Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เกือบ 1 ศตวรรษ หรือกว่า 91 ปี จากการปฏิวัติสยาม 2475 ถึงปัจจุบัน ปัญหา “ปากท้อง” กับ “อุดมการณ์ทางการเมือง” ไม่เคยแยกขาดจากกันได้จริง เริ่มจากคำอธิบายที่มาของ “หลัก 6 ประการ” ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรที่ว่า

1. เศรษฐกิจตกต่ำ ในระหว่าง พ.ศ. 2472 - 2474  เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก สินค้าไทยโดยเฉพาะข้าวราคาตกต่ำ เกิดภาวะขาดแคลนทั่วประเทศ ประกอบกับประเทศไทยมีรายจ่ายเกินกว่ารายได้ต่อเนื่องมาหลายปี ทำให้ฐานะการเงินการคลังของรัฐบาลอยู่ในสภาพคลอนแคลน ซึ่งรัฐบาลในสมัยรัชกาลที่ 7 พยายามแก้ไขสถานะการคลังหลายวิธี เช่น ลาออกจากองค์การมาตรฐานทองคำ กำหนดค่าเงินบาทขึ้นใหม่ แต่ที่สำคัญซึ่งได้รับความเดือดร้อนกันทั่วไป คือ การเพิ่มภาษีราษฎรและการปลดข้าราชการออก เพื่อรักษาดุลยภาพทางการเงิน ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่ข้าราชการเป็นอันมาก

2. ความขัดแย้งระหว่างสามัญชนกับพระราชวงศ์ สามัญชนมีการศึกษาสูงขึ้นเนื่องจากจบจากต่างประเทศและกลับเข้ามารับราชการกันมาก แต่บรรดาเจ้านายพระราชวงศ์บางพระองค์ทรงไม่สามารถปรับพระองค์ได้ ยังทรงถือเป็นข้าหรือบ่าวอยู่ตามเดิม ทำให้สามัญชนที่มีความรู้ความสามารถเกิดน้อยเนื้อต่ำใจ

3. แนวคิดที่ได้รับจากตะวันตก ข้าราชการที่ได้รับการศึกษาตามแบบตะวันตกต้องการให้มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

4. การประวิงเวลาพระราชทานรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 เมษายน 2475  การที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มิอาจพระราชทานรัฐธรรมนูญในโอกาสสมโภชกรุงครบรอบ 150 ปี ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475 เพราะได้รับการทัดทานจากคณะอภิรัฐมนตรี เป็นการเร่งรัดให้มีการปฏิวัติโดยเร็วยิ่งขึ้น เพราะข้าราชการที่มีความคิดก้าวหน้าเห็นว่า หนทางที่จะได้รับพระราชทานรัฐธรรมนูญ โดยไม่ใช้กำลังบังคับนั้นไม่มีแล้ว (ดู http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=หลัก_6_ประการของคณะราษฎร)

เห็นได้ว่าที่มาของหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ตามข้อ 1 เป็นเรื่อง “ปัญหาปากท้อง” ข้อ 2 และ 4 เป็นปัญหาขัดแย้งระหว่าง “ตัวละครทางการเมือง” สองฝ่าย คือ ฝ่ายศักดินากับฝ่ายสามัญชน โดยมี “อุดมการณ์ทางการเมือง” ในข้อ 3 เป็นพลังในการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อไปดูรายละเอียดของหลัก 6 ประการ ยิ่งชัดเจนว่าปากท้องกับอุดมการณ์ไม่แยกขาดจากกัน 

1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

2. จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

3. ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้)

5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการ ดังกล่าวข้างต้น

6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร (ที่มา https://www.nat.go.th/คลังความรู้/รายละเอียด/ArticleId/846/-6)

ชัดเจนว่าปัญหาปากท้อง (ข้อ 3) กับอุดมการณ์เรื่องสิทธิเสมอภาคกัน (ข้อ 4) และเสรีภาพ (ข้อ 5) ไม่แยกขาดจากกัน โดยเฉพาะเมื่อมีการจัดทำ “โครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ตามหลักข้อ 3 ออกมาเป็น “เค้าโครงเศรษฐกิจ” ในสมุดปกเหลืองของปรีดี พนมยงค์ ยิ่งชัดเจนว่าการแก้ปัญหาปากท้องในเชิงโครงสร้างยึดโยงกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่เน้นความเสมอภาคทางสังคมและเศรษฐกิจ (social democracy) เพื่อต้องการให้ประชาชนมีสิทธิเสมอภาคทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ พร้อมกับมีเสรีภาพทางการเมืองและเสรีภาพปัจเจกบุคคล อันเป็น “มาตรฐานขั้นต่ำสุด” ที่ขาดไม่ได้ของระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่นั่นเอง 

