Skip to main content
sharethis

ครม. เห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปี กลุ่มเป้าหมาย 2.7 ล้านราย ยืม ธ.ก.ส. 1.1 หมื่นล้านบาท/ปี - เห็นชอบแผนบริหารหนี้สาธารณะ ก่อหนี้ใหม่ 1.94 แสนล้านบาท ย้ำหนี้สาธารณะไม่เกินร้อยละ 70 ของจีดีพี - คลัง เสนอ ครม. ตั้งคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต สัปดาห์หน้า 

26 ก.ย. 2566 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาลเฟส  1 รวมถึงการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส.  ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” พักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปี รัฐบาลรับภาระหนี้ดอกเบี้ยแทนเกษตรกร 1.1 หมื่นล้านบาทต่อปี ด้วยการให้ ธ.ก.ส. สำรองออกไปก่อน ตาม ม. 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง  ประกอบด้วย

1. มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อย 2.7 ล้านราย สำหรับผู้เป็นหนี้ ณ 30 ก.ย. 2566 วงเงินไม่เกิน 300,000 บาท ให้สิทธิกับผู้เป็นหนี้ปกติ หรือเป็นหนี้ค้างชำระ (NPLs) ได้รับสิทธิ์พักชำระหนี้ เฟสแรก เริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค. 2566-30 ก.ย. 2567 เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.  ต้องการรับสิทธิ์ ให้ยืนยันตัวตนเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2566 ถึง 31 ม.ค. 2567 สมัครร่วมโครงการเป็นเวลา 4 เดือน ในส่วนลูกหนี้ NPLs เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ได้ ต้องปรับปรุงโครงสร้างหนี้จนกลับมาเป็นลูกหนี้ปกติ เพื่อแสดงให้เห็นถึงเจตนาดีในการชำระหนี้  นับเป็นมาตรการสมัครใจ ไม่ได้พักหนี้ให้กับทุกคน เพื่อให้ผู้ต้องการพักหนี้สมัครใจเข้ามาร่วมโครงการ ไม่ใช่พักหนี้แล้วหายไปในช่วง 3 ปี

2. การพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. โดยยึดหลัก “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” เพื่อบรรเทาภาระหนี้สินเกษตรกร ร่วมกับหลายหน่วยงาน ควบคู่ขนานไปกับมาตรการพักชำระหนี้ เพื่อโอกาสให้เกษตรกรนำเงินไปลงทุนปรับเปลี่ยนหรือขยายการประกอบอาชีพ ผ่าน การฝึกอบรมอาชีพเกษตรกร ทั้งการหาตลาดใหม่ หันมาใช้เทคโนโลยี พัฒนาคุณภาพการเพาะปลูก การส่งเสริมวินัยการเงิน

สำหรับมาตรการพักชำระหนี้ ผู้ประกอบการ SMEs มีแบงก์รัฐหลายแห่งเกี่ยวข้องด้วย จะเร่งสรุปแนวทางในการดูแลเพิ่มเติมเร็วๆ นี้ หลังจาก ครม. รับทราบการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยมีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เพื่อศึกษา วิเคราะห์ และกำหนดมาตรการในการพักชำระหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขสถานการณ์หนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs

นายฉัตรชัย ศิริไล ได้เข้าดำรงตำแหน่งผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า การพักหนี้ครั้งนี้ แตกต่างจากครั้งที่ผ่านมา จึงกำหนดลูกหนี้ ธ.ก.ส. ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ ยืนยันตัวตนทั้งสาขาในพื้นที่ หรือจุดนัดพบในท้องถิ่น เพื่อเลือกแนวทางการพักหนี้ ผ่าน BAAC Mobile เพื่อให้เกษตรกรหันมาใช้แอปผ่านออนไลน์มากขึ้น เมื่อพักหนี้ มีภาระหนี้ลดลง หากใครต้องการขยายอาชีพ ธ.ก.ส. พร้อมปล่อยกู้เพิ่มเติมจากสินเชื่อโครงการเดิมที่มีอยู่ ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย หรือสินเชื่ออื่นๆเพิ่มเติม คาดว่าเมื่อช่วยพัฒนาภาระหนี้ จะทำให้หนี้ NPL ของ ธ.ก.ส. จากร้อยละ 7.8  มูลหนี้ 3.6 หมื่นล้านบาท ลดเหลือร้อยละ 5.5 ในสิ้นปีบัญชี หรือสิ้นเดือน มี.ค. 2567

เห็นชอบแผนบริหารหนี้สาธารณะ ก่อหนี้ใหม่ 1.94 แสนล้านบาท ย้ำหนี้สาธารณะไม่เกินร้อยละ 70 ของจีดีพี

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2567 1. ก่อหนี้ใหม่ วงเงิน 194,434 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการกู้เงินชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2566 โดยขยายเวลากู้เงินออกไป สำหรับการเบิกจ่ายกันเหลื่อมปี วงเงิน 40,000 ล้านบาท และการกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของรัฐวิสาหกิจ

2. แผนการบริหารหนี้เดิม ส่วนใหญ่เป็นการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เดิมที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ 2567   

3. แผนการชำระหนี้ ประกอบด้วย แผนการชำระหนี้ของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหนี้หน่วยงานของรัฐ จากงบประมาณปี 2567 วงเงิน 336,807 ล้านบาท และแผนการชำระหนี้จากแหล่งเงินอื่นๆ วงเงิน 53,731 ล้านบาท หนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ณ สิ้นปีงบประมาณ 2567 จากการดำเนินการตามแผนฯ ที่เสนอในครั้งนี้ ยังอยู่ในกรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนดที่ไม่เกินร้อยละ 70

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2567 มีรัฐวิสาหกิจ 4 แห่ง ได้แก่ การเคหะแห่งชาติ (กคช.) บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการต่ำกว่า 1 เท่า สามารถกู้เงินและบริหารหนี้ภายใต้แผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2567 โดยขอให้ รฟท. และ ขสมก. เร่งรัดตามแผนฟื้นฟูกิจการ และขอให้ รฟท. และ ขสมก. รายงานความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของหน่วยงานต่อคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะเพื่อทราบต่อไป

คลัง เสนอ ครม. ตั้งคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต สัปดาห์หน้า 

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าเตรียมเสนอ ครม. อังคารหน้า พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตแจกเงิน 1 หมื่นบาท โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กรรมการประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง หลายกระทรวง  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่  จึงต้องมีหลายฝ่ายร่วมทำงาน  ทำการศึกษา รับฟังความเห็นจากหลายฝ่ายอย่างรอบคอบ รัดกุม  เพื่อให้การกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้เห็นผล  ภายใต้การยึดหลักวินัยการเงินการคลัง ยืนยืนเริ่มโครงการ 1 ก.พ. 2567 เป็นต้นไป

 

ที่มาเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2] [3]

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net