Skip to main content
sharethis

'อรรถจักร์' นักวิชาการ ปวศ. ส่ง จม.เปิดผนึกจี้ 'วันนอร์' ปธ.สภาฯ เร่งแก้ไขความผิดพลาดผลลงมติเมื่อ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา ไม่เสนอ 'พิธา' เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกฯ ครั้งที่ 2 เป็นญัตติซ้ำ เหตุขัด รธน. ทำให้ข้อบังคับการประชุมฯ สูงกว่า กม.สูงสุดของประเทศ

 

20 ก.ค. 2566 เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง โพสต์ข้อความวันนี้ (20 ก.ค.) อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง วันมูหะมัดนอร์ มะทา (วันนอร์) ประธานสภาผู้แทนราษฎร วิจารณ์การทำหน้าที่ประธานสภา ไม่ถูกต้องที่ทำลายคุณค่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญโดยการใช้ข้อบังคับการประชุม ซึ่งมีศักดิ์ต่ำกว่า 

การส่งจดหมายสืบเนื่องหลังจากเมื่อวานนี้ (19 ก.ค.) ที่ประชุมรัฐสภาลงมติไม่เสนอ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคก้าวไกล เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 เนื่องจากเป็นการเสนอญัตติซ้ำต้องห้าม ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 

จดหมายซึ่งลงนามโดยอรรถจักร์ ระบุด้วยว่า เสนอให้ทางวันนอร์ เร่งแก้ไขความผิดพลาดดังกล่าวในการประชุมรัฐสภาครั้งต่อไป โดยการประกาศให้การลงมติฯ เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา ขัดกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ

จดหมายถึงคุณวันนอร์

ในฐานะที่เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร คุณได้ทำสิ่งที่ผิดพลาดอย่างมหันต์ต่อรัฐธรรมนูญดังที่ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และนักกฎหมายท่านอื่นๆ ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าเป็นการทำให้เกิดการทำลายคุณค่าบทบัญญัติรัฐธรรมนูญด้วยข้อบังคับการประชุมซึ่งต่ำศักดิ์กว่า

ขณะเดียวกัน คุณก็ยังทำให้มีการโหวตทั้งๆ ที่คุณก็รู้อยู่แก่ใจว่าผลโหวตจะออกมาอย่างไร หากคุณปฏิเสธไม่รู้ก็ออกจะไร้เดียงสาเกินไป  ร้ายไปกว่านั้น คุณยังปล่อยให้สมาชิกวุฒิสภาบางคนแสดงความเห็นไปในเชิงข่มขู่คุกคามสมาชิกสภาท่านอื่นๆ

ก่อนที่การทำลายคุณค่าของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญดำเนินไปจนกลายเป็นบรรทัดฐานอัปลักษณ์นี้ คุณต้องเป็นคนแรกที่ดำเนินการแก้ไขนี้ ด้วยการใช้ดุลพินิจและประกาศต่อสมาชิกสภาทุกท่านว่าการลงมติของสภาในวันที่ 19 นั้น ขัดกับรัฐธรรมนูญ และจะขอดำเนินการแก้ไขในวันและเวลาก่อนการประชุมสภาครั้งต่อไป

คุณเป็นคนที่ทำให้เกิดเหตุการณ์อัปลักษณ์นี้ คุณจึงต้องเป็นคนแก้ไข เพื่อประโยชน์ต่อสังคมการเมืองที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้อำนาจเถื่อนของคนเพียงไม่กี่คนในรัฐสภา

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
20 กรกฎาคม 2566

"หากมีการยอมรับให้ข้อบังคับรัฐสภาใหญ่กว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญก็ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงปรากฏการณ์ "เผด็จการรัฐ (วุฒิ) สภา” อย่างชัดเจน"

ในวันเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง โพสต์ข้อความว่า สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์นิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้แจงปัญหาเรื่องข้อบังคับรัฐสภาใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญด้วยว่า การเสนอชื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีบทบัญญัติรองรับไว้ชัดเจนตามมาตรา 159 ประกอบกับมาตรา 272 ที่กำหนดให้วุฒิสภาเข้ามามีบทบาทในช่วง 5 ปีแรก หากมีข้อจำกัดในการเสนอชื่อบุคคลในการดำรงตำแหน่งนายกฯ ก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ 

ขณะที่ข้อบังคับของรัฐสภาว่าด้วยการเสนอญัตติ เป็นการกำหนดแนวทางและข้อจำกัดการเสนอประเด็นต่างๆ เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาหรือลงความเห็น ข้อบังคับดังกล่าวมิได้เป็นบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นการเฉพาะ การจะนำเอาข้อบังคับของรัฐสภาฯ ซึ่งเป็นกฎในลำดับรองมาจำกัดสิทธิในการเสนอชื่อฯ อันเป็นบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเรื่องประหลาดพิกลเป็นอย่างยิ่ง

แม้จะได้มีการลงมติของสมาชิกรัฐสภาในประเด็นข้อถกเถียงดังกล่าวไปแล้ว แต่การลงความเห็นแม้ต่อให้เป็นมติเอกฉันท์ก็จะไม่ได้ทำให้สิ่งที่ขัดต่อหลักการกลายเป็นความชอบด้วยรัฐธรรมนูญขึ้นมา หากมีการยอมรับให้ข้อบังคับรัฐสภาใหญ่กว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญก็ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงปรากฏการณ์ "เผด็จการรัฐ (วุฒิ) สภา" อย่างชัดเจน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net