พูดให้ชัดคือ อุดมการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของคณะราษฎรไม่ได้แยกขาดจากกัน สิทธิเสมอภาคกันทางการเมืองและเศรษฐกิจจึงต้องสอดคล้องไปด้วยกัน และชัดเจนว่าอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจและอุดมการณ์ทางการเมืองของฝ่ายสามัญชนกับฝ่ายศักดินาขัดแย้งกัน เห็นได้จาก ร.7 ออก “สมุดปกขาว” โต้แย้งเค้าโครงเศรษฐกิจใน “สมุดปกเหลือง” ของปรีดีเป็นต้น จากนั้นการต่อรองต่อสู้เพื่อครอง “อำนาจนำทางการเมือง” (political hegemony) ระหว่างฝ่ายศักดินากับสามัญชนก็ดำเนินต่อมาผ่าน “การร่างรัฐธรรมนูญ” ฉบับ 10 ธันวาคม 2475, กบฏบวรเดช 2476, การทำรัฐประหารครั้งต่างๆ และในด้านกลับก็คือการขยายตัวของแนวคิดปฏิวัติทางชนชั้นแบบมาร์กซิสต์ และแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตยเรื่อยมาถึงปัจจุบัน ผ่านบริบททางสังคมที่ซับซ้อนแตกต่างกันไปในแต่ละยุค โดยเฉพาะก็ชัดเจนว่าอำนาจฝ่ายศักดินาถูกสถาปนาให้เข้มข้นมากขึ้น ในรัฐธรรมนูญ 2560 และกฎหมายอื่นๆ อันเป็นผลพวงของรัฐประหาร 2549 และ 2557 

ถ้าถามว่าความจริงของปัญหาบ้านเราปัจจุบันคืออะไร คำตอบตรงไปตรงมาคือ บ้านเรามีปัญหาใหญ่หลักๆ 2 เรื่อง คือ 1) ปัญหาการไม่สามารถจะมีสิทธิทางการเมืองครบถ้วนตามหลักสิทธิมนุษยชน หรือระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ได้จริง และ 2) ปัญหาปากท้อง

ปัญหาแรก คือปัญหาระดับ "รากฐาน" ของความเป็นประชาธิปไตย เพราะการต่อสู้ต่อรองระหว่างฝ่ายศักดินากับสามัญชนหลัง 2475 เป็นต้นมา ทำให้มี "อำนาจรัฐทับซ้อนกัน" 2 แบบ คือ “อำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง” กับ "อำนาจนอกระบบการเลือกตั้ง" (ที่คุมกองทัพ ตำรวจ ศาล ศาสนจักร ระบบการศึกษา ฯลฯ ได้มากกว่ารัฐบาลจากเลือกตั้ง?) ที่เรียกว่า "รัฐซ้อนรัฐ" อย่างที่พูดกันมานาน

การมีอำนาจนอกระบบเลือกตั้งที่ไม่มีกลไกตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ จำกัดอำนาจไว้ชัดเจนและวิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถจะมี "สิทธิทางการเมือง" ครบถ้วนตามหลักสิทธิมนุษยชนได้จริง เช่น ไม่สามารถจะมีสิทธิเลือกตั้งในกระบวนการที่ "เสรีและเป็นธรรม" ไม่มีเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออก การอภิปรายสาธารณะทางการเมืองได้ "ทุกเรื่อง" ไม่มีความเสมอภาคทางกฎหมาย หรือไม่สามารถจะมี "ความยุติธรรม" ตามหลัก rule of law ได้ (เพราะไม่มี rule of law อยู่ในระบบการปกครองแบบไทย) โดยเฉพาะคดีการเมืองและคดี 112 

เมื่อไม่มี "สิทธิทางการเมือง" ได้ครบถ้วนจริง มันจึง "ไม่เป็นประชาธิปไตย" จริง (เป็นครึ่งๆ กลางๆ กระท่อนกระแท่น สามวันดีสี่วันไข้) แม้จะมีรัฐธรรมนูญที่ดี อย่างฉบับ 2540 เป็นต้นก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญก็ไม่เคยสร้างกลไกจำกัดและตรวจสอบอำนาจนอกระบบเลือกตั้งไว้อย่างชัดเจน แล้วในที่สุดเครือข่ายอำนาจนอกระบบเลือกตั้งก็ทำลายอำนาจรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ด้วยรัฐประหาร 2549 และ 2557 พร้อมกับเขียนรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ เพิ่มอำนาจนอกระบบเลือกตั้งให้เข้มแข็งมากขึ้น ขณะที่ทำให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งอ่อนแอและจำต้องสยบยอมเป็นข้ารับใช้อำนาจนอกระบบเลือกตั้งมากขึ้น สร้างกลไกยุบพรรคการเมือง และตัดสิทธิทางการเมืองของพรรคการเมืองและนักการเมืองได้อย่างง่ายดาย 

