใหม่

พูดอีกอย่าง ถ้าความเป็นจริงคือ การยืนยัน “เสรีภาพแห่งมโนธรรม” หรือเสรีภาพทางความคิดเห็นจากอำนาจครอบงำและกดทับใดๆ เป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดแสงสว่างทางปัญญา การใช้อำนาจใดๆ ครอบงำหรือกดทับเสรีภาพดังกล่าว ก็คือ “สภาวะยุคมืด” ที่ปิดกั้นไม่ให้เกิดแสดงสว่างทางปัญญา คือปิดกั้นไม่ให้มีเสรีภาพในการใช้เหตุผลถกเถียงอย่างเป็นสาธารณะ เพื่อหาทางออกจากอำนาจครอบงำและกดทับเหล่านั้นได้ เช่น สภาไม่มีเสรีภาพในการอภิปรายปัญหาสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตยได้ รัฐบาลปฏิเสธการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 และห้ามแตะหมวดสถาบันกษัตริย์ในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่เป็นต้น 

การที่ระบบรัฐสภา รัฐบาล หรือองคาพยพของอำนาจรัฐโดยรวมทำหน้าที่ภายใต้อำนาจที่ไม่มีเสรีภาพในการตั้งคำถามและวิจารณ์ตรวจสอบ ซึ่งเป็น “อำนาจตามจารีตแบบยุคก่อนสมัยใหม่” ขณะที่ประชาชนอยู่ในบริบททางการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม การเมืองแบบโลกสมัยใหม่ ย่อมจะทำให้เกิด “ความขัดแย้ง” ไม่รู้จบ เพราะจะมีคนที่เกิดแสงสว่างทางปัญญามองเห็นหรือเข้าใจคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นคนของตนเองว่า แท้จริงแล้วเราไม่ใช่ไพร่ ทาส ที่เป็นเพียง “ฝุ่น” หรือ “ข้ารับใช้” ของชนชั้นปกครองกลุ่มใดๆ ทั้งนั้น หากแต่เรามี “ความเป็นคน” ที่เป็นเจ้าของสิทธิ เสรีภาพ มีอำนาจ ความคิด และเหตุผลเป็นของตนเอง และมีสิทธิเท่าเทียมกันในการบัญญัติกฎต่างๆ ขึ้นมาใช้ร่วมกันในฐานะ “พลเมืองเสรีและเสมอภาค” ในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ คนเหล่านี้ก็ต้องออกมาต่อสู้เรียกร้องอิสรภาพจากการครอบงำของอำนาจแบบโบราณเสมอมาและเสมอไป

การใช้ 112 กดปราบและขังคุกประชาชนที่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย อันเป็นการต่อสู้เพื่อปกป้อง “ความเป็นคน” ของเราทุกคนผู้เป็นเจ้าของเสรีภาพแห่งมโนธรรม ความคิดเห็น และเพื่อให้เราทุกคนสามารถที่จะเป็น “พลเมืองเสรีและเสมอภาค” ได้จริง (ไม่ใช่เป็นเพียง “ข้ารับใช้” ของชนชั้นปกครอง) จึงเป็นเรื่องที่น่าหดหู่ และยิ่งน่าหดหู่มากขึ้นไปอีก เมื่อ “รัฐบาลประชาธิปไตย” ที่มาจาก “การเลือกตั้งของประชาชน” เพิกเฉยหรือ “ไม่รับรู้” ปัญหาการกดปราบดังกล่าว โดยสื่อและสังคมก็เฉยชา กระทั่งเลือดเย็น หรือเย้ยหยันเพื่อนมนุษย์ด้วยกันที่ถูกกดปราบด้วย 112

แทนที่รัฐบาลหรือกระบวนการรัฐสภา สื่อ และสังคมจะร่วมมือเร่งผลักดันการนิรโทษกรรมคดีการเมืองและ 112 เพื่อคืนอิสรภาพและความเป็นธรรมให้กับประชาชน และเพื่อเป็น “จุดเริ่มต้น” ของการสร้างประชาธิปไตยให้เป็นจริง แต่กลับทำสิ่งตรงกันข้าม ซึ่งไม่ใช่การทำให้ประเทศเดินหน้าเป็นประชาธิปไตย ดังที่โฆษณาชวนเชื่อ แต่เป็นการเดินถอยหลังย้อนสู่การครอบงำและกดทับของอำนาจแบบยุคก่อนสมัยใหม่มากยิ่งขึ้น ซึ่งขัดกับความเป็นสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญสูงสุดกับความเป็นมนุษย์ของเราทุกคนในฐานะผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีในตัวเอง

 

ที่มาภาพ: iLaw 10 คำถาม-คำตอบน่ารู้เกี่ยวกับมาตรา 112 https://freedom.ilaw.or.th/sites/default/files/imagecache/freedom_of_expression/infographic-images/112%20cartoon_0.jpg

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net