การทำลายอำนาจรัฐบาลจากการเลือกตั้งด้วยรัฐประหาร ก็คือ “การทำให้การแก้ปัญหาปากท้องไม่สามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพได้” หรือไม่สามารถแก้ปัญหาปากท้องในระดับโครงสร้างได้จริง ขณะเดียวกัน อำนาจจากรัฐประหาร ก็ใช้ 112 กดปราบประชาชนหนักขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ปัญหาสิทธิทางการเมืองวิกฤตมากขึ้นๆ ความไม่เป็นประชาธิปไตยเด่นชัดมากขึ้นๆ และทำให้ปัญหาปากท้องขยายมากขึ้นๆ ตามมา

ดังนั้น มันจึงไม่ใช่จะมาแยก "ปัญหาปากท้องออกจากปัญหาสิทธิทางการเมือง" หรือจะแยก "ปากท้องออกจากความเป็นประชาธิปไตยที่มีสิทธิทางการเมืองครบถ้วน" ไม่ได้ การพยายามเช่นนั้น พธม. และ กปปส. เคยทำกันมาแล้ว ก็อย่าเดินตามรอยพวกเขาโดยไม่รู้ตัว

การแยกปัญหาปากท้องออกจากความเป็นประชาธิปไตยที่มีสิทธิทางการเมืองครบถ้วนแบบที่ พธม.และ กปปส. ทำกันมาแล้ว ก็คือการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อปกป้องสถานะและอำนาจที่วิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้ของสถาบันกษัตริย์ ควบคู่ไปกับข้อเสนอแก้ปัญหาความเหลื่อมลำทางเศรษฐกิจ แต่ตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎร การแก้ปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจจะต้องทำควบคู่กันไปกับการสร้างสิทธิเสมอภาคทางการเมืองและเศรษฐกิจด้วย ไม่ปล่อยให้พวกเจ้าหรือชนชั้นไหนมีสิทธิพิเศษเหนือกว่าคนอื่นๆ และต้องประกันหลักเสรีภาพทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยให้ชัดเจน ไม่มีอำนาจใดๆ อยู่เหนือเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบ 

การต่อสู้ของคนเสื้อแดงที่ยืนยันการ “โค่นระบบอำมาตยาธิปไตย” และสร้าง “ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง” ก็เคยเป็นปรากฏการณ์เปรียบเทียบให้เห็น “ความขัดแย้งทางอุดมารณ์” กับฝ่าย พธม. และ กปปส. ในระดับที่แน่นอนหนึ่งมาก่อน แต่ครั้นเพื่อไทยจับมือกับฝ่ายทำรัฐประหารตั้งรัฐบาล ก็ออกแถลงการณ์และยืนยันซ้ำๆ ว่า “จะไม่แตะ 112 ไม่นิรโทษกรรมคดี 112 ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็ไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 หรือหมวดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์” ซึ่งการยืนยันเช่นนั้น ก็ไม่ต่างจากการยืนยันของ “ระบบประยุทธ์” หรือการยึดอุดมการณ์ทางการเมืองแบบ พธม. และ กปปส. เหลือเพียงอย่างเดียวที่เพื่อไทยขาย “ความแตกต่าง” ก็คือความเก่งเรื่องแก้ปัญหาปากท้อง

การแก้ปัญหาปากท้องตามแนวทางของรัฐบาลเพื่อไทย จึงไม่ได้แยกขาดจาก “อุดมการณ์ทางการเมือง” แต่อย่างใด เพราะเป็นการแก้ปัญหาปากท้องภายใต้ “อุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบไทย” ที่ไม่ต้องมีสิทธิทางการเมืองครบถ้วนตามหลักสิทธิมนุษยชน หรือตามหลักเสรีนิยมประชาธิปไตย ส่วนในทางเศรษฐกิจก็ดูเหมือนจะยึดอุดมการณ์ “ทุนนิยมที่มีหัวใจ” ตามคำอธิบายของฝ่ายที่เชียร์เพื่อไทยนั่นเอง 

ขณะที่แนวทางของก้าวไกลก็ไม่ใช่ละเลยปัญหาปากท้องและมุ่งแต่อุดมการณ์สูงส่งอะไรเลย เพราะเมื่อพิจารณาจาก “นโยบาย” จริงๆ ก็มีเรื่องแก้ปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองให้ประชาชนมี “สิทธิเสมอภาคกัน” ทางเศรษฐกิจและทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งก็เป็นความคิดที่สอดคล้องหรือเป็น “ส่วนขยาย” จากหลัก 6 ประการ ของคณะราฎรที่เริ่มลงหลักปักฐานระบบการปกครองที่มุ่งตอบสนองปัญหาของสามัญชนนั่นเอง

การพยายาม “ทำให้เข้าใจผิด” ว่า การเมืองแบบก้าวไกลยึดอุดมการณ์สูงส่ง บริสุทธิ์ผุดผ่อง เป็นเทวดาไม่ต่างจาก พธม. และ กปปส. ในอดีตเป็นเรื่องตลกร้าย เพราะการยืนยัน “สิทธิทางการเมืองที่ครบถ้วน” ตามหลักสิทธิมนุษยชน เช่น สิทธิการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม อำนาจอธิปไตยของประชาชนทุกคนในฐานะที่เป็นเจ้าของเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออก การชุมนุม การได้รับการปฏิบัติจากรัฐอย่างยุติธรรมบนหลักความเสมอภาคทางกฎหมาย หรือหลัก rule of law เป็นต้น ไม่ใช่ “อุดมการณ์สูงส่ง” อะไรเลย แต่เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จำเป็นต้องมีในระบอบประชาธิปไตย การไม่ยืนยันหรือไม่เรียกร้องสิ่งปกติธรรมดาพวกนี้ต่างหากที่สะท้อนถึงการยึด “อุดมการณ์สูงส่ง” เหนืออุดมการณ์ประชาธิปไตย อย่างที่ พธม., กปปส. และระบบประยุทธ์ใช้ต่อสู้หรือใช้สร้างความชอบธรรมทางการเมืองมาตลอด

อีกอย่าง การตั้งคำถามว่า “ประชาชนมีแต่ฝ่ายที่เลือกก้าวไกลและต้องการประชาธิปไตยแบบก้าวไกลเท่านั้นหรือ ฝ่ายที่เลือกเพื่อไทยและพรรคฝ่ายรัฐบาลเดิมไม่ใช่ประชาชนหรือ?” ก็เป็นการตั้ง “ปัญหาปลอม” (pseudo problem) ขึ้นมาหลอกตัวเองและคนอื่นๆ ให้เข้าใจผิด เพราะเวลาเราพูดถึง “ประชาชน” ในระบอบประชาธิปไตย ย่อมหมายถึงประชาชนทุกคนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และสิทธิทางการเมือง สิทธิพลเมือง สิทธิทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมตามหลักสิทธิมนุษยชนเท่าเทียมกัน 

ยิ่งเมื่อมองตาม “ความเป็นจริง” คนที่เลือกเพื่อไทยและฝ่ายรัฐบาลเดิมก็ไม่ได้ถูกอำนาจรัฐกดปราบราวกับว่า “ไม่ใช่ประชาชน” เหมือนฝ่ายที่เลือกก้าวไกล (และเสื้อแดงปัจจุบันบางคน) ที่ถูกอำนาจรัฐใช้ 112 กดปราบ และขังคุก อันเป็นการละเมิดสิทธิเท่าเทียมทางการเมืองหรือเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออก และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเขาเหล่านั้นอย่างรุนแรง

พูดให้ชัด ประชาชนที่มีความคิดทางการเมืองต่างกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นแดง เป็นเหลือง หรือเป็นส้มต่างก็เป็น “สิทธิ” ที่จะเลือกได้ แต่การอ้างคำว่า “สิทธิ” โดยไม่แยแสว่าจะมีประชาอีกฝ่ายถูกกดปราบและขังคุกด้วย 112 และคดีการเมืองมากเพียงใด ซ้ำยังกล่าวหาเย้ยหยันว่าเขาเหล่านั้น “แกว่งเท้าหาเสี้ยน” กันเอง การพูดเรื่อง “สิทธิ” ของคุณก็แค่คำเพ้อเจ้อ เพราะการพูดเรื่องสิทธิจะมีความหมายก็ต่อเมื่อเรายืนยันว่าทุกคนทุกฝ่ายที่มีความคิดต่างกันต้องมี “สิทธิเสมอภาคกัน” เท่านั้น ไม่ว่าสิทธิทางการเมืองหรือทางเศรษฐกิจ  

ยิ่งถ้าพูดถึง “นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย” อย่าง อานนท์ นำภา และผองเพื่อนที่ติดคุกด้วย 112 พวกเขาก็ไม่ใช่ชนชั้นกลางที่มีฐานะดีทางเศรษฐกิจ หากแต่เป็นลูกชาวนา เป็นคนต่างจังหวัดที่มาใช้ชีวิตดิ้นรนต่อสู้ในสังคมเมือง หรือเป็นคนกรุงเทพฯ ที่ส่วนใหญ่แล้วต่างต่อสู้ดิ้นรนเพื่อปากท้องหรือมีรายได้เดือนชนเดือน พวกเขาเหล่านี้คือคนที่สู้เพื่อเสรีภาพ อุดมการณ์ประชาธิปไตยและเพื่อแก้ปัญหาปากท้องไปด้วยกัน ไม่ใช่เป็นชนชั้นกลางฐานะดี ไม่มีปัญหาปากท้อง จึงโหยหาเสรีภาพอย่างที่วิจารณ์กัน 

ล่าสุดอานนท์ถูกศาลตัดสินคดี 112 (คดีแรก) ให้จำคุก 4 ปี และปรับ 20,000 บาท โดยไม่รอลงอาญา ต่อมาศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัว ด้วยข้ออ้างที่ว่า “การกระทำของจำเลยกระทบกระเทือนและสร้างความเสียหายต่อการปกปครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” อันเป็นการตอกย้ำว่า ระบอบประชาธิปไตยเช่นนี้ไม่อนุญาตให้มีเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออก และการอภิปรายสาธารณะทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยที่สถาบันกษัตริย์ต้องถูกวิจารณ์ตรวจสอบได้เหมือนประเทศญี่ปุ่น อังกฤษ หรือประเทศประชาธิปไตยที่มีสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) โดยทั่วไป

ดังนั้น ประเด็นที่ถกเถียงกันว่า รัฐบาลเพื่อไทยเป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตย ก็ไม่ขึ้นกับคำวิจารณ์หรือการโจมตีของใครหรือฝ่ายใด แต่ขึ้นอยู่กับนโยบายและการปฏิบัติของรัฐบาลเพื่อไทยเองว่าเป็นไปตาม “หลักเกณฑ์” ของรัฐบาลประชาธิปไตยหรือไม่ 

เช่น โดยทั่วไปแล้วรัฐบาลประชาธิปไตยในโลกปัจจุบันย่อมไม่ปล่อยให้มีนักโทษการเมือง หรือนักโทษทางความคิด (prisoner of conscience) แต่รัฐบาลเพื่อไทยก็แสดงจุดยืนไปแล้วว่าไม่นิรโทษกรรมคดี 112 และไม่แก้กฎหมายมาตรา 112 รวมทั้งกฎหมายใดๆ เกี่ยวกับสถานะและอำนาจที่วิจารณ์ตรวจสอบไม่ได้ของสถาบันกษัตริย์

ด้วยจุดยืนดังกล่าว รัฐบาลเพื่อไทยก็ย่อมไม่ผ่านเกณฑ์ความเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยที่ให้หลักประกันสิทธิทางการเมือง หรือเสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออก รวมทั้งความยุติธรรมบนหลักนิติรัฐเป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องของ “ข้อเท็จจริง” ที่ไม่เกี่ยวกับใครจะวิจารณ์ หรือโจมตีอย่างไร

สุดท้ายแล้ว ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือ การถือว่าปากท้องกับอุดมการณ์ไม่แยกขาดจากกัน หรือการแก้ปัญหาปากท้องกับการปัญหาเสรีภาพเป็นเรื่องเดียวกันเริ่มขึ้นตั้งแต่หลัก 6 ประการใน “ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1” แล้ว กินเวลายาวนานมากว่า 91 ปีแล้ว

การพยายามแยกเรื่องปากท้องกับอุดมการณ์ออกจากกันในปัจจุบัน จึงเป็นเรื่องของการพยายามทำให้เกิดความเข้าใจผิด หรือเป็นการตั้งปัญหาปลอมๆ เพื่อกลบเกลื่อนความเป็นจริงของการยึด “อุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบไทย” ที่รัฐบาลมีบทบาทหลักในการรับใช้ศักดินาเป็นอันดับแรก รับใช้ประชาชนเป็นอันดับรองลงมา และปฏิบัติต่อประชาชนที่สู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยเสมือนว่าพวกเขา “ไม่ใช่ประชาชน” ด้วยการไม่นิรโทษกรรมคดีการเมือง 112 และปล่อยให้มีการใช้ 112 กดปราบ และขังคุกประชาชนมากขึ้น ไม่ต่างจากยุครัฐบาลจากรัฐประหารแต่อย่างใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net